อุตุฯเตือนทั่วประเทศรับฝนถล่มหนัก3วันนี้ ‘อานนท์’ระบุกยน.ไม่ห่วงวิจารณ์ปัญหาน้ำ ชี้พูดคนละฐาน-แนะปชช.แยกรับรู้ข้อมูล

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 14 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1418 ครั้ง

ผ่านพ้นไปด้วยดีสำหรับการทดสอบระบบป้องกันน้ำท่วม ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เมื่อวันที่ 5-7 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากหลายฝ่าย เกี่ยวกับความเหมาะสมในการทดสอบ เพราะอาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นได้ แต่จนถึงปัจจุบันก็เกิดสถานการณ์จริงขึ้น เมื่อน้ำในภาคเหนือมีปริมาณมาก ประกอบกับฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจ.สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนถึงปริมาณฝนที่จะตกลงมาอย่างต่อเนื่องอีกในสัปดาห์นี้จนถึงสัปดาห์หน้า

 

ทำให้นึกนับย้อนไปถึงหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้พยายามให้ข้อมูลกับประชาชนด้วยการเปิดนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำ โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานเปิดงานมาแล้ว

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มีหลากหลายประเด็นที่ยังคงเป็นคำถามในใจหลาย ๆ คนว่า ในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลครั้งนี้ อยู่ในสถานการณ์อย่างไร เพราะตลอดหลายเดือนที่ผ่านมามักจะได้รับรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำระดับประเทศหลายคนที่มองว่า แผนการจัดการน้ำของรัฐบาล อาจไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่กำลังไปในทางตรงกันข้าม ในขณะที่ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ดูจะเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในอนาคตได้ และกลายเป็นความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลอยู่ในขณะนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายกฯเชื่อนิทรรศการน้ำสร้างความมั่นใจน้ำไม่ท่วม

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งการจัดงานนิทรรศการน้ำ ของรัฐบาล เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมนำคณะสื่อมวลชนเข้าชมด้วยตัวเอง กล่าวให้ความมั่นใจไว้ว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำคือ การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยมีการจัดการทั้งใน ระยะสั้นและระยะยาว โดยถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักการในการบริหารแผนงานทั้งหมด ซึ่งแบ่งเป็น  4 ส่วน คือ การป้องกัน การเตรียมพร้อม การรับมือ และการฟื้นฟู โดยในส่วนของการป้องกันนั้นแบ่งตามพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยต้นน้ำจะเน้นทำอย่างไรให้ชะลอการไหลของน้ำโดยการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำและปลูกหญ้าแฝก กลางน้ำก็จะบริหารน้ำในเขื่อนให้เหมาะสม รวมทั้งแก้ภัยแล้งด้วย โดยการรักษาระดับน้ำในเขื่อน ร้อยละ 50 และเตรียมพื้นที่รับน้ำนอง 2.1 ล้านไร่ และซ่อมแซมประตูระบายน้ำ และปลายน้ำจะเน้นการขุดลอกเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เสริมถนน เสริมแนวคันกั้นน้ำจากหนึ่งชั้นเป็นสามขั้นเพื่อปกป้องพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม และแน่นอนจะไม่ลืมเพิ่มเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่เกิดน้ำนองในปีที่ผ่านมาด้วย

 

 

ระบุไม่มีความขัดแย้ง เพราะรัฐบาลฟังทุกข้อคิดเห็น

 

 

นอกจากนี้ ยังมีขั้นการเตรียมพร้อมมีการบูรณาการ โดยทำคลังข้อมูลแห่งชาติ ร่วมกับ 17 หน่วยงาน เข้ามาในศูนย์เดียวกัน เพื่อประเมินและวิเคราะห์เป็นการสั่งการเดียวหรือซิงเกิลคอมมานด์ มีการทำแบบจำลอง การสั่งการ การจัดการ การเตือนภัยทั้งภาวะปกติและวิกฤติ ที่มีขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับ มีผู้รับผิดชอบชัดเจนลงไปในชุมชุนทุกที่ ส่วนการรับมือนั้นเมื่อเกิดอุทกภัยทุกระดับความรุนแรง ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่รับผิดชอบ จะบูรณาการอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อพร้อมในการเผชิญเหตุ และสุดท้ายการฟื้นฟูก็มีหลักเกณฑ์ สิทธิการช่วยเหลือเหลือผู้ประสบภัยทุกด้าน ขณะที่การแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้ออกพระราชกำหนดฯกู้เงิน ในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ มากำหนดแผนฯ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในช่วงของการเชิญชวนผู้สนใจยื่นคุณสมบัติในการยื่นแนวคิดที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและจะมีการคัดเลือกโดยเป็นธรรมและโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายโดยคำนึงประโยชน์ของประเทศ

 

และในการกล่าวระหว่างเปิดงานครั้งนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืนยันว่า รัฐบาลมุ่งนั่นในทำงานร่วมกันกับหลายหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งหลาย และที่ผ่านมาถึงแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่รัฐบาลก็รับฟัง และยินดีจะนำกลับมาพิจารณาทุกความคิดเห็น ซึงไม่คิดว่าเป็นความขัดแย้งที่น่าเป็นห่วง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดร.อานนท์ขอให้ประชาชนแยกระดับเสียงวิจารณ์

 

 

ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงาน ของหน่วยงานที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น เพื่อบริหารจัดการน้ำว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ที่ออกมามากในขณะนี้นั้น มองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่สามารถเห็นต่างกันได้ ในมุมมองของตน ไม่คิดว่าเป็นความขัดแย้ง แต่เป็นการช่วยกันดูในรายละเอียด

 

อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้ที่รับฟังข้อมูลต่าง ๆ  พิจารณาตามความเป็นจริง เพราะการที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาแสดงความคิดเห็น เป็นการให้ความเห็นในระดับของยุทธศาสตร์ ภาพรวม ที่ไม่ได้มุ่งให้ประชาชนนำไปปฏิบัติ แต่เป็นการกล่าวถึงเรื่องของนโยบาย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเรื่องระดับของข้อมูลด้วยว่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งการถกเถียงเหล่านี้ ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง แต่เป็นการถกเถียงเพื่อให้คณะทำงานในระดับที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงมากกว่า

 

 

                  “นักวิชาการระดับสูงส่วนใหญ่ ท่านจะมองในระดับยุทธศาสตร์ ไม่ได้มองในระดับเล็ก ดังนั้นคนฟังเองจะต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่า คนที่ออกมาพูดนั้น เขาพูดระดับไหน เพราะการบริหารจัดการน้ำจะต้องทำหลายระดับที่สอดคล้องกัน ซึ่งในระดับประชาชนต้องฟัง อย่างเรื่องของยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เป็นการเสนอความคิดเห็น เพื่อให้นำไปแก้ไขปรับปรุง รัฐบาลก็ทำอยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้ง แต่เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันทำมากกว่า ซึ่งในระดับประชาชนจะต้องพิจารณาดูว่า เขาพูดให้เราทำหรือเปล่า ถ้าเป็นระดับยุทธศาสตร์ก็ฟังไว้ แต่ถ้าหากมีการพูดถึงเรื่องการเตือนภัย ให้เตรียมตัว หรือทำอะไรอันนี้ก็คงจะต้องรีบปฏิบัติ อย่างนี้เป็นต้น” ดร.อานนท์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยังไม่เข้าใจ ภัยแล้งจะเกิดจากการทำงานของกยน.ได้อย่างไร

 

 

เมื่อถามถึงประเด็นที่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด และ ดร.สมิทธ ธรรมสโรจน์ ออกมาระบุว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลขณะนี้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรง เพราะมีการปล่อยน้ำมากเกินไปนั้น ดร.อานนท์ กล่าว ขณะนี้ตนก็ยังไม่เข้าใจว่า การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งเป็นการบริหารในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน จะได้รับผลกระทบเรื่องภัยแล้งได้อย่างไร แต่การพูดถึงเรื่องภัยแล้งในภาคอีสาน ส่วนใหญ่เป็นเขตนอกชลประทานอยู่แล้ว อาจจะมีบ้างเขตชลประทานในลุ่มแม่น้ำมูล ดังนั้นจึงคิดว่าคงต้องไปดูในรายละเอียดว่าแท้จริงแล้วการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการมุ่งในภาพไหน แต่โดยภาพรวมแล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่

 

                 “ตอนนี้เวลาจะพูดข้อมูลเรื่องสภาพอากาศ จะพบว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เราพูดเรื่องแล้งเมื่อ 3-4 วันไปแล้ว แต่มาวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การถกเถียงกัน บางทีเป็นการพูดอยู่คนละฐาน ต้องดูว่าสิ่งที่เราถกเถียงกันนั้นอยู่บนฐานที่เป็นปัจจุบันแค่ไหน”

 

 

ชี้คนไทยคาดหวังใช้น้ำเกินความเป็นจริงของธรรมชาติ

 

 

ดร.อานนท์กล่าวต่อว่า เรื่องของภัยแล้ง ปัจจุบันมีการใช้ดาวเทียมในการติดตามข้อมูลด้วยเหมือนกัน แต่ที่ผ่านมาพบว่ายังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรนัก เพราะอาจจะติดเรื่องของเมฆ ทำให้ข้อมูลไม่ชัด ขณะนี้ทราบว่าที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ ฝนตกแล้ว เชื่อว่าน่าจะบรรเทาปัญหาภัยแล้งไปได้ระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ แต่เป็นสภาพที่เกิดขึ้นได้ ขณะนี้สภาพอากาศอาจจะแปรปรวนบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่หนีไปจากเดิม หรือผิดจากเดิมไปมากนัก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีการคาดกวังเรื่องน้ำสูงมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ เมื่อไม่สามารถที่จะมีน้ำได้ตามความคาดหวังของหลายฝ่ายจึงทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นจากข้อมูลจึงพบว่า ตอนนี้เราอยู่พื้นที่ที่ต้องการมาตรฐานสูงกว่าธรรมชาติ จึงต้องมาคิดกันว่า ตอนนี้เราจะลดมาตรฐานความต้องการลง หรือจะไปเปลี่ยนธรรมชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเป็นไปไม่ได้ที่จะไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ

 

                  “ในส่วนของคณะทำงาน จะรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว หลายสิ่งที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นสิ่งที่หน่วยงานรับผิดชอบทำอยู่แล้ว บางคำแนะนำที่เพิ่มเติมมาก็เป็นสิ่งที่ดี ผมคิดว่า การทำงานเชิงยุทธศาสตร์ จะต้องยืดหยุ่น ยิ่งมีความคิดเห็นต่างก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ ได้วิธีใหม่ ๆ มากขึ้น สิ่งที่อันตรายที่สุดของการทำงานระดับยุทธศาสตร์ คือการคิดที่แคบและแข็งตัว ดังนั้นการที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การแสงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ เห็นว่าคนวิจารณ์เองก็ไม่ได้เป็นคนในหน่วยงานภาคปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้หมายความคนในหน่วยปฏิบัติจะขัดแย้งกันไม่ได้ สิ่งสำคัญคือจะต้องมีกลไกในการยุติความขัดแย้ง เรื่องการระบายน้ำจะต้องทำให้มีจุดสิ้นสุด และต้องหาข้อยุติร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” ดร.อานนท์กล่าว

 

 

 

ระบุนาซ่าปฏิเสธสำรวจฯไม่กระทบ เพราะชาติอื่นติดต่อเยอะ

 

 

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาล โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กำลังดำเนินการต่อเพื่อสนับสนุนเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ดร.อานนท์กล่าวว่า จะเป็นการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ตอนนี้ได้รับความสนใจติดต่อเพื่อความร่วมมือกับกันจากหลายประเทศ เช่น เยอรมัน, ญี่ปุ่น หรือ แม้แต่ สหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการสำรวจชั้นบรรยากาศ เพื่อเป็นข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีข้อมูลด้านนี้มากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้แม้ว่าก่อนหน้านี้องค์การนาซ่า จะปฏิเสธการการขอเข้าร่วมสำรวจสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยออกไป แต่ก็ถือว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการพัฒนางานด้านนี้ของประเทศไทยแต่อย่างใด

 

 

                    “เรื่องของนาซ่า เราก็ยังติดต่อประสานกันอยู่ มีการตอบสนองไปในเชิงบวก ซึ่งปีหน้าเราจะสำรวจด้วยงบประมาณของเราเอง อีกส่วนหนึ่งเราจะช่วยเชื่อมโยงกับการใช้เครื่องมือในต่างประเทศ หลายประเทศเขาสนใจและอยากจะมาร่วมมือด้วย รวมถึงองค์กรอื่นๆ ในอเมริกา คือต้องบอกว่า เรื่องนาซ่า เป็นแค่หน่วยงานประสานงานเท่านั้น เพราะเขามีหน่วยงานอื่น ๆ ในนั้นจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์ตั้ง 300 กว่าคน การที่เขาปฏิเสธเราไปครั้งนั้น เพราะรอเราไม่ได้ เราอาจจะมีขั้นตอนมากเกินไป ซึ่งเวลาที่เขาจะสำรวจที่เป็นการศึกษาเรื่องในทะเล ละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ พอเลยเวลาฝนตกลงมา ละอองพวกนี้ก็ไม่มีแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่ใช่เรื่องที่จะส่งผลกระทบมากนัก แม้ว่าการไม่ได้เข้ามาของนาซ่าจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากเพื่อนบ้านซึ่งต้องการใช้ประโยชน์เรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะประเทศโดยรอบบ้านเราตอนนี้ ยังไม่ค่อยตระหนักเรื่องข้อมูลมากนัก” ดร.อานนท์กล่าว

 

สำหรับสภาพอากาศและสถานการณ์ฝนล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 23.00 น.วันที่ 13 กันยายน กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศว่า บริเวณความกดอากาศสูงได้แผ่ลิ่มลงมาปกคลุมถึงประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น โดยจะเริ่มเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 14-15 กันยายน 2555 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง

 

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักในช่วงวันที่ 13–17 กันยายน 2555 ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในช่วงวันเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

 

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “ซันปา” (SANBA) มีศูนย์กลางอยู่บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 15-16 กันยายน 2555 พายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

 

สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: