'ศาลปกครอง'นัดไต่สวน26ต.ค. อช.แก่งกระจานเผาบ้านกะเหรี่ยง

14 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1938 ครั้ง

จากกรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สิน ของนายโคอิ มีมิ อายุ 101 ปี และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบริเวณ ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว ได้รับความเสียหายแก่สิทธิเสรีภาพ ทรัพย์สิน โดยมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉาง ถูกไฟไหม้ประมาณ 100 หลัง เมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 ตามโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า

 

นำมาสู่การฟ้องศาลปกครองในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 เพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกิน ในพื้นที่บรรพบุรุษป่าแก่งกระจาน โดยนายโคอิ หรือคออี้  มีมิ กับพวกรวม 6 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้นำคดีมาสู่ศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

 

 

ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองกลาง มีหนังสือถึงนายโคอิ มีมิ และทนายความจากสภาทนายความ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้อง ที่ยื่นคำฟ้องด้วยตนเองลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.58/2555 และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

 

ส่วนกรณีที่นายน่อแอะ มีมิ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงลูกชายนายนายโคอิ มีมิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการดังกล่าวเช่นกัน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,622,500 บาท โดยศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว ทั้งมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หลังจากไต่สวนแล้วพบว่า โจทก์มีฐานะยากจน ไม่สามารถนำเงินมาวางเป็นค่าธรรมเนียมศาลได้ และมีกำหนดนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 26 ตุลาคม 2555 เวลา 09.00 น.

 

ด้านการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านแก่งกระจาน ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นำมูลนิธิปิดทองหลังพระและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือจัดสรรน้ำและแหล่งน้ำในการทำกินให้แก่ชาวบ้านโป่งลึกบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้ชาวบ้านสามารถใช้วิถีชีวิตพึ่งพาตนเองอย่างเพียงพอและยั่งยืน

 

ทั้งนี้ เอกสารคำฟ้องคดีดังกล่าวระบุข้อมูลว่า นายชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ละทิ้ง/ ออกจากบ้านเรือนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย-บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยมีความผิดพลาดในข้อเท็จจริง (l’erreur de fait) นายชัยวัฒน์ ไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎรของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน รวมถึงไม่ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมเสียก่อน โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน เป็น “ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ทั้งยังรื้อ เผา ทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการทางปกครอง การกระทำทางปกครองที่ขัดต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และขัดต่อหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

 

ทั้งยังเป็นการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง ที่ขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง เพราะตามข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่ามีมาตรการที่เหมาะสมอยู่หลายมาตรการ แต่มาตรการที่นายชัยวัฒน์ในฐานะฝ่ายปกครอง เลือกที่จะเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้าน มิใช่มาตรการที่มีความรุนแรงน้อยที่สุดแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีมาตรการอื่น ๆ ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักกฎหมายปกครองมากกว่า คือ การยุติการจับกุม และให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม, การเพิกถอนพื้นที่ที่รับประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้อยู่อาศัยดำเนินชีวิตและใช้ประโยชน์ที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมายหรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว

 

การกระทำของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกิน และสูญเสียอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียงตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 หน่วยงาน ชดใช้ค่าเสียหาย และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษ โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: