‘คอนโดฯ’เฟื่องจัด-ไม่หวั่นดินไหว ย่านกลางเมือง-รถไฟฟ้ายังมาแรง กวาดตลาดอสังหาฯ70%-บ้านซบ

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 14 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2020 ครั้ง

 

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมากระแสที่อยู่อาศัยของคนเมืองไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ หันมาให้ความสนใจที่อยู่อาศัยแนวตั้งหรือ 'คอนโดมิเนียม' มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระแสคอนโดมิเนียมแรงจัดจนยั้งไม่อยู่ ส่วนหนึ่งนอกจากเป็น 'เทรนด์' ที่คนหนุ่มสาวนิยมกันแล้ว ปัญหา ‘น้ำท่วม’ เมื่อปลายปี 2554 และการจราจรที่สาหัสขึ้นทุกวัน เป็นแรงผลักดันให้ความต้องการคอนโดฯ พุ่งสูงอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ ต้องกระโดดเข้าร่วมชิงเค้กก้อนนี้ด้วย ถึงแม้ล่าสุดจะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ประเทศพม่า รู้สึกได้บนตึกสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ที่ยังต้องการซื้อที่อยู่อาศัยบนอาคารสูงเปลี่ยนความตั้งใจเดิม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตลาดบ้านเปลี่ยนทิศ-คอนโดฯเฟื่อง

 

 

การเฟื่องฟูของตลาดคอนโดมีเนียมในเมืองใหญ่ เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญข้อแรก ๆ เป็นเทรนด์ของคนหนุ่มสาว หรือผู้ที่เรียบจบออกมาทำงานใหม่ ๆ รวมทั้งคู่แต่งงานที่ปัจจุบันมีลูกน้อยลง อีกส่วนมาจากปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ บวกกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทำงาน นิยมอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ใกล้ที่ทำงาน หรือตามแนวรถไฟฟ้า เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย อีกทั้งราคาที่ดินที่แพงขึ้นและหายากเข้าไปทุกที หากไม่มีที่ดินมรดกหรือทรัพย์สินอยู่ก่อนแล้ว จึงแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะหาซื้อบ้านหรือทาวน์เฮาส์ในเขตเมือง คอนโดมิเนียมจึงเป็นตัวเลือกเดียวที่มีอยู่

 

ยิ่งเมื่อประเทศไทยประสบอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี 2554 พื้นที่ปริมณฑลแทบทุกจังหวัด ตกเป็นเหยื่อ 'น้องน้ำ' พื้นที่ดังกล่าว แต่เดิมมีบ้านจัดสรรทั้งบ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮาส์ราคาไม่สูงมากนัก ยังเป็นที่นิยมของคนที่ไม่ชอบอยู่คอนโดฯ โดยยอมเดินทางไกลขึ้น เพื่อความสะดวกสบายเมื่อยามอยู่บ้าน ‘บนดิน’ แต่เมื่อเจอปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผู้ที่คิดจะซื้อบ้านในจังหวัดปริมณฑล หรือชานเมืองกรุงเทพฯ เลือกมาสนใจคอนโดฯ ในเมือง ที่เป็น ‘ไข่แดง’ ซึ่งรัฐบาลไม่ว่าชุดไหน ก็ไม่ยอมให้น้ำเข้ามากล้ำกรายแน่นอน

 

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ความเห็นว่า จากข้อมูลการจดทะเบียนที่อยู่อาศัยช่วงครึ่งปีแรกมีอยู่ 32,174 หน่วย เพิ่มขึ้น 74 เปอร์เซนต์ เป็นโครงการในกรุงเทพฯ เพียง 1 เปอร์เซนต์ ส่วนทำเลที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร ตามลำดับ

 

สาเหตุที่ทำให้ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ทำให้ผู้ประกอบการไม่พร้อมพัฒนาโครงการแนวราบใหม่ ๆ เพราะใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ในการเตรียมที่ดินเพื่อเปิดโครงการ ขณะที่คอนโดมิเนียมใช้พื้นที่การพัฒนาน้อยกว่า รวมถึงการตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้ปิดการขายได้เร็วกว่า และปัจจุบันผู้บริโภคที่ยังกังวลต่อเหตุการณ์น้ำท่วมก็ให้ความเชื่อมั่นตลาดคอนโดมิเนียมมากกว่าแนวราบอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คอนโดฯราคา 1-5 ล้าน เปิดขายมากสุด

 

 

                  “ส่วนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในรอบ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2555) แม้จะเพิ่มขึ้นเพียง 1 เปอร์เซนต์ เป็น 51,892 หน่วย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มี 51,356 หน่วย แต่น่าสนใจว่าคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ มีส่วนแบ่งการตลาดสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 70 เปอร์เซนต์ ทำลายสถิติใหม่ของตลาดที่อยู่อาศัย เนื่องจากในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา แม้ส่วนแบ่งการตลาดคอนโดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่เคยเกิน 55-56 เปอร์เซนต์ ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบเปิดใหม่ มีเพียง 16,142 หน่วย ลดลงกว่า 40 เปอร์เซนต์” นายอิสระกล่าว

 

 

 

ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จากสถิติพบว่า มีจำนวน 40,057 หน่วย แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดมากที่สุด 17,138 หน่วย คิดเป็น 43 เปอร์เซนต์ เพิ่มขึ้น 21 เปอร์เซนต์ จากไตรมาสแรก ทาวน์เฮาส์ 11,573 หน่วย สัดส่วน 29 เปอร์เซนต์ เพิ่มขึ้น 28 เปอร์เซนต์ บ้านเดี่ยว 6,916 หน่วย สัดส่วน 17 เปอร์เซนต์  เพิ่มขึ้น 27 เปอร์เซนต์ อาคารพาณิชย์ 3,391 หน่วย สัดส่วน 8 เปอร์เซนต์ เพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซนต์ บ้านแฝด 1,039 หน่วย สัดส่วน 3 เปอร์เซนต์ เพิ่มขึ้น 34 เปอร์เซนต์

 

 

31 โครงการ มูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท

 

 

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ระบุถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเดือนสิงหาคม 2555 มีจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ทั้งหมด 31 โครงการ รวม 8,208 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 27,257 ล้านบาท

 

 

อาคารชุดมีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุด 4,162 หน่วย (51 เปอร์เซนต์) รองลงมาคือ ทาวน์เฮาส์ 2,290 หน่วย (28 เปอร์เซนต์) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยว 1,552 หน่วย (19 เปอร์เซนต์) ทำเลที่มีการเปิดขายใหม่ส่วนใหญ่ สำหรับบ้านเดี่ยวจะตั้งอยู่ในบริเวณถ.สายไหม ถ.รามอินทรา ถ.อ่อนนุช-ลาดกระบัง และบริเวณถ.ราชพฤกษ์ ส่วนอาคารชุดหากอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน จะเปิดอยู่บริเวณถ.สุขุมวิท ถ.พหลโยธิน รัชดาภิเษก และในเขตกรุงเทพฯ ชั้นกลาง เช่น ย่านลาดพร้าว-วังหิน-ราชพฤกษ์ เป็นต้น

 

หากพิจารณาระดับราคาขายจะพบว่า มีการเปิดขายที่ระดับราคา 0.501-1.000 มีจำนวน 1,695 หน่วย (21 เปอร์เซนต์) มีมูลค่าโครงการ 1,676 ล้านบาท (6 เปอร์เซนต์) ระดับราคา 1-2 ล้านบาท มีจำนวน 2,034 หน่วย (25 เปอร์เซนต์) มีมูลค่าโครงการ 3,433 ล้านบาท (13 เปอร์เซนต์) ระดับราคา 2-3 ล้านบาท มีจำนวน 904 หน่วย (11 เปอร์เซนต์) มีมูลค่าโครงการ 2,309 ล้านบาท (8 เปอร์เซนต์) ที่ระดับราคา 3-5 ล้านบาท จำนวน 2,168 หน่วย (26 เปอร์เซนต์) มีมูลค่าโครงการ 8,276 ล้านบาท (30 เปอร์เซนต์) ส่วนที่มีระดับราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 1,411 หน่วย (17 เปอร์เซนต์) และมีมูลค่าโครงการ 11,564 ล้านบาท (42 เปอร์เซนต์)

 

 

ยอดจดทะเบียนคอนโดฯ เกิน 50 เปอร์เซนต์

 

 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เจ้าตลาดสินเชื่อบ้าน วิเคราะห์ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2555 หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลความนิยมซื้อคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนห้องชุดสร้างเสร็จ จดทะเบียนใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 34,051 หน่วย และเชื่อว่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นสังเกตได้จาก 2 ปีที่ผ่านมา คอนโดมิเนียมมีสัดส่วนเกินกว่า 50 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะก่อนประกาศผังเมืองใหม่ โซนที่น้ำท่วมและน้ำไม่ท่วม

 

ส่วนฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด วิเคราะห์ว่า ตลาดคอนโดมิเนียมครึ่งปีแรก 2555 หากเทียบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา จะมีผู้ประกอบการกลับมาพัฒนาโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง การเสนอขายห้องชุดในช่วงครึ่งปีแรก เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซนต์ จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และคาดว่าความต้องการห้องชุดจะเติบโตขึ้นอีก ส่วนราคาจะขยับสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 3-5 เปอร์เซนต์

 

 

 

 

จำนวนห้องชุดสร้างเสร็จสะสมเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซนต์ จากปี 2554 มาอยู่ที่ 295,537 ยูนิต และพบว่าการเสนอขายใหม่ช่วงครึ่งปีแรก 2555 มีจำนวน 35,986 ยูนิต จาก 80 โครงการ เพิ่มขึ้น 33.1 เปอร์เซนต์ หากเปรียบเทียบกับช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ส่วนเสนอขายห้องชุดช่วงครึ่งปีแรกใน 8 พื้นที่ (ยกเว้นพื้นที่รอบนอก เช่น นนทบุรี, มีนบุรี, รามคำแหง เป็นต้น) มีจำนวน 42,312 ยูนิต เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซนต์ จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 26.4 เปอร์เซนต์

 

ยอดขายห้องชุดใน 8 พื้นที่ ช่วงครึ่งปีแรก 2555 อยู่ที่ 16,153 ยูนิต เพิ่มขึ้น 13.6 เปอร์เซนต์ จากช่วงเดียวกันในปี ก่อนหน้า หรือคิดเป็นสัดส่วนยอดขายได้ 38.2 เปอร์เซนต์ จากยูนิตเสนอขายใน 8 พื้นที่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับความต้องการที่อยู่อาศัยแนวสูงเพิ่มขึ้นภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว โดยพบว่า พื้นที่ฝั่งธนบุรีมียอดขายเพิ่มขึ้นสูงสุด 260.8 เปอร์เซนต์ รองลงมาคือ พื้นที่สุขุมวิทรอบนอก เพิ่มขึ้น 28.3 เปอร์เซนต์ และพื้นที่รัชดาภิเษก เพิ่มขึ้น 9.7 เปอร์เซนต์

 

สำหรับราคาขายเฉลี่ยต่อตารางเมตรใน 5 พื้นที่ธุรกิจหลัก ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.31 เปอร์เซนต์ จากปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 1,410 บาท มาอยู่ที่ 109,264 บาทต่อตารางเมตร โดยพื้นที่พญาไทมีราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุด 10 เปอร์เซนต์ เป็นผลจากต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น ประกอบกับโครงการใหม่ปรับราคาขายสูงขึ้นกว่ามาตรฐานเดิมในตลาด รองลงมาคือ พื้นที่พหลโยธิน ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.8 เปอร์เซนต์ และพื้นที่สุขุมวิท เพิ่มขึ้น 0.6 เปอร์เซนต์

 

 

กลางเมือง-แนวรถไฟฟ้ามาแรง

 

 

ส่วนบริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) นำเสนอรายงานผลการวิจัยตลาดคอนโดมิเนียม โดยเก็บข้อมูลจากบทความนักวิเคราะห์ ข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐและรายงานวิจัยอื่น ๆ รวมถึงข้อมูลตรงจากการสนทนาทางโทรศัพท์ การบันทึกภาพโครงการ การเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้าง และการสัมภาษณ์บุคลากรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุมตลาดคอนโดมิเนียมทุกช่วงราคา ในย่านกรุงเทพฯ ชั้นใน และพัทยาทั้งหมด

 

รายงานดังกล่าวระบุว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เปิดตัวออกสู่ตลาดทั้งหมด 35 โครงการ และมีโครงการแล้วเสร็จ 34 โครงการ คิดเป็นห้องชุด 16,745 ยูนิต พื้นที่สาธร-ธนบุรี และตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สายสุขุมวิทเป็นพื้นที่ที่มีโครงการใหม่มากเป็นพิเศษ ส่วนยอดขายมียอดโดยเฉลี่ย 61 เปอร์เซนต์ หรือคิดเป็น 10,231 ยูนิต ที่ถูกจับจองไปแล้ว

 

พื้นที่ที่ถือได้ว่าเป็นเสมือนศูนย์กลางของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านเพชรบุรี/ปทุมวัน, พญาไท/พหลโยธิน, พระราม 9/รัชดาภิเษก ตามเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสาธร และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท

 

 

 

 

ขณะที่แนวรถไฟฟ้าที่ถือว่าได้รับความสนใจและมีโครงการต่าง ๆ ผุดขึ้นมากที่สุดคือ แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่) ช่วงถ.รัตนาธิเบศร์ เนื่องจากเป็นโครงการที่จะแล้วเสร็จเป็นเส้นแรก จากโครงการทั้งหมดที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ โดยตามกำหนดคาดว่า จะเปิดให้บริการได้ปลายปี 2558 อีกส่วนมาจากช่วงถ.รัตนาธิเบศร์ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปลายปี 2554 ไม่มากนัก ทำให้เป็นพื้นที่ได้รับความสนใจจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์มาเปิดโครงการใหม่ ๆ จำนวนมาก

 

ด้านศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ชี้ถึงจุดแข็งทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงว่า นอกจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2558 แล้ว ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งรายใหญ่และรายย่อยหันมาลงทุนพัฒนาโครงการอาคารชุดในย่านนี้กันมากขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินในย่านนี้ยังไม่สูงมากนัก หากเทียบกับราคาที่ดินในเมือง ประกอบกับผู้ประกอบการเห็นถึงศักยภาพในอนาคตของทำเลแถบนี้ว่า ลูกค้าสามารถเดินทางเข้าเมืองได้สะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น เมื่อรถไฟฟ้าเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ

 

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า นนทบุรีเป็นทำเลที่ผู้ประกอบการหันมาลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบค่อนข้างมาก แต่เมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ทำให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนพัฒนาโครงการอาคารชุด โดยเฉพาะบริเวณแนวรถไฟฟ้า เนื่องจากความสะดวกสบายในการเดินทาง และด้วยลักษณะเด่นของจ.นนทบุรี ซึ่งมีพื้นที่ติดกรุงเทพฯ มากกว่าจังหวัดปริมณฑลอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐ สถานศึกษาและสถานอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย เช่น ศูนย์ราชการนนทบุรี กระทรวงสาธารณสุข ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ จึงส่งผลให้ที่อยู่อาศัยในย่านนี้ขยายตัวเป็นอย่างมาก

 

 

ทำเลรถไฟฟ้าสายสีม่วงขายดีที่สุด

 

 

ผลสำรวจตลาดอาคารชุด ในรัศมีประมาณ 1 กิโลเมตร จากแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีโครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่ตั้งแต่ปี 2551 ถึงสิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2555 ทั้งสิ้นประมาณ 22 โครงการ รวมประมาณ 13,800 หน่วย เป็นหน่วยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 9 โครงการ รวมประมาณ 6,350 หน่วย เป็นหน่วยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 8 โครงการ ประมาณ 3,550 หน่วย ที่เหลือเป็นหน่วยที่ยังไม่ได้ เริ่มก่อสร้าง 5 โครงการ รวมประมาณ 3,900 หน่วย โดยคาดว่า จะสร้างแล้วเสร็จทุกโครงการภายในปี 2558

 

 

 

จากจำนวนหน่วยในผังโครงการทั้งหมดนี้ มียอดจองหรือขายแล้วกว่า 11,600 หน่วย คิดเป็นประมาณร้อยละ 84 ของหน่วยในผังทั้งหมด โดยโครงการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Companies) มีทั้งสิ้น 11 โครงการ แต่มีจำนวนห้องชุดคิดเป็นถึงร้อยละ 83 ของหน่วยทั้งหมด ขณะที่โครงการจากผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์มี 11 โครงการเท่ากัน แต่มีจำนวนห้องชุดรวมเพียงร้อยละ 17 ของหน่วยทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าโครงการ จากผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีจำนวนห้องมากกว่า

 

พื้นที่ซึ่งผู้ประกอบการนิยมเปิดโครงการอาคารชุดมากที่สุดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คือ บริเวณสี่แยกแครายถึงสะพานพระนั่งเกล้า ซึ่งครอบคลุมถ.รัตนาธิเบศร์ มีโครงการอาคารชุดเปิดใหม่รวมทั้งสิ้น 12 โครงการ จำนวนหน่วยรวมประมาณ 10,000 หน่วย มียอดจองหรือยอดขายแล้วประมาณร้อยละ 90 ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ตารางเมตรละประมาณ 45,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการของผู้ประกอบการในตลาดรวม 6 โครงการ จำนวนหน่วยรวมประมาณ 8,600 หน่วย เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเปิดขายในราคาตารางเมตรละประมาณ 41,000 บาท เมื่อปี 2551 แต่เมื่อเปิดโครงการใหม่ในปี 2555 กลับเปิดขายในราคาตารางเมตรละประมาณ 56,000 บาท

 

สำหรับบริเวณแยกติวานนท์ มีโครงการทั้งสิ้น 8 โครงการ จำนวนหน่วยประมาณ 3,600 หน่วย มียอดจองหรือยอดขายแล้วประมาณร้อยละ 70 ราคา ขายเฉลี่ยอยู่ที่ตารางเมตรละ 51,500 บาท โดยเป็นโครงการของผู้ประกอบการในตลาดประมาณ 5 โครงการ จำนวนหน่วยรวมประมาณ 2,900 หน่วย โดยในบริเวณนี้มีโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่ เปิดขายในราคาตารางเมตรละประมาณ 65,000 บาท ซึ่งถือเป็นราคาสูงที่สุดในขณะนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงบางใหญ่-บางซื่อ มียอดจองหรือขายจำนวนมาก เพราะที่อยู่อาศัยในย่านนี้ จะตอบโจทย์ผู้ที่ทำงานในเมือง และต้องการซื้ออาคารชุดใกล้ที่ทำงานแต่มีงบประมาณจำกัด โดยอาจมีผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรจำนวนหนึ่ง ราคาห้องชุดส่วนใหญ่ในย่านนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.3 ล้านบาทขึ้นไป ถึงประมาณ 2 ล้านบาทต้น ๆ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ใกล้จุดขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า จะได้รับความสนใจมาก ย่านนี้จึงเป็นทำเลทองอีกแห่งหนึ่งในอนาคต เมื่อรถไฟฟ้าสายนี้เริ่มเปิดให้บริการ

 

จากการเติบโตอย่างร้อนแรงของตลาดคอนโดมิเนียม ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น จากที่แทบไม่เคยมองตลาดคอนโดมิเนียม ต้องโดดเข้าร่วมเกาะกระแส สร้างยอดขายรวมกันหลักแสนล้านบาท พร้อมกับปรากฏการณ์ 'เก็งกำไร' ซื้อขายใบจองกลับมาระบาดอีกครั้ง จนหวั่นกันว่าหากดูแลหรือป้องกันไม่ดี อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: