จี้แก้อุบัติเหตุ-โรคระบาด สช.ติง10ปียังเหมือนเดิม

14 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2194 ครั้ง

 

คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีการประชุม ครั้งที่ 3/2555 โดยมีน.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน ที่ อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมีระเบียบวาระสำคัญคือติดตามความคืบหน้าของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 พ.ศ.2553 เรื่อง การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และโรคติดต่ออุบัติใหม่ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ในวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้

 

น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย รองผู้อำนวยการอาวุโส และผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุ โรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า แนวโน้มของอุบัติภัยบนท้องถนนยังสูงขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจขยายตัว และการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์สูงขึ้น รวมถึงนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ที่ทำให้ปริมาณรถยนต์ส่วนตัวออกสู่ตลาดมากขึ้น

 

น.พ.วิทยากล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการบังคับใช้กฎหมาย และรณรงค์ให้การลดอุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้ ปี 2011-2020 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน แต่ปรากฏว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ทำอย่างเข้มแข็ง ผู้ขับขี่ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ขับขี่เร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด, เมาแล้วขับ, ไม่สวมหมวกกันน็อค, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่มีเข็มขัดนิรภัยสำหรับเด็ก

 

จากสถิติพบว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใส่หมวกกันน็อคเพียง 44 เปอร์เซนต์ และจำนวนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ จ.สมุทรปราการและนนทบุรี มีการออกใบสั่งจราจรรถจักรยานยนต์สูงสุด ที่นครราชสีมา ภูเก็ต เพชรบุรี และพบการออกใบสั่งน้อยที่สุดคือ ระยอง อุทัยธานี และสุโขทัย

 

 

 

ส่วนการออกใบสั่งจราจร กรณีเมาแล้วขับสูงสุดที่ จ.ขอนแก่น สุรินทร์ และตราด ต่ำสุดที่จ.สตูล อุทัยธานี และระยอง กรณีตรวจจับความเร็วเกินกฎหมายกำหนด สูงสุดที่จ.ลำปาง อุบลราชธานี สระบุรี ต่ำสุดที่จ.สตูล น่าน และสุราษฎร์ธานี

 

 

              “โครงการทั้งหมดที่เกี่ยวกับการลดอุบัติภัยบนท้องถนนของภาครัฐ ไม่ได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยแต่ละฝ่ายอ้างว่า ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน จึงอยากเสนอให้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินการอย่างจริงจัง และมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น” น.พ.วิทยากล่าว

 

 

นอกจากนี้ ในการประชุมเดียวกัน น.พ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้กล่าวถึงประเด็นด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่จะต้องมีการติดตามความคืบหน้าด้วย โดยระบุว่า หลังจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2552 มีมติให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ ทางกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นองค์กรหลักในเรื่องนี้ นำมติดังกล่าวไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2555 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีองค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ เป็นกลไกขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติต่อไป

 

 

สำหรับในส่วนของเรื่องโรคติดต่ออุบัติใหม่ตามแผนนี้จะครอบคลุม 3 กลุ่ม คือโรคติดต่ออุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศ โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ และโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความสะดวกเรื่องการเดินทาง ไม่ว่าจะแพร่กระจายภายในประเทศหรือจากมุมหนึ่งไปสู่อีกมุมหนึ่งของโลก โดยโรคที่เกิดขึ้นกว่า 75 เปอร์เซนต์ มีความสัมพันธ์กับสัตว์ต่าง ๆ และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้เชื้อโรคสามารถแพร่เชื้อไปได้เร็ว และรักษาได้ยากขึ้น

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกทั้งกับคน และสัตว์ ทำให้เกิดแนวคิดความร่วมมือสุขภาพหนึ่งเดียว ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมปศุสัตว์ เมื่อตรวจพบไก่ที่ติดเชื้อไข้หวัดนก จะแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุขทันที ทำให้การจำกัดวงของการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที ลดความเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจลงได้มาก แนวคิดนี้ถือเป็นต้นแบบสำหรับการแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่ ในไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: