‘อียู’จี้ตรวจพืชผัก-พบสารพิษอื้อ กระทบส่งออก-4ปีสูญกว่าหมื่นล. แนะรัฐวางกรอบอาหารปลอดภัย

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 14 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3202 ครั้ง

 

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การส่งออกพืชผักของไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ค่อนข้างประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากมีการตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของสารเคมีในพืชผักเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรปหรืออียู ส่งผลให้เกิดภาพลบกับประเทศไทยในหลายด้าน เช่น ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจากสายตาต่างชาติ รวมไปถึงมูลค่าการส่งออกที่ลดลงกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ที่จะแก้ปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในพืชผัก ในทางกลับกันกลับมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลกำลังมีความพยายามที่จะขึ้นทะเบียนสารเคมีร้ายแรงอีกหลายชนิด

 

 

อียูสุ่มตรวจผักไทย ตามข้อมูลนำเข้าสารเคมี

 

 

ดร.จรัญ ยะฝา หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อนินทรีย์เคมี ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาอย่างมาก ในการส่งพืชผักไปขายยังต่างประเทศ เนื่องจากพืชผักที่ส่งออกนั้น ถูกตรวจพบสารเคมีในปริมาณที่มากเกินมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) จากข้อมูลสถิติการส่งสินค้าไปสหภาพยุโรป ผักผลไม้ไทยถูกตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่อียูกำหนดเกือบทุกครั้ง

 

 

ทั้งนี้การที่ประเทศในสหภาพยุโรปตรวจพบสารเคมี ยาฆ่าแมลง ชนิดต่าง ๆ จากผักของไทยนั้น เนื่องเพราะอียูมีฐานข้อมูลการนำเข้ายาฆ่าแมลง สารเคมีที่ประเทศไทยสั่งและนำเข้ามาใช้ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้บางชนิดหลายประเทศสั่งห้ามใช้ในประเทศของตนเองแล้ว แต่ยังมีการผลิตขายให้กับประเทศอื่นอยู่ ทั้งนี้การตรวจพืชผักของไทย อียูจะตรวจสอบจากพื้นฐานของข้อมูลการนำเข้าสารเคมีของไทย แต่ไม่ได้ตรวจตามมาตรฐานที่ยุโรปกำหนด ทำให้การตรวจแทบทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอของอียูจะพบการปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งเป็นผลลบกับประเทศอื่น ในประเด็นความสามารถในการตรวจวิเคราะห์

 

ซึ่งสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงที่ประเทศไทยยังนำเข้ามาใช้ และกำลังจะขึ้นทะเบียน เป็นสารเคมีที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง 4 ชนิด ประกอบด้วย คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น

 

 

เสนอรัฐสร้างเครื่องมือตรวจสอบสารพิษให้ผู้บริโภค

 

 

ดร.จรัญกล่าวว่า นอกจากนี้สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดคือ การวางโครงสร้างพื้นฐาน ในการดูแลเรื่องอาหารปลอดภัย และระบบการตรวจสอบ ซึ่งหน่วยงานที่ออกระเบียบ ข้อกำหนด ออกมาตรฐานสินค้ายังมีน้อยมาก ที่เห็นชัดเจนคือ องค์การอาหารและยา (อย.) ที่ต้องออกมาตรฐานสินค้าประเภทอาหารทุกชนิด รวมถึงผักผลไม้ ต่าง ๆ และมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) ที่มีหน้าที่ออกมาตรฐานสินค้า และหลังจากที่มีการออกมาตรฐานแล้วต้องมีการทดสอบ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการทำงานของทั้งสองหน่วยงาน ไม่สามารถกำหนดมาตรฐานให้ทันกับสินค้าที่ผลิตออกมาได้

 

นอกจากนี้ กระบวนการของการตรวจสอบอาหารหลังจากที่ อย.ได้กำหนดมาตรฐานออกมาแล้ว จะต้องมีการทดสอบ ซึ่งจะต้องดำเนินการในห้องปฏิบัติการ โดยต้องนำระบบมาตรวิทยาเข้าไปใช้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบดังกล่าวประมาณ 30 แห่ง แต่ละแห่งจะตรวจหาสารได้บางชนิดเท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการทดสอบมีราคาสูงมาก ผู้บริโภคเองหากต้องการตรวจสอบไม่สามารถดำเนินการได้

 

 

                  “ห้องปฏิบัติการทดสอบอาหารจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะเป็นพื้นฐานให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบอาหาร ดังนั้นผู้บริโภคต้องเรียกร้องให้ภาครัฐสร้างระบบทดสอบนี้ขึ้นให้เพียงพอ และกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงให้มากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคสามารถทดสอบพืชผักได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานใด ๆ เพียงรัฐวางโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้”

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากสถาบันมาตรวิทยากล่าวว่า  หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบควรจะศึกษาการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศอื่น เช่น ประเทศเยอรมัน ทั้งนี้เมื่อมีการตรวจพบว่า พืชผักจากประเทศไทยมีการปนเปื้อนสารเคมีจำนวนมาก เยอรมันได้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่มาทำงานร่วมกับสถาบันมาตรวิทยา โดยตรวจสอบตั้งแต่พื้นที่การเกษตรที่จะปลูกผักเพื่อส่งไปขายยังประเทศเขา การใช้สารเคมี เครื่องมือการตรวจวัดต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ก่อนที่จะส่งไปสินค้าออกไป

 

 

4 ปีกระทบยอดส่งออกกว่าหมื่นล้านบาท

 

 

ด้าน นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดผู้ค้าขายผักมีหลายระดับมากในประเทศไทย ทั้งตลาดสด แผงลอย ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งปัญหาพืชผักที่ปนเปื้อนสารพิษ มักเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาหอการค้า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในพืชผักที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ รุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ตรวจพบสารปนเปื้อนในผักพื้นบ้านของไทยที่ส่งออกไปขายเกินกว่าค่าที่กำหนด

 

               “ข่าวเรื่องผักไทยปนเปื้อนสารพิษ เผยแพร่ไปเร็วมากในสหภาพยุโรป ทั้งอินเตอร์เน็ต ทีวี ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบถึงร้านอาหารไทยในต่างแดน ที่ต้องใช้ผักพื้นบ้านไทยในการประกอบอาหาร เช่น น้ำพริก ผู้บริโภคเลือกที่จะไม่กิน เพราะกังวลเรื่องสารตกค้าง”

 

 

รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าได้หารือกับทั้งบริษัทผู้ประกอบการที่ส่งผักสดไปขายต่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายพยายามหามาตรการในการแก้ปัญหาแต่ช้าเกินไป ทำให้ตัวเลขมูลค่าการส่งออกพืชผักของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท จากเดิมที่ปีหนึ่งจะมีมูลค่าการส่งออกถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี

 

 

 

สภาหอการค้าขอคุมมาตรฐานผักส่งออก

 

 

ฉะนั้นสภาหอการค้าฯ จึงพยายามหาสาเหตุ ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นและพบว่า 1. มีสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ไม่ถูกต้องจำนวนมาก ภาครัฐควรจะเข้าไปตรวจสอบว่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร และส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในประเทศ รวมถึงรายได้ที่จะเข้าประเทศด้วย 2.ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เกษตรกร ไม่มีความรู้เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย และการใช้สารเคมี การที่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขาดความรู้เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เรื่องนี้จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่น วิธีการป้องกันตนเองในการใช้สารเคมี ไม่มีการตรวจสอบมาตรฐานอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย และ 3.ไม่มีการนำมาตรฐานที่กำหนดไปสู่การปฏิบัติ

 

 

                “ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และไม่ควรเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง เพราะจะกระทบกับมูลค่าการส่งออก ที่เสียหายปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท 3 ปี เป็นเงินกว่า10,000 ล้านบาท ที่ประเทศไทยต้องเสียไป” นายชูศักดิ์กล่าว

 

 

สภาหอการค้าฯ พยายามหาทางออกในเรื่องนี้ เนื่องจากมาตรฐานของรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเสนอให้ภาคเอกชนเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน ที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ให้ภาคเอกชนนำไปปฏิบัติและมีการตรวจสอบโดยบุคคลที่ 3 และประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชามอาเซียน การแข่งขันในตลาดจะยิ่งสูงมาก ไทยควรจะเร่งเตรียมความในเรื่องนี้ เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันได้ อย่างไรก็ตามการออกมาตรฐานใช้ได้เฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ประกอบการระดับปานกลาง เท่านั้น แต่พืชผักที่อยู่ในตลาดสด สภาหอการค้าฯ ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้

 

 

               “จากการหารือกับผู้ประกอบการพบว่า ผักในร้านค้าปลีกมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ผักอีก 75 เปอร์เซ็นต์อยู่ในตลาดสด ซึ่งสภาหอการค้าฯ อย่างเดียวแก้ไขไม่ได้ ทุกหน่วยงานต้องลงไปช่วยกัน รวมทั้งผู้บริโภคด้วย ทำไมหน่วยงานรัฐไม่ให้ความรู้กับเกษตรกรที่ปลูกผัก ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงมาตรฐานที่กำหนด และผักที่ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ควรจะมีมาตรฐานเดียว”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้บริโภคจี้รัฐแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เลิกนำเข้าสารเคมี

 

 

ทางด้านตัวแทนผู้บริโภค น.ส.พอทิพย์ เพชรโปสี กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ทำงานสวนทางกับความจริง ในขณะที่ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่สุขภาวะของประชาชนที่แย่ลงไปจนถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย และมูลค่าการส่งออกที่ลดลง มีต้นเหตุมาจากการนำเข้าสารเคมีที่เป็นอันตรายทั้งสิ้น ซึ่งรัฐบาลต้องยกเลิกการนำเข้าสารเคมี จะสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ในขณะที่ตลาดสารเคมีในประเทศเติบโตอย่างมาก มีการใช้สื่อโฆษณา จูงใจต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรใช้สารเคมีมากขึ้น แต่รัฐไม่มีการควบคุมหรือป้องกันแต่อย่างใด

 

 

             “ส่วนผู้บริโภคอย่างพวกเราที่เราตัวกัน ทำอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องสารเคมี  สิ่งที่ทำได้แค่ไปเยี่ยมให้กำลังใจเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ชักชวนตั้งกลุ่มเปลี่ยนวิถีการกิน เพื่อให้ลดการใช้สารเคมีให้ได้มากที่สุด”

 

 

น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานโครงการกินเปลี่ยนโลก กล่าวว่า  ทุกอย่างอยู่ที่ผู้บริโภคที่ต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเอง ผู้บริโภคสำคัญมากในแง่ของการเปลี่ยนแปลง เช่น ในประเทศเยอรมัน เมื่อมีการตรวจพบว่าผักของบริษัทใดมีสารเคมีปนเปื้อนเกินมาตรฐานที่กำหนด ผู้บริโภครวมตัวกันกดดันผู้ประกอบการรายนั้น จนต้องเลิกกิจการ ในขณะที่ผู้บริโภคไทยไม่เข้มแข็งขนาดนั้น และฝากความหวังเรื่องอาหารปลอดภัยไว้กับตรารับรอง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตรารับรองนั้นมีการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเพียงครั้งเดียว คือก่อนที่จะให้การรับรอง แต่หลังจากนั้นไม่เคยมีการตรวจสอบซ้ำอีกเลย

 

 

            “โครงการกินเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยสุ่มตรวจผักจากสยามพารากอน ตลาดสดและรถพุ่มพวง ซึ่งพบว่า ทั้ง 3 แห่ง มีสารเคมีปนเปื้อนในปริมาณที่เกินมาตรฐานเหมือนกันหมด ผักในห้างมีการใส่ถุงสวยงามอย่างดี มีตรารับรอง หมายความว่าตรารับรองเชื่อถือไม่ได้ และที่สำคัญคือไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับผักยี่ห้อนั้นและห้างนั้น ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อยังเลือกซื้อผักที่มีตรารับรองเหมือนเดิม”

 

 

ดังนั้นหากผู้บริโภคต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ต้องเริ่มที่ตนเองรู้สิทธิว่า เรามีสิทธิที่จะกินอาหารที่ปลอดภัยและกดดันผู้ผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ รวมไปถึงการเรียกร้องรัฐบาลให้ดูแลในเรื่องระดับนโยบายด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: