ถอดบทเรียนน้ำท่วมจวกรัฐจัดการล้มเหลว ไร้ชาวบ้านมีส่วนร่วม-ตั้งคนไม่รู้เรื่องดูแล ที่ปรึกษามาฟอร์มเดิม แนะผุดเขื่อนใหญ่ ชุมชนระดมปรับตัวสู้-คาดงบรัฐเจอละเลง

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 14 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2959 ครั้ง

 

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายของทุกคน ด้วยความที่ไม่มีใครคาดคิดว่า เหตุการณ์จะรุนแรงและก่อความเสียหายมากมายขนาดนี้ หลังจากเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย สถานการณ์เริ่มดีขึ้น กลุ่มคน องค์กรและหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีเวทีพูดคุยและสรุปบทเรียนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น รวมถึงการวางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่มีใครบอกได้ว่า ปี 2555 นี้ น้ำจะมากเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับรู้จากสื่อเหมือนกันคือ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) พร้อมตั้งงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคตไว้ 3.5 แสนล้านบาท แต่ทุกอย่างยังเป็นแผน

อย่างไรก็ตามการสรุปบทเรียนที่ผ่านมาของหน่วยงานต่างๆ ทุกเวที พุ่งเป้าไปที่การสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต แต่ไม่ได้มองย้อนหลังว่า ภายใต้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้ สังคมไทยได้บทเรียนอะไร

เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย จึงจัดเวทีพูดคุยหัวข้อ “น้ำท่วมใหญ่ผ่านไป สังคมไทยได้อะไร” โดยเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งสมาชิกวุฒิสภา ผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษา นักวิชาการด้านน้ำ และผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำ มาร่วมกันสรุปบทเรียนในเรื่องนี้

 

ชี้แผนจัดการน้ำของรัฐเหลว-ขาดการมีส่วนร่วม

 

นายสุรจิต ชิรเวทย์ สมาชิกวุฒิสภา จ.สมุทรสงคราม ในฐานะประธานอนุกรรมการทรัพยากรน้ำ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาจากนโยบายการจัดการน้ำของภาครัฐว่า จากการติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ในเหตุการณ์ที่ผ่านมา สรุปได้ว่า แผนการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวของรัฐบาล มาจากการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การบริหารรวมศูนย์อยู่ที่กรมชลประทาน ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ความเสียหายจึงเกิดขึ้นมาก ซึ่งหากสังเกตพบว่า ชุมชนดั้งเดิมจะบาดเจ็บหรือเสียหายน้อย เพราะมีความอ่อนตัว ปรับตัวเข้าหาธรรมชาติได้ และถ้ายิ่งการส่งข่าวสารที่ดีให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา อาจจะเสียหายน้อยกว่านี้

นายสุรจิตกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่ผ่านมา รัฐบาลรับมือสถานการณ์ไม่ได้ บริหารงานไม่เป็น ซึ่งเมื่อไดรับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา แทนที่จะวางแผนการบริหารงาน และตั้งผู้ที่มีประสบการณ์ รัฐบาลกลับตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมา ด้วยระเบียบสำนักนายก ซึ่งต่ำกว่าพระราชบัญญัติ

 

“ทำไมรัฐบาลไม่ใช้ พ.ร.บ.กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งมีแผนรับมืออยู่แล้ว แต่กลับตั้ง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ซึ่งอาจจะไม่มีความรู้เรื่องน้ำ มาบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่บางระกำโมเดล และ โมเดล 2P 2R ซึ่งมันไม่ได้ผล”

 

วุฒิฯตั้งกก.สอบเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่

 

นายสุรจิตกล่าวว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุของอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าว ไม่ได้เป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับแผนการจัดการน้ำของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่ใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ว่า แก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่

 

การบริหารจัดการอุทกภัยที่เกิดขึ้น รัฐบาลควรใช้ดุลยพินิจให้น้อยที่สุด ใช้ข้อมูลมากที่สุด และยึดหลักธรรมาภิบาล การบริหาร  ซึ่งนายสุรจิตกล่าวถึงกรณีการจ่ายค่าชดเชย 5,000 บาท ว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไร  รัฐบาลควรจะเปิดรับฟังประชาชนให้เสนอเรื่องค่าชดเชย ว่าจำนวนเท่าใดจึงจะคุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น รัฐบาลคงต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน เก่งคนเดียวไม่ได้ เช่นกยน.ทำไมจึงไม่มีตัวแทนจากคณะกรรมการลุ่มน้ำทั่วประเทศเข้ามาร่วมวางแผนการจัดการ ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำมีแผนการจัดการลุ่มน้ำของตนเอง แต่รัฐบาลไม่เคยเปิดรับฟัง ซึ่งขณะนี้กยน.สิ้นสภาพ แผนดังกล่าวที่วางไว้คงตกไปอยู่ในมือนักการเมือง ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หากชาวบ้านไม่ยอมรับแผนของ กยน.ชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง เรื่องจะยืดยาวออกไปอีก

 

“การแก้ปัญหาของรัฐบาล ไม่มีแบบแผนให้เห็น ขาดการมีส่วนร่วม เช่นในกรุงเทพฯ 50 กว่าเขตให้เขาส่งตัวแทนมาช่วยกันคิด ว่าขุดลอกคลองในพื้นที่จะทำอย่างไร เพราะเขาอาจจะมีภูมิปัญญาของเขา รัฐบาลต้องโยนธุระแบบนี้ให้ชุมชน ช่วยกันคิด ดึงเขาให้มามีส่วนร่วม”

 

แนะผุด 2 เขื่อนใหญ่-ขุดลอกคูคลองกทม.

 

ด้านนายเชาวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี เสียหายประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท และเป็นอันดับ 4 ของโลก สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และนายเชาวลิตได้สรุปถึงสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำมากเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ  4 ลูก ที่เริ่มตั้งแต่พายุไหหม่าเมื่อเดือนมิ.ย.ตามมาด้วย นกเต็นในเดือนก.ค.  ไห่ถาง เดือนก.ย. และ 2 ลูกในเดือนต.ค. คือ เนสาด และนาลแก  ซึ่งนอกจากผลกระทบจากพายุแล้ว ยังมีปริมาณน้ำฝนที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปีด้วย

 

นอกจากนี้นายเชาวลิตได้นำเสนอแผนการป้องกันน้ำท่วมว่า มีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะเป็นการป้องกันพื้นที่ชุมชนและอุตสาหกรรม เช่นเสริมระดับและความแข็งแรงคันกั้นน้ำเดิม เพิ่มแนวป้องกันพื้นที่ชุมชนที่อยู่นอกระบบแนวป้องกัน กำหนดพื้นที่ที่ใช้เป็นแก้มลิง กำหนดพื้นที่น้ำหลากและจัดทำแผนบริหารน้ำที่ปริมาณน้ำต่างๆ พร้อมระบบสนับสนุนการตัดสินใจ และสุดท้ายคือ องค์กรที่ดำเนินการ

 

ส่วนแผนระยะยาว มีทั้งระยะ 1-2 ปี โดยจะดำเนินการขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงพนังกั้นนํ้า ประตูระบายน้ำและสถานีสูบนํ้า ส่วนระยะกลาง 2-5 ปี นั้น จะพัฒนาพื้นที่ลุ่มตํ่าเป็นพื้นที่แก้มลิง ปรับปรุงคลองบางแก้ว -ลพบุรี เพื่อเร่งระบายนํ้าลงสู่มอเตอร์เวย์น้ำ ขุดตัดช่องลัดแม่นํ้าท่าจีนและก่อสร้างประตูระบายนํ้า 4 แห่ง  และระยะยาว ใช้เวลามากกว่า 5 ปี ก่อสร้างมอเตอร์เวย์น้ำ คู่ขนานกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก ให้เชื่อมกับมอเตอร์เวย์น้ำ และสร้างเขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนแม่วงก์

 

นายเชาวลิตกล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องทำและยังติดปัญหาคือ การขุดลอก คู คลอง เนื่องจากยังมีชาวบ้านที่สร้างบ้านเรือนรุกล้ำคู คลอง อยู่ ซึ่งต้องแก้ปัญหานี้ก่อน โดยทีม กรุ๊ปได้นำเสนอให้มีการสร้างแฟลต เพื่อย้ายประชาชนขึ้นไปอยู่ เพื่อคูคลองต่างๆจะมีพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มมากขึ้น “เราประเมินว่าการเตรียมการก่อสร้างแฟลตใช้เวลา 6 เดือน ซึ่งเราเสนอรัฐบาลไปตั้งแต่เดือนธ.ค. ถ้ามีการก่อสร้างก็น่าจะใกล้เสร็จแล้ว”

 

ชี้ชาวบ้านรวมตัวปรับตัว-หวั่นกยน.ละลายงบ

 

ขณะที่ นายหาญณรงค์  เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ภาคประชาชนมีการตั้งเครือข่ายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาและรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายรับมือภัยพิบัติ เครือข่ายลุ่มน้ำ ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้มีการทำงานร่วมกัน เช่น เครือข่ายลุ่มน้ำน่าน ที่ประสบกับปัญหาภัยพิบัติได้มีการรวมตัวกัน เพื่อจัดการปัญหาภัยพิบัติมีการจัดพิมพ์หนังสือเป็นคู่มือด้วย จะเห็นว่าชาวบ้านวางแผนเป็นเครือข่ายลุ่มน้ำ ในขณะที่กยน.วางแผนใหญ่ แต่ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และคาดว่างบประมาณของกยน.3.5 แสนล้านบาท ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตกทุกโครงการ

 

“ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านปรับตัว อย่างที่จ.สุโขทัย มีการคุยกันว่า จะทำนาเร็วขึ้นเพื่อหนีน้ำ  และพอช่วงน้ำมาชาวบ้านจะหาปลาแทน เพราะปลาที่มากับน้ำมีจำนวนมาก จนต้องนำมาแปรรูป เป็นปลาร้า ปลาย่าง และทำน้ำปลาจากปลาสร้อยที่หาไม่ได้อีกแล้ว”

 

เสนอรัฐปรับตัวแทนการสู้กับน้ำ

 

ด้านนายวีรวัธน์  ธีรประสาธน์ ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดการน้ำนั้นต้องเข้าใจระบบนิเวศของพื้นที่ เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ถูกต้อง ทั้งนี้การที่ประเทศไทยเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าวมากนั้น เนื่องมาจากรัฐบาลขาดข้อมูลที่สำคัญคือ ข้อมูลของทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศ ในขณะที่ข้อมูลที่ได้มาอาจจะไม่ถูกต้อง รวมไปถึงอำนาจในการบริหารจัดการน้ำถูกผูกขาด

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะเร่งดำเนินการแก้ปัญหา แต่กลับไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลควรจะรับฟังภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหา ทั้งนี้การดำเนินการของภาครัฐนั้น รัฐคิดง่าย แต่ยากในทางปฏิบัติ แม้แต่การขุดลอกคลอง ที่เป็นการแก้ปัญหาที่รัฐคิดว่าง่ายที่สุด ยังเกิดปัญหา และรวมไปถึงปัญหาเรื่องการจ่ายค่าชดเชย

นายวีรวัธน์กล่าวว่า การบริหารอุทกภัยนั้นน่าจะต้องมุ่งไปที่การปรับตัว ซึ่งในอนาคตควรที่จะต้องคุยกันให้ชัดในประเด็นนี้ว่ารัฐจะเลือกประเด็นไหนระหว่างการปรับตัวหรือสู้ การปรับตัวน่าจะทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสำหรับคนไทย แต่การวางแผนการจัดการของรัฐอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการปรับตัวของชาวบ้าน เช่นชาวบ้านบางกลุ่มอพยพมาอยู่บนถนน เมื่อเกิดน้ำท่วม ซึ่งถ้าหากรัฐมีแผนจะยกถนนให้สูงขึ้น ชาวบ้านจะทำอย่างไร หรือการรับมือของชาวบ้านด้วยการปล่อยให้น้ำท่วมชุมชนอีกฝั่งถนน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งที่น้ำไม่ท่วมคอยช่วยเหลือส่งเสบียง ให้ที่พัก ซึ่งรัฐบาลควรจะศึกษา

 

ขอบคุณภาพจาก

http://image.ohozaa.com, www.google.com, www.kapook.com, www.prachachat.net

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: