สัปดาห์หน้า วันที่ 20-22 มิถุนายนนี้ โลกจะจัดประชุมครั้งสำคัญอีกครั้งที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เรียกกันทั่วไปว่า การประชุมริโอ+20 (RIO+20) หรือชื่อเต็มว่า การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development: UNCSD) โดยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเป็นแก่นแกนของการประชุมดังที่เคยเป็นมาในอดีต
การประชุมริโอ+20 คือความสืบเนื่องของประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่ทอดยาวกลับสู่อดีตเมื่อ 40 ปีก่อน เริ่มจากการประชุมสหประชาชาติ เรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (The United nations Conference on Human Environment: UNCHE) ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 2515 ผลลัพธ์รูปธรรมจากการประชุมครั้งนั้น คือโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) หลังจากนั้นกระแสการพัฒนาทางเศรษฐกิจกระแสหลัก ที่ทิ้งผลกระทบมหาศาลให้โลกแบกรับ ค่อยๆ ก่อคำถามคัดง้างและสร้างกระแสตีกลับระดับโลก กระทั่ง องค์การสหประชาชาติจัดการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (The United Nations Conference on Environment and Development: UNCED) ในปี 2535 ที่นครริโอฯ ทำให้คำว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) กลายเป็นที่รับรู้มากขึ้นบนกระแสการพัฒนา พร้อมด้วยเอกสาร 3 ฉบับ อนุสัญญา 2 ฉบับ และคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Commission on Sustainable Development: CSD)
ด้วยความที่การประชุมที่นครริโอฯ ปี 2535 จัดเป็นหลักหมายสำคัญของการประชุมสิ่งแวดล้อมระดับโลก จึงมีการจัดประชุมต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลในปี 2540 หรือริโอ+5 และในปี 2545 หรือริโอ+10 ริโอ+20 จึงถือเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งถูกคาดการณ์ว่า น่าจะได้รับความสนใจน้อยกว่าการประชุมครั้งก่อนๆ เนื่องจากโลกยังคงถูกปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า โดยเฉพาะวิกฤตในสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union) อย่างไรก็ตาม จะยังคงมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 40,000 คนจากทั่วโลก
เร่งรื้อฟื้นการพัฒนาที่ยั่งยืน
คำถามสำคัญต่อสังคมไทยก็คือ การประชุมริโอ+20 จะสร้างผลกระทบรูปธรรมต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างไร และจะส่งผลอะไรต่อประเทศไทย บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หัวหน้าโครงการและผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นผู้ให้คำตอบ
บัณฑูรเล่ารายละเอียดว่า วัตถุประสงค์การประชุมริโอ+20 ประกอบด้วย 3 ข้อหลักๆ คือการสร้างฟื้นพันธะทางการเมืองต่อประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เปิดเวทีให้ผู้นำทางการเมืองร่วมทบทวนและให้คำมั่นว่า จะดำเนินเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปอย่างไร, ประเมินความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหากนับจากการประชุมริโอครั้งแรก ต้องถือว่ายังไม่มีความก้าวหน้าเท่าใด และประการสุดท้าย คือการตั้งรับกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากรโลก ไล่เรียงไปถึงปัญหาวิกฤตการเงิน โดยวัตถุประสงค์ดังกล่าวจะถูกขมวดอยู่ในหัวข้อการประชุมหลัก 2 ข้อ ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนและขจัดความยากจน และกรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Institutional Framework for Sustainable Development)
‘เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม’ทางขนานในการพัฒนา
“ในปี 2535 ที่ประชุมระบุว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเป็นการพัฒนาที่สมดุลระหว่าง 3 เสาหลัก คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่หลังจากปี 2535 ดูเหมือนสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไม่ได้ดีขึ้น บางด้านกลับมีปัญหามากขึ้นด้วยซ้ำ เช่น ปัญหาโลกร้อน” บัณฑูรกล่าว
การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ยังพบวิกฤตสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังสูญสลาย ปัญหาการเสียสมดุลของไนโตรเจนจากการใช้ปุ๋ยเคมี ผนวกรวมกับวิกฤตพลังงาน ความมั่นคงด้านอาหาร และการเงิน ในช่วง 2550-2551 เกิดข้อกังขาอันไร้คำตอบว่า แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมต่างขานรับ 20 ปีผ่านไป เหตุใดมนุษยชาติจึงยังข้ามไม่พ้นปลักตมวิกฤตสิ่งแวดล้อม ปัญหาหนึ่งที่องค์การสหประชาชาติวิเคราะห์ไว้คือ การพัฒนาที่ไร้สมดุลของ 1 ใน 3 เสาหลัก ซึ่งทุกคนคงพอคาดเดาได้ว่ามันคือเสาเศรษฐกิจ
ปัจจัยหลักประการหนึ่งที่บัณฑูรวิเคราะห์ให้เห็น ถึงสาเหตุความไม่คืบหน้าของแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ การเกิดขึ้นของแนวทางเศรษฐกิจการค้าเสรี ที่ตั้งมั่นอยู่บนรากฐานของลัทธิเสรีนิยมใหม่ และมีการก่อตั้งกลไกเชิงสถาบันที่เข้มแข็งอย่างองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ขึ้นรองรับในปี 2538 เกิดการชนปะทะระหว่างกระแสโลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม กับกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งต่างก็มีสถาบันและกติกาของตนเอง แต่ต่างฝ่ายต่างฉีกขาดจากกัน
“จากปี 2535-2553 จำนวนประเทศที่เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 330 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนสมาชิกรวมกันของข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ 500 กว่าฉบับ นับรวมแล้วประมาณ 2,500 ประเทศ และมี 153 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก และยังเข้าร่วมอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อม 10-14 ฉบับ เหมือนกับเราอยู่ 2 โลกระหว่างโลกเศรษฐกิจกับโลกสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันมีข้อขัดแย้งกันอยู่”
ขณะที่โลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล และต้องการลดบทบาทของรัฐและกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคทางการค้า แต่โลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อมกลับต้องการเพิ่มบทบาทของรัฐ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มกฎเกณฑ์กำกับดูแลการค้า การลงทุนข้ามประเทศ และยอมรับสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง จึงเห็นได้กระจ่างชัดว่ามีความขัดแย้งระหว่างรากฐานความคิด 2 กระแส
เศรษฐกิจสีเขียวกลไกใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
องค์การสหประชาชาติวิเคราะห์ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยไปในลักษณะนี้ การพัฒนาในอนาคตย่อมห่างไกลจากคำว่า “ยั่งยืน” จึงสร้างข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนระบอบและแนวคิดด้านเศรษฐกิจ โดยใส่กลไกเศรษฐกิจสีเขียวเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน
UNEP นิยามความหมายเศรษฐกิจสีเขียว ที่มีส่วนคล้ายคลึงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อปี 2535 ว่า “เศรษฐกิจที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นธรรมทางสังคม ในขณะที่ลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความขาดแคลนเชิงนิเวศ”
อย่างไรก็ตามบัณฑูรกล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวไม่ใช่แนวคิดใหม่ถอดด้าม แต่มีเรื่องราวความเป็นมาที่ค่อยๆ เพาะตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2505 ผ่านกระบวนการพัฒนาความคิด จนปรากฏเป็นถ้อยคำชัดเจนในหนังสือ Blueprint for a Green Economy เมื่อ 2532 ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจสามารถช่วยเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นเครื่องมือที่มีพลังต่อการแก้ไขความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอการปรับไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ดูจะเน้นที่การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก เช่น การใช้กลไกราคา การปฏิรูประบบภาษีสิ่งแวดล้อม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
‘จี 77+จีน’ ชี้เศรษฐกิจสีเขียวไม่แก้ปัญหา
ทว่าเศรษฐกิจสีเขียวดูเหมือนกำลังสร้างความขัดแย้งทางความคิด ระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา อียูคือผู้สนับสนุนหลักของแนวคิดนี้ ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือจี 77 +จีน ยังมีท่าทีระมัดระวัง ขณะที่บางประเทศ เช่น โบลีเวีย ก็แสดงออกชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยและเสนอให้กลับไปยึดหลักการเดิมครั้งการประชุมริโอครั้งแรกแทน
ท่าทีไม่เห็นด้วยของกลุ่มประเทศจี 77 + จีน สามารถประมวลเหตุผลหลักๆ ได้ 4 ข้อคือ 1.ไม่เชื่อว่าแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ เนื่องจากไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้า 2.แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ไม่ได้ก้าวพ้นกระบวนทัศน์การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เป็นเพียงแค่การปรับใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้น และอาจก่อผลลัพธ์ที่อันตรายยิ่ง เมื่อทรัพยากรทุกชนิดถูกเศรษฐศาสตร์แปรเป็นสินค้าที่มีราคาค่างวด
3.แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวมีโอกาสถูกบิดเบือนจากประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่และสร้างความได้เปรียบด้านการค้าและการแข่งขัน โดยใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้าง เหมือนการใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยด้านสุขภาพ เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าในปัจจุบัน และ 4.กลุ่มประเทศจี 77 +จีน เห็นพ้องว่า ประเทศกำลังพัฒนาควรมีสิทธิและความเป็นธรรมในการพัฒนา และความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ทั้งควรยึดถือหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง
“จุดนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหรือจี 77 ว่า จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เพราะการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ก็ไม่ต่างจากเดิม และอาจทำให้เกิดปัญหาอีกแบบหนึ่งตามมาก็ได้ คือกลุ่มนี้เห็นด้วยที่ต้องทำเศรษฐกิจสีเขียว แต่ประเทศที่ต้องทำมากกว่าคือ ประเทศพัฒนาแล้ว จึงจำเป็นรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน โดยไม่ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้าง และกดทับการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนา” บัณฑูรกล่าว
เชื่อสรุปได้แค่หลักการ-ไร้ข้อผูกมัด
เห็นได้ว่า ความไม่ลงรอยทางความคิดว่าด้วยเศรษฐกิจสีเขียวในการประชุมริโอ+20 ของกลุ่มประเทศจี 77 +จีน มีความคล้ายคลึงกับความไม่เห็นพ้องที่เกิดขึ้นในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ผ่านๆ มา บัณฑูรคาดการณ์ว่า
“ผลสุดท้ายของการประชุม ผมคาดว่าคงออกมาเป็นปฏิญญาอีก 1 ฉบับ แต่จะไม่มีข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมายใดๆ ภาษาที่เขียนก็ออกมาในลักษณะกว้างๆ ประนีประนอม ไม่ผูกมัด ในเอกสารการประชุมล่าสุดก็ไม่ได้บอกชัดว่า เศรษฐกิจสีเขียวคืออะไร บอกเพียงว่ามีหลายวิธีการ หลายเครื่องมือ หลายโมเดล ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แต่ละสถานการณ์จะไปออกแบบ เพื่อไปให้ถึงการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติ เศรษฐกิจสีเขียวเป็นเพียงเครื่องมือที่มีคุณค่าตัวหนึ่งเพื่อตอบโจทย์นี้ ไม่ใช่กฎกติกาที่ตายตัว”
แม้ข้อเสนอของ UNEP จะมาถูกทางแล้วที่เห็นว่า เสาเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ก่อปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่บัณฑูรเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่สุดทางดังที่ควรจะเป็น หากต้องการการเปลี่ยนแปลง UNEP ต้องพูดให้ชัดว่า “เศรษฐกิจสีเขียวคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้านการพัฒนา”ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ที่ใส่ลงไปในระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และควรแก้ไขกติกาขององค์การการค้าโลกในหลายประเด็น หากจะใช้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะกติกาการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม มิฉะนั้นจะทำให้ความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการไม่ได้รับการปฏิบัติจริง เพราะความหวั่นเกรงว่า จะกระทบต่อองค์การการค้าโลก
“เมื่อโลกาภิวัตน์ทั้งสองด้าน ฝังตัวอยู่ในประเทศเดียวกัน ตอนนี้จึงเป็นโลกแห่งความซับซ้อน ขาหนึ่ง เรามุ่งไปที่เรื่องเศรษฐกิจมาก ณ วันนี้จึงยากมากที่จะเกิดข้อตกลงร่วมระดับโลก ซึ่งก็สะท้อนมาตั้งแต่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือความตกลงอื่นๆ ตอนนี้ทิศทางจะเน้นการตกลงระดับทวิภาคีหรือภูมิภาค ซึ่งบางทีก็เดินไปได้ดี แก้ปัญหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคม”
สหรัฐฯค้านตั้งองค์กรรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
กรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หัวข้อหลักอีกข้อหนึ่งของการประชุม ก็คือการสร้างกลไกเชิงสถาบันเพื่อรองรับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีโจทย์สำคัญที่การบูรณาการ 3 เสาหลักที่เป็นองค์ประกอบของการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของระบอบด้านสิ่งแวดล้อมโลก
บัณฑูรอธิบายว่า เนื่องจากที่ผ่านมากลไกการดูแลสิ่งแวดล้อมในระดับโลกยังมีจุดอ่อน ขาดการบังคับ ลงโทษ เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีในข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environmental Agreement) ต่างๆ ทั้งยังไม่มีกลไกระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นอกจากนี้ ความที่ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันมีอยู่จำนวนมากและกระจัดกระจาย จึงเกิดความพยายามที่จะทำให้ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นชุดการตกลงเดียวกัน ประการสำคัญอีกข้อคือการลดความขัดแย้งระหว่างกรอบกติกาต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมกับองค์การการค้าโลก ที่ยังไม่มีข้อยุติ
“ยกตัวอย่างเช่นองค์การการค้าโลกกำหนดว่า การจะออกมาตรการจำกัดการส่งเสริมการค้าเสรีต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ มิเช่นนั้นจะทำมิได้ แต่เมื่อเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะในพิธีสารเกียวโตหรือพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพ จะใช้หลัก Precautionary Principle คือไม่ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเห็นปัญหาและน่าเป็นห่วงก็สามารถออกมาตรการจัดการได้เลย”
บัณฑูรกล่าวถึง 3 แนวทางเพื่อสร้างกรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ถูกพูดถึงว่า 1.เพิ่มบทบาทและความเข้มแข็งของของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) เพื่อทำหน้าที่บูรณาการ 3 เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ 2.จัดตั้ง High Level Political Forum: HLPF ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรระหว่างรัฐ ทำหน้าที่บูรณาการ 3 เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ และ 3.การยกระดับคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (CSD) ขึ้นเป็นคณะมนตรีว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Council: SDC)
ในส่วนของทางเลือกการเพิ่มประสิทธิภาพของระบอบด้านสิ่งแวดล้อมโลก บัณฑูรกล่าวว่า ขณะนี้มีอยู่ 2 ทางเลือกคือ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ UNEP และการจัดตั้งองค์การชำนัญพิเศษด้านสิ่งแวดล้อม (UN Specialized Agency for the Environment) ถึงตรงนี้จำเป็นกล่าวถึงสหรัฐอเมริกาที่มีท่าทีชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนการก่อตั้งองค์กรหลักใดๆ ทั้งสิ้น
“การจะแก้ปัญหาได้จริงต้องมีกลไกที่พูดถึง ทั้งองค์กรที่อยู่ในและนอกยูเอ็น ซึ่งโจทย์นี้ยังไม่มีความชัดเจน ในความเห็นผม ตัวอย่างรูปธรรมประการหนึ่ง อย่างเรื่องข้อพิพาทด้านการค้ากับสิ่งแวดล้อมควรหลุดออกมาจากองค์การการค้าโลก แล้วอยู่ภายใต้องค์กรใหม่ที่จะตั้งขึ้น เพราะถ้าอยู่ในกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ก็จะตัดสินด้วยกติกาขององค์การการค้าโลก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่มีทางก้าวหน้าได้ เพราะกรอบการตัดสินของการค้าโลกใช้เรื่องการค้าเสรีเป็นตัวตั้ง แต่เอกสารปัจจุบันยังไปไม่ถึงจุดนั้น เป็นเพียงข้อตกลงหลวมๆ”
แนะไทยเร่งทบทวนแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
ในส่วนของประเทศไทยซึ่งถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มจี 77 ได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดท่าทีต่อการประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับกับแนวทางของกลุ่มจี 77 เช่น หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง การไม่ใช้เศรษฐกิจสีเขียวเป็นเงื่อนไขกีดกันทางการค้า เป็นต้น
บัณฑูรมองในแง่ดีว่า อย่างน้อยที่สุด ช่วงบรรยากาศการประชุมจะช่วยปลุกกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนกลับคืนมา และจะเป็นโอกาสของไทยที่จะทบทวนแนวคิด และทิศทางการพัฒนาประเทศว่า เป็นแนวทางใด เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ สร้างความเข้าใจและกำหนดความหมายของแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวที่สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน สร้างความตื่นตัวของผู้บริโภคซึ่งยังขับเคลื่อนได้ค่อนข้างน้อย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและกลไกการทำงานเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็รับแนวคิดเรื่องนี้มาพอสมควร กำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ภาคเอกชน เราก็มองเห็นเรื่องสีเขียวพอสมควร วันนี้เราก็พูดเรื่องภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ จะเห็นว่าเราเริ่มทำอะไรบางอย่างที่อยู่ในความหมายของเศรษฐกิจสีเขียวพอสมควร”
เป็นอีกครั้งและอีกครั้งที่ดูเหมือนชะตากรรมของโลก ต้องฝากไว้กับการประชุม เป็นการประชุมที่อาจจะไม่ได้ข้อสรุปรูปธรรมใดๆ ที่จะกอบกู้ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมของโลกกลับคืน เมื่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วต่างรั้งรอความรับผิดชอบจากอีกฝ่าย ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า โลกจะอนุญาตให้มนุษยชาติรอได้นานแค่ไหน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ