กสทช.ถกจริยธรรมทำ'เกมส์โชว์-เรียลลิตี้' สภาวิชาชีพฯวอนให้เข้าใจทีวีต้องมีจุดขาย ประชาชนต้องรู้สิทธิ-แนะวางกติกาผู้ผลิต

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 14 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2179 ครั้ง

 

กลายเป็นทอร์คออฟเดอะทาวน์ เมื่อหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการไทยแลนด์ ก็อตทาเลนท์ ซึ่งบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด ซื้อสิทธิมาจากต่างประเทศ ขึ้นเวทีเปลือยอกก่อนเอาสีเทลงบนตัวแล้วถูไถไปมาบนเฟรม โดยอ้างว่านั่นคืองานศิลปะ จนเกิดกระแสตามมามากมายว่านี่คือการแสดง นี่คืองานศิลปะ นี่คืออนาจาร รวมถึงถามหาจริยธรรมจากเจ้าของรายการ เนื่องเพราะมองว่า รายการดังกล่าวไม่ใช่รายการถ่ายทอดสด จนไม่สามารถตรวจสอบได้ทัน แต่เป็นรายการบันทึกเทปที่ตรวจสอบได้ก่อน แต่เจ้าของรายการต้องการเพียงดึงเรทติ้งผู้ชมเท่านั้น

 

นอกจากนี้การที่สังคมทวงถามถึงจริยธรรมของสื่อ เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สื่อกระแสหลักในปัจจุบัน ในหลายๆ ประเด็น เช่น การเป็นสื่อเลือกข้าง การเสนอข่าวไม่รอบด้าน เป็นร่างทรงโฆษณา นั่งเทียนเขียนข่าว เป็นต้น  ซึ่งเนื้อหาบางเรื่องที่สื่อนำเสนอออกไป ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจจะมองว่าเป็นการสร้างความเสียหายแก่ผู้บริโภคให้บางกลุ่ม เช่น  เด็ก สตรี คนยากจน และผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ

 

ขณะที่มุมมองของสื่อมวลชน ยึดหลักความเป็นอิสระของนักวิชาชีพ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสื่อที่มีสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลและนำเสนอข่าวสารได้อย่างครบถ้วนแล้ว ข่าวสารที่นำเสนอบางประเด็นก่อให้เกิดการนำไปสู่ข้อถกเถียงถึงจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวของสื่อ เกิดมุมมองของผู้บริโภคสื่อในฐานะผู้รับและผู้ประกอบการ/นักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในฐานะผู้ส่งสารที่สวนทางกันจนเกิดข้อขัดแย้งในสังคม

 

กสทช.เตรียมร่างกฎควบคุมสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการ

 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสถานีวิทยุโทรทัศน์ และผู้ผลิตรายการ ได้ดำเนินการตามแนวทางการกำกับดูแลกันเอง โดยการส่งเสริมและควบคุมจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ บัญญัติไว้ในกฎหมาย 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 39, 40 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 มาตรา 27 (18) ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ และการควบคุมการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพกันเอง ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม

 

โดยกสทช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองขึ้น มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของกสทช. ในการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง การจัดทำร่างคู่มือแนวทางปฏิบัติกลาง และรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างคู่มือที่จัดทำ

 

สำนักงาน กสทช. จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือไตรภาคี เพื่อกำกับดูแลกันเองในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ขึ้น เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของไตรภาคี ประกอบด้วย กสทช. อนุกรรมการที่ กสทช. แต่งตั้ง สำนักงาน กสทช.  สมาคม, สภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนและผู้บริโภคสื่อ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีหัวข้อแลกเปลี่ยนคือ จรรยาบรรณในการผลิตและเผยแพร่รายการเกมส์โชว์และเรียลลิตี้โชว์

 

 

สภาวิชาชีพฯวอนเข้าใจธุรกิจทีวี แนะผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อ

 

 

รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี  ประธานสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสื่อมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้น จากในอดีต ที่พ่อแม่สามารถควบคุมลูก ๆ และให้คำแนะนำในการดูรายการต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ได้ แต่ปัจจุบันเด็กสามารถดูรายการต่าง ๆ จากสื่อส่วนตัวได้ ทั้งจากคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ การควบคุมจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบวิชาชีพจึงต้องระวังมากยิ่งขึ้น ในการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่

 

 

 

 

 

อย่างก็ตามการเป็นวิชาชีพสื่อ หลีกเลี่ยงการแข่งขันไม่ได้ สื่อจะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องแข่งขันตลอดเวลา ดังนั้นสื่อจึงมีความหลากหลาย แต่ภายใต้การแข่งขันและความหลากหลายที่เกิดขึ้น สื่อต้องย้อนกลับมามองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมและผู้บริโภค ว่ามีมากน้อยแค่ไหนด้วย การที่สื่อจะผลิตอะไรออกไปต้องตระหนักว่า มาตรฐานของคนไม่เหมือนกัน คนทำสื่อก็หลากหลาย ผู้บริโภคก็หลากหลาย ดังนั้นสภาวิชาชีพต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความตระหนัก สร้างมาตรฐานที่ใกล้เคียง ความหลากหลายแตกต่างของผู้บริโภค ที่ผ่านมาผู้บริโภคมักจะเชื่อทุกอย่างที่สื่อนำเสนอออกไป ดังนั้นควรจะมีการให้ความรู้กับผู้บริโภค ว่า ขณะที่ดูรายการควรจะใช้วิจารณญาณ ซึ่งการให้ความรู้กับผู้บริโภคจะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ผลิตรายการและผู้บริโภค

 

                    “ยกตัวอย่างที่เคยร่วมกับ สกว.ทำวิจัย โฆษณาอะไรที่เกินจริง เราจะให้โฆษณาเลย เพราะผู้บริโภครู้ว่า นี่คือการโฆษณาคือสามารถรู้ได้ แต่โฆษณาที่ก้ำกึ่งระหว่างเรื่องจริง หรือเรื่องเกินจริง เราจะต้องพิจารณา เพราะผู้ชมตัดสินใจไม่ได้ ซึ่งคนทำต้องตระหนักด้วย เพราะถ้าไม่ตระหนักสภาวิชาชีพจะไปบอกให้ตระหนัก”

 

ส่วนประเด็นจากรายการไทยแลนด์ ก็อตทาเลนต์ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น ประธานสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียง กล่าวว่า สภาวิชาชีพฯ ได้รับฟังหลายกระแสเกี่ยวกับรายการนี้ บางคนบอกว่าไม่เห็นเป็นประเด็นตรงไหน ในขณะที่บางคนอาจจะไม่เห็นด้วย คิดว่ากรณีแบบนี้คงจะมีเกิดขึ้นอีก อาจจะไม่ได้เป็นในรูปแบบของโป๊ เปลือย แต่อาจจะอยู่ในรูปแบบความรุนแรงอื่นๆ ทั้งนี้ ต้องพยายามทำความเข้าใจร่วมกันอย่างหนึ่งว่า ผู้บริโภคมีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป รวมไปถึงความตระหนักของผู้รับสารหรือผู้บริโภค แตกต่างกันออกไปด้วย

 

 

ต้องใจกว้างรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนหลากอาชีพ

 

 

อย่างไรก็ตาม สภาวิชาชีพได้พยายามแก้ไขในเรื่องนี้ ด้วยการเปิดศูนย์รับเรื่องรับฟังปัญหาจากผู้บริโภค นอกจากนี้หากมีปัญหาเกิดขึ้น สภาวิชาชีพจะเชิญผู้ผลิตรายการพูดคุยกันก่อนว่า เกิดอะไรขึ้น ปัญหาคืออะไร เพื่อแก้ปัญหานั้นและนำข้อมูลที่ได้ สื่อสารไปยังคนดูว่าปัญหาคืออะไร และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร  ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ อยากให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้าใจธรรมชาติของแต่ละฝ่าย เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในขณะที่สื่อต้องการสร้างความน่าสนใจให้กับผู้บริโภค จะต้องคิดด้วยว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลเสียกับผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคจะต้องมีภูมิต้านทานที่สูงพอสำหรับรับสื่อด้วย

 

 

 

“เราต้องเข้าใจว่าวิทยุโทรทัศน์ เป็นสื่อที่เร็ว การนำเสนอที่ต้องแข่งขัน ต้องมีความระทึกใจ ทำอย่างไรให้รายการน่าสนใจ แต่สื่อต้องคิดด้วยว่า สิ่งนั้นจะต้องไม่ทำร้ายผู้บริโภค และผู้บริโภคเองก็ต้องมีความรู้ให้เท่าทันสื่อด้วย”

 

ประธานสภาวิชาชีพฯ กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องที่ดีที่มีการตรวจสอบการผลิตเนื้อหารายการของสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องตระหนักคือ กลุ่มคนในสังคมมีหลากหลาย ผู้บริโภค สื่อ ผู้หญิง เด็ก ผู้ปกครอง นักวิชาการ ซึ่งอยู่คนละกลุ่ม แต่ทุกคนเป็นผู้บริโภคสื่อและมีแนวคิดแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญในการตรวจสอบคือ ต้องใจกว้างที่จะรับคำความคิดเห็นที่แตกต่าง หากคิดจะสร้างแต่มาตรฐานของแต่ละกลุ่ม คงจะไม่สามารถอยู่ได้

 

                       “จะทำรายการให้แต่คนดู แต่ผู้ผลิตรายการอยู่ไม่ได้จะทำยังไง ถ้ามีการควบคุมมากไปก็จะไม่มีคนดู อย่างกรณีที่มีเด็กมาขอออกรายการ เพื่อตามหาพ่อนั้น ถ้าเป็นที่เมืองนอก ผู้ชมจะไม่มีทางได้เห็นหน้าเด็กเลย แต่กรณีนี้แม่ต้องการให้เห็นหน้าเด็ก เพื่อพ่อจะได้เห็น จะให้ทำยังไง องค์กรต่าง ๆ บังคับให้ผู้ผลิตรายการทำโน่นนี่ เราทำได้ แต่ทำไปแล้วไม่มีคนดู”

 

อย่างไรก็ตาม ประธานสภาวิชาชีพฯเสนอว่า รายการต่าง ๆ อาจจะต้องมีตัววิ่ง เพื่ออธิบายรายละเอียดของรายการนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เช่น รายการนี้เป็นการตัดต่อภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ซึ่งจะเป็นการให้ความรู้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้อาจจะมีวิธีการอื่นที่เราสามารถคุยร่วมกันและกำหนดมาตรการที่ตกลงกันได้ทั้งหมด

 

 

กระมิดกระเมี้ยนเรื่องเพศ แต่ไม่ระวังนำเสนออคติเพศ

 

 

ด้าน รศ.ดร.ชลิดาภรณ์  ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชการที่ร่วมเวทีครั้งนี้ กล่าวถึงกรณีรายการไทยแลนด์ ก็อตทาเลนท์ ที่มีการตีความว่าเป็นศิลปะหรืออนาจารว่า การถกเถียงกันในสังคมเป็นเรื่องที่ดี และคิดว่าควรจะเถียงกันไปเรื่อย ๆ คนไทยควรจะเชื่อมั่นกัน และเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในสังคมได้ถกเถียงกัน จะเป็นการเปิดมุมมองอีกด้านหนึ่ง อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องเพศ เวลาที่สื่อกระแสหลักนำเสนอเรื่องเพศ เช่น การนำเสนอการร่วมเพศ มักจะกระมิดกระเมี้ยน เนื่องจากกลัวว่าผู้ชมจะเกิดอารมณ์ร่วม หรือเด็กจะทำตาม ในขณะที่สื่อจะไม่ระวังเมื่อนำเสนอเรื่องอคติทางเพศ แต่ระวังในเรื่องโป๊ เปลือย ซึ่งเรื่องอคติทางเพศจะมีผลกระทบสูงมากกว่า และทำให้สื่อมีมิติเดียว

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ยังมีข้อเสนอต่อกสทช.ว่า ควรจะมีการจัดนิยามคำว่า เรียลลิตี้โชว์ว่าควรจะเรียลลิตี้ได้แค่ไหน อย่างไร และต้องมีเวทีต่างหากที่พูดในประเด็นนี้  ประเด็นที่ 2 คือ เรื่องการเซ็นเซอร์ ที่มีอคติบนฐานต่างๆ เช่น เรื่องเพศ การเมือง ความรุนแรง ควรจะมีการกำหนดกติการ่วมกันว่า มีอะไรบ้าง แค่ไหน อย่างไร และสุดท้ายคือช่องทางของผู้บริโภคในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดกติกาอย่างเป็นรูปธรรม

 

ซึ่งสอดคล้องกับ นายคมกฤช  อุ่ยเต็กเค่ง หรือเชฟหมี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่โด่งดังทางเว็บไซต์ยูทูป บอกว่า สิ่งที่น่าวิตกกังวลมากกว่าปรากฏการณ์ของรายการไทยแลนด์ ก็อตทาเลนท์ คือเนื้อหาการนำเสนอในสื่อที่แฝงเรื่องของการเมือง และผลักฝ่ายคิดต่างไปอยู่ด้านตรงข้าม ซึ่งผู้จัดจะรู้ หรือตั้งใจหรือไม่ ไม่มีใครทราบ แต่เป็นเรื่องที่ควรจะให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่รุนแรง แต่อาจจะเป็นจุดขายของสื่อ ซึ่งถ้ายังปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของสื่อ และไม่มีกติกาที่ชัดเจน น่าจะมีปัญหาในอนาคต

 

              “เราต้องไม่ลืมว่าสื่อเป็นองค์กรธุรกิจ มีต้นทุนกำไร สิ่งจะเสริมปัจจัยต่าง ๆ มีมาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภค โดยภาคประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็ง เพื่อตรวจสอบดูแลสื่อ”

 

 

ประชาชนขาดความรู้เรื่องสิทธิ เสนอวางกติการับรองผู้ประกอบการ

 

 

ขณะที่นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภาคประชาชนมีจุดอ่อนคือ ความรู้เรื่องสิทธิของตนเองในการฟ้องร้อง หรือตรวจสอบรายการโทรทัศน์ ในขณะที่ไปให้ความสนใจกับความบันเทิงเป็นสำคัญ สิ่งที่ทำได้คงเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย ให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน มีการคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ยอมกันได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งเราจะต้องยอมรับภายใต้กฎกติกา ส่วนที่มีการเสนอว่า ให้ผู้บริโภคดูแลตัวเองในเบื้องต้น เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้ แต่ผู้บริโภคควรจะรับทราบว่า ควรมีกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง

 

นอกจากนี้ผู้แทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอด้วยว่า ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์ควรเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียง โดยสภาวิชาชีพมีการออกกฎเกณฑ์ มาตรฐาน ต่าง ๆ เพื่อรับผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ เข้าเป็นสมาชิก ซึ่งจะเป็นวิธีการคัดสรรได้อีกทางหนึ่งโดยสภาวิชาชีพฯ  ซึ่งองค์กรผู้บริโภคอยากจะเห็นกรอบเช่นนี้ มากกว่าอำนาจแบบไทย ๆ ซึ่งช่องที่นำเสนอรายการควรจะมีความรับผิดชอบด้วยเช่นเดียวกัน

 

               “สถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ อาจใช้กรอบนี้ในการพิจารณาในการลงรายการ ไม่ใช่เลือกที่ว่าบริษัทนี้ใหญ่ ทำธุรกิจมานาน ซึ่งถ้าบริษัทมีตราของสภาวิชาชีพฯ เหมือนกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็จะสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นในระดับหนึ่ง”

 

อย่างไรก็ตามผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์ ต้องยอมรับการร้องเรียนของผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้รับการเยียวยาในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการซึมซับทางปัญญาให้เกิดการเรียนรู้ของสังคม เป็นการคุ้มครองขั้นพื้นฐานให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้กสทช.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ควรมีมาตรการดูแล ป้องกันการผูกขาด บริษัทผู้ผลิตรายการ ที่มักจะเป็นบริษัททุนรายใหญ่ และตั้งบริษัทลูกของตนเองเพื่อผลิตรายการ  ซึ่งมีความจำเป็นมากที่จะสร้างกฏ กติกาเพื่อป้องกันการผูกขาด แน่นอนว่าการแข่งขันทำให้เกิดการพัฒนาหลายอย่าง ทั้งทางที่ดีและอาจจะไม่ดี แต่ควรจะมีกรอบ กติกาให้ชัดเจนด้วย

 

 

ผู้ประกอบการยันทำตามกรอบ กฎหมาย จริยธรรม

 

 

นอกจากนี้ในเวทีความร่วมมือไตรภาคี ยังมีผู้ประกอบการจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ รวมถึงผู้ผลิตรายการ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอนเทอร์เทนเมนท์ จำกัด เข้าร่วมเวทีด้วย ผู้แทนจาก บริษัท ทรูวิชั่น จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการผลิตรายการอยู่แล้ว เราไม่เคยทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ต้องวิตกกังวล ถ้าเราทำตามกฎ

 

ขณะที่ผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวเช่นเดียวกันว่า ช่อง 7 ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย มีการควบคุมผู้เช่าเวลา โดยมีการตกลงกันตั้งแต่ต้น ว่ากฎของช่อง 7 เป็นอย่างไร ละครต้องไม่โป๊ เปลือย ไม่หยาบคาย

 

ส่วนผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า ช่อง 3 พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น เรามีการกลั่นกรองคัดเลือกบุคลากรในการทำงาน ถ้าหากว่าสิ่งที่เราทำสวนกระแสกับสังคม เราก็ตระหนักและยอมรับ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: