การจัดอันดับประเทศที่ปลอดการทุจริต โดย TPI โดยวิธีการให้คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ประเทศไทยได้คะแนนประมาณ 3 กว่า ๆ ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด ทั้งนี้จากข้อมูลในหลายประเทศพบว่า ประเทศที่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะมีแนวทางที่ชัดเจนในการตรวจสอบการทุจริต และมีมาตรการสำคัญ เช่น การใช้มาตรการคุ้มครองและให้รางวัลผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งเป็นมาตรการที่กระตุ้นให้เกิดการแจ้งเบาะแสของการทุจริตจากบุคคลที่อยู่ภายในองค์กรที่เกิดการทุจริต ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของการทุจริตและสืบสวนเรื่องราวไปถึงผู้กระทำผิดอย่างได้ผล และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างแท้จริง รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อช่วยหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบดูแลผลประโยชน์ของประเทศในอีกทางหนึ่ง ดังนั้นหากสามารถที่จะสร้างมาตรการเหล่านี้ให้เข้มแข็งได้ เชื่อว่าจะสามารถลดการทุจริตลงได้
ป.ป.ช.เตรียมออกมาตรการคุ้มกันพยาน หวังสร้างเครือข่ายปราบทุจริต
สำหรับประเทศไทยที่ตกอยู่ในสภาวการณ์ด้านปัญหาการทุจริตอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554)
ทั้งนี้ เนื้อหาในบทที่ 2 ของกฎหมายฉบับดังกล่าว นอกจากพูดถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการป้องกันการทุจริต การกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังระบุถึงการดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และส่งเสริมให้ประชาชนร่วมมือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. และการจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ การร่ำรวยผิดปกติ หรือข้อมูลอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ กิจกรรมที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แก่บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ
จากเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการต่าง ๆ ออกมารองรับ เนื่องจากมาตรการคุ้มครองพยาน โดยเฉพาะในประเด็นที่พยานนั้น จะต้องแสดงตนต่อศาล กล่าวคือมีการเปิดเผยตัวผู้เป็นพยาน แต่ในกรณีของผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับการคุ้มครอง ตั้งแต่การไม่เปิดตัวตน ทั้งต่อสาธารณะและต่อหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่รับแจ้งเบาะแสนั้นด้วย ผู้แจ้งเบาะแสจึงมีสภาพที่แตกต่างจากพยานในคดี และเพื่อให้มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการให้รางวัล ผู้แจ้งเบาะแสเพื่อช่วยลดต้นทุนจากการทุจริตอีกทางหนึ่ง โดยการมอบรางวัลจะอยู่ภายใต้การคุ้มครอง ที่จะไม่ทำให้ผู้แจ้งเบาะแสได้รับความเดือดร้อน หรือต้องแสดงตนโดยไม่เต็มใจ ซึ่งมาตรการคุ้มครองพยาน เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตด้วย
ข้าราชการแนวร่วมสำคัญในการทุจริต
สำหรับรายละเอียด ว่าด้วยมาตรการคุ้มครองพยาน ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้บรรยายในเรื่องนี้ ภายใต้หัวข้อ ป.ป.ช.กับการผลักดันมาตรการป้องกันการทุจริต ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554) มีเป้าหมายเพื่อที่จะทำลายระบบอุปถัมภ์ ด้วยการให้ความคุ้มครองกับพยาน ผู้แจ้งเบาะแส ผู้กล่าวหา ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่ผ่านมาในอดีต กฎหมายไม่เคยให้ความสำคัญกับพยาน ดังนั้นพยานจะถูกข่มขู่ คุกคาม ในขณะที่พยานเหล่านี้คือแหล่งข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ซึ่งการปล่อยให้พยานถูกรังแก จึงเป็นการปล่อยให้ระบบอุปถัมภ์คงอยู่ต่อไป
“กฎหมายที่ผ่านมาไม่เคยให้ความสำคัญกับพยาน ทั้งที่คนเหล่านี้จะเป็นแหล่งข้อมูล แต่กฎหมายกลับปล่อยให้เขาถูกรังแก”
คำว่า “พยาน” ในกฎหมายป.ป.ช.นี้จะแตกต่างจากพยานในกฎหมายดั้งเดิม พยานในที่นี้จะรวมถึงผู้ที่มาชี้มูลความผิด ให้ข้อมูล ซึ่งต่างประเทศให้ความสำคัญกับพยานมานานแล้ว ซึ่งการทำงานของป.ป.ช.จะปกป้องพยานเหล่านี้ ด้วยการไม่ต้องบอกชื่อพยาน เพียงแจ้งเบาะแสกับป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งจะเป็นเหมือนศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ หลังจากที่ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องทุกข์แล้ว กระบวนการต่อไปคือการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งในระหว่างที่แสวงหาข้อเท็จจริงนั้น พยานสามารถร้องขอการคุ้มครองพยานได้ด้วย โดยไม่จำเป็นว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องอยู่ในขั้นตอนของการตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยการคุ้มครองจะรวมไปถึงครอบครัวของพยาน และค่าเสียหายต่าง ๆ ด้วย ขณะที่ในส่วนของข้าราชการ มาตรการในการคุ้มครองพยานจะแตกต่างออกไป ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนพิเศษอีกแบบหนึ่ง โดยจะต้องคุ้มครองข้าราชการประจำที่แจ้งเบาะแส หรือข้อมูลการโยกย้ายอย่างเป็นธรรม ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและตำแหน่งที่ย้ายต้องไม่ต่ำไปกว่าเดิม
“ข้าราชการอาจจะต้องมีขั้นตอนพิเศษกว่าประชาชนธรรมดา เพราะจากหลายกรณีของป.ป.ช. ความร่วมมือสำคัญในการทุจริตคือข้าราชการ ดังนั้นอีกประการของมาตรการป้องกันพยานคือ ข้าราชการที่มาให้ข้อมูลจะไม่ถูกดำเนินคดีกรณีทุจริต หากไม่ใช่ตัวการใหญ่” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชากล่าว
ศาสตราจารย์(พิเศษ) วิชา ยังระบุด้วยว่า นอกจากมาตรการคุ้มครองพยานแล้ว ยังมีมาตรการการจ่ายเงินสินบนให้กับผู้ชี้ช่องแจ้งเบาะแส ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของผู้กล่าวหาอีกด้วย ซึ่งจะได้รับสินบนที่ว่านี้ หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติว่า ทรัพย์สินนั้นเกิดจากการร่ำรวยหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ และศาลมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ชี้ช่องจะได้สินบนร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินแต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท
เร่งสร้างเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาชน
ด้าน ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงอีกแนวทางหนึ่งในการร่วมกันต่อต้านการทุจริต ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศตลอดมา โดยระบุว่า ประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การตรวจสอบเป็นไปได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นที่ผ่านมาป.ป.ช.จึงพยายามสร้างเครือข่ายภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อช่วยสอดส่องและติดตามตรวจสอบ ความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ซึ่งหากจะให้การดำเนินการได้ผลจริง ๆ จะต้องทำให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้นที่ผ่านมาป.ป.ช.จึงได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายคนต่อต้านทุจริตขึ้นทั่วประเทศ โดยพยายามสร้างความเข้าใจในเรื่องบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ของเครือข่ายกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอาสาสมัครที่เสียสละ จะเข้ามาดำเนินการร่วมกับป.ป.ช. และพยายามที่จะคิดถึงบทบาทของเครือข่ายนี้ เพื่อดูว่าจะทำอย่างไรให้เครือข่ายฯ อยู่ได้อย่างเข้มแข็ง เพราะหากสามารถดำเนินการได้ตามที่ป.ป.ช.หวังไว้แล้ว ก็จะถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต
ทุ่มงบฯ ให้จิตอาสาป้องกันทุจริต
ดังนั้นเราต้องมาคิดว่า จะทำอย่างไรให้เครือข่ายอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากกลุ่มที่เข้ามาเป็นเครือข่าย ซึ่งเป็นคนทุกกลุ่ม ล้วนเข้ามาด้วยความที่เป็นจิตอาสา ไม่ได้ทำเพราะผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งสิ่งที่ป.ป.ช.มองคือ ต้องสร้างสิ่งสำคัญ 3 ประการคือ หนึ่งต้องให้เกิดความภาคภูมิใจในการมีส่วนเข้ามาทำเป็นเครือข่ายตรงนี้ ประเด็นที่สองคือ จะต้องมีการติดต่อสื่อสารกันระหว่างเครือข่ายฯ กับ ป.ป.ช.อย่างใกล้ชิด และจะต้องให้เครือข่ายฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งของ ป.ป.ช. และข้อมูลหน่วยงาน องค์กรต่างที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของเขา และสาม ป.ป.ช.เอง ก็จะต้องสนับสนุนเรื่องของทุนพอสมควร
“คงเป็นเรื่องยอมรับว่า เราจะต้องสนับสนุนเขาในเรื่องนี้ จะมาให้เขาควักกระเป๋าเอง ทั้งที่ทำงานอยู่บนความเสี่ยงต่าง ๆ หาความปลอดภัยอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นข้อเท็จจริงคือสิ่งสำคัญที่จะต้องกำหนดให้ชัดเจน ซึ่ง ป.ป.ช.ได้กำหนดให้เป็นนโยบายยุทธศาสตร์ ที่ได้ดำเนินการให้มีเครือข่ายขึ้นมา และรอบที่สองเราก็จะทำอย่างต่อเนื่อง เป็นงบประมาณในช่วงปลายปี คือการมุ่งให้ครือข่ายเข้มแข็ง มีการสนับสนุนต่อ เนื่องและ ติดต่อสื่อสารใกล้ชิด”
ดึงเอกชนออกทุนสนับสนุน
สำหรับการใช้งบประมาณในการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน สำหรับการตรวจสอบเรื่องทุจริตนั้น ศ.ดร.ภักดีกล่าวว่า การใช้งบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้ใช้ไปมากนัก เพราะทุกครั้งที่การจัดการเสวนา รวมเครือข่ายด้วยกัน ก็มักจะได้รับการสนัสนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ ที่มีผู้มีเจตนารมณ์เดียวกัน ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว ในการที่จะให้กิจกรรมทำงานไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับที่เคยทำมาในอดีต คือจะมีการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างเครือข่ายจังหวัดละ 100,000 บาท และหลังจากนี้จะมีความพยายามในการผนึกกำลังภาคเอกชนเข้ามา เช่น กลุ่มสมาชิกหอการจังหวัด กับเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อให้มารวมกันเป็นเครือข่ายที่กำหนดกลไกร่วมกัน ในการบริหารจัดการ ซึ่งต่อไปก็จะมี ป.ป.ช.จังหวัดในการสนับสนุน และในอนาคตเงินจำนวนจังหวัดละ 100,000 บาท อาจจะไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องขยายวงเงินออกไปอีก เพราะมีงบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว
เร่งตั้ง ป.ป.ช.จังหวัดแก้ปัญหา ทำงานไม่ได้เรื่อง
อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปเกี่ยวกับคุณภาพการทำงานของ ป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งในภูมิภาค ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีพลังอย่างที่ควรจะเป็นนั้น ศ.ดร.ภักดีกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าการทำงานของ ป.ป.ช. จังหวัดไม่มีพลัง แต่ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาในเรื่องของจำนวน ป.ป.ช. จังหวัด ที่มีไม่เพียงพอต่อการทำงาน เพราะปัจจุบันมีอยู่เพียงแค่ 9 แห่งในภูมิภาค ซึ่งแต่ละแห่งก็จะต้องทำงานดูแลเขตต่าง ๆ ในพื้นที่ตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างมากเพราะต้องดูแลทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่า จะไม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป.ป.ช.มองเห็นปัญหาอยู่แล้ว ทำให้ในระยะอันใกล้นี้จะมีการจัดตั้ง ป.ป.ช.จังหวัดเพิ่มขึ้นให้เพียงพอ และจะครบทุกจังหวัด ภายในเดือนเมษายน 2556 และเมื่อมีครบทุกพื้นที่ เชื่อว่าจะสามารถดูแลงานได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะแต่ละพื้นที่จะได้ดูแลงานเฉพาะในจังหวัดของตัวเอง ไม่ต้องไปดูข้ามเขตอีกต่อไป ดังนั้นปัญหาน่าจะหมดไป ตอนนี้ทำได้เพียงรอเวลาไปก่อน ช่วงแรกของการทำงาน ป.ป.ช.จังหวัดก็อาจจะสามารถดูได้เท่าที่สามารถทำได้ในเขตรับผิดชอบ แต่อีกไม่เกิน 1 ปี น่าจะเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เชื่อกลุ่มการเมืองไม่กระทบเครือข่ายฯ
“ผมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องของความเข้มแข็ง หรือไม่มีพลังตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่เป็นเรื่องของกำลังในการดูแลมากกว่า เพราะตอนนี้เรามีอยู่เพียง 9 แห่ง แบ่งเขตกันดู ก็ย่อมจะดูได้ไม่ทั่วถึงเหมือนกับมีครบทุกจังหวัด ซึ่งตอนนี้เราพยายามเร่งอยู่ ภายในเดือนเมษายนปีหน้าจะทำให้ครบ ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จะหมดไป อย่างไรก็อยากให้ประชาชนเชื่อมั่น และเครือข่ายเองก็จะเข้มแข็งมากขึ้นในการที่จะเข้ามาช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้น” ศ.ดร.ภักดีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการสร้างเครือข่ายจังหวัดต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบในเรื่องของกลุ่มแนวคิดทางเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ศ.ดร.ภักดีกล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และไม่คิดว่ากลุ่มการเมืองจะเข้ามาสร้างปัญหา หรือผลกระทบใด ๆ ตราบใดที่เครือข่ายยังมีอุดมการณ์แน่วแน่ ที่ต้องการป้องกันการทุจริต และต้องการทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะงานนี้ทุกคนไม่ได้ทำเพื่อใคร หรือทำเพื่อ ป.ป.ช. แต่เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เพราะทุกคนมองเห็นว่าหากเกิดปัญหาขึ้นชุมชนก็จะอยู่ไม่ได้ คนเหล่านี้มีความตั้งใจที่แน่วแน่อยู่แล้ว และก็มักจะรู้อยู่เองอยู่แล้วว่า ใครที่ตั้งใจหรือใครที่ไม่มีความตั้งใจ เครือข่ายฯ จะจัดการกันเอง
“เรามองว่าเครือข่ายมีความเข้มแข็งพอ ที่จะจัดการกับคนที่เข้ามาเพื่อประโยชน์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพวกเขาจะจัดการอย่างไร เพื่อพยายามที่จะรักษาการเครือข่ายของพวกเขาเอง” ศ.ดร.ภักดีกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ