เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีบุกรุกสวนป่าโคกยาว ให้จำเลยคือนายทอง กุลหงส์ และนายสมปอง กุลหงส์ สองพ่อลูกชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) มีความผิดข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง และทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม จ.ชัยภูมิ โดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวศาลได้ตั้งวงเงินประกันไว้คนละ 200,000 บาท ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่พยายามรวบรวมเงินประกันตัวจำเลยทั้ง 2 คน แต่ไม่เพียงพอ จึงต้องเลือกประกันตัวนายสมปองออกมาก่อน เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง และมีปัญหาทางสมอง ส่วนนายทองผู้เป็นพ่อต้องถูกจำคุก อย่างไรก็ตามมีการหารือกันว่าจะพยายามหาหลักทรัพย์มาประกันนายทองต่อไป
นายศรายุทธ ฤทธิพิณ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า การกำหนดหลักทรัพย์ประกันตัวในคดีนี้เป็นจำนวนเงินที่สูงมาก จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นชาวบ้านคนจนธรรมดา ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และหาเก็บเห็ด หน่อไม้ เพื่อยังชีพไปวันๆ ไม่สามารถจ่ายได้ ส่วนเงินที่ชาวบ้านช่วยเหลือรวบรวมกันมาได้ก็ไม่พอจ่าย ผู้เป็นพ่อคือนายทองจึงจำต้องเสียสละนอนอยู่ในคุก เพื่อให้ลูกชายได้รับประกันตัวออกมา
สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2554 นายประทีป ศิลปะเทศ นายอำเภอคอนสาร จ.ชัยภูมิ ร่วมกับเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และ อส.กว่า 200 นาย เข้าปิดล้อมพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และควบคุมตัวชาวบ้าน 10 คน ไปที่สภ.ห้วยยาง เพื่อสอบปากคำและแจ้งข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง และทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว ต่อมามีการสั่งฟ้องชาวบ้านทั้ง 10 รายโดยจำแนกเป็น 4 คดี
กระทั่งวันที่ 22 พ.ค.2555 ศาลสั่งจำคุก นายคำบาง ทองทุย และนางสำเนียง ทองทุย สองสามี-ภรรยา เป็นเวลา 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา พร้อมให้ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ ชาวบ้านจึงรวบรวมเงินที่ได้จากการจำนองที่ดินมาประกันตัวจำเลยทั้ง 2 คน คนละ 100,000 บาท เพื่อออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ในกรณีเดียวกันนี้ ยังมีชาวบ้านอีก 6 คน ใน 2 คดี ที่อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา
ทั้งนี้ พื้นที่สวนป่าโคกยาวเป็นพื้นที่พิพาท และมีกระบวนการแก้ไขปัญหามายาวนาน ซึ่งชาวบ้านพยายามต่อสู้โดยยืนยันว่า อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน โดยป่าโคกยาวถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม เมื่อปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.9 แสนไร่ และมีโครงการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสทดแทนพื้นที่สัมปทาน เมื่อปี 2528 ก่อนที่จะมีมติ ครม.ปี 2553 เห็นชอบให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สวนป่ายูคาลิปตัสได้โดยไม่มีการข่มขู่ กักขัง ดำเนินคดีในระหว่างการแก้ไขปัญหา
นอกจากนั้น เมื่อปี 2548 คณะทำงานตรวจสอบพื้นที่ที่มีนายธนโชติ ศรีกุล ปลัดอาวุโส อำเภอคอนสาร เป็นประธาน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และการสำรวจรังวัดพื้นที่ กระทั่งมีมติว่าสวนป่าโคกยาวสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านที่ถูกอพยพ ขับไล่ออกจากพื้นที่จริง และให้ดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน
ต่อมาคณะอนุกรรมการสิทธิที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีรายงานผลการละเมิดสิทธิ โดยมีมติว่าการปลูกสร้างสวนป่าโคกยาวได้ละเมิดสิทธิในที่ดินของผู้ร้อง และให้ยกเลิกสวนป่าโคกยาว ทั้งนี้ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้ราชการผ่อนผันให้ราษฎรผู้เดือดร้อน สามารถทำกินในระหว่างร่องแถวของสวนป่าไปพลางก่อน จากนั้นนายกอบต.ทุ่งลุยลาย มีหนังสือไปยังผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 นครราชสีมา เพื่อขอให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ที่ดินในพื้นที่พิพาท โดยทำกินในระหว่างร่องระหว่างแถวของสวนป่า จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ
ต่อมาวันที่ 18 เม.ย.2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกรณีพื้นที่ป่าไม้ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ป่าไม้ ทั้งสิ้น 9 กรณี โดยมีกรณีสวนป่าโคกยาวรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันการดำเนินการแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้า
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ