ภาพสะท้อนเรื่องราวชีวิตสองฝั่ง'น้ำโขง'   ‘เขื่อนไซยะบุรี’กำลังจะเปลี่ยนวิถีของผู้คน ไทยลงทุน-ไทยสร้าง-ไทยได้รับผลกระทบ  

15 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1968 ครั้ง

เวทีพูดคุยยามเย็นย่ำวันอาทิตย์ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดตัว นิทรรศการ “ปกป้องแม่น้ำโขง หยุดเขื่อนไซยะบุรี” ในประเด็นหนักๆ ว่าด้วยเรื่องการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายหลักของภูมิภาคในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ไฟฟ้าของเรา (?) และผลกระทบที่จะเกิดกับเราเหล่าประชาชนในลุ่มน้ำโขง

 

อ้อมบุญกล่าวว่า เขื่อนไซยะบุรีแม้จะสร้างในเขตสปป.ลาว แต่สำหรับชาวลาวแล้ว มันคือเขื่อนของคนไทย ที่ลงทุนโดยคนไทย เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งให้ประเทศไทย ดังนั้นโจทย์จึงอยู่ที่คนไทยและรัฐบาลไทยที่ต้องตอบให้ได้ ทั้งเรื่องความจำเป็นในการใช้ไฟฟ้าของเรา ผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากการซื้อขายไฟ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อคนในประเทศไทยเอง

 

พื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี อยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ขึ้นไปตามลำน้ำโขงประมาณ 200 กิโลเมตร นับเป็นระยะทางที่ใกล้มาก สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของชุมชนริมน้ำโขงตลอดพรมแดนไทย-ลาว ทั้งในเขต จ.เชียงราย ทางภาคเหนือ และในเขต 7 จังหวัดของภาคอีสาน ตั้งแต่เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งอาศัยแม่น้ำโขงหาเลี้ยงชีพทั้งการทำเกษตรริมโขง และประมง ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

000

 

อ้อมบุญให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน มีการเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน และมีโครงการที่จะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง รวมทั้งได้พยายามสื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด โดยในส่วนรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อเดือน ธ.ค.54 ชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และสอบถามความคืบหน้าของโครงการ

 

ในครั้งนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ บอกว่าเรื่องนี้ยังไปไปถึงไหน และรับว่าจะไปดูให้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนตุลาคม กฟผ.ได้ตกลงเซ็นสัญญาซื้อขายไฟไปแล้ว อีกทั้งในพื้นที่โครงการเองก็มีการเดินหน้าก่อสร้างมาโดยตลอด ดังนั้นในวันที่ 17 ก.ย.นี้ ชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อมาทวงถามรัฐบาลในเรื่องนี้อีกครั้ง

 

เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ระบุด้วยว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้านมีเพียงข้อเดียว คือให้ “หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรี” ไว้ก่อน เนื่องจากกระบวนการไม่สมบูรณ์ ชาวบ้านรู้เรื่องโครงการน้อยมากเพราะไม่มีการให้ข้อมูล ทั้งเรื่องผลกระทบในการเกิดน้ำท่วม-น้ำแล้ง หรือหากเกิดผลกระทบขึ้นใครจะเป็นคนรับผิดชอบเยี่ยวยาชาวบ้าน รวมทั้งกรณีข้อมูลสัญญาซื้อไฟชาวบ้านก็ไม่รู้ แต่คำถามสำคัญเหล่านี้กลับไม่มีใครตอบชาวบ้านได้

 

“ถ้าชัดเจน ตอบคำถาม คลายข้อกังวลได้ ชาวบ้านจึงจะบอกว่าสร้างได้หรือเปล่า” อ้อมบุญกล่าว และว่าชาวบ้านมาถามนายกในฐานะผู้บริหารบ้านเมือง เพื่อที่จะได้รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้มีท่าทีอย่างไร แล้วจะได้กำหนดทิศทางรณรงค์ต่อไปได้อย่างเต็มที่

 

ทั้งนี้ “แม่น้ำโขง” ในฐานะ “แม่น้ำของอาเซียน” ซึ่งพาดผ่านถึง 6 ประเทศ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บนลำน้ำที่มีความยาว 4,880 กิโลเมตร ผลกระทบก็ย่อมเกิดขึ้นยาวไกลตามไปด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

000

 

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนว่า แม่น้ำโขงคือแม่น้ำที่มีความสำคัญที่สุดในในโลก เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีประชากรที่ต้องพึงพิงมากจำนวนมากที่สุดในโลก โดยประชากรเหล่านี้มีความหนาแน่นและมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งการสร้างเขื่อนบนลำน้ำสายนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศลุ่มน้ำโขง ทั้งไทย (นักลงทุน) และลาว (ประเทศที่ตั้ง)

 

อีกทั้งประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักทางกายภาพ คือกัมพูชา โดยเฉพาะต่อ “โตนเลสาบ” ทะเลสาบที่ได้ชื่อว่าจ้าวของแหล่งอาหารน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของกัมพูชาพึงพิงโตนเลสาบในฐานะแหล่งน้ำสำคัญและแหล่งอาหาร โดยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในโตนเลสาบ

 

นอกจากนั้น ประชากรอีกว่า 10 ล้านคนที่ทำนาทางตอนใต้ของเวียดนามก็จะได้รับผลกระทบ จากการที่น้ำจืดไม่เพียงพอ ทำให้น้ำเค็มที่มาจากทะเลหนุนขึ้นมา ซึ่งคาดว่าปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง

 

นักการเมืองในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยที่ผ่านมาไม่สนใจต่อกรณีผลกระทบจากเขื่อนบนลำน้ำโขง นับตั้งแต่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เอง รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งที่พลังงานไฟฟ้าจากการสร้างเขื่อนเป็นการลงทุนที่สูงที่สุดในเรื่องค่าใช้จ่ายทางสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม และสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกระบุเอาไว้ในแผนโครงการก่อสร้างเลย

 

สำหรับไกรศักดิ์มองว่า การสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้นคือการทำลายกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของไทยและลาว แต่ยืนยันว่าเราจะเสียหายมากกว่าไปฟ้าที่จะได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

000

 

ขณะที่มนตรี จันทวงศ์ ตัวแทนจากโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ให้ข้อมูลของเขื่อนไซยะบุรี โครงการเขื่อนแห่งแรกที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างว่า เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งจะปิดกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ความสูง 50 เมตร โดยแหล่งเงินกู้ของโครงการมูลค่า 115,000 ล้านบาทจะมาจากธนาคารสัญชาติไทย

 

ไฟฟ้าจากเขื่อนที่ผลิตได้จำนวน 1,225 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จะส่งขายให้ประเทศไทย โดยจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค.2563 ซึ่งเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2554 รัฐบาลไทยโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

มนตรี ให้ข้อมูลด้วยว่าสำหรับ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัดนั้น ผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือ บริษัทของไทย อันประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์, บริษัท นที ชินเนอร์ยี่ จำกัด (บริษัทลูกของปตท.) ถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์, บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก (บริษัทลูกของกฟผ.) ถือหุ้น 12.5 เปอร์เซ็นต์, บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ 7.5 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท พี.ที. คอนสตรัคชั่น แอนด์ อิริเกชั่น 5 เปอร์เซ็นต์

 

จากรายชื่อดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การที่ กฟผ.ไม่รอการตัดสินใจของคณะกรรมการแม่น้ำโขง ทั้งลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งถึงปัจจุบันยังไม่มีมติที่เป็นเอกฉันท์ต่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรี แต่กลับเร่งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า นั้นอาจเนื่องมาจากการที่ กฟผ.มีบริษัทลูกคือเอ็กโกไปร่วมลงทุนอยู่ด้วย

 

นอกจากนั้น มนตรี ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องค่าไฟว่า การที่ไทยต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อไฟฟ้าถึง 6,000 กว่าล้านหน่วยต่อปี ถือเป็นการแบกรับภาระ Take-or-Pay คือ แม้ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย ส่วนที่ว่าจ่ายค่าไฟฟ้าอัตราคงที่ตลอดอายุสัมปทาน 29 ปี จะทำให้เราได้ไฟราคาถูก แต่ความเป็นจริงคือเราจ่ายค่าไฟแพงตั้งแต่ในปีแรก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

000

 

สำหรับคนในเมืองใหญ่ที่ดูเหมือนจะไม่เสียอะไร แต่กลับต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับค่า FTที่คำนวณมาจากการคาดการณ์ต้นทุนไฟฟ้าล่วงหน้า ซึ่งเป็นข้ออ้างหนึ่งของประกันความมั่นคงทางพลังงานว่า บ้านเราไฟจะไม่ตก หลอดไฟ-เครื่องใช้ไฟฟ้าจะใช้การได้เสมอ ฯลฯ เราอาจต้องหันมาให้ความสนใจการลงทุนข้ามประเทศที่ดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่กลับใกล้กว่าที่คิด  

 

สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพอิสระ กลุ่ม Photo Journ ผู้ผลิตผลงานในนิทรรศการ “ปกป้องแม่น้ำโขง หยุดเขื่อนไซยะบุรี” บอกเล่าประสบการณ์จากการลงเก็บภาพในพื้นที่เหนือเขื่อนใน สปป.ลาวว่า ชาวบ้านในพื้นที่โครงการฯ พูดไม่ได้ว่าไม่เอาเขื่อน แต่ที่พูดได้คือเขาอยู่ที่นั่นมาทั้งชีวิต เกิดที่นั่นก็อยากตายที่นั่น

 

อีกทั้งยังพบว่าพื้นที่ใหม่ที่พวกเขาจะต้องถูกย้ายไปนั้นเป็นที่แห้งแล้งไม่สามารถทำกินได้ ซึ่งคนที่เป็นผู้จัดสรรให้ไม่ใช่รัฐบาลลาวแต่เป็นบริษัท ช.การช่าง

 

ชาวบ้านไม่เคยเห็นเขื่อน และแม้พวกเขาจะรู้ว่า พวกเขาจะไม่ได้อะไรจากเขื่อน แต่พวกเขาก็ขัดรัฐบาลไม่ได้ และต้องสูญเสียโดยไม่มีสิทธิเรียกร้อง นั่นคือ “ความจำเป็นที่ไม่จำเป็น” สุเทพให้ข้อสรุปต่อสิ่งที่ชาวบ้านได้รับ

 

สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ สุเทพเล่าว่าเขาและรุ่นน้องอีก 2 คน คือ วุฒินันท์ จันโทริ และ ไพรัตน์ สุนทรชัย จากกลุ่ม Photo Journ ร่วมกันบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหววิถีชีวิตของชาวบ้านริมน้ำโขงทั้งที่ไซยะบุรี และลัดเลาะไปจนใกล้ตัวเมืองหลวงพระบาง ที่ซึ่งคาดว่าผลกระทบจะย่ำกลายไปถึง เพื่อนำมาจัดแสดง

 

นอกจากนั้น สุเทพยังมีโครงการต่อไปว่าเขาจะทำเช่นเดิมกับพื้นที่ท้ายเขื่อน ไล่มาจนถึง ปากชม-เชียงคาน เพื่อเก็บรวมรวบภาพและข้อมูลผลกระทบนำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งต่อไป

 

ในความคิดของสุเทพ คนกรุงเทพฯ อยู่ในพื้นที่เล็กๆ แต่กลับใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนจำนวนมาก อีกทั้งการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากนี้ก็นำมาซึ่งความสูญเสียของคนอื่นๆ แต่หากเราช่วยกันลดประมาณการใช้ลง ใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ หรือหันไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ก็อาจช่วยแก้ปัญหาความต้องการไฟฟ้าตรงนี้ได้ 

 

“อยากให้สังคมส่วนรวมตระหนักว่า เขาอาจมีส่วนทำให้คนอีกส่วนหนึ่งต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง” สุเทพกล่าวถึงเป้าหมายของการจัดแสดงงานครั้งนี้

 

ก่อนหน้านี้ สุเทพเคยมีผลงานถ่ายภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่โครงการเขื่อนดอนสะฮอง ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง ในเขตสี่พันดอน ทางตอนใต้ของลาว นั่นทำให้เขายิ่งมีความรู้สึกร่วมที่ว่า “ไม่อยากให้เขื่อนบนแม่น้ำโขงเกิดขึ้น และสร้างผลกระทบ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

000

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือด้านไฟฟ้าในอาเซียน 10 ประเทศ ตามโครงการระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ประเทศไทยและสปป.ลาวมีความก้าวหน้ามากที่สุดในการซื้อขาย และเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้า แต่ไทยอยู่ในฐานะผู้ซื้อฝ่ายเดียว เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูง โดยเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.50 รัฐบาลไทยได้ตกลงขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มจาก 5,000 เมกกะวัตต์ก่อนหน้านี้ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ภายในหรือหลังปี 2558

 

ข้อมูลระบุว่า มีการจ่ายไฟฟ้าแล้ว 1,891 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการเทินหินบุน 220 เมกะวัตต์เข้าระบบปี 2541, โครงการห้วยเฮาะ 126 เมกะวัตต์ เข้าระบบ 2542, โครงการน้ำเทิน 2 ปริมาณ 948 เมกะวัตต์เข้าระบบ 2553 และโครงการน้ำงึม 2 เข้าระบบเดือน มี.ค.2555 ปริมาณ 597 เมกะวัตต์

 

ส่วนโครงการที่ลงนามซื้อขายไฟฟ้า และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2,913 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการเทินหินบุนส่วนขยาย เข้าระบบเดือน ก.ค.2555 ปริมาณ 220 เมกะวัตต์, โครงการหงสาลิกไนต์ เดือน มิ.ย.2558 ปริมาณ 1,473 เมกะวัตต์, โครงการไซยะบุรี เดือน ต.ค. 2562 ปริมาณ 1,220 เมกะวัตต์

 

นอกจากนี้ไทยและสปป.ลาวยังมีโครงการที่ลงนามเอ็มโอยูอีก 1,077 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างพัฒนา ประกอบด้วยโครงการน้ำงึม 3 เข้าระบบเดือน ม.ค.2560 ปริมาณ 454 เมกะวัตต์, โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย เดือน ม.ค.2561 ปริมาณ 354 เมกะวัตต์ น้ำเงี๊ยบ 1 เข้าระบบเดือน ม.ค.2561 ปริมาณ 269 เมกะวัตต์

 

 

หมายเหตุ: นิทรรศการ “ปกป้องแม่น้ำโขง หยุดเขื่อนไซยะบุรี” ร่วมจัดโดย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน, เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง, โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA), พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง, องค์การแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers), Photo Journ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดแสดงที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 9-16 ก.ย.55

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: