เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 เครือข่ายภาคประชาชน รวม 23 ราย ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ฟ้อง ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งให้บังคับใช้แบบจำลองสำหรับการประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ หรือแบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน และให้ผู้ถูกฟ้องร้องคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้
จากที่ก่อนหน้านี้ ผู้ฟ้องประกอบด้วย 4 เครือข่าย 1 องค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน จ.ชัยภูมิ เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ องค์กรชุมชนบ้านพรสวรรค์ จ.เชียงใหม่ และมูลนิธิอันดามัน ร่วมกับผู้ฟ้องร้องในนามบุคคล 18 ราย รวมทั้งสิ้น 23 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ในวันที่ 23 ก.ค.55 ด้วยเหตุผลที่ว่า ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีนำเสนอไม่เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดี กล่าวคือ
‘รายละเอียดหนังสือสั่งการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ รวมทั้งแบบจำลองฯ เป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ภายในฝ่ายปกครอง มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำการหรือสั่งการต่อผู้บุกรุกแผ้วถางหรือทำลายป่าไม้โดยตรง โดยเป็นการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประเมินและคำนวณค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่เสีย เพื่อทราบจำนวนที่ชัดเจนสำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาลต่อไป ส่วนศาลจะพิจารณากำหนดให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคู่กรณีต่อศาล หนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิใช่คำสั่งที่มีสภาพบังคับโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสามคน ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสามคนจึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจได้รับความเดือดร้อน จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542’
นายกฤษดา ขุนณรงค์ หนึ่งในทนายความ ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีครั้งนี้ กล่าวว่า เราต้องการยืนยันต่อศาลปกครองว่า การที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้นำแบบจำลองคดีโลกร้อนมาใช้บังคับกับประชาชนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งมากมายทั้งจากนักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดถึงองค์กรอิสระต่าง ๆ ว่าแบบจำลองฯ ดังกล่าวไม่มีความถูกต้องทางวิชาการและไม่สามารถนำมาใช้ในการเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานนี้ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นหรือดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง
“เราเห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจในการเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับใช้แบบจำลองคดีโลกร้อนซึ่งกำลังสร้างผลกระทบและความไม่เป็นธรรมต่อชุมชนท้องถิ่นและประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้เป็นการที่ภาคประชาชนยืนยันขอใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาอันจะนำไปสู่การปกป้องและรับรองสิทธิชุมชน สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งจะเป็นการวางบรรทัดฐานในการบริหารงานที่ดีของหน่วยงานภาครัฐต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”
ด้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกร่วมในการฟ้องคดีครั้งนี้ เผยแพรข้อมูลโดยระบุว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และคณะทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายฯ (คดีโลกร้อน) สภาทนายความ มีความเห็นว่า คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาของศาลปกครองกลางนั้น ได้หยิบยกมาวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียว คือ มองว่าหนังสือคำสั่งให้ใช้แบบจำลองฯ เป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ภายในฝ่ายปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยศาลปกครองยังมิได้ลงไปวินิจฉัยในประเด็นอื่น เช่น ความเป็นบุคคล กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลของผู้ฟ้องคดี ความเสียหายหรือผลกระทบจากการใช้แบบจำลอง รวมทั้งยังไม่ได้ดูความไม่ถูกต้องทางเนื้อหาของแบบจำลองตามที่ได้เสนอไปในคำฟ้องแต่อย่างใด
ดังนั้นการยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับคำฟ้องคดีโลกร้อนไว้พิจารณาครั้งนี้ จึงเป็นไปเพื่อ 1.เป็นการยืนยันว่าการยื่นอุทธรณ์คำฟ้องกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ต่อศาลปกครองครั้งนี้เป็นความชอบธรรมของเกษตรกร ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ให้เป็นไปตามหลักของการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง เป็นธรรม และยั่งยืนโดยยึดหลักตามแนวทางสิทธิชุมชน
2.เพื่อเป็นการชี้ให้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ศาลปกครองต้องทำหน้าที่ในการตีความกฎหมายให้กว้างกว่าตัวบทและให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง แม้โดยลักษณะของหนังสือเวียนจะเป็นเพียงการสั่งการภายใน แต่ผลของหนังสือทำให้เกิดการบังคับและดำเนินคดีตามแบบจำลองด้วยผลแห่งคำสั่งนั้น และนำมาสู่ผลกระทบต่อชาวบ้าน สมาชิกชุมชน และประชาชนอย่างกว้างขวาง
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ระบุด้วยว่า ข้อสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้กรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ได้ตระหนักถึงการใช้อำนาจของตนในลักษณะที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคม และเพื่อให้การกระทำทางปกครอง ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 ราย เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้รับการคุ้มครองและตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นการวางบรรทัดฐานในการบริหารงานที่ดีของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯจึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีทั้ง 23 รายต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ