ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ และคณะ เป็นผู้ศึกษาโครงการ วิเคราะห์สถานะการวิจัยและพัฒนาของประเทศ และจัดทำระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีการทำการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศอย่างเป็นระบบและเต็มรูปแบบ ผลของการศึกษาจะช่วยตอบโจทย์ความคุ้มค่า และความจำเป็นของการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ฝ่ายนโยบายควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการลงทุนนโยบายระยะสั้นอื่น ๆ
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า คณะวิจัยได้นำเสนอผลศึกษาในการสัมมนาหัวข้อ “ระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ : สรุปข้อเสนอเพื่อการนำไปปฏิบัติจริง” ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ประดับปานกลางด้วยกัน และประสิทธิภาพของงานวิจัยและพัฒนาของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงมีความจำเป็นต้องทุ่มเททรัพยากรให้เกิดการวิจัยและการพัฒนา เพื่อสร้างปัญญาของคนมากขึ้น เพราะการวิจัยและพัฒนา ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับนักวิจัยเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวข้องกับภาคีต่าง ๆ มากมาย ทั้งนักการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย สำนักงบประมาณ ฯลฯ
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า งานวิจัยและพัฒนาที่ดำเนินการในประเทศไทยนั้นมีประโยชน์ และทำให้เกิดผลตอบแทนทั้งที่วัดเป็นตัวเงินได้ และที่วัดเป็นตัวเงินไม่ได้นั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะมีข้อสงสัยมาตลอดว่าเป็นการทำวิจัยแล้วเอาไป “ขึ้นหิ้ง” ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ แต่จากการศึกษาโดยดูระบบประเมินการวิจัยของประเทศพบว่า มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่นำไปสู่การปฏิบัติได้
โดยการศึกษาได้ออกแบบ และจัดทำระบบประเมินผลการวิจัยของประเทศ โดยเน้นการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบ ที่ให้ความสำคัญกับกลไกการสร้างความรับผิดชอบและความคุ้มค่า
การทำให้การประเมินง่ายและมีต้นทุนต่ำที่สุดต่อทุกฝ่าย โดยใช้ตัวชี้วัดใหม่เท่าที่จำเป็น ลดภาระในการรายงานข้อมูลโดยเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการในปัจจุบัน คำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละสาขาวิชา ซึ่งจะมีผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบในรูปแบบที่ต่างกัน และใช้ระยะเวลาในการประเมินต่างกัน โดยพิจารณาตัวชี้วัดการประเมินทั้งปัจจัยนำเข้า ผลผลิต ผลลัพธ์/ผลกระทบ ใช้แนวทางการประเมิน ทั้งการประเมินในเบื้องต้นทันทีหลังโครงการเสร็จสิ้น ประเมินการนำผลงานวิจัยไปใช้ช่วง 3-5 ปี หลังจากโครงการเสร็จสิ้น และประเมินผลกระทบ 5-10 ปี หลังจากโครงการเสร็จสิ้น
“สิ่งที่นำมาประเมินคือ ดูว่าใช้อะไร ใช้เงินเท่าไหร่ ใช้คนเท่าไหร่ และได้อะไรออกมา ซึ่งสิ่งที่ออกมาคือบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ได้ทรัพย์สินทางปัญญา ได้สิทธิบัตร และเมื่อได้อย่างนี้แล้วการถูกนำไปใช้อย่างไร”
การศึกษานี้ได้แสดงตัวอย่างการประเมินผลกระทบสาขาสังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ประเมินความคุ้มค่า (ตัวเงิน)ได้ยาก เช่น การประเมินผลกระทบสาขามนุษย์ศาสตร์ กรณีการวิจัยประวัติศาสตร์พม่า โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และทำวิจัยในเรื่องประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่ามายาวนาน จากงานวิจัยของ รศ.ดร.สุเนตร ซึ่งได้ไปศึกษาจากหลักฐานประวัติศาสตร์ของพม่า ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ต่อประวัติศาสตร์ของไทยและพม่า และก่อให้เกิดการถกอภิปรายต่อประเด็นต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ และมีผลกระทบในทางเศรษฐกิจตามมา ได้แก่ ผลิตบทความวิชาการและหนังสือต่างๆ เช่น พม่ารบไทย (พ.ศ. 2537), พระสุพรรณกัลยาจากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2542) เป็นวิทยากรให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่ประชาชน เป็นที่ปรึกษาทางประวัติศาสตร์แก่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ในการท่องเที่ยว ช่วยให้การท่องเที่ยวมีคุณภาพในทางวิชาการสูงขึ้น ก่อให้เกิดรายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างจากการทำวิจัยของนักวิจัย 1 คน ที่ทำเรื่องที่คนรู้สึกว่าไกลตัว แต่สามารถก่อให้เกิดผลกระทบและประเมินเป็นมูลค่าได้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า มีงานวิจัยลักษณะนี้อีกมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบ จึงไม่รู้ว่ามีอยู่เยอะแค่ไหนและก่อให้เกิดผลดีผลเสียอย่างไร และจุดอ่อนของการวิจัยและพัฒนาคือต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเห็นผล ระบบประเมินผลการวิจัยของประเทศจะช่วยทำให้ตัวอย่างรูปธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมา และงานวิจัยอะไรที่ทำไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็จะถูกเลิกทำไป ระบบประเมินผลการวิจัยจึงมีความสำคัญมาก และภาครัฐต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนา
การศึกษาให้ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลสำหรับการประเมิน พร้อมทั้งระบุปัจจัยความสำเร็จโดยให้ วช. ควรจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบและดูแลระบบฯ อย่างชัดเจน จัดสรรทรัพยากร 5-7 เปอร์เซ็นต์ ให้ผู้ดูแลระบบ และผู้จัดทำรายงานผลการประเมินประจำปี มีการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้นักวิจัยให้ข้อมูล และควรร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ทำ MOU กับหน่วยงานวิจัยในการกรอกข้อมูล ขอความร่วมมือจากคณะกรรมาธิการงบประมาณ ให้ไม่พิจารณาอนุมัติงบประมาณแก่โครงการที่เข้าข่ายเป็นงานวิจัย แต่ผู้ของบไม่ได้ยื่นเรื่องผ่าน วช. เป็นต้น
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า ไม่มีประเทศไหนที่พัฒนาขึ้นมาจากการใช้แรงงานราคาถูก และการเอาเปรียบทรัพยากรธรรมชาติไปเรื่อย ๆ การจะออกจากวังวนตรงนี้ได้ก็ด้วยการลงทุนสติปัญญา ซึ่งก็ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา ตอนนี้เราได้ออกแบบระบบตัวอย่าง โดย วช.จะนำไปดำเนินการต่อและจะได้เครื่องมือ คือ วิธีการประเมิน และหากเป็นไปตามข้อเสนอของงานศึกษานี้จะทำให้ทุกปีจะต้องมีรายงานประจำปีออกมาว่า ระบบวิจัยของประเทศมีผลดี ผลเสีย ต้นทุน ทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน และมีผลกระทบอะไรที่ตกมาสู่ประชาชนบ้าง สำหรับการนำไปใช้ก็น่าจะมีการคุยกัน 5 ส.1ว จะต้องมาเลือกดัชนีชี้วัดขึ้นมาร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดภาระแก่ผู้วิจัยมากเกินไป
เมื่อมีระบบการประเมินที่เชื่อถือได้ตรงไปตรงมา เปิดกว้างโปร่งใส และประเมินออกมาได้ว่า งานวิจัยมีประโยชน์ต่อประเทศ จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเกิดความเข้าใจ และให้ความสำคัญในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนามากขึ้น แทนการนำเงินไปใช้กับนโยบายเฉพาะหน้าหรือนโยบายระยะสั้นเท่านั้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ