‘บุญทรง’เมินเสียงติง-รีดธ.ก.ส.4แสนล้าน โปะจากทุกส่วน-อ้างใช้รับจำนำถึงปีหน้า ‘ยิ่งลักษณ์’สั่งรื้อข้อมูลย้อนหลังสู้อภิปราย

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 15 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1933 ครั้ง

ในที่สุดความพยายามของกลุ่มนักวิชาการ ทั้งจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ที่รวมตัวกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ชะลอโครงการรับจำนำข้าวไว้ก่อน เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 43 กับมาตรา 84 (1) ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม ก็ต้องยุติบทบาทชั่วคราว เพราะศาลวินิจฉัยว่า “คำร้องนี้ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งยุติบทบาทในการจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ”

 

สาเหตุที่ทั้งนักวิชาการ ปัญญาชนสาธารณะ และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง ไม่เป็นด้วยกับการรับจำนำข้าวอาจเป็นเพราะมีข้อมูลที่พบความ “ผิดปกติ” ในการรับจำนำเฉพาะข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 มีทั้งปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ในโยบายที่ว่า “รัฐบาลจะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด” ใช้วงเงินถึง 405,000 ล้านบาท จากปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังในปี 2556 ที่คาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 11 ล้านตัน

 

 

ทั้งปริมาณข้าวและยอดเงินที่สูงลิ่ว ทำให้ผู้มีบารมีทางเศรษฐศาสตร์ในรัฐบาล อย่าง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ต้องออกมาส่งสัญญาณแรง ๆ ทำนองว่า  "รัฐบาลจะพังก็เพราะเรื่องนี้" เนื่องจากคุมทุจริตยากมาก

 

แม้กระทั่ง ดร.อัมมาร สยามวาลา อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งเข้าใจระบบการค้าข้าวของรัฐเป็นอย่างดี ยังออกปากว่า โครงการนี้จะยังประโยชน์เฉพาะกับกลุ่ม “ชาวนารวย” แต่กลุ่ม “ชาวนาจน” ถึงเป็นเกษตรกส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

 

ฝ่ายค้านตั้งวอร์รูมพลิกปมรับจำนำข้าวจ่อขย่มรัฐบาล

 

 

ทำให้ทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และธนาคารของรัฐอย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ต้องร้อนตัว ออกโรง จัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ

 

รายงานสำหรับผู้บริหาร ที่จัดทำโดยกระทรวงการคลัง ที่ลงนามโดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จึงถูกจัดเตรียมส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี

 

ในแฟ้ม “ลับ” ระบุตัวเลขล่าสุดจากเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรากฏออกมาว่า การที่รัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2555/2556 ปริมาณ 15 ล้านตัน วงเงิน 240,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้เงินกู้กระทรวงการคลัง 150,000 ล้านบาท

 

อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินจากการระบายข้าว ที่รับจำนำในปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะส่งเงินคืน ธ.ก.ส.ภายในสิ้นปี 2555 วงเงิน 85,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจ่ายคืนให้ธ.ก.ส.แล้ว 12,000 ล้านบาท ส่วนอีก 30,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ

 

นอกจากนี้ยังมีเงินสำหรับจะใช้ในฤดูกาลรับจำนำ ปี 2556 อีกจำนวน 49,000 ล้านบาท ตัวเลขหนี้เบ็ดเสร็จ ที่ธ.ก.ส.จะต้องจ่ายสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีสูงถึงเกือบ 100,000 ล้านบาท แม้ตัวเลขจริงอยู่ในระดับ 91,000 ล้านบาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ตัวเลขดังกล่าวทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องเรียก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เข้าหารือเป็นการส่วนตัว เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไป และความคืบหน้าสัญญาระบายข้าว โดยได้ขอดูเอกสารสัญญาระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี จำนวน 7 ล้านตัน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความจริงแล้วรัฐบาลไม่ได้ระบายข้าวดังกล่าวลงเรือไปต่างประเทศแม้แต่รายการเดียว

 

ทำให้รัฐบาลสั่งทุกหน่วยงานจัดเตรียมข้อมูลเรื่องข้าวทุกมิติ เพื่อตอบโต้ผู้ที่คัดค้านโจมตีโครงการรับจำนำข้าว โดยนำข้อมูลที่ส่วนราชการจัดทำ ไปแปลงเป็นข้อมูลตอบโต้ทางการเมือง ผ่านทีมงานประชาสัมพันธ์ของพรรคและทีมงานเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้น เพื่อตอบโต้ผ่านทุกระบบ ทั้งทวิตเตอร์และเว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาล และจัดคิวให้รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมงาน แล้วนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ

 

ทำให้ผู้นำฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องจัดประชุมคณะรัฐมนตรี “เงา” เพื่อจัดเตรียมข้อมูล สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และการตั้งกระทู้ต่อสาธารณะ

 

นอกจากนี้ยังมีการตั้งทีมเฉพาะกิจ ปฏิบัติการแบบวอร์รูม เพื่อรวบรวมข้อมูลลึก-ลับ สำหรับจี้จุดตายของรัฐบาล ทั้งใน-นอกสภาผู้แทนราษฎร โดยจะโหมโรงก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจล่วงหน้า 3 สัปดาห์

 

 

รัฐบาลเตรียมข้อมูลสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

 

ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลเรื่องเงินที่ถมโครงการรับจำนำข้าว แต่ทีมงานที่ปรึกษาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังได้สั่งการให้ธ.ก.ส. จัดทำบัญชีรายการเงินงบประมาณ ที่เคยจ่ายให้รัฐบาลอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรย้อนหลังไปถึงรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ด้วย แหล่งข่าวในธนาคารของรัฐบาลแห่งนี้ เปิดเผยว่า “ทำเนียบฯ ต้องการข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 2547 ถึงปัจจุบัน เพื่อนำไปวิเคราะห์ ต่อยอดทางการเมือง”

 

ข้อมูลที่นายกิตติรัตน์ กลั่นกรองจากกระทรวงการคลังถึงทำเนียบรัฐบาล แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2547-2551 ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 โครงการ ทั้งรับจำนำข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และฤดูการผลิตปี 2552-2555 มีโครงการดูแลสินค้าเกษตร จากนโยบายรัฐทั้งสิ้นกว่า 10 โครงการเช่นกัน ทั้งโครงการประกันราคาสินค้าเกษตร ข้าวนาปรัง ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพด กุ้ง ยางพารา ฯลฯ

 

ข้อมูลสำคัญพบว่า จากฤดูการผลิตปี 2551/2552 ใช้เงิน 150,000 ล้านบาท ขณะที่ฤดูการผลิตปี 2552/2553 ยุคที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีการประกาศใช้โครงการประกันราคาสินค้าเกษตร (ข้าวโพด, ข้าวนาปรัง, ข้าวนาปี, มันสำปะหลัง) ฤดูการผลิตปี 2552/2553 รวมทั้งสิ้น 55,900 ล้านบาท และประกันราคาสินค้าเกษตรฤดูการผลิตปี 2553/2554 รัฐบาลใช้เงินเพียง 67,600 ล้านบาท

 

ต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน ในฤดูการผลิตปี 2554/2555 ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดบัญชีในเดือนกันยายน 2555 ระบุว่า รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 517,958 ล้านบาท โดยรวมถึงการรับจำนำข้าวนาปี นาปรัง จำนำมันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด

 

 

หนี้จำนำข้าวท่วม 1.3 แสนล้าน จัดอีกกว่า 4 แสนล้านบาท

 

 

จำนวนเงินที่ธ.ก.ส. ต้องกันไว้สำหรับการจำนำข้าว ในช่วงปลายปี 2555 คาดว่าสภาพคล่องของธนาคารจะถูกจ่ายไปอีก 40,000 ล้านบาท รวมกับที่ได้สำรองสภาพคล่องไปก่อนแล้ว 90,000 ล้านบาท ทำให้หนี้ของรัฐจมอยู่ที่ธ.ก.ส.รายเดียว 130,000 ล้านบาท

 

แม้นายกรัฐมนตรีและ 34 รัฐมนตรี จะหวาดกลัวความสุ่มเสี่ยงเรื่องทุจริต และเตรียมรับมือกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ หาได้คิดเช่นนั้นไม่ เขากลับทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี ระบุว่า

 

 

          “เรื่องกรอบการใช้เงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 ลงวันที่ 4 กันยายน 2555 ระบุไว้ว่า วงเงินที่จะใช้เป็นทุนในการหมุนเวียนรับซื้อข้าวเปลือกจำนวน 405,000 ล้านบาท ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยรัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยจากการกู้เงิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งผลการขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมด เพื่อใช้ในการรับจำนำ”

 

 

นั่นเท่ากับว่า ธ.ก.ส.ต้องนำยอดเงินในการอุดหนุนสินค้าการเกษตรรายการอื่นทั้งหมด มาโปะลงไปในรายการรับจำนำข้าวทั้งหมด เพื่อรองรับการจำนำข้าวทุกเมล็ด ซึ่งคาดว่าจะมีถึง 26 ล้านตัน ในปี 2556

 

แม้ว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ ลงนามในหนังสือราชการแจ้งต่อคณะรัฐมนตรี แนบไปกับหนังสือของรมว.พาณิชย์ จะระบุว่า

 

 

               “ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้เงินในการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 ไปแล้วกว่า 517,958 ล้านบาท เป็นภาระด้านงบประมาณมากเกินควร หากยังไม่มีการขายข้าวในสต๊อกออกไป จะกระทบต่อความสามารถของกระทรวงการคลัง ในการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกปี 2555/2556 ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่าย และดอกเบี้ย ในอัตราที่สูงกว่าการจัดหาเงินกู้กรณีอื่น ๆ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน”

 

 

มหากาพย์ขายรัฐต่อรัฐและเจ้าแม่ “ด”

 

 

ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาการระบายข้าวที่ท่วมท้นอยู่ในสต็อกทั่วประเทศถึงเกือบ 12 ล้านตัน นายบุญทรง รมว.พาณิชย์ มักอ้างว่า จะมีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี  6 สัญญาหรือ 6 ประเทศ รวม 7,328,000 ตัน แต่เมื่อทุกฝ่ายร่วมกันตรวจสอบ ก็พบว่ารัฐบาลยังไม่มีสัญญาซื้อขายข้าวที่ระบุราคา ปริมาณข้าว เวลาการส่งมอบ และการเปิด LC คำว่า “สต็อกลม” จึงดังกระหึ่มขึ้น

 

ท่ามกลางเสียงข้อครหาทั่วทั้งตลาดค้าข้าวว่า การขายข้าวทั้งสต็อกของรัฐบาล เป็นไปตามคำสั่งซื้อ-ขาย ของผู้มีบารมีนอกรัฐบาล ที่เดินสายขายข้าวอยู่ในต่างประเทศ เพื่อหวังข้อแลกเปลี่ยนในการลงทุนส่วนตัว

ที่ ประเทศโกตดิวัวร์ ทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับ ประเทศสาธารณรัฐมาลีและประเทศบูร์กินาฟาโซ ทิศใต้ติดกับอ่าวกินี มหาสมุทรแอตแลนติค จึงปรากฏขึ้นบนแผนที่ขายข้าวจากรัฐบาลไทย ไปถึงอีกซีกโลก ใกล้ๆ กับวงโคจรของอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ร่ำรวย

 

ประเทศที่องค์การสหประชาชาติได้รับรายงานว่า  มีผู้เสียชีวิตจากวิกฤตการเมืองราว 1,012 คน ถูกสังหารในเหตุปะทะกันทางการเมือง และอย่างน้อย 505 คน ถูกสังหารในเมืองดูโกอู ระหว่างเดือนธันวาคม 2553จนถึงเดือนเมษายนปีพ.ศ.2554

 

มหากาพย์เรื่องรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่กูรู 3 ส่วนราชการ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งสภาพัฒน์ฯ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง-สำนักงบประมาณ ส่งความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องชะลอเพราะใช้เงินงบประมาณสูงลิ่ว ยังคงเดินหน้าต่อไป

 

 

ข้อมูลและสถานการณ์จะพลิกผันและเลวร้ายที่สุดสำหรับรัฐบาล จึงน่าจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเข้าสู่โหมดการปรับคณะรัฐมนตรี

 

ทุกองคาพยพของรัฐบาลจึงอาจถูกนำมาแขวนชะตากรรม รวมไว้ที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบุคคลเบื้องหลังที่ยังถูกใช้ตัวย่อ “ด.” ผู้มีบารมีระดับเจ้าแม่แห่งกลุ่มวังบัวบาน

 

การพบกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์กับพี่สาวที่ชื่อ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยาอดีตนายกรัฐมนตรี จึงไม่น่าจะใช่แค่เรื่องส่วนตัวในครอบครัวชินวัตร ระหว่างจิบชายามบ่าย แต่อาจพ่วงวาระอันตรายเรื่องข้าวติดปลายนวมไปด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: