สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 7 รัฐบาล ยังไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย นับถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4,645 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8,264 ราย ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขทางการจากรัฐบาล ซึ่งไม่แน่ว่าจะตรงกับตัวเลขจริงหรือไม่
การเสียชีวิตแต่ละครั้งของผู้ชายก่อผลกระทบตามมาหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกกล่าวถึงเสมอคือผู้หญิงมุสลิมที่ต้องเป็นหม้ายจากการสูญเสียสามี จากเหตุการณ์ความไม่สงบ สถิติตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2554 มีทั้งสิ้น 2,295 ราย แยกเป็นปัตตานี 849 ราย นราธิวาส 714 ราย ยะลา 657 ราย และสงขลา 75 ราย ทำให้มีเด็กกำพร้าสูงถึง 4,455 คน
แม้ว่าจะมีความรักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงจะแบกรับภาระอันหนักอึ้งนี้ไว้เพียงผู้เดียว ขณะที่บางคนนอกจากสูญเสียสามีแล้ว ลูกยังถูกดำเนินคดีความมั่นคง
และจากการเปิดเผยของผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในงานเสวนาสัญจร “เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” พบว่าปัญหาในพื้นที่มิใช่มีเพียงสถานการณ์ความรุนแรง แต่ยังมีประเด็นปัญหาเฉพาะทับซ้อนอีกหลายประเด็น ที่ถูกความรุนแรงกลบฝัง กระทั่งสังคมภายนอกไม่รับรู้
คดีความมั่นคง 8 พันคดี-ทำผู้หญิงรับภาระครอบครัว
แยนะ สะแลแม หญิงผู้สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความรุนแรงและลูกชายถูกดำเนินคดีในเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส เธอต่อสู้ผ่านกระบวนการจนลูกเธอได้รับอิสรภาพ และกลายเป็นแกนให้แก่ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกร้องความเป็นธรรม จนได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการปกป้องสิทธิของตนเอง เนื่องในวันสตรีสากล ประจำปี 2555 เธอบอกเล่าความรู้สึกว่า
“เราไม่มีความรู้อะไร แต่เรารู้สึกว่าพระเจ้าให้เราทำงาน เราก็ไม่คิดว่าจะทำงานได้สำเร็จทุกอย่าง แต่เมื่อเราอดทนและขอคำปรึกษาก็ทำให้เราสามารถทำได้”
เป็นเวลาสามสี่ปีแล้วที่แยนะต้องคอยรับโทรศัพท์จากชาวบ้านในพื้นที่ที่โทรมาขอความช่วยเหลือให้ประสานกับเจ้าหน้าที่ เรียกว่าทุกวันนี้เธอสามารถต่อสายถึงแม่ทัพภาค 4 และเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้โดยตรง
ข้อมูลจาก โซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาชน สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า มีผู้ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประมาณ 4,000 หมาย และถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกกว่า 4,000 หมาย รวมเป็นคดีความมั่นคงกว่า 8,000 คดี
การถูกดำเนินคดีของฝ่ายชาย ไม่ว่าสุดท้ายแล้วผลของคดีจะเป็นอย่างไร ต้องถือว่าผู้หญิงและเด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบ โซรยาเห็นว่าภาครัฐจะทอดทิ้งละเลยคนกลุ่มนี้ไม่ได้ ซีตีนอร์ เจ๊ะเล๊าะ เป็นแม่ของลูกๆ 5 คน สามีของเธอถูกดำเนินคดีความมั่นคง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ประหารชีวิต ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์
“แต่ก่อนสามีไปทำงาน เราตามไปช่วย เดี๋ยวนี้เช้าเราต้องไปทำงานเอง กรีดยาง รับจ้างทั่วไป เย็บเสื้อผ้า เย็นก็มาดูแลลูก ช่วงลูกๆ สามสี่ขวบไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะช่วงนั้นเด็กฟังแม่ แต่ตอนนี้สิบเอ็ดสิบสองขวบ วัยรุ่นแล้ว ไม่ค่อยฟังแล้ว พูดแรงๆ เขาก็น้อยใจ พูดอ้อมค้อม เขาฟังแต่ไม่รู้ว่าจะเชื่อหรือเปล่า ไม่รู้จะทำยังไงก็ละหมาดขอพร”
เมื่อถามว่ากลัวเหตุร้ายจะเกิดขึ้นกับตนเองหรือไม่ ซีตีนอร์ กล่าวว่า “ทุกวันนี้ เอาความกลัวไว้ข้างหลัง เอาความกล้าไว้ข้างหน้า”
ยาเสพติดระบาดหนักถึงเด็ก 6 ขวบ
ไม่ใช่เพียงปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ยาเสพติดยังเป็นปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่และกำลังระบาดอย่างหนัก
รอฟีอะห์ สาแม ชาวบ้านอีกคน กล่าวว่า ขณะนี้ยาเสพติดระบาดหนักมากในชุมชน เยาวชน 4 คน ติดยาเสพติด 1 คน ยาเสพติดอันดับ 1 คือ ใบกระท่อม แม้แต่ยาไอซ์ก็ปรากฏในพื้นที่แล้ว
“เรารอผู้ชายมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่มี เราเป็นแม่ ไม่อยากให้ลูกต้องติดยา ก็ประชุมกันว่าจะทำอย่างไร เราตั้งกลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งให้รู้จักผลเสียของยาเสพติด เราคิดว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีได้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่รู้ไปติดตอนไหน”
รอฟีอะห์เล่าว่า ยาเสพติดนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ผู้ชายที่ติดยามักจะนำเงินที่หาได้หมดไปกับยา เมื่อต้องการเงินก็จะใช้วิธีโกหก หากฝ่ายหญิงไม่เชื่อการทุบตีก็เป็นหนทางที่ฝ่ายชายเลือก นอกจากนี้ยังนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ โดยเฉพาะการลักเล็กขโมยน้อย ขณะที่เด็กๆ ที่ติดยาจะมีพฤติกรรมไม่ไปโรงเรียนและใช้เวลามั่วสุมเสพยา จากปากคำของนฤมล สาและ จากชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานี ระบุว่า แม้แต่เด็ก 6 ขวบก็ยังกลายเป็นเหยื่อยาเสพติดแล้ว
ชี้ปัญหาใหญ่คือปากท้อง-ยาเสพติด
เมื่อดูสถิติจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดช่วงปี 2547–2553 ของแต่ละจังหวัด พบว่าจำนวนคดีเพิ่มขึ้นถึง 3–6 เท่า และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปี 2549–2553 โดยเฉพาะในจังหวัดยะลา คดียาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 739 คดีในปี 2549 เป็น 1,557 คดีในปี 2553 จังหวัดปัตตานีจำนวนคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นจาก 699 คดีในปี 2549 เป็น 1,595 คดี ในปี 2553 จังหวัดนราธิวาสจำนวนคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นจาก 1,152 คดี เป็น 1,595 คดี และจังหวัดสงขลาจำนวนคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นจาก 1,909 เป็น 2,515 คดีในช่วงเดียวกัน ประเภทยาเสพติดที่แพร่ระบาดในพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่ กระท่อม กัญชาสด กัญชาแห้ง และยาบ้า ตามลำดับ
โซรยา กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบข้อมูลน่าสนใจว่า ปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สนใจที่สุดเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ แต่คือปัญหาปากท้อง และตามด้วยปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรงยังตามหลังปัญหายาเสพติดด้วยซ้ำ
ประมงพื้นบ้านถูกทำลาย บีบผู้ชายออกจากพื้นที่
เดิมทีปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลในอ่าวปัตตานี ระหว่างชาวประมงพื้นบ้านกับเรือประมงพาณิชย์ แต่เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นเหตุการณ์ในอ่าวปัตตานีก็ถูกกลบฝังลงไปใต้เสียงปืน
นฤมลเล่าว่า ทรัพยากรชายฝั่งที่ชาวบ้านเคยใช้หาอยู่หากินลดน้อยลงมากจากเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ผลจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ การให้สัมปทานจับหอยแครง การใช้เรืออวนลาก อวนรุน ส่งผลให้ทรัพยากรที่เคยอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เธอยังอธิบายให้เห็นความซับซ้อนและคาบเกี่ยวที่ส่งผลต่อกันระหว่างปัญหาความไม่สงบและการแย่งชิงทรัพยากรว่า
“เมื่อไม่มีปลา ผู้ชายก็ต้องออกไปทำงานต่างถิ่นในมาเลเซีย ครอบครัวขาดความอบอุ่น บางทีผู้หญิงต้องตามไปด้วย เพราะไปคนเดียวไม่พอใช้ เด็กก็อยู่กับย่ายาย ทำให้ขาดการศึกษา เพราะคนแก่ตามไม่ทัน สมัยก่อนทรัพยากรเยอะไม่เป็นแบบนี้ เดี๋ยวนี้จะไปตัดยางก็ต้องคอยระวัง คนที่ไปมาเลย์ก็ถูกจับตาว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการหรือเปล่า มีอยู่กรณีหนึ่งไปมาเลเซียสี่ห้าปีก็ยังไม่ได้กลับ เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วม ทำให้ผู้หญิงต้องแบกภาระทั้งการศึกษาลูก ผู้ชายออกไปทำงานอะไรไม่ได้เลย กลัวทั้งเหตุการณ์ กลัวทั้งจะถูกกล่าวหา”
ปัจจุบัน การแย่งชิงทรัพยากรในอ่าวปัตตานียังคงเรื้อรังและไม่ได้รับความสนใจ เพราะทุกฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปที่เหตุการณ์ความไม่สงบ ขณะที่ผู้ชายเองไม่กล้าเคลื่อนไหวหรือแสดงตนเป็นตัวตั้งตัวตี เนื่องจากเกรงจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเคยภาระเหล่านี้จึงตกแก่ผู้หญิงในพื้นที่อย่างนฤมล
นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการบอกเล่าความเป็นอยู่และเป็นไปที่สังคมภายนอกไม่เคยรับรู้ นอกจากข่าวคราวเสียงระเบิด ควันปืน และความตาย แน่นอนว่าพวกเธอต้องการความช่วยเหลือ แต่อีกด้านหนึ่ง พวกเธอต้องการให้สังคมตระหนักว่า มิใช่เพียงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ หากยังมีปัญหาทับซ้อนอีกมากที่กดทับหมักหมม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในระยะยาวทั้งสิ้น ถ้าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมองปัญหาแบบแยกส่วน
เหนืออื่นใด พวกเธอกำลังป่าวประกาศว่า ในวันที่ผู้ชายไม่สามารถขยับตัวได้ พวกเธอก็เข้มแข็งและพร้อมจะลุกขึ้นเพื่อดูแลบ้านของตนเอง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ