‘ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์’ชี้20ปีพฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยขยับ-ปัญหายังวนกับบุคคล จะมีรธน.ใหม่ต้องไปแก้ปัญหาที่มีก่อนปี49

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 15 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3779 ครั้ง

 

จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หมุดหมายสำคัญทางการเมืองไทยที่อาจเรียกได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยจากเผด็จการทหารเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เกือบ 20 ปีต่อมาสังคมไทยเผชิญความรุนแรงทางการเมืองอีกครั้งในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยธงของการชุมนุมคือเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ 20 ปีก่อน เขาคือหนึ่งในนักศึกษาและนักกิจกรรม ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ศูนย์ข่าว TCIJ ขอให้วิเคราะห์เส้นทางประชาธิปไตยไทยจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถึงเหตุการณ์ในยุคของเขา จนถึงปรากฏการณ์เหลือง-แดง ที่สร้างความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

จากสายตาของศิโรตม์ ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยทุกครั้ง เกิดจากรัฐที่ผูกขาดอำนาจมากเกินไป และก็ดูจะเป็นเช่นนั้นมาทุกยุคทุกสมัย อย่างไรก็ตาม แม้การพยายามหาสูตรแบ่งปันอำนาจทางการเมืองแต่ละครั้ง จะตามมาด้วยการก่อรัฐประหาร แต่เขาคิดว่าประชาธิปไตยไทยก้าวหน้ามาเป็นระยะๆ เพียงแต่ ณ ปัจจุบัน โจทย์ที่ขบวนการเสื้อสีแต่ละสีกำลังเรียกร้อง อาจยังไม่ใช่โจทย์ที่จะนำไปสู่คำตอบการปฏิรูปสังคมดังที่หวัง

 

ร่วมตรวจสอบเส้นทางประชาธิปไตยไทยในวาระครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สังคมไทยได้อะไรมา และเสียอะไรไป

 

มรดก 14 ตุลา 16 ถึงพฤษภา 35

 

การจะกล่าวถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยไม่ตรวจทานมรดกจาก 14 ตุลาคม 2516 เลยนั้น ก็ดูกระไรอยู่ เนื่องจากทั้งสองเหตุการณ์มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ส่งผลต่อเนื่องกันไม่มากก็น้อย ซึ่งศิโรตม์มองว่า มรดก 14 ตุลาคม 2516 ที่ส่งทอดมายังคนรุ่นพฤษภาคม 2535 มี 2 ระดับ คือระดับตัวบุคคลที่สนใจการเมือง กับระดับสังคมไทย ในระดับแรก ศิโรตม์แบ่งออกเป็น 2 เรื่อง หนึ่ง เกี่ยวพันกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์ และสอง เป็นเรื่องขบวนการมวลชนที่มีการจัดตั้ง

 

                    “นี่คือวิธีคิดแบบ 14 ตุลาคม ซึ่งผมคิดว่ามีผลต่อคนที่สนใจการเมืองค่อนข้างมากว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่แค่การแสดงความเห็นเฉยๆ แต่หมายถึงการต่อสู้ของกลุ่มมวลชนที่มีการจัดตั้งชัดเจน เรื่องที่ 3 คือการเมืองมันเกี่ยวพันกับการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งก็คือมรดก 14 ตุลาคมเหมือนกัน”

 

ศิโรตม์อธิบายว่า ระยะแรกของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประเด็นการต่อสู้คือการไม่เอา 3 ผู้นำเผด็จการในขณะนั้น แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งพบว่า การเปลี่ยนแค่ผู้นำ ไม่เพียงพอ ไม่คุ้มค่าต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น จึงนำไปสู่การเรียกร้องกฎหมายแรงงาน กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น เหล่านี้คือมรดก 14 ตุลาคม 2516 ในมุมมองของศิโรตม์ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องเกี่ยวโยงกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและสังคม ส่วนนี้เป็นระดับของคนที่สนใจการเมือง

 

สำหรับผลต่อสังคมในด้านกว้างทั่วไป ไม่ใช่มรดกที่ส่งผลต่อคนอื่นๆ ศิโรตม์คิดว่ามีเพียงไม่กี่เรื่อง เช่น ผู้นำควรจะมีความซื่อสัตย์สุจริต ผู้นำควรใช้อำนาจแบบที่ไม่เป็นเผด็จการมากเกินไป เป็นต้น

 

                        “ผมคิดว่ามรดก 14 ตุลาคมมาถึงรุ่นผม รุ่นปี 2535 ไม่ได้มีอะไรมากสำหรับคนในสังคมทั่วไป คนจะจำได้คือ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร เป็นทรราช เสกสรรค์เป็นผู้นำนักศึกษา จำเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่า 14 ตุลาคม 2516 ไม่ใช่เหตุการณ์ที่สลักสำคัญสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้าถามว่าเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่สนใจการเมืองหรือไม่ ก็เป็น เพราะมันเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ใหญ่ และใกล้ตัวพวกเราที่สุดในเวลานั้น แต่ถ้าสำหรับคนทั่วไป ผมคิดว่ามันไม่ได้มีความหมายอะไร ปกติเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ จะมีพลังต่อคนในสังคมอย่างมากก็ 5 ปี เต็มที่ก็ 10 ปี แล้วคนก็เลิกสนใจ”

 

รัฐผูกขาดอำนาจ ต้นตอการเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

แน่นอนว่า การต่อสู้ของประชาชนในแต่ละยุคสมัย ย่อมมีมุมมองต่อประชาธิปไตยแตกต่างกันไป เช่น ในยุค 14 ตุลาคม 2516 เป้าหมายหลักคือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พฤษภาคม 2535 ต้องการให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ครั้นถึงเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ประเด็นไพร่-อำมาตย์ถูกชูขึ้นเป็นหัวข้อหลักการต่อสู้

 

                    “ตรงนี้เป็นเรื่องของหลักการที่ต้องชู แต่ในความเป็นจริงคือ องค์ประกอบที่ทำให้ขบวนการเติบโต ในหลายกรณีสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องหลักการแบบนี้ เช่น 14 ตุลาคม 2516 เรื่องที่ทำให้คนไม่พอใจคือ ไม่ชอบพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร สมัยปี 2535 คนไม่พอใจที่พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ไม่ใช่หลักการเรื่องนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะหลังปี 2535 นายกฯ คือคุณอานันท์ ปันยารชุน ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พฤษภาคม 2553 ก็เหมือนกัน พูดเรื่องไพร่-อำมาตย์ แต่ตอนจบก็ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้อีก ประเด็นของสังคมกลายเป็นเรื่องการปรองดองกันไปหมด เพราะฉะนั้นองค์ประกอบด้านอุดมการณ์ ในการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ มันมีอยู่แน่ แต่มีอยู่ในฐานะเป็นวาทกรรม หรือเครื่องมือให้ความชอบธรรมต่อการเคลื่อนไหวมากกว่า”

 

ศิโรตม์เห็นว่า เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ มีจุดร่วมกันบางประการคือ เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ซึ่งกลุ่มคนที่ว่านี้จะเรียกขานว่าอะไร ขึ้นกับยุคสมัย เช่น หลังจากยุค 14 ตุลาคม 2516 เรียกว่าความขัดแย้งทางชนชั้น ยุคพฤษภาคม 2535 เรียกว่าประชาสังคม พอพฤษภาคม 2553 ใช้คำว่าไพร่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนสาระเดียวกันคือความขัดแย้งระหว่างรัฐ กับกลุ่มคนที่ขณะนั้นไม่ได้มีอำนาจรัฐในมือ  บางกรณีเป็นคนกลุ่มที่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ บางกรณีเป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐเลย ส่วนรัฐนั้นเป็นได้ทั้งรัฐบาลหรือกลไกรัฐบางส่วนก็ได้เช่นกัน

 

ถามว่าเป็นความขัดแย้งในเรื่องใด ศิโรตม์ชี้ว่า มันคือความต้องการของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่ต้องการไม่ให้รัฐผูกขาดอำนาจเอาไว้ฝ่ายเดียว และเช่นกัน ตัวละครฝ่ายรัฐก็เปลี่ยนไปตามเวลา ยุคหนึ่งเป็นผู้นำเผด็จการเต็มรูปแบบ อีกยุคไม่ใช่ผู้นำเผด็จการเต็มรูปแบบ แต่เป็นผู้นำทหารที่ได้รับการรับรองจากพรรคการเมือง เป็นต้น

 

แต่ละช่วงเหตุการณ์มีสูตรการเมืองคนละแบบ

 

ในฐานะของผู้อยู่ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ศิโรตม์เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น คือความต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภายหลังการล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเหตุให้นักศึกษาจำนวนมากหลบหนีเข้าป่า เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนเขตอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ขณะที่ชนชั้นกลาง และคนกลุ่มต่างๆ ก็รับไม่ได้กับการใช้อำนาจรัฐแบบเผด็จการที่รุนแรงเกินไป สังคมไทยจึงพยายามค้นหาสูตรทางการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับได้มากที่สุด

                      “หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 สูตรแรกที่ใช้กันคือเอาอดีตผู้พิพากษาอย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกฯ  ซึ่งภายหลังได้เป็นองคมนตรี ปรากฏว่าสูตรนี้ใช้ไม่ได้ผล คุณธานินทร์มีคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทะเลาะกับคนไปทั่ว คนก็รับไม่ได้ สูตรที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือสูตรประชาธิปไตยครึ่งใบ สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐมนตรีได้ มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ประชาชนสามารถรวมกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องต่างๆ ได้ แต่ทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งก็คือพล.อ.เปรม”

 

ปรากฏว่าเป็นสูตรที่นักการเมืองพอใจ ชนชั้นกลางพอใจ กลุ่มต่างๆ ในประชาสังคมก็พอใจ เพราะรู้สึกว่ามีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับ 6 ตุลาคม 2519 ชนชั้นนำแบบจารีตประเพณีก็พอใจ เพราะแรงกดดันระหว่างฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐลดลง  เพราะรู้สึกว่ามีช่องทางการต่อสู้ผ่านระบบมากขึ้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็เติบโตในอัตราเร่งที่ลดลง และในที่สุดก็นำไปสู่การที่นักศึกษาออกจากป่า จากนโยบาย 66/2523 นี่ยังไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศ และในภูมิภาคที่ไม่เอื้อให้พรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้ต่อไป

 

ประชาธิปไตยครึ่งใบนี้เป็นรูปเป็นร่างได้ โดยผ่านรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง และประธานรัฐสภามาจากประธานวุฒิสภา ก หมายความว่า คนทูลเกล้าถวายชื่อนายกฯ และลงนามรับสนองต่างๆ คือประธานวุฒิสภา ที่ต้องสนใจคือวุฒิสมาชิกมีจำนวน 3 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในความเป็นจริงแล้ววุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ มาจากการแต่งตั้งของกองทัพ ฝ่ายที่ทุกวันนี้เรียกว่าเสนาอำมาตย์ จึงคุมอำนาจที่เป็นทางการด้านบริหาร และมีอำนาจไม่เป็นทางการเหนือรัฐสภา นี่คือสาเหตุที่ทำให้การเมืองแบบนี้คงอยู่ได้นาน

 

                    “สูตรการเมืองแบบนี้ทำงานได้ก็ในเงื่อนไขสามข้อ ข้อแรกคือไม่มีชนชั้นนำกลุ่มไหน อยากมีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบสมัยธานินทร์อีก ถ้ามีกลุ่มชนชั้นนำเดิม กลุ่มอนุรักษ์นิยม กลุ่มกองทัพ อยากกลับไปสู่รูปแบบที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีการเลือกตั้ง  สูตรนี้ก็จะไม่เวิร์คเลย ข้อสองคือต้องไม่มีกลุ่มธุรกิจ หรือชนชั้นกลางรู้สึกว่า อยากจะเข้ามาควบคุมอำนาจการเมืองด้วยตัวเองทั้งหมด ไม่ให้ทหารมายุ่งเกี่ยวอีกแล้ว ส่วนข้อสามคือมีมวลชนซึ่งมีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพอย่างถึงรากถึงโคน ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง”

 

ปัจจัย เงื่อนไข ความต้องการ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา

 

คำอธิบายของศิโรตม์ชี้ให้เห็นว่า หลังจากใช้รัฐธรรมนูญปี 2521 ไประยะหนึ่ง สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มนำไปสู่สูตรที่ 2 กล่าวคือในช่วงแรกๆ ที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองหรือ ส.ส. ก็ยอมอยู่ใต้อำนาจทหารแต่โดยดี แต่โดยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คนมีการศึกษามากขึ้น อำนาจทางเศรษฐกิจทำให้นักการเมือง หรือกลุ่มทุนท้องถิ่น มีอำนาจมากขึ้น กระทั่งสามารถต่อรองกับทหาร และระบบราชการได้มากขึ้น คนกลุ่มนี้ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเป็นเบี้ยล่างฝ่ายทหารต่อไป

 

                      “ลองนึกถึงคนอย่าง บรรหาร ศิลปะอาชา ซึ่งคุม ส.ส.ในภาคกลางได้ทั้งหมด หรือ มนตรี พงษ์พานิช ซึ่งคุม ส.ส. อีสานไว้จำนวนมาก คุณเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ มีอิทธิพลเหนือส.ส.หลายคนอยู่ไม่น้อย ทำไมคนเหล่านี้ต้องอยู่ใต้พล.อ.เปรมต่อไปอย่างไม่มีเงื่อนไข สูตรการเมืองนี้เริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนักการเมืองตระหนักว่า ในเมื่อมีทั้งส.ส.มีทรัพยากรท้องถิ่น คุมการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ ทำไมต้องมอบอำนาจให้ทหารไปไม่รู้จบ”

สูตรประชาธิปไตยครึ่งใบที่เริ่มจะไม่ทำงานนี้ ทำให้มีพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศในการเลือกตั้งปี 2531 ว่า ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ความหมายคือใครก็ได้ที่ไม่ใช่พล.อ.เปรม กระแสทางการเมืองนี้ปลุกขึ้น มีการปราศรัยของพรรคการเมือง มีการรณรงค์ของนักศึกษาและสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง ผลก็คือพรรคฝ่ายที่ชูประเด็นนี้ชนะ พรรคชาติไทยได้ส.ส. เป็นอันดับ 1 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แทนพล.อ.เปรมที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

 

หลังจากมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เกิดการผลักดันให้มีการแก้ รัฐธรรมนูญปี 2521โดยบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ขณะเดียวกันมีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก ฝั่งที่ไม่ได้มาจากทหารมากขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่นักการเมืองอยู่ใต้อิทธิพลทหารจึงถูกสั่นคลอน

 

                    “พอพล.อ.ชาติชายเป็นนายกฯ อยู่ในตำแหน่งสักพัก ก็เริ่มถูกต่อต้านด้วยวิธีต่างๆ เช่น การกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่น การเกี่ยวพันกับการลอบสังหารบุคคลสำคัญ ยุคพลเอกชาติชายจึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยครึ่งใบไปสู่ข้อตกลงการเมืองแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการทางการเมืองของกลุ่มทุนท้องถิ่น และธุรกิจระดับชาติให้มากขึ้น ซึ่งในที่สุดฝ่ายทหารและฝ่ายราชการ ก็รับการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ เกิดการยกระดับการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับกองทัพขึ้นตามลำดับ มีการใช้วิทยุโทรทัศน์ของกองทัพปั่นกระแสคอร์รัปชั่น มีการใช้วุฒิสมาชิกสายทหารคว่ำกฎหมายของรัฐบาล และในที่สุดก็เกิดรัฐประหาร 2534 ขึ้นมา”

 

เมื่อทุกกลุ่มในสังคมมองกองทัพเป็นศัตรู

 

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในช่วงแรกถูกอธิบายว่า เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาของการอธิบายแบบนี้ คือทำราวกับว่า พฤษภาคม 2535 มีฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย กุมสภาพความเปลี่ยนแปลงไว้ทั้งหมด แต่จริงๆ ในเวลานั้นมี 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กลุ่มแรกคือฝ่ายเสรีนิยม ที่ต้องการนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ตัวแทนของคนกลุ่มนี้คือพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ หรือคนอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน

 

ถามว่าคุณอานันท์สนใจเรื่องประชาธิปไตยหรือไม่ ก็คงสนใจ แต่อย่าลืมว่าหลังเหตุการณ์ คุณอานันท์ก็เป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร 2534 สิ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้รับไม่ได้กับการที่พล.อ.สุจินดาเป็นนายกฯ ก็คือ ความรู้สึกว่ารัฐประหาร 2534 เกิดขึ้นเพื่อระงับรัฐบาลที่คอร์รัปชั่น มันจึงเป็นเหมือนโปรเจคที่จบแล้วต้องจบเลย แต่พล.อ.สุจินดาจะขยายโปรเจคต่อ คนที่อยู่ในภาคเอกชนจำนวนหนึ่งจึงรับไม่ได้

 

กลุ่มที่ 2 ที่สำคัญมากและอาจสำคัญที่สุดก็ได้คือ พลังฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งไม่ได้สนใจว่านายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ชอบพล.อ.สุจินดาเพราะเป็นคนไม่ดี “เสียสัตย์” บอกว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ แต่ก็รับ ตัวแทนของคนกลุ่มนี้คือคุณจำลอง ศรีเมือง ซึ่งเวลานั้นคือหัวหน้าพรรคพลังธรรม ซึ่งได้คะแนนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทบทั้งหมดในกรุงเทพฯ ตอนนั้น จำลองไม่เคยพูดเรื่องนี้ แต่เน้นประเด็นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นพิเศษ อย่างน้อยก็ไม่เท่ากับการโจมตีประเด็นความไม่ซื่อสัตย์ ไร้คุณธรรม

กลุ่มที่ 3 คือพลังของฝ่ายประชาธิปไตย ของฝ่ายหัวก้าวหน้า ของพวกอดีตฝ่ายซ้าย องค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงาน ของเครือข่ายเหล่านี้ที่พยายามชูหลักการเรื่องนายกต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดอำนาจกองทัพ ปฏิรูปสื่อ สร้างประชาธิปไตยจากท้องถิ่น ฯลฯ กลุ่มนี้มีปริมาณไม่มาก แต่มีบทบาทสำคัญในแง่ทำให้การขับไล่สุจินดายึดโยงกับหลักการทางการเมืองบางอย่างเสมอ เช่น การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ

 

ถ้าถามว่าแล้วเหตุการณ์ปี 2535 พลังฝ่ายไหนสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คนจำนวนมากอยากจะตอบว่าประชาธิปไตยและหลักนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่คำตอบนี้อธิบายไม่ได้ว่า แล้วทำไมหลังการสลายการชุมนุม อานันท์ ปันยารชุน จึงเป็นนายกฯ คำตอบของศิโรตม์คือ

 

                    “สภาพในเวลานั้นไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจ และอิทธิพลเหนือสังคมทั้งหมดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ความร่วมมือของทุกฝ่ายในเวลานั้นเกิดขึ้น เพราะทุกฝ่ายมีศัตรูร่วมกันคือกองทัพ แต่ในความเป็นจริงแต่ละพลังมีความเข้มแข็งไม่เหมือนกัน ในบางช่วงพลังประชาธิปไตยเข้มแข็งมาก คำอธิบายก็จะบอกว่าต้องการให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ถ้าพลังอนุรักษ์นิยมแข็งแรงกว่า คำอธิบายก็จะเป็นความไม่มีศีลธรรมของพล.อ.สุจินดา”

 

 

กองทัพมีเอกภาพสูงทุกฝ่ายไม่ปลื้ม

 

 

เมื่อถามว่า เพราะอะไรกองทัพจึงกลายเป็นศัตรูร่วมของพลังทั้ง 3 ฝ่าย ศิโรตม์อธิบายว่า กองทัพไทยมีแนวโน้มจะไม่เป็นเอกภาพอยู่แล้ว มีร่องรอยของความแตกแยกให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์อย่าง 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นหลักฐานของความแตกแยกนี้ ยิ่งในช่วงพล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ความแตกแยกยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะพล.อ.เปรมอยู่ในอำนาจด้วยฐานจากกองทัพ และการจะคุมกองทัพได้ จำเป็นต้องคุมระบบรุ่นระบบเหล่า กลุ่มที่ไม่อยู่ในรุ่นหรือเครือข่ายของพล.อ.เปรมย่อมมีอำนาจน้อยตามไปด้วย ความคับข้องใจระหว่างกลุ่มในกองทัพจึงมีสูง ซึ่งจะเห็นได้ว่า สมัยที่พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี มีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ถูกลอบทำร้าย รวมทั้งมีการจัดตั้งมวลชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน

 

ในสมัยของพล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นผู้บัญชาการทหารบก และผู้นำการรัฐประหารปี 2534 เป็นยุคที่กองทัพมีความเป็นเอกภาพสูง เพราะพล.อ.สุจินดาคุมอำนาจกองทัพ ให้อยู่ที่รุ่นของตัวเองคือ จปร.5 ได้ทั้งหมด ผู้บัญชาการทั้ง 3 เหล่าทัพ มาจากรุ่นเดียวกัน ตัวพล.อ.สุจินดาก็เป็นน้องเขยของพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งต่อมาก็เป็นรมว.มหาดไทย ความรู้สึกว่ากองทัพมีอำนาจเบ็ดเสร็จก็เริ่มเกิดขึ้นมา

 

ศิโรตม์มองว่า “สังคมไทยไม่เคยเจอสถานการณ์เผด็จอำนาจแบบนี้มานาน ทำให้คนทุกกลุ่มกลัวความเป็นเอกภาพของกองทัพ นำไปสู่ความรู้สึกว่าการเมืองไม่มั่นคง เพราะทุกคนไม่รู้ว่ากองทัพจะทำอะไรต่อไป”

ศิโรตม์ระบุว่า การรัฐประหารทำให้เกิดการรื้อฟื้นการใช้กลไกราชการเป็นเครื่องมือในการปกครอง พล.อ.สุจินดาทำเหมือนกับที่พล.อ.เปรมเคยทำ แต่พล.อ.เปรมทำได้เพราะสถานการณ์เป็นอีกแบบหนึ่ง ผลที่พล.อ.สุจินดาได้รับจึงเปลี่ยนไป กลไกราชการถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างมาก ในช่วงหลังปี 2534 มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ยกเลิกสหภาพแรงงาน การใช้กองทัพเข้าไปไล่คนจนจากพื้นที่ต่างๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับกลุ่มมวลชนที่มีการรวมกลุ่มมานานเช่น ชาวนา รัฐวิสาหกิจ คนสลัม กรรมกรโรงงานเอกชน

 

                          “ถ้าเข้าใจสภาพตอนนั้นก็จะเข้าใจว่า ทำไมฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ไม่ชอบสภาพแบบนี้ เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิดว่ากองทัพที่มีความเข้มแข็งมากเกินไป ก็เป็นอันตรายต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายเสรีนิยมก็กลัวว่า กองทัพที่มีอำนาจเข้มแข็งมากเกินไปจะบริหารประเทศผิดๆ  ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือการปกครองโดยรัฐราชการแน่นอน”

 

 

รัฐธรรมนูญ 40 การเมืองสูตรใหม่

 

 

หลังปี 2535 โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ทหารกลับมามีอำนาจทางการเมือง สิ่งที่เป็นคุณูปการของเหตุการณ์ปี 2535 มีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการกันทหารออกไปจากการเมือง และสองคือทำให้อำนาจทางการเมือง ที่เป็นทางการมาจากฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง แต่เมื่อกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและกลุ่มทุนระดับชาติ มีอำนาจการเมืองโดยตรง ผ่านการเลือกตั้งโดยไม่มีทหารเข้ามาแย่งส่วนแบ่งอีก คนเหล่านี้กลับไม่สามารถปฏิรูปรัฐสภา ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

                      “พรรคการเมืองหรือ ส.ส. ในสภาไม่เข้าใจว่า ตัวเองอยู่ในจังหวะทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนไม่ได้ขับไล่พล.อ.สุจินดาเพื่อให้คุณบรรหาร พล.อ.ชวลิต หรือคุณชวน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่สังคมมีความคาดหวังที่สูงกว่านั้น เช่น รัฐสภาจะแก้ปัญหาความยากจนอย่างไร จะแก้ปัญหาการไม่มีสวัสดิการในชีวิตประจำวันอย่างไร แต่รัฐสภาไม่ได้มีการปฏิรูปตัวเองมากพอ ผลก็คือความรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงระบบอีกครั้ง โจทย์ใหม่ของการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เกิดขึ้นมา”

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับสูตรของปี 2535 ต่อไป คือทหารอย่ายุ่งการเมือง อำนาจสูงสุดต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ส่วนผสมใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในปี 2540 คือการทำให้ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการตรวจสอบ การมีส่วนร่วม และความเปิดกว้าง เราจึงเห็นองค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรชุมชนต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

เมื่อถามว่า มรดกของพฤษภาคม 2535 ประการหนึ่งคือ ทำให้ทหารไม่ยุ่งกับการเมือง แล้วเกิดรัฐประหารปี 2549 ได้อย่างไร ศิโรตม์ตอบว่า รัฐประหารปี 2549 เป็นรัฐประหารที่แตกต่างจากรัฐประหาร 2519 หรือ 2535 เพราะเป็นรัฐประหารที่มีการอ้างสถาบันสูงมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีเว็บไซต์ มีบทความ หรือการปราศรัยฝ่าย ที่แสดงความเชื่อว่าสถาบันเกี่ยวข้อง มีความเห็นทางการเมืองที่พาดพิงไปมาเกี่ยวกับเรื่องนี้เต็มไปหมด ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มี แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือรัฐประหารครั้งนี้ ดึงสถาบันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง

 

                   “ความเปลี่ยนแปลงนี้สำคัญอย่างไร มันสำคัญเพราะแสดงให้เห็นว่า ทหารไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยตัวเองได้อีก การรัฐประหารต้องอ้างอิงถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ทหาร ปรากฎการณ์นี้เป็นสิ่งใหม่ที่จะไม่เกิด ถ้าไม่มีพฤษภาคม 2535”

 

เมื่อให้มองถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ในช่วงหลังปี 2535 ศิโรตม์กล่าวว่า บทบาทที่คนจำนวนมากคาดหวังจากสถาบันคือ บทบาทในการยุติความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เพื่อไม่ให้สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงในลักษณะ Radical ไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป เช่น ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สถาบันไม่ได้แสดงท่าทีตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการปะทะจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่เริ่มมีท่าทีชัดเจนเมื่อรัฐบาลมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น จนถึงจุดที่สังคมไทยมีโอกาสเป็นอำนาจนิยมแบบเต็มรูปแบบ หรือไม่อย่างนั้นก็คือเป็นอนาธิปไตยไปเลย นั่นคือเหตุการณ์ที่พล.อ.สุจินดาจะอยู่ในอำนาจต่อได้ โดยใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการปกครองเท่านั้น อย่างนี้สถาบันจะเข้ามาแทรกแซง

 

สถานการณ์ก่อนและหลังรัฐประหารปี 2549 ทำให้สถาบันแสดงบทบาทนี้อีกได้ไม่ง่าย เพราะฝ่ายรัฐประหารอ้างสถาบันมาก ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารถูกผลักให้เป็นฝ่ายต้านสถาบัน มิหนำซ้ำยังมีองค์กรการเมืองและสื่อมวลชน ที่ปลุกระดมให้เกิดกระแสคลั่งเจ้าอย่างรุนแรง ความขัดแย้งจึงลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนมากขึ้นไปอีก ในที่สุดอีกฝ่ายที่ถูกโจมตีว่า เป็นฝ่ายต่อต้านก็มองผสมปนเปกันไปหมดระหว่างสถาบัน ฝ่ายอ้างสถาบัน หรือมวลชนที่ถูกปลุกปั่นในรอบหลายปี โอกาสที่เสียไปแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมควรคิดเรื่องนี้ได้เสียที  

 

 

นายทุนกุมอำนาจ-ทำลายขั้วเดิม หนทางสู่รัฐประหารปี 49

 

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เหตุใดสมการการเมืองที่ใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงไม่ประสบความสำเร็จ ศิโรตม์กล่าวว่า เพราะรัฐธรรมนูญในบริบทใหม่ ทำให้เกิดสถานการณ์ทำให้เกิดแนวโน้มข้อสอง นั่นคือกลุ่มทุนหรือกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่เติบโตกับธุรกิจใหม่ๆ อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถผูกขาดอำนาจการเมืองไว้ที่ตัวเองได้ทั้งหมด ความเติบโตของพรรคไทยรักไทยทั้งจากการเลือกตั้งและการกวาดต้อนพรรคอื่นมาอยู่ในสังกัดก็ดี บุคลิกของพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ดี สองอย่างนี้ผลักแนวโน้มข้อสองให้วิ่งเร็วขึ้นไปอีก

                  “คุณทักษิณคล้ายพล.อ.ชาติชายในแง่เป็นผู้นำทางการเมือง ที่มีฐานอำนาจทางธุรกิจสนับสนุน แต่คุณทักษิณมีพลังทางธุรกิจที่เข้มแข็งกว่า เป็นส่วนหนึ่งของโลกสมัยใหม่กว่า แล้วก็ใช้คนหน้าใหม่เข้ามาทำงานการเมืองมากกว่า จึงง่ายที่จะก่อให้เกิดความคิดในอีกกลุ่มว่า จะไปทำลายดีลที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันในรอบหลายปี”

 

ปัญหาที่ควรอภิปรายให้กว้างขวางคือ ควรมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลง ที่จะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยหรือไม่ ทิศทางที่ควรเปลี่ยนคืออะไร และจะเปลี่ยนอย่างไร ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจที่เป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ กับกลุ่มอำนาจเก่าที่เป็นชนชั้นปกครองมานานนั้น ใช้วิธีเจรจาต่อรองกันเป็นช่วงๆ แต่ทั้งคู่ไม่เคยเปลี่ยนตัวรัฐหรือโครงสร้างอำนาจพื้นฐานให้ตอบสนองคนส่วนใหญ่อย่างเด็ดขาด เมื่อชนชั้นนำทางเศรษฐกิจกุมรัฐได้ ก็มักใช้อำนาจรัฐคล้ายอำนาจเก่าในแง่การแย่งชิงทรัพยากร การควบคุมท้องถิ่น การทำให้ชนบทเป็นฐานของเมือง ฯลฯ ผลก็คือรัฐสภาและรัฐบาลในสถานการณ์หลังปี 2540 เปิดโอกาสให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมตอกย้ำว่า การมอบอำนาจสูงสุดไว้ที่ฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่ทางออกของสังคม

 

                       “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรไม่รู้ เถียงกันได้ แต่มีคนจำนวนไม่น้อยในเวลานั้นที่รู้สึกว่าอำนาจไปอยู่ที่นักการเมืองมากเกินไป ความคิดแบบนี้มีพลังในระยะเวลานั้น ซึ่งทำให้ง่ายที่จะนำไปสู่รัฐประหารปี 2549”

 

 

ถึงยุคมองการเมืองเป็นเรื่องบุคคล-ที่แท้แค่กระตุ้นมวลชน

 

 

เมื่อมีการแบ่งปันอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ไปแล้ว แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน ศิโรตม์บอกว่า สภาพของประชาชนขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงว่า มีการจัดตั้งมากหรือมีการใช้เครื่องมือในการแสดงพลังเรื่องต่างๆ มากแค่ไหน สองเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่แน่นอน พื้นฐานของสังคมไทยคือประชาชนแทบไม่มีการจัดตั้ง การพัฒนาเครื่องมือในการต่อสู้ หรือเพิ่มอำนาจการต่อรองจึงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยพื้นฐาน การที่ประชาชนจะได้อะไรจากระบบ ก็จะน้อยกว่าที่คนกลุ่มอื่นได้โดยเปรียบเทียบ นี่ไม่ใช่บอกว่าประชาชนไม่ได้อะไรจากการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ประชาชนได้แน่ แต่ได้ในอัตราที่น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นได้ในเวลาเดียวกัน

 

การรวมตัวของมวลชนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองด้วยหรือไม่ ศิโรตม์มองว่า มีเป็นบางด้านเท่านั้น เนื่องจากโจทย์ของขบวนการเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เป็นโจทย์ซึ่งผสมปนเปกันระหว่างความไม่พอใจตัวบุคคลกับความไม่พอใจระบบ ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มีความเชื่อเรื่องศีลธรรม เรื่องชาตินิยม เรื่องอำนาจเหนือการเลือกตั้ง ฯลฯ

“สถานการณ์ที่มีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ปี ทำให้คนคิดถึงปัญหาการเมืองเฉพาะหน้า มากกว่าการทำให้ประชาธิปไตยไปสู่มือของคนที่มีอำนาจน้อยในระยะยาว ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องของตัวบุคคล โจทย์ของแต่ละฝ่ายจึงอยู่ที่การมองหาบุคคลที่เป็นศัตรูของขบวนการทั้งหมด หน้าที่ของขบวนการคือกำจัดตัวบุคคลไปให้ได้ แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง ถ้าพูดแบบไม่ทะเลาะกับใคร ก็ถือเป็นโจทย์การเมืองแบบที่เน้นผลในเชิงปฏิบัติมากๆ ถ้าพูดแบบวิจารณ์คือเป็นการสร้างขบวนการแบบเอาง่ายเข้าว่า นั่นคือการบอกว่าปัญหาทุกอย่างจบแน่ถ้ากำจัดบุคคลที่เป็นศัตรูลงไป”

 

ศิโรตม์ย้ำว่า โจทย์แบบนี้ไม่ได้ตอบสิ่งที่เป็นปัญหาของสังคม เพราะความขัดแย้งในช่วงหลังจากปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ใช่ปัญหาเรื่องตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาของสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คนเกิดอุดมการณ์ความคิดแบบใหม่มากขึ้น ตัวบุคคลเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของมวลชน

 

                        “แต่โครงสร้างสังคมไม่เคยเปลี่ยน หนึ่งเพราะทุกคนที่ได้ประโยชน์ต่างรอจังหวะ ที่จะได้ไปอยู่ในส่วนยอดสุด  กลุ่มชนชั้นนำเก่า กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มทหาร กลุ่มนักการเมือง ต่างก็คิดแบบนี้ สองคือคนที่ไม่ได้ประโยชน์จากโครงสร้าง ก็ไม่มีความเข้มแข็งพอจะเปลี่ยนโครงสร้างได้ นี่เป็นปัญหาของคนด้อยโอกาส หรืออาจจะไม่ใช่คนด้อยโอกาส แต่เป็นคนที่มีแนวความคิดก้าวหน้า มีแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีทรัพยากรทางการเมืองเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำได้ของคนที่ต้องการเปลี่ยนระบบก็คือ มักจะจบลงด้วยการไปเลือกข้าง ข้างใดข้างหนึ่ง แล้วหวังว่าข้างที่เลือกจะเป็นข้างซึ่งเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นในบัดดล ส่วนใหญ่มักเลือกข้างผิดทุกที” ศิโรตม์กล่าว

 

 

ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ก่อนและหลังปี 2549

 

 

เมื่อถามถึงคนที่มาเลือกข้างเป็นเหลือง-แดง ศิโรตม์เริ่มอธิบายจากขบวนการเสื้อเหลือง ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เมื่อใดก็ตามที่คนมีการศึกษาและฐานะดี ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ ชนชั้นกลางน่าจะกลายเป็นหัวหอกของประชาธิปไตย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือภาวะที่เรียกว่า Conservative Turn ของชนชั้นกลางไทย หรือการกลับไปหาอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ซึ่งเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 2548 เป็นต้นมา

 

ทำไมชนชั้นกลางไทยจึงมีลักษณะอนุรักษ์นิยม ศิโรตม์กล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้ว ชนชั้นกลางไทยจำนวนมาก มีเชื้อสายจากการเป็นลูกจีนอพยพ หรือเป็นคนที่ถูกบอกว่าไม่ใช่คนไทย และมีปมเรื่องความไม่เป็นคนไทยของตนเองอยู่ตลอดเวลา ศิโรตม์บอกให้พิจารณาม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีการชูเรื่องลูกจีนรักชาติ ซึ่งเป็นการแสดงออกของปมนี้ว่า ไม่ใช่คนไทย แต่มีความเป็นไทยสูง การจะสร้างความเป็นไทยได้ ก็ต้องการกลับไปหาอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

                      “ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้เกิดรัฐประหารปี 2549 คือว่าปี 2535 ชนชั้นกลางมีบทบาทในการขับไล่พล.อ.สุจินดา แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ ที่จะผลักดันให้รัฐสภาตอบโจทย์ของคนส่วนใหญ่ ท้ายที่สุดกลายเป็นคนกลุ่มนี้เองที่ถอยห่างจากประชาธิปไตยไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม”

ศิโรตม์กล่าวว่า ด้านคนเสื้อแดง การเมืองหลังปี 2549 มีคำถามใหญ่ว่า ทำอย่างไรให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งเป็นอำนาจสูงสุด เมื่อตั้งคำถามแบบนี้ ก็ต้องนิยามต่อไปว่าอะไรที่เป็นอุปสรรคให้อำนาจทางการเมืองสูงสุดไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกต่อไป วาทกรรมในเรื่องไพร่-อำมาตย์จึงทำงานได้บนคำอธิบาย อำนาจจากการเลือกตั้งไม่ใช่อำนาจสูงสุดเพราะมีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง คำอธิบายว่าอะไรคืออำนาจที่แทรกแซง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของฝ่ายเสื้อแดงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ศิโรตม์กล่าวต่อว่า การอธิบายแบบนี้ผลักคนเสื้อแดงให้มีลักษณะ Radical หรือถึงรากถึงโคนมากขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงที่จริงจังกับประเด็นนี้มากๆ ก็จะอธิบายว่า ศาล องคมนตรี อำมาตย์ เป็นศัตรูของประชาธิปไตย คำอธิบายแบบนี้เข้าใจได้ในบรรยากาศหลังรัฐประหาร 2549 แต่ถ้าถามว่า เป็นคำอธิบายที่มากพอจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ายังเป็นคำตอบที่ไม่สมบูรณ์ เพราะวิธีคิดชุดนี้บอกว่า ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นสมบูรณ์ได้ ก็ต้องย้อนกลับไปสู่สภาพการเมืองแบบปี 2549 แต่สภาพก่อนปี 2549 ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ มีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ความคิดเรื่องประชาธิปไตยที่จำเป็นในยุคนี้ จะต้องแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และปัญหาแบบก่อนปี 2549 ให้ได้ เรื่องนี้เป็นช่องว่างทางความคิดที่สำคัญที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

 

ประชาธิปไตยก้าวหน้าแต่ยังไปไม่พ้นเรื่องอำนาจ

 

 

แม้ประชาธิปไตยไทยจะดูล้มลุกคลุกคลาน เกิดการรัฐประหารปี 2549 ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเชื่อกันว่าทหารจะไม่กลับมามีบทบาททางการเมืองอีก เกิดการเมืองสีเสื้อที่ต่างฝ่ายต่างตั้งโจทย์ของตนเอง ซึ่งบางฝ่ายบอกว่าไม่ช่วยให้ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็งขึ้นในระยะยาว แต่ศิโรตม์คิดว่า ประชาธิปไตยไทยก้าวหน้ามาเป็นลำดับ

 

                  “ถ้าเราดูวาระของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ตั้งแต่ปี 2516 มา จะเห็นว่ามีการยกระดับขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปี 2516 ต้องการแค่รัฐธรรมนูญเท่านั้น พอปี 2535 ไปถึงขั้นว่าต้องการรัฐธรรมนูญที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง มันก็ชัดเจนว่า นี่คือข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้าขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงของความคิดในสังคมแน่ๆ และความคาดหวังของคนต่อระบบก็เปลี่ยนด้วยพอช่วงปี 2549 ฝั่งที่เชียร์รัฐประหารบอกว่า นายกฯ มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวก็ไม่พอ ต้องไม่คอร์รัปชั่นด้วย อีกฝั่งหนึ่งที่ต่อต้านรัฐประหารบอกว่า มาจากการเลือกตั้งไม่พอ ต้องกำจัดอำมาตย์ด้วย ต้องทำให้อำนาจมาจากการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ ตรงนี้คือความก้าวหน้าแน่นอน เพราะในที่สุดเรากำลังเปิดทางให้กับการเมืองที่เน้นการเลือกตั้ง ไม่เอาอำมาตย์ และไม่เอาคอร์รัปชั่นไปพร้อมๆ กัน”

ถึงกระนั้น ใช่ว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงถอยหลัง ศิโรตม์อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ทุกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อความคิด และวางกรอบความเข้าใจทางการเมืองของคนแต่ละรุ่นในสังคม การเปลี่ยนแปลงช่วงหลังจากปี 2549 มีการปะทะทางอุดมการณ์ค่อนข้างสูง มีการรัฐประหารโดยอ้างอิงสถาบันกษัตริย์ ทำให้โจทย์ของการเมืองไทยหลังจากนั้น พัวพันกับประเด็นบทบาทของสถาบันกับการพัฒนาประชาธิปไตย ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็จะบอกว่าสถาบันควรจะเข้ามาแทรกแซงประชาธิปไตย ผ่านการเรียกร้องมาตรา 7 ฝ่ายเสื้อแดงก็บอกว่า สถาบันไม่ควรเข้ามาข้องเกี่ยวกับประชาธิปไตยเลย ควรมีบทบาทเป็นแค่สัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว

 

สิ่งที่หายไปในการเถียงแบบนี้คือ มุมมองว่าประชาธิปไตยมีมิติที่ครอบคลุมเรื่องอื่นๆ มากกว่าอำนาจทางการเมือง เช่น มรดกจาก 14 ตุลาคม การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องการแย่งอำนาจ แต่ต้องหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องเศรษฐกิจ และโครงสร้างสังคมด้วย โจทย์นี้หายไปจากการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในปัจจุบัน ประชาธิปไตยหลังจากปี 2549 แนบแน่นกับการต่อสู้ระหว่างชนชั้นนำ ที่ต่างฝ่ายต่างมีมวลชนสนับสนุนอย่างกว้างขวาง แต่โจทย์เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือสิทธิเสรีภาพ เป็นโจทย์ที่มวลชนแต่ละฝ่ายไม่ค่อยสนใจ จะสนใจก็ต่อเมื่อฝ่ายของตนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือไม่ก็สนใจเพื่อใช้กรณีหนึ่งๆ ไปผลักดันความเชื่อทางการเมืองของตัวเอง แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ทุกกลุ่มจะทำให้สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมเป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนยอมรับนับถืออย่างไร

 

 

ตัดตอนวาทกรรมทำให้สังคมเข้าใจผิด

 

 

                         “ส่วนหนึ่งเพราะวาทกรรมทางการเมืองที่หยิบยกมาใช้ มันถูกใช้ในแบบตัดตอนมากเกินไป เช่น พอพูดถึงความเหลื่อมล้ำก็จะหมายถึงว่า มีกลุ่มอำมาตย์ทำให้สังคมไทยเกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นทางที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือกำจัดกลุ่มอำมาตย์ให้หมด แต่ว่าความเหลื่อมล้ำมันมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่านั้น มันมีเรื่องอำมาตย์ด้วย แต่มันก็ยังมีกลุ่มทุนกับคนที่ไม่มีทุนในมือ อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชาวบ้านในท้องถิ่นกับชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนมีการศึกษากับคนที่ไม่มีการศึกษา อำนาจระหว่างคนไทยกับคนที่ดูไม่ไทย  โจทย์แบบนี้ไม่ถูกดึงขึ้นมาในสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน”

ศิโรตม์เสนอว่า ปรากฎการณ์นี้มีสาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการที่ปัญญาชนในสังคมไทย ทำให้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองเฉพาะหน้ามากเกินไป จนความสามารถในการคิดแบบเห็นภาพรวมทั้งหมดเสียไปด้วย ปัญญาชนฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ปัญหาของการเมืองไทยเกิดขึ้นเพราะกลุ่มทุนมีอำนาจ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เป็นเพราะอำมาตย์มีอำนาจ แต่การมองให้กว้างกว่าสองเรื่องนี้ยังไม่เกิด และไม่อาจจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะตอนนี้ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองไหนที่จะให้คนคิดแบบ Radical กับระบบได้มากจริงๆ

 

“สิ่งที่ทุกคนคิดคือ การคิดเรื่องการเมืองแบบอิงสถานการณ์เฉพาะหน้า อันนี้เป็นลักษณะของการเมืองแบบที่ไม่มีลักษณะต่อสู้ทางอุดมการณ์ แต่ถ้ามีปัจจัยอุดมการณ์มาเกี่ยวข้อง คำถามต่อตัวระบบก็จะกว้างขึ้น เช่น หลัง 14 ตุลาคม 2516 มีอุดมการณ์แบบสังคมนิยม คนก็จะเริ่มคิดว่าคนเรานั้นควรเท่ากัน แต่อะไรเป็นอุปสรรคให้คนเราไม่เท่ากัน แล้วจะแก้ปัญหาการไม่เท่าเทียมอย่างไร แต่ปัจจุบันคำถามที่เราสนใจไม่ใช่คำถามแบบนี้”

 

ทางออกระยะยาวระบบเลือกตั้งต้องตอบสนองประชาชน

 

 

                 “ถ้าเรายอมรับว่า ความขัดแย้งหลังปี 2549 เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีมวลชนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ทางออกที่เป็นทางออกเฉพาะหน้าที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายเข้าใจว่า การมีอำนาจของตัวเองมีอะไรบ้างที่จำเป็นต้องทำ เช่น ในที่สุดแล้วทุกคนต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมมาถึงจุดที่อย่างไรก็ตามแต่ อำนาจทางการเมืองจะต้องมาจากการเลือกตั้ง ถัดไปคือทำอย่างไรให้รู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ใช้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้คนเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง เชื่อมั่นว่าจะไม่มีการคอร์รัปชั่น จะทำงานในแง่การปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เชื่อมั่นว่าระบบเลือกตั้งจะทำให้สวัสดิการของประชาชนดีขึ้นจริงๆ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการสร้าง Political Hegemony ให้ระบบเลือกตั้งปัจจุบัน” ศิโรตม์กล่าว

 

ศิโรตม์ย้ำว่า นี่ไม่ได้หมายความว่า การสร้าง Political Hegemony ไม่เกิดขึ้นเลย ที่ผ่านมาพรรคการเมืองมีพัฒนาการในเรื่องเหล่านี้มาเรื่อยๆ เช่น ยุคพล.อ.ชาติชายเป็นผู้ที่ออกกฎหมายประกันสังคม ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นผู้ออกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ในแง่หนึ่งคือการสร้าง Political Hegemony ให้ระบบ เพียงแต่ว่า เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ แล้ว อำนาจสมัยใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องแบบนี้มากพอ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรื่องอื่น อย่างการมีอำนาจเหนือระบบราชการ หรือการเข้าไปแทนที่ฝ่ายซึ่งเคยมีฐานะผูกขาดทางเศรษฐกิจการเมือง

 

ส่วนการเพิ่มอำนาจของประชาชน ให้มีตำแหน่งแห่งที่ในดุลอำนาจอย่างจริงจัง ศิโรตม์กล่าวว่า สูตรหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ประชาชนจะต้องมีการจัดตั้ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง แต่การจัดตั้งประชาชนให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนในเมืองไทยไม่ง่าย เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงานก็มีอุปสรรคทางกฎหมายอยู่มาก แต่ในที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ อย่างเช่นทุกวันนี้ มีนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดคือเงื่อนไขของการรวมตัวของคนงานได้ทั้งนั้น การมองหาพื้นที่ในการรวมตัวทั้งที่เป็นกายภาพและไม่เป็น เป็นเรื่องที่ท้าทายคนที่ต้องการเปลี่ยนสังคมในเวลานี้ ยิ่งสร้างพื้นที่เปิดให้คนรวมตัวอย่างเป็นไปเองได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี เขาถือว่านี่เป็นความหวัง

 

“แต่แน่นอนว่า ประชาชนกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มชาวนาหรือชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องทรัพยากร ช่วงปี 2549 เป็นต้นมา ถือเป็นขาลง การต่อสู้ในแนวทางเดิมยากขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์ที่การต่อสู้ทางการเมืองกลายเป็นเรื่องเสื้อเหลือง-เสื้อแดง”

จะแก้รัฐธรรมนูญต้องกลับไปเริ่มก่อนปี 2549

 

 

ส่วนความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการ ศิโรตม์กล่าวว่า ขั้นต่ำสุดจะต้องกลับไปก่อนปี 2549 ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาของก่อนปี 2549 ด้วย

 

                 “ก่อนปี 2549 มีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ทรัพยากรท้องถิ่น ชุมชน ถูกรัฐส่วนกลางแทรกแซงสร้างโครงการขนาดใหญ่มากเกินไป ต่อรองไม่ได้ เรื่องนี้ควรจะแก้ไข สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2549 ไม่ได้แก้เรื่องเหล่านี้ แต่ไปเพิ่มเรื่องอื่นขึ้นมา เช่น ศาลและกองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมือง เป็นเรื่องที่ควรเอาออกไป”

 

โจทย์ใหญ่คือกลับไปสภาพก่อนปี 2549 ที่อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องไม่มีบทบาททางการเมือง นั่นก็คือต้องไม่มีช่องทางทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ศาล กองทัพ หรือราชการเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจการเมืองทั้งหมด แต่ต้องไปให้ไกลกว่าปี 2549 ในแง่ป้องกันไม่ให้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถใช้อำนาจไปในทางที่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของประชาชนที่มีอำนาจน้อย ต้องหาวิธีทำให้อำนาจการตัดสินใจเรื่องทรัพยากร เรื่องวิถีชีวิต เรื่องชีวิตประจำวัน เรื่องสวัสดิการ เรื่องความปลอดภัย ฯลฯ ให้อยู่ในมือของประชาชนได้มากที่สุด เช่น อาจพูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เรื่องอำนาจจัดสรรทรัพยากรของท้องถิ่นที่ควรมีมากขึ้น หรือพูดถึงระบบเลือกตั้ง ให้คนงานสามารถเลือกผู้แทนในเขตที่ตนทำงานได้ เพื่อให้เสียงของคนงานมีความหมายมากกว่าในปัจจุบัน ประเด็นเหล่านี้สามารถออกแบบได้ เพียงแต่ไม่ถูกทำ

 

อีกประเด็นที่สำคัญที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ให้บทเรียนแก่สังคมไทยคือ การออกแบบให้มีฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งอย่างสมดุลกับการตรวจสอบทั้งในและนอกรัฐสภา อาจจะต้องสร้างเงื่อนไขกำกับไม่ให้หัวหน้าพรรคการเมืองหรือนายกรัฐมนตรี ไม่ให้มีอำนาจมากเกินไป ยืนยันว่าส.ส.มีเอกสิทธิ์ในการลงมติต่างๆ พรรคไม่มีอำนาจขับส.ส. หรืออีกข้อที่น่าจะเริ่มทำมากขึ้นคือ การทำ Primary Vote หรือการให้สมาชิกเป็นคนลงมติตัดสินใจเลือกว่า จะส่งใครลงสมัครในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคมีความสำคัญกับพรรคการเมืองมากขึ้น

 

ในส่วนขององค์กรตรวจสอบจำเป็นต้องยึดโยงกับการเลือกตั้งกว่าที่เป็นอยู่ ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2550 คือองค์กรตรวจสอบไม่ได้ยึดโยงกับการเลือกตั้ง แต่โยงกับศาลมากเกินไป ถ้าจะคิดเรื่องโจทย์ที่ไปไกลกว่า นอกจากจะทำให้องค์กรตรวจสอบยึดโยงกับองค์กรเลือกตั้งมากขึ้นแล้ว ต้องมองหาวิธีที่ทำให้อำนาจองค์กรตรวจสอบไม่ใหญ่โต กระทั่งกลายเป็นองค์กรอิสระในตัวเอง

 

                 “ปัจจุบันมีปัญหาซ้อนกัน 2 เรื่อง คือองค์กรตรวจสอบไม่โยงกับการเลือกตั้ง สองคือองค์กรตรวจสอบมีอำนาจกว้างขวางมาก เช่น มีอำนาจยุบพรรคการเมือง ถอดถอนคนนั้นคนนี้ได้ อำนาจแบบนี้อาจจะต้องถูกนำมาพิจารณาใหม่ว่า ควรจะลดหรือไม่ เพราะหลักการของการตรวจสอบอำนาจคือ ต้องไม่ไปตรวจสอบจนถึงจุดที่รบกวนการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยตรง แต่ในบ้านเราองค์กรตรวจสอบมันใหญ่มาก สามารถเข้าไปรื้ออำนาจที่ประชาชนเขามอบให้มา”

แต่บทเรียนการแทรกแซงองค์กรตรวจสอบอย่างหนักมือในยุคพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ชวนให้หวาดระแวงไม่น้อย จนทำให้การลดทอนอำนาจขององค์กรตรวจกลายเป็นข้อถกเถียง ซึ่งศิโรตม์มองว่า ในกรณีของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งที่มีอำนาจมากที่สุดคนแรก ชนะการเลือกตั้งมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะเดียวกันก็เป็นนายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีองค์กรอิสระ ซึ่งมีอำนาจอย่างกว้างขวาง ต้องถือว่าเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทุกฝ่ายที่เป็นตัวละครกำลังใหม่กับกติกา ซึ่งถ้าให้เวลามากพอจะสามารถผ่านจุดนี้ไปได้

 

 

            “กรณีพรรคเพื่อไทยขณะนี้ ผมก็คิดว่ามีพฤติกรรมที่ต่างจากคุณทักษิณในอดีตมาก การใช้อำนาจอย่างเปิดเผยหรือการแทรกแซงต่างๆ ไม่ได้มีอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยมี ในกรณีขององค์กรอิสระ ผมคิดว่าหลังจากการเลือกตั้งก็มีความระมัดระวังในการใช้อำนาจมากขึ้น ถ้ามองในแง่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยคุณทักษิณ มันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็หาจังหวะในการเล่นของตัวเองไม่ถูก จึงเกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้น”

 

ถึงที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยคือเรื่องของการให้ประชาชนและสังคมเรียนรู้วิถีทางที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่กำหนดร่วมกัน ได้แต่หวังว่า บทเรียนทางการเมืองตลอดเจ็ดแปดปีที่ผ่านมาจะสร้างบทเรียนแก่สังคมมากพอที่จะร่วมประคับประคองประเทศไทยมิให้บอบช้ำมากไปกว่านี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: