เดินหน้าสอน‘มลายูกลาง-อักษรยาวี’จว.ใต้ ลดความขัดแย้ง-รักษาอัตตลักษณ์ท้องถิ่น คาดเด็กใช้ตอนไทยร่วมประชาคมอาเซียน

ฮัสซัน โตะดง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ 15 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 4170 ครั้ง

นำร่องใช้ภาษามลายูเชื่อมไปสู่ภาษาไทยในชายแดนใต้

 

ภาษาเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงอัตตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนส่วนใหญ่ในพื้นที่พูดมลายูถิ่นเป็นภาษาแม่ แต่ในอดีตลูกหลานของชาวบ้านกลับไม่ได้รับอนุญาตให้พูดภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐบาล ไม่ต้องเอ่ยถึงการเรียนภาษานี้โดยผ่านระบบโรงเรียนรัฐ ครูในพื้นที่เล่าว่าแต่เดิมใครพูดภาษามลายูในโรงเรียนจะโดนหักเงินครั้งละบาท

 

ภาษาจึงเป็นประเด็นหัวใจประเด็นหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง ที่ปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งมองว่า โรงเรียนเป็นสถานที่ที่รัฐบาลใช้ เพื่อกลืนวัฒนธรรมของพวกเขา และนั่นดูเหมือนจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมโรงเรียนของรัฐหลายร้อยแห่งจึงถูกเผา

 

ท่ามกลางกระแสความรุนแรง ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ : กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - ภาษามลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นในปี 2550 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อใช้ทุนทางภาษาและวัฒนธรรมที่เด็กมีอยู่ ในการเชื่อมโยงไปสู่ภาษาไทย โดยคาดว่าเด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาได้เร็วขึ้น

 

คณะผู้วิจัยมองว่า การใช้ภาษาไทยเป็นสื่อในการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว อย่างที่ปฏิบัติกันมานั้น ทำให้ผลการศึกษาของเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประเทศมาโดยตลอด โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการนำร่อง 4 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โรงเรียนบ้านบึงนำใส อ.รามัน จ.ยะลา โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 (บ้านใหม่) อ.เมือง จ.นราธิวาส โรงเรียนตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 

พ่อแม่เด็กชอบแต่นักคิดมลายูบางส่วนไม่เห็นด้วย

 

ในขณะที่โครงการทวิภาษานี้ได้รับความชื่นชม และเป็นที่พอใจของผู้ปกครอง ที่เห็นว่าบุตรหลานของตนมีพัฒนาการในการเรียนรู้เร็วขึ้น แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักคิดมลายูมุสลิมส่วนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับการสอนภาษามลายูผ่านอักษรไทย ซึ่งเป็นระบบที่ไม่มีการใช้จริงในชีวิตประจำวัน

 

การเขียนภาษามลายูนั้นเขียนได้สองระบบ คือ ใช้อักษรยาวีซึ่งเป็นระบบดั้งเดิมที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และการใช้อักษรโรมัน ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ใช้ในประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน เดิมมาเลเซียก็ใช้อักษรยาวี แต่ได้เปลี่ยนไปใช้อักษรโรมันในการเขียนในสมัยที่อังกฤษเข้ามาปกครอง

 

อักษรยาวีจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของคนมลายู ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความเสื่อมถอยลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพราะไม่ได้ถูกถ่ายทอดอย่างเป็นระบบผ่านโรงเรียนของรัฐ เยาวชนจะได้เรียนภาษามลายูอักษรยาวีก็ต่อเมื่อเขาเข้าเรียนวิชาศาสนาอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือปอเนาะดั้งเดิมเท่านั้น

 

“แน่นอนที่สุดวิธีการนี้คือวิธีการอาณานิคม” นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้  นักจัดรายการวิทยุภาษามลายูในจ.ยะลา กล่าวถึงโครงการทวิภาษาดังกล่าว เขาเป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการสอนภาษามลายูด้วยอักษรไทย โดยมองว่าโครงการนี้มีเจตนาแอบแฝง ที่จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับภาษาไทยและลืมภาษามลายู เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการผสมกลมกลืน (Assimilation) ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐไทยพยายามใช้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

นำร่องเขียนภาษามลายู 4 โรงเรียน ก่อนขยับไปเรียนอักษรรูมี

 

สำหรับนักเรียนรุ่นแรกในโรงเรียนนำร่องทั้ง 4 แห่ง ซึ่งเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในปีนี้ นักวิจัยและผู้บริหารโครงการจะได้ริเริ่มให้มีการสอนการพูดและฟังภาษามลายูกลาง และเขียนภาษามลายูด้วยอักษรยาวี โดยในปีถัดไปก็สอนการเขียนด้วยอักษรโรมัน ซึ่งในพื้นที่เรียกว่า “รูมี” ความริเริ่มนี้ น่าจะตอบโจทย์ความคลางแคลงใจของคนในพื้นที่ ที่ตั้งคำถามกับการใช้อักษรไทยในการเขียนภาษามลายูได้บ้าง

 

นายแวยูโซะ สามะอาลี รองประธานฝ่ายบริหารโครงการทวิภาษา เปิดเผยว่า การสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวี จะอยู่ในวิชามลายูศึกษา โดยนอกจากภาษาแล้วจะมีการเรียนในเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนมลายูมุสลิมด้วย

ด้านอาจารย์แวมายิ ปารามัล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการทวิภาษา อธิบายว่า ในเทอมแรกนี้จะเน้นที่การพูดและฟังภาษามลายูกลางก่อน เพราะที่ผ่านมาเด็กๆ เรียนภาษามลายูถิ่นซึ่งการออกเสียงจะแตกต่างจากภาษามลายูกลางเล็กน้อย โดยจะเริ่มสอนเขียนแบบอักษรยาวีในเทอมที่สอง โดยในช่วงแรก สื่อการสอนอักษรยาวี จะเป็นเอกสารแบบชั่วคราวและต่อไปจะมีการผลิตตำราด้วย

 

คาดเด็กได้ประโยชน์หลังมีประชาคมอาเซียน

 

ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำเอาอักษรยาวีมาสอนนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นั้น อยู่ในแผนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ในระดับชั้นอนุบาลและประถมตอนต้น เราเน้นที่การฟังและพูด ตอนนี้เราจะเริ่มสอนการอ่านและเขียนด้วยระบบอักษรยาวี และต่อไปในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็จะเริ่มสอนระบบอักษรโรมัน ซึ่งการเชื่อมกับอักษรโรมันจะเป็นการปูพื้นที่มีประโยชน์อย่างสำคัญ สำหรับการรวมตัวของประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

ขณะที่นายมันโซร์ สาและ กล่าวอีกว่า เห็นด้วยที่ทางโครงการมีการเรียนสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวีและโรมัน และคิดว่าโครงการนี้จะมีส่วนทำให้คนในพื้นที่มีทัศนคติต่อรัฐในทางที่ดีขึ้น เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับภาษาท้องถิ่น เขาคิดว่าการริเริ่มนี้จะช่วยลด “ความรู้สึกกดทับ” ที่คนมลายูมุสลิมคิดว่ารัฐไทยต้องการที่จะทำลายอัตตลักษณ์ของท้องถิ่น

 

นายมันโซร์อธิบายต่อว่า การดำเนินการในเรื่องนี้จะเป็นผลบวกต่อการอธิบายกับประชาคมโลกอีกด้วย โดยเฉพาะกับองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ซึ่งได้จับตาการแก้ปัญหาคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

 

ไอโอซีดีใจที่ไทยเริ่มให้ความสำคัญเรื่องการศึกษากับมุสลิม

 

อย่างไรก็ตามระหว่างการเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย นาย Sayed Kassem El-Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี ได้กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เห็นว่า รัฐบาลได้เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาถิ่น คือการใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งเป็นมิตรหมายที่ดี และได้ทราบว่าเป็นโครงการนำร่องเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอย่างน้อยจะเป็นการรักษาซึ่งวัฒนธรรม อัตตลักษณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ให้ความสำคัญ

 

นายมันโซร์กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้แทนระดับสูงโอไอซียังกล่าวด้วยว่า เขาจะติดตามดูว่าประเทศไทยให้สิทธิต่อชนกลุ่มน้อยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในเรื่องภาษา เพราะว่าภาษาคืออัตตลักษณ์ที่สำคัญ ทางโอไอซีสนับสนุนในเรื่องการให้สิทธิกลุ่มชนน้อยอย่างเต็มที่

 

                      “การสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวีและโรมัน จะเป็นการพัฒนาศักยภาพทางภาษาให้คนในพื้นที่ เพื่อรองรับการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน เขาย้ำว่าภาษามลายูนั้นเป็นภาษาที่มีคนพูดมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน” นายมันโซร์กล่าว

 

นอกจากการนำอักษรยาวีและโรมันมาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนนำร่องทั้ง 4 แห่งแล้ว ศ.ดร.สุวิไลกล่าวว่า ในปีนี้จะได้มีการขยายโครงการทวิภาษานี้ไปสู่โรงเรียนอีก 12 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะให้งบประมาณสนับสนุนอีกด้วย นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวก้าวสำคัญของรัฐในการเปิดพื้นที่ให้กับการรักษาอัตตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม น่าจับตามองต่อไปว่าจะมีเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่อย่างไรบ้าง

 

สำหรับ 12 โรงเรียนใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนทวิภาษา” ในปี 2555 คือ จ.นราธิวาส โรงเรียนกำปงปีแซ อ.ยี่งอ, โรงเรียนบ้านหัวคลอง อ.ตากใบ, โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะซามา อ.สุไหงโก-ลก, โรงเรียนบ้านบูเกะตาโมง อ.เจาะไอร้อง จ.ปัตตานี โรงเรียนจือโร๊ะ อ.เมือง ปัตตานี, โรงเรียนบ้านลดา อ.เมือง จ.ปัตตานี, โรงเรียนบ้านกรือเซะ อ.ยะรัง, โรงเรียนบ้านบูโกะ อ.ยะรัง, โรงเรียนบ้านบน อ.สายบุรี จ.ยะลา โรงเรียนบ้านปงตา อ.รามัน, โรงเรียนบ้านตะโละหะลอ อ.รามัน และ โรงเรียนบ้านปาแดรู อ.ยะหา

 

 

 

อักษรยาวีเหลือที่เดียวในอาเซียน

 

สำหรับประวัติศาสตร์ของภาษามลายูนั้น นายอุสมัน โต๊ะตาหยง ผู้บริหารโรงเรียนบากงวิทยา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อดีตนักข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Fajar หนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวีในอดีต ให้สัมภาษณ์ไว้ในเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาว่า มีการพูดถึงกันว่า คนมลายูมีมานานกว่า 2,500 ปี ก่อนคริสตศักราช (ค.ศ.) แล้ว เป็นกลุ่มคนที่ชอบเดินทางไปมาตามชายฝั่งทะเล จากนั้นประมาณ 1,500 ปีก่อน ค.ศ. พวกเขาเข้าไปอยู่ตามถ้ำและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หลังจากนั้นเริ่มมีอำนาจปกครองตัวเอง โดยศตวรรษที่ 1 ค.ศ.เริ่มเป็นรัฐที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ ชื่ออาณาจักรลังกาสุกะ ในช่วงเริ่มต้นของอาณาจักรลังกาสุกะ มีภาษามาลายูแล้ว เป็นภาษาพูด ยังไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้ระบุว่า อาณาจักรลังกาสุกะมีภาษาเขียน ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 7 อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองขึ้น โดยราชสำนักของอาณาจักรศรีวิชัยใช้อักษรสันสกฤตมาใช้เขียนภาษามลายู และใช้ในราชสำนักเท่านั้น

 

จากนั้นศตวรรษที่ 9 ศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามาเผยแพร่ โดยชาวบ้านเป็นผู้เข้ารับศาสนาอิสลามก่อน หลังจากนั้นศตวรรษ 10 - 11 บรรดาคนในราชวงศ์หรือพวกกษัตริย์จึงเริ่มเข้ารับศาสนาอิสลาม และเริ่มใช้อักษรอาหรับเป็นตัวเขียนภาษามาลายู ทำให้ขณะนั้น ภาษามลายูมี 2 ภาษาเขียน คือสันสกฤตกับอาหรับ ยกตัวอย่างการเขียนภาษามลายูตัวอักษรสันสกฤต มีปรากฏบนศิลาจารึกโบราณ (หิน)

 

สำหรับการใช้ตัวอักษรอาหรับมาเขียนภาษามลายูนั้น ได้มีการคิดค้นอักษรบางตัวเพิ่มเติม เพื่อให้ครบตามการออกเสียงในภาษามลายู แล้วเรียกว่า อักษรยาวี เมื่อมีการใช้ตัวอักษรยาวีในการเขียนภาษามลายูแล้ว ปรากฏว่ามีการเผยแพร่จนเป็นที่นิยม โดยมีใช้ทั้งในราชการ ราชสำนัก ตำราเรียนทางศาสนา จนถึงศตวรรษที่ 18 ดินแดนมาลายูก็ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของชาติตะวันตก และเริ่มมีการใช้อักษรโรมันคือ ตัวอักษร A B C มาใช้เขียนภาษามลายู เป็นต้นมา ปัจจุบันภาษามลายูอักษรรูมี (โรมัน) มีการใช้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมีใช้ทั้งในราชการ การศึกษา วรรณกรรม รวมทั้งภาษาข่าวและสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: