จี้หนุน'เกษตรอินทรีย์'เลิกนำเข้า'สารเคมี' แนะรัฐจัดโซนนิ่ง-ช่วยเกษตรกรครบวงจร ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแทน'ยาพิษฆ่าแมลง'

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 15 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2481 ครั้ง

 

กระแสการบริโภคอาหารปลอดภัย ผักปลอดสารพิษ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่มาแรงและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากพอสมควร โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองที่มีกำลังซื้อ  แต่ภายใต้หีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่บอกไว้ว่า ผักปลอดสารพิษนั้นสินค้าภายในเป็นอย่างที่โฆษณาไว้หรือไม่ ไม่เคยมีการตรวจสอบ

 

ถึงแม้ว่ากระแสพืชผักอินทรีย์ ผักปลอดสารพิษ จะเป็นที่พูดถึงกัน แต่ในความเป็นจริงนั้น อาหารปลอดภัยเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้น้อยมากในประเทศไทย ด้วยปัญหาและปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกลไกตลาด พื้นที่การเพาะปลูก ระบบการตรวจสอบ และที่สำคัญนโยบายการนำเข้าสารเคมี

 

 

กระทรวงเกษตรฯ สวนทางนโยบายผักปลอดสาร เร่งนำเข้าสารเคมี

 

 

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจากเครือข่ายที่ทำงานด้านอาหารปลอดภัยจากสารพิษ เช่น มูลนิธิ  ชีววิถีหรือไบโอไทย เครือข่ายต้านภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทปัน และนิตยสารฉลาดซื้อ  เพื่อให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ขึ้นทะเบียนสารเคมีที่มีความอันตรายสูง เพื่อปกป้องสุขภาวะของเกษตรกรและประชาชน โดยเน้นที่สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  4 ชนิดได้แก่ คาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) เมโทมิล (แลนเนท) ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งมีพิษร้ายแรง หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และปฏิเสธการขึ้นทะเบียนแล้ว ซึ่งการกดดันกรมวิชาการเกษตรในครั้งนี้ มาจากพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2551 ที่ได้กำหนดให้ทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทั้งหมดกว่า 27,000 รายการ ต้องขึ้นทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่อควบคุมการนำเข้าและการใช้สารเคมีกำจัด ศัตรูพืชมิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า กรมวิชาการเกษตรเอง กำลังพิจารณาอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตรายร้ายแรงดังกล่าว โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาใด ๆ ที่จะสามารถยืนยันความปลอดภัยของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

 

 

60 เปอร์เซ็นต์ คนเชียงใหม่มีสารเคมีตกค้างในเลือด

 

 

ทั้งที่มีรูปธรรมชัดเจน จากการศึกษาของนักวิชาการพบว่า แม้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด จะมีผลในการลดจำนวนแมลงศัตรูพืช แต่ก็จะได้ผลเพียงระยะสั้น เพราะสารพิษดังกล่าวได้ทำลายแมลงตัวห้ำ ตัวเบียน ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชในระยะยาว และยังมีผลการสำรวจของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ผู้บริโภคกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ตรวจพบสารเคมีการเกษตรตกค้างในเลือด ในระดับที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารที่บริโภค ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการควบคุมการใช้ การนำเข้า การยกเลิกสารเคมีที่เป็นอันตราย ควรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ เช่น เครือข่ายโรงเรียนชาวนาจ.นครสวรรค์  มีทางออกในการทำเกษตรโดยไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง

 

 

พบสารเคมีจากผัก 6 ใน 14 ชนิดจากห้างดังที่เกินมาตรฐาน

 

 

และข้อมูลที่น่าตื่นตระหนกมากไปกว่านั้น เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ไทปันร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ สุ่มตรวจผัก 7 ชนิด ซึ่งเป็นผักที่คนไทยนิยมบริโภคกันทั่วไป ได้แก กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา โดยสุ่มเก็บจากผักที่ได้รับมาตรฐาน Q และผักตราห้าง (house brand) ที่ขายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และพบว่า พืชผักดังกล่าวมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึง 6 ตัวอย่าง จากจำนวนที่สุ่มเก็บมา 14 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ ของตัวอย่างทั้งหมด

 

ส่วนตัวอย่างผักที่สุ่มตรวจจากตลาดห้วยขวาง 7 ตัวอย่าง ตลาดประชานิเวศน์ 7 ตัวอย่าง และจากรถเร่ 7 ตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง เกินมาตรฐานทั้งหมด 8 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 21 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น  38.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับผลการสุ่มตรวจผักที่มีตรามาตรฐาน Q ของกรมวิชาการเกษตร และผักที่ขายในห้างซึ่งพบว่ามีผักที่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 43 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่ผักดังกล่าวมีราคาแพงกว่าผักที่ขายในตลาดสดทั่วไป ตั้งแต่ 2-10 เท่า

 

 

พ่อค้าคนกลางไม่ได้คำนึงถึงที่มาของสินค้า

 

 

อย่างไรก็ตามจากสิ่งที่นำเสนอไปข้างต้น ดูเหมือนว่าเกษตรอินทรีย์ พืชผักปลอดสารพิษ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในประเทศไทย แม้จะมีเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย ศูนย์ข่าวTCIJ สัมภาษณ์ นายไกร ชมน้อย เจ้าของสวนลุงไกร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารเคมีส่งขายห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ มาเกือบ 20 ปี

 

ลุงไกรกล่าวถึงปัญหาสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผักที่วางขายในห้างสรรพสินค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ ว่า คงต้องพูดถึงคนกลางก่อนคือ คนที่ซื้อมาขายไป ซึ่งพ่อค้าคนกลางเหล่านี้คงไม่ได้คำนึงถึงที่มาและความปลอดภัย คิดในเรื่องความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น ถ้าเป็นสินค้าที่มาจากสวนลุงไกรเอง สามารถรับประกันได้ เพราะเราขายเอง แต่ถ้าเป็นที่อื่นไม่รู้ที่มาที่ไป

 

 

 

         “ถ้าเรามองถึงความต้องการของผู้บริโภค ถ้ามาซื้อผักของผม ผมบอกว่าของผมชัวร์ เพราะเราขายเอง แต่ถ้าเป็นที่ตลาดกลาง เราไม่รู้ที่มาที่ไปว่ามาจากไหน อย่างไร จากตรงนี้เอง เราต้องมองว่า ถ้าเราจะทำอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ผมเป็นเกษตรกรถามว่าผมจะฆ่าตัวเองไหม ปลูกผักแบบ 7 วันฉีดยาฆ่าแมลง 1 ครั้ง 7 วันฉีดหนึ่งครั้ง คงไม่ได้มานั่งคุยกันในวันนี้ ฉะนั้นเรามีจิตสำนึกลึก ๆ ว่า เราทำไม่ได้ เพราะในภาคการเกษตรจริง ๆ แล้วถ้าผมทำ สมัยพ่อกับแม่อยู่ ต้องช่วยถอนหญ้า ฉะนั้นถ้ามีอะไรปนเปื้อนก็หมายถึง เราต้องกินของที่เราผลิตที่ปนเปื้อน ที่เรารู้ที่มาที่ไป ถ้าฉีดเข้าไปแล้ว กล้ากินไหม เราก็ไม่กล้า” ลุงไกรกล่าว

 

 

 

 

 

 

ระบุไม่จัดการที่ต้นทางสุดท้ายก็ต้องรับภาระในการรักษา

 

 

เรื่องของสารเคมีที่เก็บสะสมจากการบริโภคพืชผักเหล่านี้ของผู้บริโภค ถามว่าในอนาคต ใครจะต้องเป็นผู้รับภาระหนักที่สุด 1.ตัวผู้บริโภคเอง 2.กระทรวงสาธารณสุข ในการที่ประชาชนเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น และรัฐต้องใช้งบประมาณมารักษา และสุดท้าย 3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องเอาจริงเอาจัง ในเรื่องการส่งเสริมการผลิต ในวิถีหรืออาจจะต้องเอาแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือมองศักยภาพ เกิดการรวมกลุ่ม และสุดท้ายคือ รัฐเองต้องสนับสนุน เพี่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดให้ได้ เพื่อจะไปคานอำนาจการเกิดขึ้นของสารเคมี ไม่ใช่ให้เกษตรกรทำแล้วปล่อยให้เป็นแบบตัวใครตัวมันไม่ได้ เมื่อเขาผลิตแล้วตลาดที่ขายอยู่ตรงไหน ต้องช่วยเขาด้วย

 

ลุงไกรกล่าวต่อว่า แต่ถ้ามองที่การทำการเกษตร เราต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน การที่รัฐบาลมีนโยบายพักชำระหนี้เป็นการบอกว่าระบบเกษตรกรรมของเรายังไม่เข้มแข็ง เพราะมีการพักชำระหนี้มาแล้วประมาณ 5-6 ครั้ง ซึ่งประเทศไทยคงต้องเตรียมตัวและมองตรงนี้ เพราะประชาคมอาเซียน (AEC) กำลังจะเข้ามา กำลังซื้อของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่สามารถหยุดบางส่วนได้ ด้วยการรณรงค์จริงจังและทำกันมา ถ้าสารเคมีในอาหารยังมากแบบนี้ อะไรจะเกิดขึ้น คนเจ็บป่วยก็มากขึ้น ซึ่งท้ายสุดภาระจะไปตกอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ในการที่ต้องเป็นหน่วยงานรักษาพยาบาลฟรี

 

 

แนะรัฐจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตรอินทรีย์

 

 

อย่างไรตามหากรัฐบาลมองถึงส่วนแบ่งทางการตลาด ดุลการค้าระหว่างประเทศในเรื่องการนำเข้าสารเคมี  ซึ่งรัฐสามารถดำเนินการวิธีอื่นด้วย เช่นควรมีการจัดโซนนิ่ง หรือมีวิธีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง ถ้าสามารถจัดโซนนิ่งได้ ในเรื่องความเหมาะสมทั้งประเทศ เช่นพื้นที่นี้เหมาะสำหรับทำนา พื้นที่นี้เหมาะสำหรับพืชผักเมืองหนาว ยาง กาแฟ พื้นที่นี้อันนี้ควรจะเป็นเกษตรอินทรีย์เต็ม 100 เปอร์เซนต์ อันนี้เป็นแบบนี้เพราะไม้ผลบางชนิดเรามีแล้ว พบกันครึ่งทางในการลดละ ใช้ชีวภาพเข้าไปอาจจะเป็นสวนยาง เจอกันครึ่งทาง จะช่วยลดรายจ่ายได้ หากเราไม่ทำอะไรเลย มีแต่นำเข้าอย่างเดียว เงินจะออกนอกประเทศหมด

 

นอกจากนี้การเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำเองขายเอง แต่เราต้องทำตามศักยภาพที่เรามีอยู่ ถ้าผักขาดก็ต้องขาด เพราะชีวิตการเป็นเกษตรกรจริง ๆ แล้ว มีอยู่ 2 เรื่องคือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เราต้องคิด แต่การเกษตรมีอยู่ 2 อย่างไม่ขาดก็เกิน พอดีไม่มีในโลก

 

                  “จะพูดถึงผักปลอดสารพิษและเกษตรอินทรีย์ จริง ๆ แล้วทำมากไม่ได้ เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีที่มากมายมหาศาล รถไถคันหนึ่ง 3-4 แสนบาท มูลค่าการลงทุนเท่าไหร่ ดังนั้นการพัฒนาต้องเกิดขึ้นเริ่มจากน้อยไปหามากได้ แต่ถ้าอยากได้มากก็ต้องมีการรวมกลุ่มให้ได้มาก อย่างสวนลุงไกรรวมกลุ่มได้ 50 คน สามารถบริหารจัดการได้ มีการลดรายจ่ายแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้จะจริงจังมากน้อย ขนาดไหน ต้องฝากเรื่องการณรงค์ เพราะมูลค่าการเกษตรมีค่ามาก แต่กว่าที่จะเรียนรู้ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย และที่สำคัญจะทำอย่างไรให้เกษตรกรลดละ แต่ถ้าเขาเลิกเมื่อไหร่ เราเองไม่มีกิน เพราะเราไม่ใช่เกษตรกร สิ่งเหล่านี้เป็นข้อคิด”

 

สำหรับแนวคิดเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดสาร ของสวนลุงไกร เริ่มจากการคิดว่า จะลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ได้อย่างไร อย่างขี้วัวสั่งซื้อครั้งละ 100 กระสอบ ถ้ารวมกลุ่มไม่ได้ก็ต้องต่างคนต่างซื้อ ถ้าซื้อปลีก กระสอบละ 60 บาท แต่ถ้าสั่งครั้งละ 100 กระสอบ เหลือกระสอบละ 22 บาท ส่วนต่างเหล่านี้เกษตรกรต้องนำมาคิด ดังนั้นการรวมกลุ่มมีผลต่ออำนาจการต่อรองในการซื้อ สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้น แต่เมื่อดูชาวบ้าน ชาวบ้านมีทุนเท่าไหร่ เงินก้อนที่จะมาหล่อเลี้ยงเขา เรื่องนี้สำคัญ

 

             “ใครก็อยากกินของดี ผมเชื่อว่าทุกคนอยากกินผักปลอดสารพิษ อยากกินของดี แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเรื่องของความแตกต่าง อุณหภูมิที่เหมาะสม ระบบต่างๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำการผลิตทั้งนั้น”

 

 

 เน้นการขายในพื้นที่ปลูกลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง

 

 

ด้วยวิธีคิดอย่างเรียนรู้ รอบรู้ รอบคอบ วันนี้ลุงไกรจึงตัดสินใจขายผักในพื้นที่ที่ปลูกเป็นหลัก หลังจากส่งขายนอกพื้นที่มามากแล้ว และหยุดการขายนอกพื้นที่เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขนส่งออกนอกพื้นที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น คนขับรถ คนทำบัญชี ซึ่งทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายออกไป ในขณะที่ขายในพื้นที่ให้คนในละแวกใกล้เคียงได้กิน ขับรถมาซื้อใกล้ ๆ อาจจะขายไม่ได้มากนัก แต่ไม่ต้องลงทุนมาก

 

              “ผมส่งผักให้ร้านซิสเลอร์ คือเราจะรู้ยอดผักที่จะส่งคือวันพุธ แต่เราต้องเก็บผักตลอดไม่ให้ขาด แต่ถ้ามีคนขับรถมา 8 กิโลเมตร เพื่อมาซื้อผักผม 1 กิโลกรัม ถ้าไม่ให้อะไรจะเกิดขึ้น เป็นเหตุผลที่ผมโดนกระแทกตลอดว่า คำว่ามาหาลุงไกรคือต้องมาซื้อผัก และต้องมีผักให้เขากลับไป มีรถมา 10 คัน ซื้อคันละ 1 กิโล ก็คือ 10 กิโล บางครั้งผมไม่ให้ ผมโดนด่า สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจในเรื่องของการซื้อ เราก็มองจนเราต้องหยุดตัวเองว่า เหมือนกับผมต้องใช้คำว่า ถ้าเราทำ กล้าปลูก ต้องกล้าซื้อนะ เพื่อเราจะได้สร้างความเข้มแข็ง ผมทำส่งตลาดใหญ่มาเกือบ 10 ปี ถามว่าได้อะไร ก็ได้แค่กิน นี่คือเรื่องจริง”

 

 

ใช้ภูมิปัญญาลดปัญหาสารเคมี

 

 

สำหรับปัญหาศัตรูพืช ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่นำมาสู่การใช้สารเคมีนั้น ลุงไกรกล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกษตรแบบออแกนิกหรือเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นไม่ได้ มาจาก แมลง 4 ชนิดคือ หมัด หนอน เต่าแดง เพลี้ยไฟ ที่ยังไม่สามารถเอาชนะได้ แต่ปัญหาเหล่านี้ ต้องใช้ภูมิปัญญาในแต่ละพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา วิธีการของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อาจจะไม่สามารถใช้กับอีกพื้นที่หนึ่งได้  เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน อุณหภูมิที่เหมาะสม

 

             “ถ้าจะบอกว่า ตำราเล่มหนึ่งเขียนมาเป็นกลางๆ ผมบอกว่าไม่ใช่ เหมือนกับผมไม่ได้อยู่วังน้ำเขียวและต้องไปทำอีกแปลงหนึ่ง อาจจะต้องมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: