ความหมายใหม่ของ CSR

อนันตชัย ยูรประถม 16 พ.ค. 2555


 

            ผมได้เห็นเอกสารของ EU ที่เกี่ยวกับ CSR โดยมีความน่าสนใจอยู่คือ การที่ EU ได้เปลี่ยนคำจำกัดความของ CSR จากฉบับเดิม GREEN PAPER, Promoting a European framework for Corporate Social Responsibility ปี 2001 ได้ให้ความหมายของ CSR ไว้ว่าเป็นแนวคิดที่ธุรกิจนำเอาความสนใจ ความห่วงใยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบูรณาการเข้าไปสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจด้วยความสมัครใจ ส่วนฉบับล่าสุด A renewed EU strategy 2011-14 for Corporate Social Responsibility ได้มีการเปลี่ยนความหมายของ CSR ไปเป็น “ความรับผิดชอบของธุรกิจในผลกระทบที่มีต่อสังคม”

 

            ที่ผมว่าน่าสนใจคือการอธิบายแบบนี้ทำให้เรามองเห็นถึงทิศทางในการที่ธุรกิจจะดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรว่าควรเป็นไปอย่างไร

 

            แต่เดิมเราให้ความสำคัญกับ “ความสมัครใจ” โดยให้ถือ CSR เป็นการปฏิบัติด้วยความสมัครใจที่สูงกว่ากฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ การแสดงออกในช่วงแรกจึงมองเป็นการตอบสนองสังคมเช่น การพัฒนาการศึกษา กีฬา ศิลปวัฒนธรรม หรือมุ่งไปในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศเช่น ป่าไม้ โลกร้อน แหล่งน้ำ เป็นต้น โดยการบูรณาการก็คือการใช้ความสามารถของธุรกิจเข้าไปพัฒนารูปแบบกิจกรรมนับตั้งแต่การสนับสนุนสังคมด้วยทรัพยากรทางการเงิน สินค้าและบริการให้กับสู่ชุมชน ไปจนถึงการใช้ความรู้ทางการตลาดเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมพลังงานไปสร้างพลังงานทางเลือกให้กับชุมชน เป็นต้น

 

            แม้จะ CSR แบบที่ผ่านมาจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ไม่น้อย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการให้ด้วยความสมัครใจแบบนั้นลดหรือแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้น้อยกว่าการมุ่งเน้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการมาก ยกตัวอย่างเช่นองค์กรตั้งเป้าของความรับผิดชอบไว้ด้วยการคืนกำไรอย่างสมัครใจให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวน 1% ของกำไรทั้งหมด เช่น การบริจาคเงินให้กับโครงการปลูกป่าเป็นพันเป็นหมื่นไร่ แต่กว่าต้นไม้จะเจริญเติบโตมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานพอสมควร ในระหว่างนั้นธุรกิจที่เป็นเจ้าของโครงการตลอดสายโซ่อุปทานอาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปมหาศาล รวมถึงการดำเนินธุรกิจอาจส่งผลต่อการบุกรุกทำลายป่าไปมากกว่าพื้นที่ที่ปลูกไม่รู้กี่เท่า ดังนั้นการมุ่งไปที่การลดผลกระทบในกระบวนการทั้งหมด แม้จะไม่ได้ 100% (ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว) แต่ก็ทำได้มากกว่าการคืนกำไรเพียง 1% อย่างแน่นอน

 

            จากมุมมอง CSR ในความหมายนี้ ธุรกิจจึงต้องมีความสมัครใจในการเริ่มมองหาผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการอยากหากิจกรรมด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจแต่อาจจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ค่อนข้างไกลตัวออกไปซักหน่อย ซึ่งเป็นเหมือนกับการทำโครงการที่ดีด้วยความสมัครใจด้านหนึ่งแต่กับสร้างผลกระทบอีกด้านหนึ่งไปเรื่อยๆ คงไม่เกิดสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับตนเองและสังคมได้ในระยะยาว

 

            ดังนั้นการพัฒนา CSR จึงไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะธุรกิจมีความรู้ ความสามารถที่เครื่องมือที่ใช้อยู่ในองค์กรอยู่แล้วอย่างเรื่องของความเสี่ยง การพัฒนากระบวนการ การวางแผนกลยุทธ์ เพียงแต่เพิ่มปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไป องค์กรก็ถือได้ว่าเริ่มมีการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการที่มากกว่าการมองหาเพียงกิจกรรม และที่สำคัญมันคือการตอบโจทย์ของปัญหาและความท้าทายจากธรรมชาติที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้อย่างแท้จริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: