พลิกคดีฆาตกรรมสยอง‘ฆาตกรเสื้อกาวน์’ ‘อธิป-บัณฑิต-เสริม-วิสุทธิ์’ทำไมต้องฆ่า? ถึง‘หมอสุพัฒน์’โยงคดีโครงกระดูกฝังดิน

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 48124 ครั้ง

แม้ในเมืองไทยจะเกิดคดีฆาตกรรมกันเป็นประจำแทบทุกวัน แต่ทุกๆ ครั้งที่ผู้ก่อเหตุเป็นบุคคลสถานะพิเศษ คดีนั้นๆ จะได้รับความสนใจมากกว่าปกติ โดยเฉพาะหากบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหามีอาชีพที่สูงส่งอย่าง ‘แพทย์’ จะยิ่งได้รับความสนใจมากเป็นทวีคูณ เพราะแพทย์ได้ชื่อว่าเป็น ‘ผู้ให้ชีวิต’ แต่เมื่อมาเป็น ‘ผู้พรากชีวิต’ เสียเอง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและติดตามอย่างยิ่ง ศูนย์ข่าว TCIJ ขอพาย้อนรอยคดีดังในอดีตจวบปัจจุบัน เจาะลึกถึงสาเหตุและเบื้องหน้าเบื้องหลัง ที่ทำให้บุคคลเป็นเลิศทางสังคม เป็นเลิศทางสติปัญญา ตัดสินใจทำเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ได้

 

‘หมอสุพัฒน์’ ปริศนาฆ่าฝังดิน

 

คดีอาชญากรรมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดยามนี้ไม่คดีไหนเกินกรณี ‘พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เลาหวัฒนะ’ สังกัดกลุ่มงานเวชศาสตร์และครอบครัว โรงพยาบาลตำรวจ ตกเป็นผู้ต้องหาพัวพันการหายตัวไปของนายสามารถ นุ่มจุ้ย และน.ส.อรษา เกิดทรัพย์ ภรรยา เจ้าของไร่สับปะรด อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และยังเกี่ยวกับศพคนงานชาวพม่าที่พบในไร่ของตัวเองที่อยู่ติดกับไร่ของ 2 ผัวเมียถึง 3 ศพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมอสุพัฒน์ ถูกตำรวจจับกุมหลังจากนายสว่าง นุ่มจุ้ย อายุ 55 ปี นายสามารถ พบรถลูกชายจอดทิ้งในบ้านหมอสุพัฒน์ ที่จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา โดยนายสามารถ และภรรยาหายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2552 โดยญาติสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับหมอสุพัฒน์ เพราะก่อนเกิดเหตุมีเรื่องกันอยู่ โดยหมอสุพัฒน์ กล่าวหาว่านายสามารถเข้าไปขโมยตัดไม้ในไร่ และยังแจ้งความคดีขโมยรถอีกด้วย แต่ศาลยกฟ้อง

 

ญาติติดตามหาเบาะแส 2 ผัวเมียเรื่อยมา ก่อนที่พี่สาวนายสามารถที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งรู้จักนายสุเทพ เลาหวัฒนะ พี่ชายหมอสุพัฒน์ มาปรึกษาเรื่องนี้ นายสุเทพจึงทดลองนำไปดูที่บ้านจ.นนทบุรี ที่แม่ยกให้หมอสุพัฒน์ แต่ทิ้งร้างไว้นานแล้ว ปรากฏว่าพบรถปิกอัพโตโยต้า รุ่นไทเกอร์ แบบมีแค็ป สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน บฉ-5960 เพชรบุรี ของนายสามารถ จอดอยู่จริง ๆ เมื่อเข้าไปดูพบหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารของน.ส.อรษา รวมทั้งหมวกสานชาวไร่ มีรอยคล้ายเลือดทิ้งอยู่ด้วย

 

พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 สั่งรื้อคดีนี้ขึ้นมาสอบสวนใหม่ทั้งหมด พร้อมได้ปากคำพยานสำคัญว่า เกิดเหตุร้ายกับ 2 ผัวเมียในไร่หมอสุพัฒน์ จังหวะเดียวกันนี้หมอสุพัฒน์ ยื่นลาพักร้อนหลังทำเรื่องขอเออรี่รีไทร์ หรือลาออกจากราชการก่อนกำหนด เพื่อต้องการยศ ‘พล.ต.ต.’ ตำรวจขอหมายค้นบุกไร่หมอสุพัฒน์ ภายในบ้านและรถตู้ที่จอดอยู่ พบอาวุธปืนพกสั้น และปืนยาวถึง 42 กระบอก พร้อมกระสุนอีกจำนวนมาก

 

เมื่อขุดดินบริเวณกอไผ่ตรงจุดที่มีพยานให้การ พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่รวม 3 ศพด้วยกัน พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ยังตามพบตัวนายกะลา คนงานชาวพม่า ที่ทำงานในไร่หมอสุพัฒน์ มากว่า 10 ปี ให้การว่า หมอสุพัฒน์ ลงมือสังหารคนงานในไร่อย่างน้อย 2 ศพ โดยตนทำหน้าที่ฝังศพด้วย และระบุว่า น.ส.วิลสา จันทร์บัญชร ภรรยาคนที่ 3 เกี่ยวข้องด้วย เบื้องต้นตำรวจขอหมายจับทั้งคู่ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และรับซื้อของโจร

 

หมอสุพัฒน์หายตัวเงียบไปพักใหญ่ กระทั่งตำรวจจะตามจับกุมได้บริเวณหาดปึกเตียน จ.เพชรบุรี โดยหมอสุพัฒน์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาไม่นานตามจับน.ส.วิลสาได้ แต่ให้การภาคเสธ อ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นการตายของ 2 ผัวเมีย แต่รับว่าวันที่ 2 ผัวเมียหายตัวไปหมอสุพัฒน์ พาทั้งคู่มาพูดคุยกันที่ไร่ และสักพักหมอสุพัฒน์พานายสามารถเข้าไปในป่า ได้ยินเสียงปืน 1 นัด ก่อนที่หมอสุพัฒน์จะกลับมาเพียงลำพัง จากนั้นก็ไล่ให้กลับบ้านโดยหมอ อยู่กับน.ส.อรษาในไร่ และจากวันนั้นก็ไม่พบ 2 ผัวเมียอีกเลย ตำรวจส่งหมอสุพัฒน์และน.ส.วิลสา ฝากขังพร้อมคัดค้านประกันตัว ศาลส่งเข้าเรือนจำระหว่างดำเนินคดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พบโครงการกระดูก 3 ศพ แต่ไม่ใช่ 2 ผัวเมีย

 

 

สำหรับโครงกระดูกที่พบตอนแรกญาติเชื่อว่าน่าจะเป็น 2 ผัวเมีย แต่เมื่อส่งให้แพทย์ร.พ.ตำรวจ และร.พ.จุฬาฯ ตรวจสอบซ้ำถึง 2 รอบพบว่าไม่ใช่ แต่มีศพหนึ่งดีเอ็นเอตรงกับนายอีต้า คนงานชาวพม่าในไร่หมอสุพัฒน์ ที่หายตัวไปเมื่อหลายปีก่อน ตำรวจยังตามเจออดีตคนงานพม่าอีกรายชื่อ‘โหย่ง’ ให้การว่าตัวเองและนายอีต้า ถูกหมอสุพัฒน์ ใช้ปืนบังคับพาออกมากลางไร่ แล้วให้เพื่อนคนงานทำร้ายร่างกายจนสลบ นายโหย่งฟื้นสติขึ้นมาก็วิ่งหนีสุดชีวิตรอดมาได้ โดยไม่ทราบชะตากรรมของนายอีต้า

 

แม้ถึงปัจจุบันตำรวจยังตามไม่พบศพนายสามารถ และน.ส.อรษา แต่การพบศพคนงานพม่า และพยานหลายปากให้การถึงพฤติกรรมของหมอสุพัฒน์ น่าจะทำให้คดีนี้ขึ้นไปสู่การพิจารณาชั้นศาล และเชื่อว่าจะเป็นคดีเกี่ยวกับ‘หมอ’ที่สังคมให้ความสนใจ ไม่น้อยกว่าคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

 

 

‘นวลฉวี’ ตำนานหมอฆ่าเมีย

 

 

ไม่ว่าจะกี่ครั้งกี่หนที่เกิดเหตุฆาตกรรมโดยฝีมือของหมอ หนึ่งในคดีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบเคียง หรือเอ่ยอ้างถึงบ่อยครั้งที่สุดคือคดี ‘นวลฉวี’ ซึ่งถือเป็นคดีแห่งตำนาน ‘หมอฆ่าเมีย’ ที่โด่งดังที่สุด แม้คดีนี้จะเกิดขึ้นมากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม ความโด่งดังของคดีนี้เห็นได้จาก จุดที่พบศพคือ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานนนทบุรี รอยต่อระหว่างอ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี กับ อ.เมือง จ.ปทุมธานี หกระทั่งมีชื่อเรียกติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า ‘สะพานนวลฉวี’

 

วันที่ 12 กันยายน 2502 มีผู้พบศพหญิงสาวสวมเสื้อสีฟ้าอ่อน กระโปรงดำ ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานนนทบุรี มีบาดแผลถูกแทงเข้าร่างกาย 3 แห่ง และมีร่อยรอยถูกข่มขืน หลักฐานเดียวที่บ่งบอกว่าเธอเป็นใครคือ แหวนทองสลักคำว่า ‘รามเดชะ’ แต่ก็เป็นสิ่งที่นำไปสู่การสืบหาตัวตนของหญิงสาว และในเวลาอันสั้นทราบว่าเธอคือ ‘นวลฉวี เพชรรุ่ง’ หรือ นวลฉวี รามเดชะ หรือ นวลฉวี สุญาณเศรษฐกร พยาบาลประจำโรงพยาบาลยาสูบ ภรรยาของ น.พ.อธิป สุญาณเศรษฐกร แพทย์ประจำโรงพยาบาลรถไฟ โดย ‘รามเดชะ’ เป็นนามสกุลเก่าของ น.พ.อธิป

 

ตำรวจเข้ามาสอบสวนคดีนี้ไม่นาน พบพยานหลักฐานชี้โยงไปถึงหมออธิปว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการตายของภรรยา ส่วนสาเหตุตำรวจเชื่อว่าเป็นปมพิศวาสฆาตกรรม ที่หมออธิปต้องการกำจัดนวลฉวีให้พ้นทาง เนื่องจากกำลังมีความรักกับหญิงสาวอีกคนหนึ่ง ถึงขั้นจดทะเบียนสมรสกัน และวางแผนจะแต่งอย่างอย่างเป็นทางการ ทั้ง ๆ ที่หมออธิปจดทะเบียนสมรสกับนวลฉวีอยู่ก่อนแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จนมุมด้วย ‘ไดอารี่’ หลักฐานสำคัญ

 

 

ตำรวจสอบปากคำพยานแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งพบไดอารี่ของนวลฉวี ที่บันทึกเรื่องราวระหว่างเธอกับหมออธิป และหญิงสาวอีกคนไว้อย่างละเอียด โดยมีพยานและหลักฐานต่าง ๆ เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่การเขียนขึ้นลอย ๆ หรือต้องการใส่ร้ายแต่อย่างใด (ปัจจุบันไดอารี่และเสื้อผ้าชุดสุดท้ายของนวลฉวี เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์นิติเวชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช)

 

จากคำให้การของเพื่อน ๆ และคนใกล้ชิด รวมทั้งข้อความในไดอารี่พบว่า ช่วงปีพ.ศ.2500 นวลฉวีพบรักกับหมออธิป ระหว่างเดินทางไปเที่ยวจ.ลำปาง ช่วงนั้นนวลฉวีเป็นพยาบาลประจำโรงพยาบาลยาสูบ ส่วนหมออธิป เป็นหมอโรงพยาบาลรถไฟ ประจำ จ.ลำปาง จากนั้นทั้งคู่ติดต่อกันเรื่อยมา กระทั่งหมออธิปย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ และมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน โดยนวลฉวีเริ่มเรียกร้องความรักจากหมออธิปมากขึ้น และตามติดแทบไม่ให้คลาดสายตา ยิ่งเมื่อมีหญิงสาวอีกคนเข้ามาในชีวิต โดยเป็นนักศึกษาสาว ที่รู้จักกับหมออธิปมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก่อนที่ทั้งคู่จะตกลงคบหากัน ทั้ง ๆ ที่หมออธิปมีนวลฉวีอยู่แล้ว

 

 

รักซ้อน-จดทะเบียนซ้อน ปมฆาตกรรม

 

 

สุดท้ายหมออธิป ยอมจดทะเบียนสมรสกับนวลฉวี ที่อ.ยานนาวา เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502 และอีก 1 สัปดาห์ต่อมา ก็จดทะเบียนสมรสซ้อนกับนักศึกษาสาว เมื่อนวลฉวีรู้จึงยิ่งอาละวาดหนักขึ้น สุดท้ายหมออธิป ลงไม้ลงมือทำร้ายนวลฉวี กลางโรงพยาบาล กลายเป็นคดีความขึ้นมา จนวันที่ 13 กรกฎาคม 2502 นวลฉวี แจ้งความดำเนินคดีกับสามี แต่สุดท้ายตกลงยอมความกันในเดือนกันยายน โดยมีเงื่อนไขว่าหมออธิปจะต้องจัดงานแต่งงานและย้ายออกมาอยู่บ้านหลังใหม่ กระทั่งวันที่ 10 กันยายน 2502 นวลฉวี หายตัวไปอย่างลึกลับก่อนพบเป็นศพลอยในแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้สะพานนนทบุรี ในอีก 2 วันต่อมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากคำให้การของพยานและหลักฐานต่าง ๆ ตำรวจจึงพุ่งเป้าไปที่หมออธิป และบริวารแวดล้อม ก่อนไปสะดุดที่เพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกชายของคนไข้ที่หมออธิปเคยช่วยชีวิตไว้จนสนิทสนม และนับถือกันอย่างมาก โดยเพื่อนรายนี้มีบ้านพักอยู่ในสวนย่านบางบำหรุ ธนบุรี ตำรวจตัดสินใจบุกไปตรวจสอบ พบหลักฐานคราบเลือด และขวดยาสลบชนิดน้ำ ที่ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ตำรวจเริ่มตามเบาะแสกระทั่งจับกุมผู้เกี่ยวข้องได้อีกหลายราย ทั้งหมดซัดทอดว่า ฆาตกรคือสัปเหร่อ ที่มีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กับเพื่อนหมออธิป โดยได้ค่าจ้าง 10,000 บาท เริ่มวางแผนตั้งแต่เดือนสิงหาคม หรือช่วงที่หมออธิปกำลังมีคดีกับนวลฉวีอยู่

 

พยานและผู้ต้องหาในคดีนี้ซัดทอดว่าหมออธิป หลอกพานวลฉวีมาที่บ้านเพื่อนในสวน จากนั้นโปะยาสลบ สัปเหร่อลงมือขืนใจนวลฉวี ก่อนใช้มีดแทงเสียชีวิต ทั้งหมดช่วยกันห่อศพ อุ้มมาขึ้นรถนำมาโยนทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานนนทบุรี อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 5 คน คือ หมออธิป สัปเหร่อมือมีด และผู้ที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์อีก 3 คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันที่ 12 ธันวาคม 2503 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาประหารชีวิตหมออธิป และจำคุกตลอดชีวิตสัปเหร่อมือมีด จำเลยที่เหลือยกฟ้อง แต่หมออธิปได้รับอับการอภัยโทษ และลดโทษอีกหลายครั้งกระทั่งออกจากคุกในปี 2515 แต่ได้รับอิสรภาพไม่นาน หมออธิปก็ประสบอุบัติเหตุรถชนเสียชีวิต และจากวันแรกที่ถูกจับกุมดำเนินคดี จนถึงวาระสุดท้าย หมออธิปยืนยันว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์

 

 

‘ศยามล’ สะเทือนขวัญ-สะเทือนใจ

 

 

พ้นจากคดีนวลฉวี มาหลายสิบปีแทบไม่เกิดคดี ‘หมอฆาตกร’ ขึ้นอีก จนล่วงเข้าปี 2536 ทั้งสังคมต้องสะเทือนขวัญและสะเทือนใจพร้อม ๆ กัน เมื่อมีผู้พบศพน.ส.ศยามล ลาภก่อเกียรติ ถูกแทงตายคารถเก๋งนิสสัน สีขาว ทะเบียน ก-2344 ประจวบคีรีขันธ์ ในพื้นที่ อ.บ้านลาด จ.ประจวบฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2536 ที่สลดใจมากไปกว่านั้น ก็เห็นจะเป็นภาพเด็กหญิงวัย 2 ขวบ บุตรสาวนอนกอดศพแม่ร่ำไห้อยู่เป็นเวลานาน กว่าจะมีผู้มาพบศพ

 

ญาติของศยามล ให้การกับตำรวจอย่างมั่นใจว่า คดีนี้เกี่ยวข้องกับน.พ.บัณฑิต โฆษิตชัยวัฒน์ หมอหนุ่มจากตระกูลคหบดีชื่อดังของหัวหิน อดีตสามีเพราะกำลังมีปัญหาขัดแย้งกันอย่างรุนแรง สาเหตุเพราะน.พ.บัณฑิต กำลังจะแต่งงานกับแพทย์หญิงคนหนึ่ง แต่ศยามลขู่ว่าจะสวมชุดดำและอุ้มลูกไปร่วมงาน นอกจากนี้ศยามลยังมาเปิดร้านขายเสื้อผ้าอยู่ใกล้ ๆ กับคลินิกของแพทย์หญิงแฟนของ น.พ.บัณฑิต อีกด้วย โดยหมอหนุ่มเคยขอร้องให้พาลูกย้ายออกจากหัวหินไปอยู่ที่อื่น แต่ศยามลไม่ยอม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รูปคดีไม่ต่างจาก ‘นวลฉวี’ ที่มีบุคคลที่สามเกี่ยวข้อง

 

 

คดีศยามลแทบจะมีลักษณะใกล้เคียงกับ ‘นวลฉวี’ อย่างยิ่ง และหลักฐานอีกชิ้นที่ตำรวจพบก็คล้ายคลึงกันคือไดอารี่ ที่ศยามลบันทึกข้อความตั้งแต่แรกพบรักกับหมอบัณฑิต จวบจนแยกทางกัน และมีปัญหาเกี่ยวกับบุคคลที่สาม เข้ามาแทรกระหว่างศยามลกับหมอบัณฑิต

 

เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนตำรวจเริ่มตามแกะรอยหมอบัณฑิต ลักษณะคล้ายกับคดีนวลฉวี ที่ตำรวจสืบหาเบาะแสจากคนรอบข้าง ‘หมออธิป’ จนสามารถคลี่คลายคดีได้ ในคดีนี้ก็เช่นกัน ตำรวจใช้เวลาไม่นานก็พบผู้ต้องสงสัยเป็นอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่สนิทกับหมอบัณฑิต เพราะครอบครัวหมอบัณฑิต มีกิจการสื่อท้องถิ่นทั้งหนังสือพิมพ์และเคเบิ้ลทีวี พร้อม ๆ กันนี้ เจ้าหน้าที่เก็บรอยนิ้วมือในรถของศยามล และยังได้พยานสำคัญเป็นเพื่อนของศยามล ที่ระบุว่าวันเกิดเหตุเห็นหมอบัณฑิต ขับรถของศยามล โดยมีชายฉกรรจ์หลายคนนั่งมาในรถ

 

เพื่อนคนนี้ติดต่อไปที่บ้านของศยามล และทราบว่าศยามลไม่อยู่ จึงตัดสินใจไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเกรงว่าจะเกิดเรื่องร้ายขึ้น แต่ตำรวจไม่รับแจ้ง เพราะไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งชี้ว่าจะเกิดเหตุร้าย กระทั่งมาพบศพศยามลในตอนเช้าอีกวัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อได้พยานหลักฐานครบครันตำรวจเข้าล็อกตัวอดีตนักข่าว ลูกน้องหมอบัณฑิต ขณะมากบดานในกรุงเทพฯ ให้การรับสารภาพและซัดทอดทีมสังหารอีก 2 คน โดยหมอบัณฑิต เป็นผู้จ้างวาน ต่อมาตำรวจกันตัวลูกน้องหมอบัณฑิต ไว้เป็นพยาน โดยระบุว่าหมอบัณฑิต ให้จัดหาคนร้ายมาก่อเหตุฆ่าศยามลหลายครั้ง แต่ไม่มีโอกาส กระทั่งวันเกิดเหตุหมอบัณฑิตลงมือเอง โดยติดต่อศยามลให้พาลูกออกมาพบ ก่อนพาไปยังจุดที่นัดกับคนร้ายให้ขึ้นรถมาด้วย ก่อนใช้เชือกรัดคอ และแทงซ้ำจนเสียชีวิต ก่อนที่หมอบัณฑิตจะให้ข่มขืนศพ แต่ไม่มีใครกล้าทำ เลยใช้ก้านกล้วยชำเราแทน เพื่ออำพรางเป็นคดีฆ่าข่มขืน ส่วนลูกนั้นหมอบัณฑิตตัดใจไม่ลงจึงปล่อยเอาไว้

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2536 ตำรวจเข้าจับกุมหมอบัณฑิต ที่โรงพยาบาลหัวหิน ก่อนตามจับฆาตกรที่เหลือได้ครบทั้งหมด โดยทีมฆ่าสารภาพ มีเพียงหมอบัณฑิต ให้การปฏิเสธ

 

คดีนี้สู้กันยาว 3 ศาลจนถึงชั้นฎีกา โดยวันที่ 23 ธันวาคม 2539 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ประหารชีวิตหมอบัณฑิต และตัดสินจำคุกตลอดชีวิตทีมฆ่า แต่หมอบัณฑิต ได้รับอภัยโทษประหารเหลือจำคุก และได้รับการลดหย่อนโทษเรื่อยมาในฐานะนักโทษชั้นดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘เสริม‘ อัจฉริยะอันตราย

 

 

อีกคดีที่แม้ผู้ก่อเหตุจะไม่ใช่ ‘หมอ’ แต่ก็เป็นนักศึกษาแพทย์ หรือ ‘ว่าที่หมอ’ นั่นคือ ‘เสริม สาครราษฎร์’ อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฆาตกรฆ่าหั่นศพ ‘น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี’ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นคดีฆ่าชำแหละศพคดีแรก ๆ ที่เปิดเผยขึ้นมา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2541 แต่มาเป็นข่าวใหญ่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 หลังจากพ่อแม่ของเจนจิรา แจ้งความว่า ลูกสาวหายตัวไปอย่างลึกลับ พร้อมกับรถเก๋งโตโยต้า โคโรน่า สีเขียว หมายเลขทะเบียน 8 ษ-8580 กรุงเทพมหานคร

 

 

ตำรวจเชิญตัว เสริม สาครราษฎร์ ซึ่งเป็นแฟนหนุ่มมาสอบปากคำ เสริมรับว่าอยู่กับเจนจิรา ในวันที่ 26 มกราคม เพราะนัดพบกันที่ห้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบัน-เซ็นทรัลเวิลด์) แต่แยกกันไป และไม่ได้เจอกันอีก แต่ตำรวจสอบพบว่า ระยะหลังทั้งคู่มีปากเสียงกันบ่อยครั้ง เนื่องจากฝ่ายหญิงต้องการเลิกรา แต่เสริมไม่ยอม

 

เจ้าหน้าที่เริ่มสืบประวัติของเสริม และต้องตกตะลึงกับความ ‘อัจฉริยะ’ เพราะเสริม ไม่ใช่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่  2 ธรรมดา แต่มีดีกรีวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วย โดยสามารถสอบเข้าเรียนตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี หลังเรียนจบ ก็สอบเอนทรานซ์ใหม่ เข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ ตามที่ครอบครัวร้องขอ

 

จากประวัติตำรวจสืบไปถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่งซึ่งมีบ้านอยู่ย่านจรัญสนิทวงศ์ ให้การว่า เสริมแวะมาหาที่บ้านเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 และล้างรถนานผิดปกติ ขณะที่เพื่อนบ้านใน จ.ชลบุรี บ้านเกิดของเสริม ระบุว่าเสริม กลับมาบ้านในวันที่ 28 มกราคม 2541 และเผาสิ่งของบางอย่าง เมื่อสอบถามก็มีอาการตกใจ ตำรวจตัดสินใจเชิญตัวเสริมมาสอบปากคำอีกครั้ง และให้เข้าเครื่องจับเท็จ ท้ายที่สุดนักศึกษาอัจฉริยะให้การสารภาพว่า ลงมือฆ่าแฟนสาว เพราะไม่พอใจที่ถูกบอกเลิก และให้การถึงจุดสังหารในโรงแรมแห่งหนึ่ง รวมทั้งที่ทิ้งข้าวของต่าง ๆ

 

 

ข้าวของอื่น ๆ ของเจนจิรานั้น ตำรวจตามพบตามที่เสริมให้การ ยกเว้นจุดสังหาร เพราะในโรงแรมไม่พบร่องรอยใด ๆ เลย การหาศพไม่พบเป็นปัญหาในทางกฎหมายแน่นอน แต่ในที่สุดตำรวจก็พบหลักฐานสำคัญอีกชิ้น เมื่อตัดสินใจไปงมหาหลักฐานที่แม่น้ำบางปะกง จุดที่เสริมต้องขับรถผ่านไปยังจ.ชลบุรี และพบกะโหลกมนุษย์ เมื่อนำมาทำภาพเชิงซ้อนก็ยืนยันว่าเป็นกะโหลกศีรษะของเจนจิรา ถึงตอนนี้เสริมยอมสารภาพว่า จุดสังหารเป็นห้องพักในคอนโดมิเนียมของเขา โดยใช้ปืนยิงศีรษะก่อนชำแหละศพ ที่นี่พบคราบเลือดจำนวนมาก และในบ่อเกรอะพบชิ้นเนื้อของเจนจิราด้วย

 

เวลาผ่านไป 1 ปี ระหว่างการพิจารณาของศาล คดีนี้ได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อตำรวจพบหลักฐานเพิ่มเติมเป็นทรัพย์สินของเจนจิรา ซุกอยู่บนฝ้าเพดานบ้านเพื่อนสนิทของเสริม ย่านจรัญสนิทวงศ์ ที่ไปขอล้างรถนั่นเอง การพบเจอก็แปลกประหลาดยิ่ง เพราะเริ่มจากเจ้าของบ้านแจ้งเหตุงูเลื้อยขึ้นไปบนฝ้า เมื่อเจ้าหน้าที่มาจับงูก็พบกล่องทรัพย์สินของเจนจิรา ยิ่งเป็นหลักฐานมัดแน่นหนามากขึ้น

 

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ระหว่างถูกคุมขังเสริม เรียนจบปริญญานิติศาสตร์อีกใบ เป็นนักโทษชั้นดีได้รับการพระราชทานอภัยโทษถึง 5 ครั้ง และพ้นโทษออกมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2554 รวมถูกคุมขังในเรือนจำราว 14 ปี ปัจจุบันเสริม สาครราษฎร์ มีอายุ 36 ปี

 

 

‘หมอวิสุทธิ์’ ฆ่าชำแหละศพภรรยาตัวเอง

 

 

ผ่านจากคดีเสริม สาครราษฎร์ เพียงไม่กี่ปี ก็เกิดคดีลักษณะคล้าย ๆ กันขึ้น คราวนี้คนร้ายไม่ใช่นักศึกษาแพทย์ แต่เป็นถึงอาจารย์แพทย์ และคุณหมอด้านสูตินรีเวช ที่มีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูง เป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องแก้ปัญหามีบุตรยากระดับแถวหน้าคนหนึ่งของเมืองไทย แถมเป็นคดีที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน มีหลักฐานจริง ๆ เท็จ ๆ มากมาย และเป็นคดีแรก ๆ ที่กระบวนการยุติธรรมไทย ตัดสินโทษคนร้ายโดยไม่มีประจักษ์พยาน และไม่พบศพอย่างชัดเจน เพียงใช้พยานและหลักฐานแวดล้อมเป็นหลัก กระทั่งกลายเป็นกรณีตัวอย่าง ที่เอ่ยถึงในการเรียนการสอนของโรงเรียนตำรวจ และนิสิต-นักศึกษากฎหมายด้วย

 

คนร้ายในคดีนี้คือ น.พ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ส่วนเหยื่อคือ พ.ญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร หรือ โรงพยาบาลรถไฟ ภรรยา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จุดเริ่มจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2544 หมอวิสุทธิ์เข้าแจ้งความกับตำรวจสน.พญาไท ว่า พ.ญ.ผัสพร หายตัวไป แต่จากนั้นไม่นาน ก็เข้าพบตำรวจอีกครั้งระบุว่าเจอตัวแล้ว ทำนองว่ามีจดหมายตัวพิมพ์ข้อความจากพ.ญ.ผัสพร ส่งมาที่ทำงานและส่งให้ลูก ๆ ทำนองว่า ไปนั่งวิปัสสนาที่ จ.ระยอง เป็นเวลา 15 วัน และหมอวิสุทธิ์ยังนำเพจเจอร์ หรือวิทยุติดตามตัว มาแสดงโดยมีข้อความจากพ.ญ.ผัสพรส่งมาในลักษณะเดียวกัน

 

เมื่อครบกำหนดวันลาพ.ญ.ผัสพรยังไม่ปรากฎตัว ญาติของพ.ญ.ผัสพร เข้าร้องทุกข์โดยเชื่อว่าน่าจะเกิดเหตุร้าย พร้อมพุ่งเป้าไปที่หมอวิสุทธิ์ เพราะกำลังมีปัญหากันอยู่ ถึงขนาดที่หมอวิสุทธิ์ฟ้องขอหย่า แต่ฝ่ายหญิงไม่ยอม ตำรวจจึงเริ่มสืบสวนอย่างจริงจัง กระทั่งได้ข้อมูลจากเพื่อนที่ทำงานว่า ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ญ.ผัสพร ออกไปพบกับสามีและช่าง เรื่องซ่อมแซมบ้าน โดยทราบว่าไปที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

 

 

ตำรวจเริ่มสืบจากจุดสุดท้ายที่พบยังมีชีวิต

 

 

ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์นี่เอง เจ้าหน้าที่พบหลักฐานแรก เป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่น.พ.วิสุทธิ์ เดินประคองพ.ญ.ผัสพร ออกไปด้านนอก เมื่อตรวจสอบภายในห้างพบว่า ทั้งคู่มารับประทานอาหารกลางวันที่ร้านโออิชิ เมื่อสอบปากคำพนักงานในร้าน และภาพจากกล้องวงจรปิดพบพ.ญ.ผัสพรเดินเข้ามาด้วยอาการปกติ แต่ตอนขาออกมีอาการคล้ายคนเมา พนักงานจำได้ว่า เมื่อสอบถามหมอวิสุทธิ์ตอบว่า เมาพันซ์ที่สั่งมาดื่ม ทำให้พนักงานทำหน้าเหรอหรา เนื่องจากน้ำพันซ์ของร้านไม่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่เลย และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นพ.ญ.ผัสพร

 

ตำรวจเริ่มตรวจสอบข้อมูลทางลับอื่น ๆ ของหมอวิสุทธิ์ กระทั่งพบว่า วันเดียวกับที่พ.ญ.ผัสพรหายตัวไป หมอวิสุทธิ์ไปเปิดห้องพักที่อาคารวิทยนิเวศ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พักสำหรับบุคคลากรของมหาวิทยาลัย วันรุ่งขึ้นก็ย้ายไปพักที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว ซึ่งจองเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2544 หรือก่อนเกิดเหตุ 1 สัปดาห์ ไม่เพียงเท่านั้นตำรวจตรวจสอบเพจเจอร์ของน.พ.วิสุทธิ์ที่อ้างว่า ช่างนัดให้มาคุยเรื่องบ้าน จริง ๆ แล้วหมอวิสุทธิ์ โทรศัพท์เข้าเพจเจอร์ตัวเอง รวมทั้งข้อความที่พ.ญ.ผัสพรแจ้งว่าไปอยู่ จ.ระยอง หมอวิสุทธิ์ก็เป็นผู้โทรศัพท์ไปแจ้งเองด้วย

 

 

 

 

 

 

พบหลักฐานสำคัญมากพอจนถูกจับกุม

 

 

หลักฐานสำคัญอีกหนึ่งคือจดหมายลางาน ตำรวจพบพยานเป็นร้านรับพิมพ์ระบุว่า หมอวิสุทธิ์มาจ้างให้พิมพ์ข้อความทั้งหมด นอกจากนี้พบอีกว่าวันที่พ.ญ.ผัสพรหายตัวไป หมอวิสุทธิ์ไปซื้อหาถุงขยะสีดำขนาดใหญ่ ก้อนดับกลิ่น และกระดาษทิชชู่ จำนวนมากผิดปกติ อีกทั้งก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน หมอวิสุทธิ์สั่งยานอนหลับชนิดร้ายแรงยี่ห้อโดมิคุ่ม อ้างว่าให้แม่ แต่ตามประวัติไม่พบว่าแม่ของหมอวิสุทธิ์ใช้ยาชนิดนี้

 

เมื่อได้หลักฐานระดับหนึ่งตำรวจเข้าตรวจค้นห้องพักในอาคารวิทยนิเวศ พบคราบเลือดจำนวนมากในห้องพัก จึงดูดบ่อเกรอะขึ้นมาตรวจสอบ พบชิ้นเนื้อมนุษย์จำนวนมาก เช่นเดียวกับที่โรงแรมโซฟิเทล ก็พบชิ้นเนื้ออีกส่วนหนึ่ง แพทย์ตรวจสอบแล้วมีดีเอ็นเอตรงกับพ.ญ.ผัสพร ทำให้หมอวิสุทธิ์ถูกดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรม

 

 

ส่วนสาเหตุตำรวจสอบพบว่า น่าจะมาจากเมื่อปี 2541 พ.ญ.ผัสพรพบว่า สามีสนิทสนมกับคนไข้ จึงบังคับให้เขียนจดหมายสารภาพผิดเอาไว้ และต่อมาเกิดเรื่องอีกหลายครั้ง จนฝ่ายชายขอหย่า แต่พ.ญ.ผัสพรไม่ยอมและยังขู่ว่า จะไปร้องเรียนที่โรงพยาบาลรวมทั้งแพทยสภาด้วย

 

คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่า หมอวิสุทธิ์ มีความผิดจริงตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการอภัยโทษและลดโทษเรื่อยมา เพราะเป็นนักโทษชั้นดี ล่าสุดเมื่อปลายปี 2554 ได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 21 ปี

 

 

จิตวิเคราะห์ฆาตกรเสื้อกาวน์

 

 

การเกิดคดีที่ ‘หมอ’ ตกเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรม ทุกครั้งทำให้สังคมต้องช็อก เพราะไม่เชื่อว่า บุคคลที่มีอาชีพช่วยชีวิตคน กลับก่อเหตุร้ายทำนองนี้ได้ และส่วนใหญ่ของผู้ก่อเหตุนอกจากมีความชาญฉลาดแล้ว ยังมาจากครอบครัวที่ดี แล้วเหตุใดถึงกล้าก่ออาชญากรรมร้ายแรง มีการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญคือ พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต มองว่า ผู้ที่กระทำความผิดขัดต่อหลักกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม ซึ่งเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าไอคิวสูง หรือต่ำ ยากจนหรือร่ำรวย ผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่

 

พ.ญ.อัมพรระบุว่า มีคำถามหนึ่งที่ถามกันมากคือ ความฉลาดทางความคิด หรือ ไอคิว กับความฉลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว เป็นไปได้หรือไม่ที่เมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งสูง อีกอย่างจะต่ำลง ว่าตามปกติแล้วไอคิว กับอีคิว จะเกิดขึ้นสอดคล้องกัน แต่กรณีสามารถเกิดขึ้นไม่สอดคล้องได้ เช่น ในช่วงวัยเด็กซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาไอคิว มีอุปสรรคมารบกวนการพัฒนาอีคิว ก็สามารถทำให้ไม่สอดคล้องกัน เช่นอยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ถูกเอาเปรียบในวัยเด็ก หรือตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ถูกกระทำทารุณทางเพศ บางครั้งอาจเกิดจากการที่เด็กไม่ได้อยู่กับครอบครัว สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดปมในใจ ซึ่งจะแสดงออกทางบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น

 

ส่วนบุคคลที่มีไอคิวสูงเมื่อกระทำความผิด มักจะกลบเกลื่อนหลักฐานได้อย่างแนบเนียนมากกว่าคนปกติทั่วไป พ.ญ.อัมพรกล่าวว่า ส่วนหนึ่งคนกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องจริยธรรมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม การมีไอคิวสูงหรือเฉลียวฉลาดกว่าคนปกติ เมื่อกระทำความผิดแล้ว จึงใช้ความฉลาดนั้นปกปิด แทนที่จะยอมรับผิด ในทางจิตวิทยาสันนิษฐานไปถึง ‘อาการบุคลิกแปรปรวน’ (multiple personality disorder) ซึ่งบางคนรู้ตัวว่า กระทำความรุนแรง แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีหลายบุคลิกในคน ๆ เดียว แต่ลักษณะเช่นนี้พบได้น้อยมาก และสังเกตได้ยาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขณะที่น.พ.พงศกร เล็งดี จิตแพทย์ สถาบันวิจัยจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา วิเคราะห์อาการบุคลิกภาพแปรปรวนว่า ยังมีความเข้าใจผิดไปถึงอีกโรคหนึ่ง คือ ‘โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว’ หรือ ‘ไบโพลาร์’ (Bipolar disorder) เป็นอารมณ์ที่แปรปรวนอย่างรุนแรง บางครั้งอารมณ์ดีสุด ๆ บางครั้งก็ซึมเศร้าได้สุด ๆ อาการจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และอารมณ์สุดขั้วอย่างใดอย่างหนึ่งอาจะจะเกิดติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์

 

 

                     “ผู้เป็นไบโพลาร์ จะมีช่วงอารมณ์สุดขั้วสลับกัน ในช่วงที่อารมณ์ดีมาก จะมีความสุขมากผิดปกติ แสดงออกหลายรูปแบบ เช่น ใช้เงินเพื่อช้อปปิ้ง เล่นการพนัน รู้สึกพลังเยอะ คิดอยากทำสิ่งต่าง ๆ พร้อมกัน ผู้ที่เป็นไบโพล่าร์แบบถาวร บางครั้งจะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าปกติ แต่หากกลับไปมีระยะซึมเศร้า บางคนใช้เงินไปเยอะ ก็จะรู้สึกเสียดายเงิน หดหู่ ซึมเศร้า บางคนรู้สึกสิ้นหวังไม่อยากมีชีวิตอยู่เลยก็มี ซึ่งอารมณ์ที่สลับไปมาอย่างรุนแรงนี้ ถือว่าเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยคนนั้น ๆ บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการหลงผิด หวาดระแวง ซึ่งเข้าสู่ระยะของอาการทางจิตประสาทได้” น.พ.พงศกรกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: