เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 15 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เชิญตัว นายไพศาล ผ่องผิว ตำแหน่ง ช่างเครื่องเรือกลลำน้ำ ช 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอนันต์ แก้ววิเชียร วิศวกรชำนาญการ รก.ผศบ.7 ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 จ.เชียงใหม่ สังกัดกรมเจ้าท่า มาปักหมุดหมายของกรมเจ้าท่า ตามแนวลำน้ำยมในบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ใกล้กับแนวสันเขื่อนแก่งเสือเต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพศาลนำรถมาสด้า สีเขียว ทะเบียน บง 7657 แพร่ พร้อมคนงานที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัท AP กรุงเทพ จำกัด นำรถมิสซูมิชิสตาด้า สีน้ำเงิน ทะเบียน บน 2364 แพร่ ขนหลักหมุดปูนขนาดสูง 1 เมตร จำนวน 27 หลัก โดยปักหลักไปแล้ว 22 หลัก ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ยม โดยคนงานแจ้งว่า บริษัทได้รับเหมางานจากกรมเจ้าท่า มาปักหมุดของกรมเจ้าท่า บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ จึงนำคนงานอีก 5 คนจากบ้านวังหงษ์ จ.แพร่ เข้าสำรวจและปักหลักระดับน้ำของแม่น้ำยม
จากนั้นชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร้องขอให้ถอนหลักของกรมเจ้าท่าออกไป ซึ่งชาวบ้านหวั่นว่าเป็นการปักหลักสำรวจเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ชาวบ้านคัดค้านอยู่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นกรมเจ้าท่า เข้ามาดำเนินการอะไรในบริเวณดังกล่าวเลย
นายวิชัย รักษาพล แกนนำชาวบ้านซึ่งเข้าเจรจากับเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ช่วงนี้ชาวบ้านหวั่นวิตกว่ารัฐบาลจะเร่งดำเนินการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง จึงขอให้กรมเจ้าท่าถอนหลักหมุดออกไปก่อน เพราะพวกเราชาวสะเอียบได้มีมติชุมชนไปแล้วว่า ห้ามหน่วยงานใด ๆ เข้ามาสำรวจหรือหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย หากยังไม่เชื่อกันอยากจะให้เกิดเหตุการณ์เหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ลองดู
ต่อมาเวลา 15.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะเอียบได้เดินทางมาถึง ชาวบ้านสะเอียบจึงแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการกับกรมเจ้าท่า ที่มาปักหลักหมุดฝืนมติชุมชนสะเอียบ เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.สะเอียบ จึงเชิญทั้ง 2 ฝ่าย ไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ สภ.สะเอียบ โดยนำของกลางหลักหมุดทั้ง 22 หลักไปด้วย
ด้านนางสุดารัตน์ ชัยมงคล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านดอนชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านสะเอียบมีความเครียดมากเรื่องเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งส่งผลกระทบกับชาวบ้านสะเอียบทั้งนั้น และชาวบ้านได้มีมติห้ามบุคคล เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขื่อนเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะไม่รับรองความปลอดภัย ชาวบ้านที่นี่ดุ แต่มีเหตุผล หากคุยกันรู้เรื่องก็ไม่เอาความ หากไม่รู้เรื่องอาจเกิดความรุนแรงขึ้นมาได้
“เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกเข้ามาในพื้นที่ทั้งที่ชาวบ้านแจ้งเตือนแล้วว่าไม่ต้องเข้ามา วันต่อมาเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกเข้ามาพื้นที่อีกจึงเกิดการตีกัน ในครั้งนั้นชาวบ้านถูกจับเข้าคุก ส่วนเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกก็หัวร้างข้างแตก รถตู้พังยับเยิน เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก” นางสุดารัตน์กล่าว
ทางด้าน นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ กล่าวว่า ตนในฐานะกำนันตำบลสะเอียบจะได้ประสานงานกับหน่วยราชการต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งอำเภอ จังหวัด ราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง ได้รับทราบมติของชุมชนสะเอียบ ที่มีมติห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อน ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ได้รับรู้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมา ส่วนตัวเองถึงแม้จะเป็นกำนัน แต่ขอยืนหยัดคัดค้านเขื่อนตามมติของชาวบ้าน จะเกิดอะไรก็ต้องเกิด ชาวบ้านสะเอียบจะสู้จนถึงที่สุด
กระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. การหารือกันทั้งสองฝ่ายที่ สภ.สะเอียบ จึงสามารถตกลงกันได้ โดยทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย โดยชาวบ้านสะเอียบไม่เอาความ แต่ขอให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าอย่าเข้ามาในพื้นที่อีก และขอให้ลบข้อมูลในเครื่อง GPS ออกทั้งหมด เพื่อความสบายใจกันทั้งสองฝ่าย จึงได้ข้อยุติกัน ส่วนของกลางหลักหมุดกรมเจ้าทั้ง 22 หลัก นายไพศาลจะได้ประสานเข้ามารับกลับคืนไปอีกครั้งหนึ่ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ