เปิด ‘ปฏิบัติการสารสิน 55’ รับครม.สัญจร จี้รัฐหยุดพัฒนาภาคใต้แบบไม่มีส่วนร่วม แฉโปรเจคยักษ์รุก'อ่าวไทย-อันดามัน'อื้อ หวั่นชุมชน-สิ่งแวดล้อม-แหล่งอาหารวอด

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 16 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2514 ครั้ง

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปประชุมครม.สัญจร ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จ.ภูเก็ต ในวันที่ 19-20 มี.ค. นับเป็นครั้งแรกที่คณะรัฐบาลชุดนี้เดินทางลงไปยังภาคใต้อย่างเป็นทางการ สร้างความคึกคักให้กับกลุ่มนักธุรกิจ ข้าราชการ และประชาชน ที่คาดหวังว่าครม.สัญจรของรัฐบาลในครั้งนี้ จะต้องตอบสนองความต้องการ แก้ไขปัญหาและผลประโยชน์ในพื้นที่ภาคใต้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะนโยบายการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้

ขณะที่เครือข่ายเพชรเกษม 41 ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้าน เอ็นจีโอ นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่เคลื่อนไหวคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ก็ได้เตรียมการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเช่นเดียวกัน และยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม เตรียมการยื่นเสนอปัญหา ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ

เนื่องจากแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และเกิดขึ้นจริง ภาคใต้ก็จะถูกเปลี่ยนโฉมไป เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่โดยสิ้นเชิง และไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

 

เตรียมปฏิบัติการสารสิน 55 รับครม.สัญจร

 

นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว แกนนำเครือข่ายเพชรเกษม 41 ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ทางเครือข่ายจะมีกิจกรรมต้อนรับครม.สัญจร ที่จ.ภูเก็ต โดยใช้ชื่อว่า ปฏิบัติการสารสิน 55  เนื่องจากภูเก็ตมีสะพานสารสิน เป็นสัญลักษณ์ จึงใช้เรียกกิจกรรมครั้งเพื่อสื่อสารให้เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ทำกิจกรรม ส่วนเหตุผลที่ต้องจัดกิจกรรมต้อนรับครม.สัญจร เนื่องนโยบายของรัฐที่ผ่านมา ในการวางแผนกำหนดโครงการต่างๆ ที่จะลงมาก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนหรือผู้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเลย และทุกโครงการขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ในทุกพื้นที่จะถูกคัดค้านต่อต้านจากคนในพื้นที่มาโดยตลอด มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัย

นายทรงวุฒิกล่าวว่า รัฐบาลนี้ก็เช่นเดียวกัน หลังจากได้จัดตั้งรัฐบาลวันแรกทางเครือข่ายเพชร 41 ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาททบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวที่จ.ชุมพร ในครั้งนั้นเหตุผลเนื่องจากแผนพัฒนาภาคใต้จะส่งผลกระทบให้กับชุมชน ชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ  หากดูแผนพัฒนาภาคใต้พบว่าได้กำหนดให้ภาคใต้เป็นภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น กำหนดให้อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่ประมาณ 19,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตำบล 155 หมู่บ้าน ประชากร 115,840 คน รวม 32,676 ครัวเรือน ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการเรียกร้องให้ระงับโครงการ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากทางรัฐบาล

 

จี้ไล่2โรงไฟฟ้า-ท่าเรือพ้นนครศรีฯ

 

นายทรงวุฒิกล่าวอีกว่า หรือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่จะก่อสร้างในจ.นครศรีธรรมราช จำนวน 2 แห่ง ก็เดินหน้าโครงการ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน และยังมีท่าเรือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่จะก่อสร้างในพื้นที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โดยจะมีการขุดร่องน้ำชายฝั่ง เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ซึ่งกระทบต่อชุมชน ชายหาด สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และแหล่งอาหารของชาวนครศรีธรรมราช และถูกคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่โครงการก็ยังดำเนินต่อไป

ดังนั้นการเดินทางมาประชุมครม.สัญจร ที่จ.ภูเก็ต ของรัฐบาลทางเครือข่ายจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสารให้รัฐบาลได้รับรู้ว่า เราไม่ต้องการแผนพัฒนาภาคใต้ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยทางเครือข่ายจะไปรวมตัวกันที่จ.ภูเก็ตในวันที่มีการประชุมครม.เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน

เครือข่ายฯยันไม่ขัดขวางการประชุม

 

ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง สมาชิกเครือข่ายเพชรเกษม 41 กล่าวว่า เราจัดกิจกรรม เพื่อสื่อสารให้รัฐบาลทราบว่า เราไม่ต้องการแผนพัฒนาภาคใต้ ที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เนื่องจากกระทบต่อพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน กระทบต่อทะเล แหล่งต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ โดยเฉพาะอาหารทะเล ซึ่งการทำกิจกรรมของเรา จะไม่มีการขัดขวางการประชุมครม. แต่จะมีการทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ และมีแถลงการณ์เพื่อสื่อสารให้สาธารณะรับรู้ว่า เครือข่ายเพชรเกษม 41 ต้องการบอกกล่าวว่า แผ่นดิน ป่าต้นน้ำ และทะเล เป็นฐานทรัพยากร เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตและไม่ต้องการให้อุตสาหกรรมมาทำลาย เนื่องจากที่ผ่านมาฐานทรัพยากรดังกล่าว สร้างประโยชน์สร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างสบาย

 

“สิ่งที่อยากยกตัวอย่างขณะนี้คือ การเตรียมเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าว เป็นทะเลที่สวยงามมากของภาคใต้ เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนในพื้นที่คนนอกพื้นที่และคนจากทั่วโลก ที่มาท่องเที่ยวพักผ่อน มีทั้งป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า และปะการังหลากสีสวยงาม เป็นเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่เรียกว่า ‘อ่าวนุ่น’ นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กเกาะน้อยอีกหลายเกาะ เช่น เกาะลิดี ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือปากบารา ประมาณ 7 ก.ม. โดยรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญหรือสนใจเลย” นายสมบูรณ์กล่าว

 

เปิดโครงการพัฒนารุมลงใต้เพียบ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการที่ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งได้สร้างความกังวลให้ประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือ ฝั่งอ่าวไทย จ.นครศรีธรรมราช ท่าเรืออุตสาหกรรม  ท่าเรือบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โครงการนิคมอุตสาหกรรม  โรงไฟฟ้าถ่านหิน  2 แห่ง เขื่อน  ในจ.สงขลา เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล หรือสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล  โรงถลุงเหล็กท่าเรืออุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม เขื่อน โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ คลังน้ำมันขนาดใหญ่ ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน  เริ่มจากจ.สตูล เช่น เขื่อน ท่าเรืออุตสาหกรรม คลังน้ำมัน นิคมอุตสาหกรรม จ.ตรัง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขื่อน

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยว ในนามไทยแลนด์ริเวียร่า ครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่าโครงการที่ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท รัฐบาลที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีประเด็นคำถามถึงความเหมาะสมของโครงการดังกล่าวจนเงียบหายไปหลายครั้ง

ส่วนรายละเอียดของโครงการต่างๆอาทิ โครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล มีการถมทะเลเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ โครงการย้ายชุมชนเพื่อก่อการสร้างคลังน้ำมัน สร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 150,000 ไร่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกคัดค้านอย่างหนัก ก่อสร้างสถานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ที่รองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึงปีละ 600,000 ตู้ การสร้างถนน สร้างรถไฟรางคู่ และท่อส่งน้ำมัน จากท่าเรือน้ำลึกปากบาราไปสู่ท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ในพื้นที่อ.จะนะ จ.สงขลา

 

เดินหน้า’ริเวียร่า’สานฝันทักษิณ

 

ส่วนโครงการไทยแลนด์ริเวียร่า เป็นความคิดสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการพยายามผลักดันแผนการท่องเที่ยว เพื่อให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบนของไทย ตั้งแต่เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง ภูเก็ต พังงา ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวริมฝั่งทะเลที่หรูเลิศเหมือนกับริเวียร่าของประเทศฝรั่งเศส โดยมีมูลค่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวกว่า 30,000 ล้านบาท และผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2548 แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้โครงการนี้ก็ต้องหยุดชะงักลง รัฐบาลปัจจุบันจึงรับช่วงพยายามผลักดันต่อไป

ฝั่งอ่าวไทย ที่อ.สิชล จ.นครศรีธรรม ถูกกำหนดให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยจะย้ายนิคมอุตสาหกรรม จากภาคตะวันออก ตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คสช.) โดยกำหนดให้ อ.ท่าศาลา และอ.หัวไทร เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดแห่งละ 800 เมกะวัตต์ และก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เพื่อใช้เป็นฐานสนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กที่อ.ระโนดจ.สงขลา ซึ่งคาดว่าแผนพัฒนาภาคใต้ดังกล่าว จะถูกนำพิจารณาในรายละเอียดในการประชุมครม.สัญจรครั้งนี้

 

 

แถลงการณ์ฉบับที่๑

เพชรเกษม ๔๑ ปฏิบัติการสารสิน

แผ่นดินใต้สืบสายแห่งจิตวิญญาณมาหลายพันปี กระทั่งปัจจุบันความรักแผ่นดินยังคงไม่เสื่อมคลาย ยังฝังอยู่ในสายเลือดตลอดเวลา คนใต้รักสงบ คนใต้อยู่ดีกินดี คนใต้สามารถเป็นที่พึ่งพิงของคนทั้งโลกได้ในเรื่องระบบอาหาร แต่ทว่าเลือดคนใต้แรงพอที่จะลุกขึ้นมาปกป้องแผ่นดินเมื่อรับรู้ว่ามีผู้บุกรุก

ภาคใต้กับความจริงที่ถูกสร้าง

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ถูกจองให้เป็นพื้นที่ “วิบัติ” แผ่นดินเราถูกกำหนดให้เป็นปิโตรเคมีซึ่งประเทศในยุโรปและอเมริกาผลักออกจากประเทศเพราะทำลายชีวิตประชากรของประเทศเขา แต่รัฐบาลของเรารับสิ่งเหล่านี้มาไว้ในประเทศและรับใช้ทุนต่างชาติเต็มที่ ใช้เครื่องมือ สรรพกำลังทั้งหมดเพื่อหนุนเสริมนายทุนข้ามชาติให้ก่อการเปลี่ยนแผ่นดินเราเป็นแผ่นดินมลพิษ  จนเราไม่เข้าใจว่าเขาคือตัวแทนของคนไทยหรือเขาคือทาสของบรรษัทข้ามชาติหรือเขาคือผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนในคราบ ผู้แทนประชาชน  เราถูกสร้างว่าเป็นแผ่นดินยากจน อุตสาหกรรมเข้ามาจะได้หายจน  ทั้งหมดถูกสร้างจนกลายเป็นมายาคติ ความเชื่อของคนในสังคมว่า “อุตสาหกรรมคือความเจริญ” ความจริงที่ถูกสร้างนี้เราไม่อาจยอมรับ เพราะเป็นความจริงแห่งการทำลาย

ความจริงที่เราจะสร้าง

เราจะทำให้แผ่นดินใต้เป็นที่พึ่งทางอาหารของคนทั้งโลกในขณะที่โลกเรากำลังเกิดวิกฤติด้านอาหาร เราเชื่อว่าถ้าเรารักษาแหล่งอาหารไว้ได้เราคือส่วนที่มั่งคั่งที่สุดในโลกพื้นที่หนึ่ง  เราจะสร้างให้ภาคใต้คือสัญลักษณ์ของอาหารในแผนที่โลก ข้อเท็จจริงปรากฏว่าถ้าเรารักษาพื้นที่อาหารไว้ได้ คนใต้ เกือบ ๑๐ ล้านคนจะกลายเป็นคนมั่งคั่ง ข้อเท็จจริงทางสถิติบอกเราว่าความมั่งคั่งของภาคใต้สามารถก่อให้เกิดการจ้างงานและการกระจายรายได้มหาศาล ทั้งยังเป็นแรงงานให้กับพี่น้องทั้งประเทศ  เราเชื่อด้วยพลังจิตวิญญาณว่าเราคือพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้ถ้าวันนี้เรารักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรไว้ได้

คนใต้รักแผนดินภาคใต้

ความรักคือความใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อทรัพยากรธรรชาติ ต่อระบบนิเวศทั้งหมด และนี่คือเส้นทางที่เรายืนยันมาตลอดว่า คือ เส้นทางที่เราร่วมเดิน  เรารักแผ่นดินของเรา มิเพียงเพื่อเรา แต่เพื่อคนทั้งประเทศและศักยภาพของแผ่นดินใต้ยังเอื้อถึงเพื่อนทั้งโลกด้วย เราจึงมีปฏิบัติการครั้งแล้วครั้งเล่า เราจึงมีการปกป้องพื้นที่ทั่วทั้งภาค และวันนี้เราบอกว่าต้องมารวมกันเพื่อปกป้องแผ่นดินใต้จากนักการเมืองผู้เอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และต่อบรรษัทข้ามชาติ แต่มองไม่เห็นหัวประชาชนของตนเอง  เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแต่เรามีทิศทางการพัฒนาของเราเอง ที่เรายืนยันว่าคนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์...และเราจะยังยืนยันตราบเท่าชีวิต

 

 

เจตนารมณ์ไม่เคยเปลี่ยน

วันนี้เราลุกขึ้นมาอีกครั้งท่ามกลางความสับสน ความมิอาจไว้วางใจได้ของนักการเมืองและบริษัทข้ามชาติ เราไม่รู้ว่าทำไมนักการเมืองในคราบคณะรัฐมนตรี จะมาประชุมที่ภาคใต้เพื่ออะไร แต่เราขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในแผ่นดินใต้จงปกป้องแผ่นดินจากการประชุมคราวนี้หากใครคิดจะทำลายทรัพยากรในภาคใต้ และเราจะร่วมกันเดินออกไปป้องปกภาคใต้ ในนาม เพชรเกษม ๔๑ ปฏิบัติการสารสิน ...เรายืนยันว่าปฏิบัติการคราวนี้เราเพียงเดินทางมาปกป้องแผ่นดินเกิด เราไม่ได้รุกรานใครแต่เราจะไม่ยอมให้ใครมาทำลายแผ่นดินเรานามการพัฒนาด้วยอุตสาหกรรมมลพิษ

 

ไม่มีทางอื่นนอกจากปกป้อง....เราลุกขึ้นปกป้องแผ่นดินเรา

 

เครือข่ายเพชรเกษม ๔๑

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: