หลังจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สั่งระงับการแข่งขันชกมวยรายการ อัลติเมต ไฟติ้ง โดยให้เหตุผลว่า ขัดต่อพ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 และเป็นการทำลายภาพลักษณ์มวยไทยโดยตรง ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในแวดวงกีฬามวยและศิลปะการต่อสู้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกกท. ประเด็นนี้คงต้องไปฟังจากปาก กกท.ว่า เพราะเหตุใดจึงคิดว่ากีฬาการต่อสู้แบบผสมผสานหรือ เอ็มเอ็มเอ (Mixed Martial Arts: MMA) จึงไม่ควรมีในเมืองไทย
“ถ้าเราปล่อยให้อัลติเมตฯ เกิดขึ้นแพร่หลายในเมืองไทย มันจะเป็นตัวถ่วงการพัฒนากีฬามวยไทย เป็นการถ่วงอย่างยิ่ง มวยไทยมีกติกาชัดเจน ไม่มีการซ้ำ เอาศิลปะและฝีมือต่อยกัน แต่นี่มีที่ไหนขึ้นคร่อมแล้วต่อยจนยอม แล้วมีปล้ำจับฟัด ขังคอก มันเหมือนอะไร ที่อื่นไม่เป็นไร แต่เมืองไทยขอได้ไหม จริงอยู่ว่ามันเป็นเรื่องธุรกิจที่หาเงินได้มาก แต่มันเป็นตัวถ่วง ขัดต่อการพัฒนากีฬามวยไทย นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าเราควรให้อัลติเมตฯ ต่อยเหรอ เพราะคณะอนุกรรมการอนุรักษ์ฯ ที่ผมร่วมประชุมเขาไม่เห็นด้วยเลยสักคน” นายสกล วรรณพงษ์ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าว
การห้ามครั้งนี้จึงวางอยู่บนฐานของความเป็นห่วงเป็นใยมวยไทยเป็นหลัก เพราะภาพลักษณ์ของมวยไทยปัจจุบันก็ไม่ดีนักในสายตาผู้ปกครองและเยาวชนอยู่แล้ว ความรุนแรง การพนัน ความไร้การศึกษา เหล่านี้คือสิ่งที่สกลเป็นห่วง และเอ็มเอ็มเอจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์ดูแย่ลงไปอีก
เอ็มเอ็มเอคืออะไร
ก่อนที่จะไปฟังเสียงจากด้านของผู้ที่อยู่ในวงการกีฬาการต่อสู้และศิลปะการต่อสู้ มาทำความรู้จักกับกีฬาการต่อสู้ประเภทนี้กันดูก่อน
นายชนนภัทร วิรัชชัย หรือครูตอง หรือชื่อที่ชาวต่างชาติรู้จักคือ Shannon "One Shin" Wiratchai นักกีฬาเอ็มเอ็มเอดีกรีแชมป์รายการ ‘นักสู้’ รุ่นไม่เกิน 75 กิโลกรัม ปี 2010 ปัจจุบันเป็นนักกีฬาที่เข้ารอบ Semifinal รายการ DARE Fighting Championship ซึ่งเป็นรายการที่ถูก กกท. ห้ามจัด และเป็นนักสู้ในสังกัด ONE Fighting Championship สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ฝึกสอนเอ็มเอ็มเออีกด้วย อธิบายว่า ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน คือการจัดกติกาที่เป็นกลางที่สุด เพื่อให้ทุกศิลปะการต่อสู้สามารถร่วมแข่งขันกันได้ เช่น หากนักมวยไทยและนักยูโดจะทำการแข่งขันต่อสู้กัน หากใช้กติกาของกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งย่อมเกิดความเสียเปรียบได้เปรียบกัน จึงมีกติกาที่เป็นกลางของทุกศิลปะการต่อสู้ขึ้น ซึ่งกติกาของเอ็มเอ็มเอคือกติกาที่คล้ายการต่อสู้จริงมากที่สุด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการกอดรัดหรือล้มลงไปต่อสู้ต่อกันบนพื้น ผู้ที่ไม่ชินกับภาพแบบนี้ หรือในบ้านเราซึ่งมีกีฬามวยไทยเป็นกีฬาประจำชาติ และเคยชินกับการไม่ซ้ำคนล้ม จึงอาจรู้สึกไม่ชินตาได้
“นักกีฬาที่ลงแข่งในกติกานี้ทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนอยากหนัก ทั้งในการยืนสู้ ทุ่มปล้ำ และการต่อสู้ในท่านอน ซึ่งการล้มลงไปสู้ต่อก็ไม่ใช่การซ้ำคนล้มเสมอไป หลายต่อหลายครั้งที่การล้มลงไปเพื่อให้คู่ต่อสู้ซ้ำนั้นเป็นการหลอกล่อหรือพลิกสถานการณ์ให้เป็นฝ่ายชนะก็มี”
ยูเอฟซีเวทีแจ้งเกิดเอ็มเอ็มเอ
แม้ว่าคนไทยจะรู้จักการแข่งขันชกมวย อัลติเมต ไฟติ้ง หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ยูเอฟซี (Ultimate Fighting Championship: UFC) มาก่อนหน้าผ่านการถ่ายทอดทางเคเบิ้ลทีวีบ้าง ซึ่งจัดแข่งขันครั้งแรกปี ค.ศ.1993 ในสหรัฐอเมริกา การต่อสู้จะเกิดขึ้นในกรงแปดเหลี่ยมและไม่จำกัดประเภทของศิลปะการต่อสู้ของผู้แข่งขัน แต่ยูเอฟซีก็ไม่ใช่กีฬาที่แพร่หลายในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเพราะมีมวยไทยและมวยสากลเป็นที่นิยมอยู่แล้ว เทคโนโลยีการสื่อสารในอดีตก็ไม่ดีเท่าปัจจุบัน อีกทั้งวงการกีฬาศิลปะการต่อสู้ของไทยขณะนั้นยังอยู่ในวงจำกัด
การแข่งขันยูเอฟซีครั้งแรกๆ ได้รับความสนใจจากนักศิลปะการต่อสู้หลายแขนง ทั้งยูโด คาราเต้ มวยจีน มวยไทย บราซิลเลี่ยน ยิวยิตสุ เป็นต้น ความโด่งดังของยูเอฟซี ก่อให้เกิดการแข่งขันการต่อสู้ในรูปแบบเดียวกันอีกหลายรายการทั่วโลก และเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง สังเวียนยูเอฟซีทำให้คนในวงการศิลปะการต่อสู้เริ่มเห็นว่า รูปแบบการต่อสู้ที่ดูจะมีประสิทธิภาพที่สุดในกรงแปดเหลี่ยมคือศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ เอ็มเอ็มเอ (Mixed Martial Arts)
เอ็มเอ็มเอคือการนำจุดเด่นของศิลปะการต่อสู้หลากแขนงสังเคราะห์เข้าด้วยกัน ทั้งยูโด มวยไทย มวยสากล บราซิลเลี่ยน ยิวยิตสุ ซึ่งเมื่อผ่านการพัฒนาไประยะหนึ่ง มวยไทยและบราซิลเลี่ยน ยิวยิตสุ ก็แทบจะกลายเป็นศิลปะการต่อสู้หลักๆ ของเอ็มเอ็มเอ เนื่องจากมวยไทยมีจุดเด่นในการต่อสู้แบบยืน ขณะที่บราซิลเลี่ยน ยิวยิตสุ แข็งแกร่งในการต่อสู้บนพื้น
เอ็มเอ็มเอไม่ทำลายมวยไทยมีแต่ส่งเสริม
เมื่อกกท.สั่งห้ามการแข่งขันอัลติเมตฯ ความนึกคิดของคนในวงการศิลปะการต่อสู้คือ ไม่เข้าใจเหตุผลของ กกท.ที่ว่าเอ็มเอ็มเอจะทำลายภาพลักษณ์มวยไทย เพราะไม่เพียงจะไม่ทำลาย แต่ยังเป็นตัวส่งเสริมมวยไทยด้วยซ้ำ จึงเกิดการตั้งคำถามกลับไปยังกกท.ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วกกท.รู้จักและเข้าใจกีฬานี้มากน้อยแค่ไหน
ทุกวันนี้มวยไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่าเป็นศิลปะการต่อสู้แบบยืนที่แข็งแกร่ง เป็นศิลปะการต่อสู้หลักที่นักกีฬาเอ็มเอ็มเอต้องเรียนรู้ ปัจจุบันมีชาวต่างประเทศจำนวนมากหลั่งไหลสู่เมืองไทยเพื่อฝึกซ้อมมวยไทย ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปผสมผสานสำหรับการแข่งเอ็มเอ็มเอ ค่ายมวยไทยบางแห่งจึงมีการสอนเอ็มเอ็มเอรวมอยู่ด้วย เช่นที่อุบลราชธานี พัทยา โดยเฉพาะที่ภูเก็ตซึ่งเอ็มเอ็มเอได้รับความนิยมมาก มีทีมเอ็มเอ็มเอถึง 2 ทีม
“ถ้าเมืองไทยเอ็มเอ็มเอบูมขึ้นมา ผมว่าจะสามารถดึงชาวต่างประเทศเข้ามาได้มากกว่านี้อีก ซึ่งผมคิดว่ามันจะต่อยอดไปถึงอาชีพอื่นๆ ของนักมวยไทย จะมีอาชีพใหม่ๆ รองรับเข้ามา ผมว่า กกท. ควรทำความรู้จักกีฬาชนิดนี้ให้มากพอเสียก่อน กติกาเอ็มเอ็มเอก็ไม่ได้เกี่ยวกับมวยไทย” นายนิติ เตโชติอัคนี ผู้ก่อตั้งสถาบันสอนศิลปะการต่อสู้ EMAC ซึ่งกำลังมีโครงการจะเปิดสอนเอ็มเอ็มเอ กล่าว
เช่นกันนายชนนภัทรระบุว่า เอ็มเอ็มเอไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์มวยไทย เนื่องจากเป็นคนละชนิดกีฬากัน มีกติกาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ผู้ที่ดูกีฬานี้เป็นย่อมไม่สับสนกันระหว่างสองกีฬาอยู่แล้ว
“ที่จะส่งผลอยู่บ้างคือกรณีที่นักมวยไทยไปร่วมการแข่งขันและแพ้ในท่าทุ่มหรือท่าปล้ำ เพราะไม่มีความรู้ในทักษะเหล่านี้ แต่ก็มีตัวอย่างนักมวยไทยหลายท่านที่ประสบความสำเร็จ เพราะศึกษาทักษะของเอ็มเอ็มเอครบถ้วน ซึ่งการที่นักมวยไทยไปแพ้ในกติกาเอ็มเอ็มเอ ไม่น่าจะเป็นการทำให้มวยไทยเสียภาพลักษณ์ แต่ควรโทษตัวนักกีฬาที่ไปแข่งขันโดยประมาทหรือโทษผู้ที่นำนักกีฬาไปโดยขาดความพร้อมมากกว่า”
นายนิติกล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงมากที่จะฉกฉวยรายได้ จากการเติบโตของกีฬาประเภทนี้ ที่กำลังโด่งดังทั่วโลก แต่เมืองไทยจะโตได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐ นิติมองว่านักมวยไทยถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีอยู่แล้ว สำหรับการแข่งขันเอ็มเอ็มเอ เพียงแต่เพิ่มทักษะการต่อสู้บนพื้นเล็กน้อย รัฐจึงควรสนับสนุนมากกว่าห้าม
ครูมวยไชยาชี้ต้องพัฒนามวยไทย
ทางด้าน นายณปภพ ประมวญ หรือครูแปรง ประธานมูลนิธิมวยไทยไชยา กลับไม่เห็นด้วยกับกกท. ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันคือ เอ็มเอ็มเอมีกติกาที่แตกต่างจากมวยไทยชัดเจน จึงไม่ควรเอามาปะปนกัน หากนักมวยไทยจะแข่งเอ็มเอ็มเอก็ต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม
“เมื่อไหร่เขาเอาคนของเขามาต่อยในกติกามวยไทย แล้วเราเสียเปรียบสิ เราถึงควรจะยกเลิกไป อย่างซานต้า (กีฬาต่อสู้ชนิดหนึ่ง ที่ประเทศจีนเป็นผู้คิดขึ้น) เสียเอกลักษณ์แน่นอน เราเสียเปรียบเขา ให้เขาทุ่มได้ หลักการความคิดนี้เขามองว่านักมวยไทยไปต่อย แล้วแพ้ จึงเสียหน้า จริงๆแล้ว ไม่ใช่ แต่เพราะเราไปต่อยในกติกาของเขา”
ตรงกันข้าม นายณปภพ กลับเห็นว่า ควรต้องส่งเสริมกีฬาชนิดนี้และพัฒนานักมวยไทยให้มีทักษะเอ็มเอ็มเอด้วยซ้ำ
“ตอนนี้ชื่อเสียงมวยไทยดีที่สุดในโลก นักมวยไทยเปิดค่ายมวยในต่างประเทศมากมาย ตอนนี้ค่ายเอ็มเอ็มเอก็สอนมวยไทยเหมือนเรา นักมวยไทยที่ไม่ฝึกด้านนี้เพิ่มเติม ก็ไม่สามารถหากินได้ ชาวต่างประเทศเขาก็ไปเข้าค่ายฝรั่งดีกว่า แทนที่จะมาเข้าค่ายมวยคนไทย มันทำลายระบบหมดเลย ไม่พัฒนาฝีมือ และไม่ส่งเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา ซึ่งมีการต่อสู้ครบทุกรูปแบบอยู่แล้ว”
ขณะที่นายสกลกลับมองว่า แม้ชาวต่างชาติจะนิยมฝึกมวยไทยเพื่อแข่งเอ็มเอ็มเอ แต่หาใช่การส่งเสริมมวยไทยไม่ เพราะมวยไทยต้องมีกฎเกณฑ์ ไม่ใช่เอามวยไทยไปผสมโรง มีทั้งกอด ทั้งปล้ำ นั่งทับต่อย ขาพันกัน นอนกลิ้งไปมา สกลตั้งคำถามว่าสิ่งนี้คืออะไร มวยไทยมีหรือไม่ เอ็มเอ็มเอเป็นเพียงภาพลักษณ์ของความมัน ความสะใจ ที่ต่างประเทศเขาชอบ แต่เมืองไทยไม่มีวัฒนธรรมอย่างนั้น
นักศิลปะการต่อสู้ยืนยันมวยไทยรุนแรงกว่า
ส่วนประเด็นความรุนแรงซึ่งกกท. เป็นห่วง เช่น การขึ้นคร่อมชกหรือการสู้ในกรง นายณปภพมองว่า การต่อสู้ในกรงก็เป็นวิธีการนำเสนอสินค้าให้มีความแปลกใหม่เท่านั้น เอากรงออกแล้วสู้บนเวทีมวยปกติก็ได้
และสิ่งที่นายณปภพกับนายนิติเห็นตรงกันก็คือ หากวัดในแง่ความรุนแรงแล้ว ถือว่าการเตะต่อยในมวยไทยรุนแรงกว่า
“ในเอ็มเอ็มเอจะเห็นว่ากรรมการค่อนข้างเซฟนักกีฬา ถ้ามีการคร่อมชกเมื่อไหร่ แล้วฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถดิ้นหลุดออกมาได้ กรรมการจะจับแพ้ ไม่ปล่อยให้ต่อยจนหน้าแตก ถ้าเทียบกับมวยไทยแล้วถือว่ารุนแรงน้อยกว่ามาก เวลาเหนื่อยคุณก็เข้าไปกอดคู่ต่อสู้ ยังพักได้ แต่มวยไทยพอเข้ากอดก็ถูกกรรมการแยก โดนซ้ำอีกรอบ อย่างถ้าให้ผมขึ้นแข่ง ผมกล้าขึ้นเวทีเอ็มเอ็มเอ แต่ไม่กล้าขึ้นเวทีมวยไทย เพราะมวยไทยรุนแรงกว่าเยอะ”
เบรกอัลติเมตฯ ชะงักธุรกิจเอ็มเอ็มเอในไทย
ผลกระทบต่อภาพลักษณ์มวยไทย แม้แต่ละฝ่ายจะเห็นต่าง แต่ประเด็นที่ทั้ง กกท. และผู้สนับสนุนเอ็มเอ็มเอเห็นพ้องกันคือ กีฬาประเภทนี้สามารถสร้างเม็ดเงินและโอกาสทางเศรษฐกิจได้มาก เหมือนที่นายสกลกล่าว
นายชาโณ เหนือเมฆิน ผู้จัดการโรงงานแฟร์เท็กซ์ อีควิปเม็นต์ จำกัด กล่าวถึงตลาดเอ็มเอ็มเอรอบๆ ประเทศไทยว่ากำลังโตเร็วมาก ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ยังมียิมสอนเอ็มเอ็มหลายแห่ง ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ก็มีเปิดสอนมากขึ้น และทุกประเทศที่กล่าวถึง อนุญาตให้มีการแข่งขัน เนื่องจากเป็นกระแสจากฝั่งตะวันตก
เมื่อมวยไทยมีบทบาทในกีฬาเอ็มเอ็มเอ จากการที่นักกีฬาเอ็มเอ็มเอส่วนใหญ่ยกย่องว่า เป็นการยืนสู้ที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติฝึกมวยไทยมากขึ้น รวมถึงนักกีฬาเอ็มเอ็มเอที่นิยมเดินทางมาฝึกมวยไทยในเมืองไทย ซึ่งขณะนี้ค่ายมวยหลายแห่งได้เพิ่มการสอนเอ็มเอ็มเอเป็นผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า ตลาดเอ็มเอ็มเอนั้นมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมมวยไทย แต่การที่เอ็มเอ็มเอในเมืองไทยจะเติบโตได้อย่างสมบรูณ์นั้น จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง รวมถึงการแข่งขัน
“เหมือนมวยไทย ถ้ามีแต่ค่าย แต่ไม่มีการชกที่ลุมพินี ราชดำเนิน หรือรายการอื่นๆ มวยไทยอาจจะเติบโตได้อย่างไม่สมบรูณ์ ผมสังเกตว่าหลายครั้ง มีนักลงทุนต่างชาติ พร้อมที่จะลงทุนรายการแข่งขันมวยไทยในเมืองไทย ในรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่นเป็นทีวีซีรีส์หรือทำให้ได้มาตรฐานระดับโลก แต่เป็นอันต้องล้มเหลว เพราะไม่ได้รับอนุญาตหรือตกลงกับหน่วยงานของไทยไม่ได้ ในเงื่อนไขบางประการ ทำให้ต้องย้ายไปจัดที่ประเทศเพื่อนบ้านแทน รายได้ที่ไทยควรได้รับ การจ้างงาน การโปรโมตการท่องเที่ยว และการโปรโมตมวยไทย ผลประโยชน์ต่างๆ จึงตกไปเป็นของประเทศอื่น รายการเอ็มเอ็มเอที่โดนแบน ก็เป็นกรณีที่ไม่ต่างกัน”
นายชาโณกล่าวต่อว่า มูลค่าตลาดมวยไทยขณะนี้น่าจะตกหลักหลายร้อยล้าน ส่วนเอ็มเอ็มเอซึ่งโด่งดังทั้งในอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น มูลค่าตลาดราวๆ หลักหลายพันล้าน ถ้าตลาดเอ็มเอ็มเอยิ่งโตเท่าไหร่ ตลาดมวยไทยก็จะโตขึ้นด้วยเท่านั้นเพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน เนื่องจากนักกีฬาเอ็มเอ็มเอนิยมใช้มวยไทยในการยืนสู้ ยังไม่นับรวมตลาดอุปกรณ์ชกมวยไทยที่ประเทศไทยถือเป็นผู้นำตลาดโลก
แต่เมื่อกกท.ห้ามครั้งนี้ นายชาโณกล่าวว่า ผลกระทบในระยะสั้นจะทำให้ตลาดเอ็มเอ็มเอเมืองไทยนิ่งเกินไป ไม่เกิดการเคลื่อนไหว เพราะไม่มีกิจกรรม ขาดองค์ประกอบบางอย่าง
“เอ็มเอ็มเอไม่ทำให้มวยไทยเสียเอกลักษณ์ กกท.ต้องมองให้เป็นกีฬา เขาใช้มวยไทย น่าจะดีใจมากกว่าใช้เทควันโด เขาใช้มวยไทย เพราะเขายกย่องมวยไทย กกท.กลัวเสียภาพลักษณ์มวยไทย แต่กกท.ก็ปล่อยให้มวยไทยมีการพนันเต็มไปหมด มีรูปแบบการชกเพียงเพื่อทำราคา คุณภาพของนักมวยที่ขึ้นชก คำถามเรื่องคุณภาพการตัดสินของกรรมการ ในขณะที่ชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว นั่งดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับมวยไทยอยู่ที่นั่งริงคไซค์ แบบนี้ถือว่าเป็นการส่งเสริมหรือทำลาย”
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ฝ่ายกฎหมายของผู้จัดอัลติเมต ไฟติ้ง กำลังดำเนินการและขอชี้แจงกับทางกกท. ซึ่งกลุ่มคนที่สนใจกีฬาประเภทนี้ ต้องการให้ผู้จัดเดินเรื่องเองก่อน และรอดูท่าทีของกกท. มีการพูดคุยกันว่าหากผลที่ออกมายังเหมือนเดิม กลุ่มเอ็มเอ็มเอในไทยจะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ