นายณรงค์ แรงกสิกร ประธานเครือข่ายแม่วงก์ชุมชนคนรักษ์ป่าเขาแม่กระทู้ กล่าวถึงการจัดการน้ำโดยชุมชน โดยรูปแบบนั้นเริ่มขึ้นที่บ้านธารมะยม จากการรักษาป่า แต่เดิมนั้นเขาแม่กระทู้เป็นเขาหัวโล้นต้นไม้บนภูเขาถูกตัดโค่นไปหมด ต่อมาปีพ.ศ.2539 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ในขณะนั้น เข้ามาทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ประมาณ 13,000 ไร่ และหลังจากนั้นสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้เข้ามาช่วยจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านเพื่อดูแลรักษาป่า
“ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2539 ป่าบนเขาแม่กระทู้ หัวโกร๋นหมดไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี มองไปทางไหนไม่เห็นสีเขียวมีแต่สีแดง พอเมื่อปี 2539 ปตท.เข้ามาทำโครงการปลูกป่าจ้างชาวบ้านวันละ 150 บาทขึ้นไปปลูกป่าประมาณหมื่นกว่าไร่ หลังจากนั้นป่าเริ่มชุ่มชื้นขึ้น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เข้ามาสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มให้ชาวบ้านดูแลรักษาป่า ขยายกลุ่ม ช่วยส่งเสริมอาชีพ”
จากนั้นปี 2543 ป่าเริ่มฟื้นตัว ลำธารที่มาจากป่าเริ่มมีน้ำไหล หลังจากแห้งมานาน ชาวบ้านจึงเริ่มขึ้นไปทำฝายชะลอน้ำบนเขาเพื่อกักเก็บน้ำ และได้งบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ 25,000 บาท เพื่อทำฝายชะลอน้ำเพื่อให้ชาวบ้านมีน้ำใช้
ประธานเครือข่ายฯกล่าวว่า เครือข่ายแม่วงก์ชุมชนคนรักษ์ป่าเขาแม่กระทู้ ได้ร่วมกันคิดและวางแผนจัดการระบบน้ำในพื้นที่ โดยสร้างฝายเล็กๆ ชะลอน้ำในหมู่บ้านทั้งหมด 6 ตัว และของบประมาณจากโครงการ SIP หรือโครงการลงทุนเพื่อสังคม ต่อท่อประปาจากภูเขาไปยังทุกบ้านกว่า 200 หลัง ทุกบ้านจะได้ใช้น้ำ โดยไม่ต้องไปรองน้ำประปามาใช้ โดยติดมิเตอร์น้ำที่บ้านทุกหลัง และเก็บค่าน้ำหน่วยละ 3 บาท ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 800,000 บาท
“เราใช้เงินจากโครงกา SIP ประมาณ 800,000 บาท ต่อท่อประปาจากภูเขาไปบ้านทุกหลังและติดมิเตอร์น้ำ เก็บค่าน้ำ 3 บาทต่อหน่วย บ้านหลังหนึ่งจะเสียค่าน้ำเดือนละประมาณ 30 บาท วัดกับโรงเรียนชุมชนจะให้ใช้ฟรี ส่วนฝายตอนนี้มีทั้งหมด 149 ฝาย ฝายที่อยู่บนเขาเป็นแรงงานชาวบ้าน และเราใช้วิธีให้คนที่มาดูงานการจัดการน้ำหมู่บ้านเรา ขึ้นไปสร้างฝายให้ด้วย”
ส่วนน้ำที่เก็บค่าการบริการคือ น้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ส่วนน้ำที่ใช้ในการทำนานั้น จะใช้วิธีสร้างฝายชะลอน้ำจากลำธารเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ บางพื้นที่ที่อยู่ใกล้จากลำน้ำจะใช้วิธีขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา บ้านธารมะยมไม่เคยขาดน้ำ มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านสามารถทำนาได้ปีละถึง 3 ครั้ง บางครั้ง 2 ปี ได้ 7 ครั้งก็มี นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ปลูกมันสำปะหลังด้วย ที่ใช้น้ำจากลำธาร
นอกจากการบริหารจัดการน้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ และทำไร่ทำนาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจและทำให้หลายพื้นที่ขอมาดูงานที่บ้านธารมะยมคือ กำไรที่ได้จากการจัดการน้ำ
นายณรงค์เล่าให้ฟังว่า เงินที่ได้จาการเก็บค่าน้ำจากชุมชนนั้น จะมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อใช้เป็นสวัสดิการด้านต่างๆ เช่น ทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน คนชรา ให้กู้ยืมเวลาที่มีบ้านใครมีคนเจ็บป่วยกะทันหัน ซ่อมแซมฝายท่อน้ำ และค่าใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์กับชุมชน ซึ่งจะมีการตกลงกันในที่ประชุม ทุกวันที่ 9 ของเดือน จะมีการประชุมหมู่บ้าน
“อย่างผมออกไปประชุมนอกอำเภอจะได้ 200 บาท ถ้าไปใกล้ๆจะได้ 100 บาท เราตกลงกันว่าเมื่อไปประชุมมาแล้วต้องกลับมารายงานให้ที่ประชุมรับรู้ว่าเนื้อหามีอะไรบ้าง ทำให้ทุกคนอยากไปประชุม เพราะอยากจะรู้เรื่องกลับและไม่ได้ไปฟรี ได้ค่าเดินทางด้วย เวลามีจดหมายเชิญประชุม เราจะผลัดกันไปไม่มีใครเกี่ยง”
นอกจากเงินจากค่าน้ำแล้ว บ้านธารมะยมยังมีรายได้จากนาแปลงรวมของหมู่บ้านที่มีอยู่ 2 ไร่ ซึ่งนา 2 ไร่นี้ ใช้น้ำที่ล้นจากหอเก็บน้ำที่สร้างไว้ เพื่อพักน้ำที่เหลือจากการใช้สอย ทุกปีจะมีน้ำล้นออกมา น้ำที่ล้นนี้จะใช้ทำนา เป็นนาที่เป็นพันธุ์ข้าวแม่พันธุ์สามารถขายได้เกวียนละ 20,000 บาท เงินส่วนนี้จะเข้ากองทุนสวัสดิการของหมู่บ้าน และพันธุ์ข้าวบางส่วนชาวบ้านจะขอไปปลูก ซึ่งจะได้บ้านละ 1 ไร่ต่อปี ซึ่งรับประกันว่าปีนั้นเขาจะได้เงินจากการขายข้าว 20,000 บาท เราพูดคุยกัน แบ่งน้ำกันใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ ทำนา ใช้ในครัวเรือน ผลที่ได้กลับมาจะคืนไปสู่ชุมชน
ประธานเครือข่ายแม่วงก์ฯ กล่าวด้วยว่า ใครๆก็อยากได้น้ำเพื่อทำนาทั้งนั้น ถามว่าผมอยากได้เขื่อนไหม ผมอยากได้ เพราะผมอยากได้น้ำ แต่ผมไม่อยากได้เขื่อนขนาดใหญ่ อยากได้แบบเล็กๆ ให้มีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพียงแต่ต้องมีการจัดการบริหารให้ดี จะมีน้ำให้ใช้ทั้งปี โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนใหญ่
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของหมู่บ้านธารมะยม เป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งขณะนี้มีหมู่บ้านอีก 10 แห่ง ได้ดำเนินการการจัดการน้ำในรูปแบบเดียวกัน เช่น บ้านมอสวรรค์ บ้านวังชุมพร บ้านทุ่งรวงทอง บ้านถังแดง บ้านเขานางฟ้า บ้านใหม่ศรีนคร บ้านปางมะละกอ บ้านหินดาด บ้านทรัพย์มาก และบ้านปางชัย ในวันที่ 17 ของทุกเดือนคณะกรรมการของหมู่บ้านเหล่านี้ จะประชุมร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ ว่าบ้านไหนมีปัญหาอะไร มีการให้คำปรึกษาแนะนำกัน
ทางด้านนายภาณุเดช เกิดมะลิ ผู้จัดการโครงการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในผืนป่าตะวันตก กล่าวว่า มูลนิธิสืบฯได้ดำเนินโครงการป่าชุมชนตามแนวขอบป่าอนุรักษ์ จากการลงพื้นที่พบว่าพื้นที่ในอ.แม่วงก์ กิ่งอ.ชุมตาบง และอ.แม่เปิน ส่วนใหญ่เคยเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์มาก่อน และถูกบุกรุกจนเป็นป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าแต่ไม่ดูแลรักษา มูลนิธิสืบฯ จึงมีโครงการที่จะจัดทำโครงการป่าชุมชน เพื่อให้ป่าที่เสื่อมโทรมฟื้นตัวกลับมา เพราะนอกจากชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากป่าแล้ว สิ่งที่จะได้ตามมาคือน้ำ
“ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะหาอยู่หากินจากป่า และปล่อยให้ป่าเสื่อมโทรม มูลนิธิจึงมาดำเนินโครงการจัดตั้งป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลป่า เมื่อป่าฟื้นกลับมา ลำธารที่เคยแห้งจะมีน้ำไหลตลอด ทำให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำจากลำธารด้วย อย่างที่เกิดขึ้นที่บ้านธารมะยม เมื่อก่อนเป็นภูเขาหัวโล้นแต่เมื่อชุมชนร่วมกันดูแลป่า ป่าฟื้นกลับมาให้น้ำกับชุมชน”
ผู้จัดการโครงการฯกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีป่าบางพื้นที่เริ่มฟื้นตัวกลับมา มีบ้านปางสวรรค์ บ้านบุ่งผักหนาม อ.ชุมตาบง เริ่มปลูกไผ่ ประมาณ 100 กว่าไร่ ตอนนี้สามารถเก็บหน่อไม้ขายได้แล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเมื่อมีต้นไม้ป่าจะชุ่มชื้นขึ้น นอกจากนี้ยังมีบ้านคลองแบ่ง บ้านใหม่แม่เรวา ที่มีการฟื้นฟูป่าขึ้นในพื้นที่
ทั้งนี้มูลนิธิสืบได้พยายามส่งเสริมให้ชุมชนได้มีการจัดตั้งป่าชุมชน ขึ้น 17 กลุ่มป่า ในต.แม่เปิน กิ่งอ.แม่เปิน และต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงาน สร้างกฎกติกา และสร้างการยอมรับร่วมกัน ทั้งในการฟื้นฟูดูแลรักษาและการใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้กิจกรรมออมทรัพย์ในการเชื่อมโยงและรวมคน และใช้เป็นกลไกในการทำกิจกรรมต่างๆ
“กิจกรรมที่โดดเด่นและเข้มแข็งก็คือการจัดการป่าชุมชน ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐฯและเอกชน ประชาสังคม และประชาชนในท้องถิ่น ให้เข้าใจและเกิดความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นที่ศึกษาดูงานด้านการจัดการป่าชุมชน และถือเป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นให้กับชุมชนอื่นๆ ในหลายพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่แน่นอนที่สุดว่า ในสังคมชุมชนไม่ได้มีเฉพาะคนคิดดี ยังมีคนที่เห็นแก่ตัวอยู่อีกมากมาย วันนี้จึงมีความพยายามจากหลายฝ่าย ที่จะเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน ที่ยังขาดองค์ความรู้ในการจัดการป่า เช่นในพื้นที่ๆกล่าวมาแล้วรวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ”
ผู้จัดการโครงการกล่าวด้วยว่า การฟื้นฟูสภาพป่าคือการฟื้นฟูแหล่งน้ำของชุมชน เมื่อชุมชนร่วมกันรักษาป่า น้ำจะคืนกลับมาให้พอกินพอใช้ โดยไม่จำเป็นต้องมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเสียงบประมาณ และพื้นที่ป่าที่สำคัญด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ