ชี้ครูติดทำประเมิน-วัดผลจนไม่มีเวลาสอน แนะเร่งปรับตัวให้'ทันสมัย-มีความเมตตา' ดึงเด็กไทยให้รักการอ่านก่อนร่วมอาเซียน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3164 ครั้ง

 

ในการประชุมวิชาการ TK Conference on Reading 2012 ที่จัดขึ้น โดย สำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.) หรือ TK Park  สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี จึงมีประเด็นสำคัญ อยู่ที่การเตรียมตัวอย่างไรให้กับเด็กไทย มีโอกาสเพิ่มการเรียนรู้จากการอ่านให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของห้องเรียนยุคใหม่ ที่จะดึงดูดให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ไปได้พร้อมกับความสนุกสนาน และสร้างแรงบันดาลใจในการค้นคว้าจากหนังสือให้เพิ่มมากขึ้น

 

 

เตรียมเด็กไทยอ่านสู้ 9 ประเทศอาเซียน

 

 

ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า นับเป็นโจทย์สำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องก้าวตามประเทศเพื่อนบ้านให้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวของเยาวชนไทย ที่จะต้องเข้าใจต่อการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน ในสังคมอาเซียนรูปแบบใหม่นี้ เนื่องจากความแตกต่างที่หลากหลายของทั้ง 10 ประเทศ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และปรับตัวอีกมาก การร่วมกันในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในระบบต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการเตรียมพร้อมประชาชนเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การอ่านนับเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องของการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจกันระหว่างประชาชนในอาเซียน ขณะเดียวกันการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจในการเรียนรู้ของเยาวชน ก็นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการพัฒนาทักษะด้านการอ่านของเด็กไทยให้เพิ่มมากขึ้น

 

 

ครูไทยใช้เวลาทำผลงานตัวเองมากกว่าสอนเด็ก

 

 

ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง “ห้องเรียนอนาคตแห่งศตวรรษที่ 21” โดย กล่าวถึงระบบการศึกษาของไทย ที่ควรจะมีทิศทางไปในทางก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่เน้นเรื่องของความคิด ให้นักเรียนคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้สร้างแรงงานบันดาลใจมากขึ้น และกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้สนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะการหาความรู้จากข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่ทำให้นักเรียนก้าวทันยุคสมัย รวมถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย

 

อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่ยังคงมองเห็นในระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันนี้ ในความคิดของ ดร.อมรวิชช์ ระบุว่า เป็นเรื่องของระบบ และนโยบายด้านการศึกษาของไทย ที่ปัจจุบันห้องเรียนในโรงเรียนของไทยอาจจะยังไม่มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปมากนัก อันเป็นผลมาจากนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ ที่อาจจะมุ่งหวังเรื่องของการวัดผลทางการศึกษามากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาที่มักจะพบอยู่ตลอดเวลาก็คือ การใช้เวลาของครูไปกับการทำตัวชี้วัดคุณภาพครู และการวัดผลทางการศึกษา ทำให้ไม่มีเวลาที่จะให้กับการสอนเท่าที่ควร ทำให้ครูไม่เวลาให้กับการสอนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะต้องให้ความสำคัญกับการทำเอกสารให้ผ่านการวัดผลดังกล่าว

 

                “เป็นที่ทราบกันดีว่า สิ่งที่เห็นไม่ใช่การดำเนินการที่แท้จริงของโรงเรียน แต่เป็นเพียงการจัดทำขึ้น เพื่อขอให้ผ่านการตรวจสอบเท่านั้น ดังนั้นนโยบายนี้จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจะได้ผลเท่าไหร่นัก ขณะนี้จึงมีแนวคิดว่าจะยกเลิกนโยบายนี้ เพื่อให้ครูได้มีโอกาสใช้เวลา กับการเรียนการสอนมากกว่า” ดร.อมรวิชช์กล่าว

 

ประเมินประสิทธิภาพการเรียนการสอนได้แต่ผักชี

 

 

“ที่ผ่านมาเราก็พบว่า สิ่งที่เราได้เห็นมันเป็นแค่ผักชี เพื่อทำให้โรงเรียนผ่านการประเมิน แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นไปตามปกติ ซึ่งในส่วนของคณะทำงาน คนทำงานในระดับนโยบายเราไม่ได้ต้องการแบบนั้น ตอนนี้จึงมีแนวคิดกันว่า จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้การประเมินผลการศึกษา มาเป็นอุปสรรคทำให้ครูไม่มีโอกาสในการสอนเด็กนักเรียนอย่างเต็มที่” ดร.อมรวิชช์กล่าว

 

 

นอกจากการแก้อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากระดับนโยบายด้านบน อันส่งผลต่อการสร้างห้องเรียนที่ดี และควรจะเป็นแล้ว ในแนวคิดของดร.อมรวิชช์ ยังเห็นด้วยว่า การสร้างห้องเรียนให้เหมาะสม และตอบรับกับการเรียนของเด็กในยุคใหม่ น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ และหาคำตอบเองจากประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง การสอนให้เด็กคิดค้นหาคำตอบเองจะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดี ทำให้เด็กมีทักษะทางความคิด ตามกระบวนการคิดซึ่งจะต้องหาเหตุผลมาสนับสนุน และการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญในระดับความคิด ห้องเรียนจึงไม่น่าจะอยู่แต่เพียงในห้องแคบ ๆ

 

 

ระบุครูต้องทันสมัยรอบรู้-ให้ปัญญา-มีเมตตากับเด็ก

 

 

 

ดร.อมรวิชช์กล่าวต่อว่า สำหรับคุณสมบัติของครูที่จะต้องตอบรับกับเด็กรุ่นใหม่ๆ จะต้องเป็นครูที่ต้องให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามกับเด็ก เพื่อให้เด็กได้คิดและหาคำตอบด้วยตัวเอง หากจะรวบรวมคุณสมบัติโดยสรุปอาจจะสามารถกล่าวได้อยู่ 5 คุณสมบัติ ได้แก่ ครูรุ่นใหม่จะต้องไฮเทค คือเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ทันกับสิ่งที่เด็กกำลังใช้ และอยู่ในยุคนั้น ๆ คุณสมบัติที่สองคือ ครูจะต้องเป็นครูที่รู้รอบ สามารถพูดคุยกับเด็กได้ในเรื่องเดียวกัน นอกจากนี้ครูยังจะเป็นนักวิจัยไปด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งครูยังจะต้องเป็นนักจิตวิทยา ที่สามารถเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นของเด็ก และครูควรจะเป็นผู้ที่สามารถจัดการความรู้ได้อีกด้วย

 

                 “ครูควรจะเป็นคนที่มีสองอย่างคือ ครูจะต้องเป็นผู้ให้ปัญญา เพื่อให้ศิษย์ได้มีความรู้จากการสอน และครูควรจะเป็นผู้มีเมตตา โดยเฉพาะการเมตตาต่อเด็ก จากข้อมูลการของเด็กที่ผ่านมา เด็ก 1 ล้านคนที่เข้าเรียนในระดับอนุบาล จนเมื่อมาถึงในระดับมหาวิทยาลัย เราจะพบว่า เหลือจำนวนเด็กที่อยู่ในระดับการศึกษาอยู่เพียง 300,000 คนเท่านั้น นั่นคือจะมีเด็กจำนวนมากที่จะต้องออกจากระบบการศึกษาไป นั่นหมายความว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้เด็กที่มีโอกาสจะหลุดจากระบบการศึกษา กลับมาอยู่ในระบบด้วย ครูจึงเป็นบุคลสำคัญที่จะช่วยในปัญหานี้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากความเมตตาของครูทั้งสิ้น” ดร.อมรวิชช์ กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างจากประสบการณ์กรณีหนึ่ง ที่ครูสามารถดึงเด็กนักเรียน ที่เกือบจะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้เข้าสู่การศึกษาอีกครั้งหนึ่งด้วย

 

                  “ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นครู ตอนนั้นเขามีเด็กนักเรียนประมาณชั้น ป.4 ป.5 เด็กมาบอกว่า ไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว เพราะเรียนไปก็ไม่เก่ง อ่านหนังสือก็ไม่ชอบ อ่านไม่ออก แต่เขาเก่งที่จะทำเรื่องอื่นเป็นงานประเภทขุดดิน ปลูกต้นไม้ เมื่อครูเห็นว่าเด็กมีความสนใจแบบนั้น ก็เลยบอกว่า ถ้าเธอเก่งแบบนั้นก็ไปปลูกต้นไม้สิ เด็กก็เลิกเรียนไปมุ่งมั่นกับการปลูกต้นไม้ เมื่อได้ต้นไม้โตขึ้นมาบอกครู ครูถือโอกาสนั้นให้เด็กเอากล้องถ่ายรูปไปถ่ายรูปต้นไม้ดอกไม้มาให้ และเมื่อเด็กนำรูปแลกกลับมาให้ครูอีกครั้ง ครูก็อยากให้เด็กนำรูปนั้นมาทำเป็นการ์ดอวยพร โดยขอให้ไปใส่คำอวยพรมาด้วย แต่เด็กอ่านหนังสือไม่ออก เมื่ออยากที่จะมีอาชีพ นั่นก็หมายความว่า เขาจำเป็นที่จะต้องหาข้อความเหล่านี้มาใส่ในการ์ด ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจที่จะกลับมาเรียน ครูก็สามารถช่วยเด็กได้อีกคนหนึ่ง แต่ก็มีบางคนที่ไม่กลับมา แต่เพียงคนเดียวก็ถือว่าเป็นเมตตาของครู ที่สามารถช่วยเด็กได้”

 

แนะครูเลิกด่าเปรียบเทียบกับคนอื่น-ชี้บั่นทอนเด็กไม่รู้ตัว

 

 

ดร.อมรวิชช์กล่าวอีกว่า สิ่งที่ครูจะต้องให้ความสำคัญ กับการเรียนการสอนต่อไปในยุคหน้าคือ เรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ ที่นับว่าจะเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการเตรียมพร้อมเด็กนักเรียน สู่การเปลี่ยนแปลงในระบบสังคม ที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต เพราะการเรียนรู้จากแรงบันดาลใจจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นสำคัญในการศึกษา หาความรู้ ที่จะไม่ได้มีแต่เพียงในตำราของไทยอีกต่อไป แต่หมายถึงความรู้ต่างๆ ที่จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ อีกด้วย

 

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่อยากจะฝากบอกครูทั่วไป และอยากให้เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ได้เป็นเรื่องเล็กๆ อีกต่อไปก็คือ เรื่องของการใช้คำพูดกับเด็กนักเรียน ซึ่งบางทีครูอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นการสร้างความรู้สึกที่แตกต่างให้กับเด็กมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ถ้อยคำตำหนิเด็ก ซึ่งจากการสำรวจพบว่า คำพูดที่เด็กนักเรียนรู้สึกแย่ที่สุดเมื่อถูกตำหนิคือ “คนอื่นทำได้ ทำไมเธอถึงทำไม่ได้” ซึ่งเชื่อว่าเป็นคำพูดที่ครูส่วนใหญ่คงจะเคยพูดมาแล้ว แม้จะดูเหมือนว่าเป็นประโยคที่ใช้พูด เพื่อให้กำลังใจ แต่แท้จริงแล้วเด็กกลับรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจเขามากที่สุด ดังนั้นในการพูดตำหนิเด็กคำพูดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

 

                     “หลายคำพูดที่แรงๆ เด็กไม่ชอบ แต่ก็ไม่ได้ติดอยู่ในใจของเด็กมากนัก แต่คำพูดบางอย่างที่ครูอาจจะคาดไม่ถึงอย่างประโยค “คนอื่นทำได้ ทำไมเธอถึงทำไม่ได้” จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะจากผลสำรวจเด็กรู้สึกว่า เป็นคำพูดที่บั่นทอนเขามากที่สุด ส่วนครูที่เด็ก ๆ อยากได้คือ ครูที่เด็กสามารถพูดคุยได้อย่างสนิทใจ ครูคือเพื่อน และหากครูสามารถเป็นได้อย่างที่เด็กต้องกันแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนมากขึ้น และห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 น่าจะเป็นรูปแบบที่ไม่ถูกจำกัดทั้งในเรื่องของห้องเรียน แนวการเรียนการสอน และรวมถึงครูที่จะต้องก้าวให้ทันกับศตวรรษใหม่นี้ด้วย” ดร.อมรวิชช์กล่าว

 

 

เชื่อห้องสมุดคือจุดเริ่มสร้างนักอ่าน

 

 

นอกจากประเด็นเรื่องของการห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าจะเป็นการเปิดโอกาสด้านการศึกษาในยุคที่จะเข้าสู่การปรับตัวเข้ากับการเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ภายในการประชุมวิชาการ TK Conference on Reading 2012 ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการจัดการเรื่องของนโยบายการสร้างการเรียนรู้จากการอ่านของประเทศต่าง ๆ ที่มาแสดงความคิดเห็น พร้อมเล่าถึงผลสำเร็จเกี่ยวกับการสร้างพฤติกรรมการอ่านในประเทศของตนด้วย ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, กัมพูชา และเกาหลี โดยส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า การเริ่มต้นในการอ่านที่ดี ควรจะเริ่มจากการพัฒนาห้องสมุดและบรรณารักษ์ เพื่อให้สร้างแรงบันดาลใจในการอ่านหนังสือของเยาวชนให้มากขึ้น

 

 

สิ่งที่จะดึงดูดให้มีการอ่านเพิ่มมากขึ้นคือ ภายในห้องสมุด นอกจากจะมีหนังสือที่หลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้แล้ว การพัฒนาปรับปรุงเรื่องการค้นหาหนังสือให้รวดเร็ว มีข้อมูลจากต่างประเทศ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้ในการค้นหาหนังสือและข้อมูล จะเป็นการเพิ่มให้มีการอ่านมากขึ้น นอกจากนี้ครอบครัวยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ หันมาเริ่มต้นในการอ่านหนังสือมากขึ้น ในขณะที่ภาครัฐเองควรจะส่งเสริมให้เกิดการอ่านอย่างต่อเนื่องด้วย

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุอย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 2 -5 เล่ม ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น สิงคโปร์มีสถิติการอ่านหนังสือสูงถึง 50-60 เล่มต่อปี ส่วนเวียดนามซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทย มีสถิติการอ่านหนังสือสูงถึง 60 เล่มต่อปี

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: