ตะลึงพบปรอทในครีมหน้าขาวอื้อ ชี้กฎหมายห้ามใช้เมื่อ20ปีที่แล้ว

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 16 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 20442 ครั้ง

 

พบครีมหน้าขาวมีสารปรอทสูงถึง 99,070 ส่วนในล้านส่วน

 

 

มูลนิธิบูรณะนิเวศ  ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำรวจผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวในท้องตลาดทั่วประเทศ โดยสุ่มตัวอย่างจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 47 ชนิด พบว่ามีผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาว 10 ชนิด ที่มีสารปรอทปนเปื้อนสูงมาก ทั้งนี้  น.ส.จุฑามาศ ทรัพย์ประดิษฐ์ นักวิจัยประจำมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า ค่าสารปรอทสูงสุดที่ตรวจพบคือ 99,070 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ในขณะที่สารปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง หรือต้องมีปริมาณเท่ากับ 0 ppm ตามกฎหมายมาตรฐานความปลอดภัย ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานการผลิตเครื่องสำอางของกลุ่มประเทศอาเซียน

 

               “สารปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง แต่จากสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวทั้งหมด 47 ชนิด  พบว่ามี 10ชนิด มีสารปรอทปนเปื้อนสูงมาก ค่าสารปรอทสูงสุดที่ตรวจพบคือ 99,070 ส่วนในล้านส่วน (ppm)”

 

สารปรอทเป็นส่วนประกอบที่นิยมลักลอบใช้ในครีมหน้าขาว เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีในผิวหนัง ทำให้สีผิวจางลง อย่างไรก็ตาม สารปรอทเป็นโลหะหนักที่มีพิษสะสมในร่างกาย แม้ได้รับในปริมาณน้อย ก็สามารถทำให้ผู้ใช้ครีมมีผิวบางลง ผิวจะมีความไวต่อแสงมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นผื่นแดงง่ายขึ้น หรือผิวจะเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ  บางรายอาจมีอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หากได้รับสารปรอทเป็นเวลานาน ร่างกายจะดูดซึมสารปรอทเข้ากระแสเลือด และจะทำให้เกิดการอักเสบของตับ ไต และทางเดินปัสสาวะ รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง การได้รับสารปรอทในปริมาณสูงจะทำลายระบบประสาทและการทำงานของสมอง สารปรอทยังสามารถถ่ายทอดจากมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ไปยังทารกในครรภ์ได้ด้วย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้สารปรอทเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2532 และปรับปรุงกฎหมายล่าสุด เมื่อพ.ศ.2551

 

 

พบมูลค่าการตลาดครีมหน้าขาวสูงถึง 2,100 ล้านบาท

 

 

การสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ยังพบว่า ครีมหน้าขาวที่ปนเปื้อนสารปรอททั้งหมด ยังแสดงข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วนตามประกาศของคณะกรรมการเครื่องสำอาง ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรื่องฉลากของเครื่องสำอาง พ.ศ.2554 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการไม่ระบุ “เลขที่ใบรับแจ้ง” ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ใดที่ไม่ระบุข้อมูลดังกล่าว ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ จะไม่ปรากกฎรายการอยู่ในฐานข้อมูลการติดตามตรวจสอบของอย. ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารปรอทเหล่านี้ก็จะไม่ปรากฏชื่อผลิตภัณฑ์ในฐานข้อมูลของ อย. ทำให้ยากแก่การติดตามตรวจสอบแหล่งผลิตหากผู้บริโภคพบปัญหาการใช้เครื่องสำอางชนิดนี้

 

นักวิจัยจากมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวอีกว่า ครีมหน้าขาวที่ตรวจพบสารปรอทในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ อย. เคยตรวจพบสารปรอทมาแล้วและ อย. เคยประกาศให้ผลิตภัณฑ์เหล่านนี้เป็นเครื่องสำอางที่ทำผิดกฎหมายและมีอันตราย  แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ก็ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำผิดกฎหมายเหล่านี้ยังคงวางจำหน่ายในท้องตลาดต่อไป  ซึ่งได้แก่ ครีม FC น้ำนมข้าว (พบสารปรอทสูง 99,070 ppm) ไวท์โรส ครีมรกแกะ (51,600 ppm)  เหมยหยง ครีมสมุนไพรสาหร่าย (41,770 ppm) เบสท์ บิวตี้ (34,430 ppm)  เพิร์ล ครีมหน้าเด้ง (13,800 ppm)  มาดาม ออร์แกนิค ไข่มุก (3,435 ppm)  และเบบี้เฟซ ครีมหน้าขาว (81.14 ppm)  นอกจากนี้ การสุ่มตัวอย่างยังพบครีมหน้าขาวปนเปื้อนสารปรอทอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปรากฏในรายการเครื่องสำอางอันตรายของ อย. ได้แก่ ครีมยี่ห้อไบโอคอลลาเจน (47,960 ppm)  เนเจอร์ (7,300 ppm) และครีมบำรุงมะหาด (63.53 ppm)

 

 

                     “ผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาวเป็นเครื่องสำอาง ที่นิยมแพร่หลายกันมากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม 2547 บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ (ประเทศไทย) จำกัด เคยเปิดเผยผลการศึกษาถึงความนิยม และส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์หน้าขาวว่า มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 60 ของตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าในประเทศไทย โดยมีมูลค่าสูงประมาณ 2,100 ล้านบาท”

 

นอกจากพบสารปรอทปริมาณสูงแล้ว การศึกษายังพบว่า ครีมหน้าขาวที่ปนเปื้อนสารปรอทมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกและราคาแพง ผู้บริโภคจึงไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ผลิตภัณฑ์แบบใดจะปลอดภัยจากสารโลหะหนักที่มีพิษร้ายตัวนี้

 

การผลิตและการจำหน่ายเครื่องสำอางไม่ปลอดภัยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เตือนผู้บริโภค เครื่องหมายอย.ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย

 

 

ด้านน.ส.ทัศนีย์  แน่นอุดร  หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงกรณีเลขที่จดแจ้งของเครื่องสำอางว่า เครื่องสำอางไม่ต้องมีอย. แต่ที่ต้องมีคือ เลขที่จดแจ้ง อย่างไรก็ตามแม้เครื่องสำอางดังกล่าว จะมีเลขอย. ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย เพราะอย.รับแจ้ง โดยดูจากเอกสารไม่ได้มีการตรวจวิเคราะห์ แต่การมีเลขเป็นการแสดงเจตนา บอกให้อย.ได้รู้แหล่งผลิตและตัวตนของผู้ผลิตด้วย

 

น.ส.สิรินนา เพชรรัตน์ เครือข่ายผู้บริโภค จากโครงการบริโภคสร้างสรรค์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานี พบเครื่องสำอางแบบนี้วางขายอยู่ทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ที่ตลาดสด เป็นแบบหมุนเวียนเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อย ๆ และรวดเร็วจนตามไม่ทัน เครื่องสำอางเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฉลากที่ไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวงสาธารณสุข  สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ชาวบ้าน ที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่า เครื่องสำอางที่ออกมาวางขายได้เป็นเครื่องสำอางที่ผ่านการตรวจ และถูกต้องตามกฎหมายแล้ว


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: