ตื่นเต้นพบปลาวาฬบรูด้า ใกล้กรุงเทพฯ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 17 ก.ค. 2555


 

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินการสำรวจการแพร่กระจายของปลาวาฬบรูด้า บริเวณอ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก อย่างต่อเนื่อง  พบปลาวาฬบรูด้าหากินอยู่ในอ่าวไทยตลอดทั้งปี โดยระยะเวลาที่พบจำนวนมากที่สุดอยู่ระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคมของทุกปี ปลาวาฬบรูด้าแม้จะตัวใหญ่มาก มีความยาวลำตัวประมาณ 14-15 เมตร และน้ำหนักตัว 20 ตัน ปกติจะกินอยู่ใกล้ชายฝั่ง อยู่ห่างฝั่งประมาณ 4-20 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 4-10 เมตร อาหารสำคัญของปลาวาฬบรูด้า คือ ปลากะตัก

 

ในปี 2555 นี้ ทช. ได้สำรวจพบปลาวาฬบรูด้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และพบปลาวาฬบรูด้าจำนวนมากที่สุดจากการสำรวจระหว่างวันที่ 8- 13 กรกฎาคม 2555 บริเวณอ่าวไทยตอนใน การสำรวจประชากรและศึกษาพฤติกรรมโดยวิธี Photo-ID ใช้ตำหนิต่าง ๆ บนลำตัว หัว และในปาก โดยเฉพาะตำหนิสำคัญที่ครีบหลังในการจำแนกความแตกต่างและระบุอัตลักษณ์ของแต่ละตัว  ในเดือนกรกฎาคมนี้พบปลาวาฬบรูด้าทั้งหมดจำนวน 30 ตัว เป็นตัวที่เคยพบและตั้งชื่อให้แล้ว 20 ตัว และตัวใหม่อีก 10 ตัว ปลาวาฬหลายตัวในจำนวนนี้พบหากินประจำถิ่นในอ่าวไทยมานานอย่างน้อย 4-5 ปีแล้ว บางตัวพบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2551

 

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์   อธิบดี ทช. กล่าวว่า     ในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่พบฝูงปลาวาฬบรูด้าหากินอยู่ใกล้ชายฝั่งของปากแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะห่างฝั่งเพียง 5 กิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะมีการพัฒนาชายฝั่งไปอย่างมาก และมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายตลอดเวลาก็ตาม ทั้งการประมงและการคมนาคมขนส่งทางทะเล แต่บริเวณดังกล่าวก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และอาหารของปลาวาฬบรูด้า ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดสำคัญของอ่าวไทยตอนใน ได้แก่ ปลาวาฬบรูด้า และโลมาอิรวดี  


อย่างไรก็ตาม ทช. ขอความร่วมมือมายังพี่น้องชายฝั่งทะเล ชาวประมง รวมทั้งผู้เดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สัญจรไป-มาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดให้ความระมัดระวังฝูงปลาวาฬบรูด้าที่กำลังหากินอยู่ในขณะนี้ และสามารถแจ้งพิกัดการพบเห็นปลาวาฬได้โดยตรงกับ ทช.

 

 

 

เจ้าสมุทร

เจ้าสมุทร

 

เจ้าบันเทิงกับเจ้าเมษา

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: