วิกฤตทั่วโลก'นายทุน'แย่งที่ทำกิน'คนจน' สภาฯชงตั้ง2สถาบัน-ยืนยัน‘เจ้าของที่ดิน’ หวังแก้ปัญหาการซื้อขาย-บุกรุกป่าอนุรักษ์

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 17 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3146 ครั้ง

 

 

คนจนทั่วโลกถูกแย่งที่ดินทำกินปลูกพืชพลังงาน

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้องค์กรพัฒนาเอกชนสากลอ็อกแฟม (Oxfam) เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า Our Land, Our Lives (แผ่นดินของเรา ชีวิตของเรา) ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2000 และปี 2010 ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารในแถบแอฟริกาและเอเชีย เช่น กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศเป้าหมายหลักของนักลงทุนด้านเกษตรกรรมและซื้อขายที่ดินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ที่ดินเหล่านั้นในการปลูกพืชพลังงานเพื่อส่งออกนอกประเทศ มีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนที่ดินเท่านั้น ที่ใช้ปลูกพืชอาหารเพื่อสนับสนุนการบริโภคในพื้นที่

 

รายงานฉบับดังกล่าว นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ของอ็อกแฟม ในเรื่องสิทธิ์ที่ดินของคนจน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการแย่งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของคนเหล่านี้ เพราะการกว้านซื้อที่ดินหรือลงทุนปลูกพืชในประเทศอื่น ๆ แล้วส่งออกกลับไปยังประเทศต้นทางของนักลงทุนต่างชาตินั้น ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในประเทศนั้น ๆ อย่างยิ่ง เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือนโยบายของรัฐใด ๆ ที่จะป้องกันผลกระทบต่าง ๆ ในระยะยาว ทำให้มีคนยากจนจำนวนมาก ถูกขับไล่ออกจากที่ดินที่ตนเองอยู่มาหลายชั่วอายุคน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หรือจ่ายค่าชดเชยจากหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทที่เข้าครอบครองแต่อย่างใด หลายครั้งก็เกิดความรุนแรงตามมา ส่งผลให้คนหลายล้านคนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยและขาดที่ดินทำกิน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

1 วินาทีเสียที่ดินทำกินขนาด 1 สนามฟุตบอล

 

 

จากการศึกษาดังกล่าวรายงานว่า ประเทศยากจนเหล่านี้สูญเสียที่ดินขนาดเท่าสนามฟุตบอลทุก ๆ 1 วินาทีให้กับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการซื้อขายที่ดินเป็นจำนวนทั้งหมดทั่วโลก 2 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณขนาดของพื้นที่ประเทศอินโดนีเซียทั้งหมด ส่วนในกัมพูชา องค์กรไม่แสวงหากำไรประมาณการณ์ว่า พื้นที่ 22,000 ตารางกิโลเมตร ถูกขายไปให้บริษัทเอกชนแล้ว 56-63 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินที่เพาะปลูกได้ทั้งหมดของประเทศ และการคำนวณของอ็อกแฟมยังพบว่า วิกฤติการณ์ราคาอาหารแพงในช่วงปี 2008 และ 2009 ได้กระตุ้นให้ข้อตกลงซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ที่ดินกลายเป็นทองคำ มีค่าควรแก่การลงทุนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงข้าวยากหมากแพง เนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น หมายถึงความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ความต้องการใช้ที่ดินมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

จากข้อมูลในรายงานฉบับนี้ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ธนาคารโลกระงับโครงการลงทุนและให้กู้ ที่เกี่ยวกับที่ดินและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิที่ดินของชุมชนทั้งหมดเป็นเวลา 6 เดือน และทบทวนข้อเสนอแนะ ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ช่วยกำหนดมาตรฐานสำหรับนักลงทุน และใช้นโยบายที่เข้มแข็งในการลงทุนด้านนี้ เพื่อป้องกันและควบคุมการกว้านซื้อที่ดิน ธนาคารโลกอยู่ในสถานะที่พิเศษ เพราะเป็นทั้งผู้ลงทุนและที่ปรึกษาให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

 

ในทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เพิ่มการลงทุนด้านเกษตรกรรมถึง 200 เปอร์เซ็นต์ และจากผลการวิจัยของธนาคารโลกเองก็พบว่า ประเทศที่มีมูลค่าการซื้อขายที่ดินสูง ๆ เป็นประเทศที่มีระบบการคุ้มครองสิทธิที่ดินของชุมชนอ่อนแอที่สุด โดยไม่จำเป็นว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่ดินของชุมชนเป็นจำนวนถึง 21 ราย โดย 12 รายอยู่ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค

 

 

ปัญหาที่ดินต้นเหตุความขัดแย้ง‘รัฐ-ประชาชน’

 

 

เจเรมี่ ฮอบส์ ผู้อำนวยการบริหารอ็อกแฟมกล่าวว่า โลกกำลังเผชิญหน้ากับการกว้านซื้อที่ดิน ที่ส่งผลให้คนจนกลับจนลงกว่าเดิม และก่อให้เกิดความรุนแรงและความขัดแย้งระหว่างประชาชน หน่วยงานรัฐและกลุ่มภาคเอกชน การระงับการลงทุนชั่วคราว และหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนเอง จะช่วยให้ธนาคารโลกเป็นตัวอย่างที่ดีกับนักลงทุนและรัฐบาล ในการกระตุ้นให้หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการสร้างมาตรการที่ทำให้มั่นใจได้ว่า การลงทุนนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงและยั่งยืน สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนและการพัฒนาน่าจะเป็นเรื่องดี แต่นั่นหมายความว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนลงหรือลำบากกว่าเดิม

 

จากข้อมูลทั้งหมด ถูกเรียกร้องให้เกิดการพูดคุยในประเด็นนี้ ในการประชุมประจำปีครั้งแรกของธนาคารโลกในวันที่ 4-14 ตุลาคมนี้ โดยเห็นว่า การระงับโครงการที่เกี่ยวข้อง หรืออาจส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนทั้งหลาย จะช่วยให้ผู้บริหารได้จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เราต้องการให้การระงับนี้เป็นเสมือนสัญญาณต่อนักลงทุนทั่วโลกให้หยุดการกว้านซื้อขายที่ดิน และปรับปรุงมาตรฐานในเรื่อง ความโปร่งใส การปรึกษาหารือก่อนการตัดสินใจ และการได้รับความยินยอมจากชุมชน การคำนึงถึงสิทธิชุมชนและธรรมาภิบาล และ ความมั่นคงทางอาหาร

 

 

                 “ธนาคารโลกมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องหยุดการกระทำนี้อย่างเร่งด่วน เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะขณะนี้สงครามแย่งชิงทรัพยากรเรื่องที่ดินและน้ำรุนแรงขึ้นทุกวัน สิทธิในที่อยู่และที่ทำกินของคนจน ควรต้องได้รับการปกป้องอย่างถึงที่สุด”นายเจเรมี่ ฮอบส์ กล่าว

 

 

ไทยมีปัญหาที่ดินทุกรูปแบบ

 

 

สำหรับปัญหาที่ดินในประเทศไทย แม้จะดูสอดคล้องกับข้อมูลที่อ็อกแฟมออกมาสำรวจ การซื้อขายที่ดินของนายทุน ไม่เพียงจะเป็นการกว้านซื้อเพื่อทำประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรม นอกเหนือจากการปลูกพืชอาหารเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นการกว้านซื้อในเชิงธุรกิจอื่น ๆ ที่สำคัญการซื้อขายที่ดินส่วนใหญ่ เกิดจากการความไม่ถูกต้องที่มีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐ หรือการออกเอกสารที่ไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง ทำให้ที่ดินจำนวนมากกลายเป็นที่ดินปัญหา ทั้งเรื่องเขตทับซ้อนในพื้นที่ของรัฐ และการได้มาอย่างไม่ถูกต้อง ปัญหาที่ดินในประเทศไทยจึงดูเหมือนจะมีความซับซ้อน มากกว่าแค่เพียงการกว้านซื้อที่ดินของนักลงทุนต่างชาติ ที่ทำให้ความมั่นคงทางอาหารในประเทศลดลงเพียงอย่างเดียว

 

ที่ดินในหลายพื้นที่ของไทยกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในภาคเหนือ อีสาน พบว่า ที่ดินของเกษตรกรจำนวนมาก ถูกนายทุนต่างชาติกว้านซื้อปลูกพืชพลังงาน รวมถึงยางพารา หรือไม่ก็ปล่อยเช่าให้ชาวนาไทยทำนา ในขณะที่ที่ดินในจังหวัดภาคใต้ก็ถูกกว้านซื้อจำนวนมาก เพื่อปลูกยางพารา บางแห่งมีการบุกรุกเข้าไปในที่ดินของรัฐ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบมากที่สุดในประเทศไทย ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งกลายเป็นข่าวโด่งดังในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้าบุกรุกที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศและเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

สภาผู้แทนฯชี้ ปัญหาร้องเรียนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553

 

 

แม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดการปัญหา เรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังไม่พบว่าปัญหาที่ดินในประเทศไทยคลี่คลายลง จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า มีการร้องเรียนเรื่องปัญหาที่ดินของประชาชนเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละปี โดยพบว่า เริ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ทั้งเป็นเรื่องของการถูกนายทุนรุกที่ดินทำกิน การซื้อขายที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม หรือปัญหาที่ดินทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของประชาชนกับ ที่ดินของรัฐ จนทำให้คณะกรรมาธิการต้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว

 

พ.อ.ชินรัชต์ รัตนจิตเกษม ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาการบุกรุที่ดินของรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า จากปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมาก ทำให้มีการร้องเรียนผ่านคณะกรรมาธิการฯ หลายคดี จึงจัดตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อดำเนินการหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้โดยเฉพาะ ที่ผ่านมาคณะทำงานได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่า เกิดปัญหาเรื่องของที่ดินทำมาหากิน โดยเฉพาะประเด็นที่ดินของชาวบ้านที่ถูกประกาศแนวเขตทับที่ดินของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้ง แนวเขตป่าสงวนฯ หรือ กรมอุทยานฯ ทั้งนี้จากข้อเท็จจริง คณะทำงานเห็นว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของการใช้ระบบแผนที่ที่แตกต่างกัน กลายเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ

 

 

การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐทำชาวบ้านเดือดร้อน

 

 

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนขยายตัวเป็นอย่างมากในหลายปีหลังนี้ เป็นผลมาจากนโยบายรัฐบาล เมื่อปี 2551-2553 ที่เคยผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถเข้าทำกินในเขตป่าสงวนฯ ได้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าไปจับจองที่ดินทำมาหากินมากมาย แต่ต่อมาในปี 2553 นโยบายดังกล่าวกลับถูกยกเลิกไป ทำให้ผู้ที่เข้าไปทำมาหากินในที่ดินเขตป่าสงวนฯ กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ทำให้ถูกดำเนินคดี และสาเหตุของความเดือดร้อนนี้ จึงทำให้เกิดการร้องเรียน ขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ขึ้นมา ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลส่วนใหญ่จะติดคุกหมด เพราะไม่มีข้อมูลมาโต้แย้ง ขณะที่กรมที่ดิน กรมป่าไม้ หรือ สปก. ก็ไม่สามารถทำเรื่องพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินได้

 

 

ระบุใช้แผนที่รูปแบบเก่า ทั้งที่ทั้งโลกเปลี่ยนไปนานแล้ว

 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการตั้งคณะทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร ขึ้นมาแล้ว ได้ศึกษาสาเหตุต่าง ๆ กระทั่งพบว่า ปัญหาสำคัญล้วนเกิดจากความผิดพลาดในการใช้แผนที่คนชุดกันของแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากที่ผ่านมาทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงระบบแผนที่ ตั้งแต่ปี 1984 โดยสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนระบบการใช้แผนที่ทั้งโลกเป็น  WGS 84 แต่ในประเทศไทยกลับไม่ปรับระบบแผนที่ใหม่ แต่ยังใช้ระบบเดิมอยู่ ดังนั้นเมื่อมีการอ่านแผนที่ที่ต่างกับระบบเก่าและระบบใหม่ จะมีส่วนต่างห่างกันอยู่ประมาณ 500 เมตร ปัญหาจึงเกิดขึ้น เพราะทำให้พิกัดเปลี่ยนไป เกิดความสับสนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ยังใช้แผนที่ระบบเดิม เมื่อไปเดินสำรวจแล้ว จึงเห็นว่า หมุดที่ปักไว้ไม่ตรง จึงได้ขยับใหม่ เมื่อหมุดขยับที่เกิดจากการอ่านค่าจีพีเอส ที่ไม่ตรงกัน ทำให้ดูเป็นว่าชาวบ้านรุกที่ดิน ทั้งที่หมุดเดิมถูกต้องแล้วและประชาชนเองไม่ได้บุกรุกที่ดินรัฐแต่อย่างใด

 

 

ตั้ง 2 สถาบัน ตรวจสอบ-ยืนยัน เจ้าของที่ดิน

 

 

                 “เมื่อเป็นปัญหาแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน คณะทำงานฯ พบข้อเท็จจริงตรงนี้ จึงเสนอว่า ให้ตั้งสถาบันเป็นกลางขึ้นมา 2 สถาบัน สถาบันแรกเป็นระบบให้บริการกับประชาชน ในการตรวจสอบที่ดิน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยการปรับค่าการอ่านแผนที่ใหม่ให้ถูกต้อง ไม่ว่าใครจะต้องกลับมาใช้พิกัดเดียวกัน สถาบันนี้จะยึดเอาระบบที่ปรับทั้งโลก เอาระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ คอมพิวเตอร์จะมีระบบคำนวณ ไม่ว่าคุณจะตรวจสอบที่ดินที่ไหน ให้บอกเวลา ทิศ พิกัด จังหวัด ส่งข้อมูลเข้ามายังสถาบันนี้ เพื่อขอตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถบอกได้ว่า คุณยืนอยู่ในที่ดินประเภทไหน ของใครได้ทันที ซึ่งประชาชนก็จะสามารถตัดสินในการจะซื้อขาย หรือใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะสถาบันนี้จะเป็นการให้ข้อมูล สารสนเทศให้รู้ก่อนที่จะเกิดเรื่อง” พ.อ.ชินรัชต์กล่าว

 

 

ส่วนอีกสถาบันหนึ่ง พ.อ.ชินรัชต์กล่าวว่า จะเป็นสถาบันกลางที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถาบันสำหรับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินทั้งประเทศ ลักษณะคล้ายกับเครดิตบูโร ซึ่งจะเป็นหน่วยงานกลางที่จะเป็นผู้ชี้ชัดเรื่องของที่ดิน ในการยืนยันว่า ที่ดินนั้น ๆ เป็นที่ดินประเภทใด ของใคร ซึ่งหน่วยงานนี้จะเป็นผู้ชี้ชัดในการแก้ไขปัญหา หลังจากเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินขึ้นแล้ว โดยการขอใช้จะต้องได้รับคำร้องขอจากศาล หรือหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ทั้งนี้ การเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานทั้งสองหน่วยงานนี้ ขณะนี้มีการเสนอเป็นเป็นร่างกฎหมายไปแล้ว และไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หากเป็นไปตามขั้นตอน เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี กฎหมายนี้น่าจะผ่านออกมา เพื่อใช้แก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินในประเทศไทยอย่างแน่นอน

 

 

                 “ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ในประเทศไทยมีจำนวนมากขณะนี้ การแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็ไม่เคยแก้ไขได้ สาเหตุเพราะการอ่านระบบแผนที่คนละระบบดังกล่าว จนไม่สามารถที่จะมีใครออกมาชี้ชัดได้ แต่หากมีกฎหมายเพื่อจัดตั้งสองหน่วยงานนี้ เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐคลี่คลายลงไปได้ ผมเชื่อว่าภายใน 1 ปีนี้ กฎหมายจะผ่าน และจะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้” พ.อ.ชินรัชต์กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ ที่ยังประสบกับปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ทั้งในรูปแบบของการกลายเป็นผู้ต้องหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ หรือการถูกนายทุนจากต่างชาติเอาเปรียบ แย่งที่ดินทำกินดั้งเดิมไปทำธุรกิจ แม้ว่าจะมีความพยายามในทางกฎหมายจัดตั้งสถาบัน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินดังกล่าวในประเทศไทย แต่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ก็ยังไม่ได้เห็นผลชัดเจนนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการของภาครัฐ ที่หลายคนมีความเห็นที่ตรงกันว่า ยังไม่เห็นการขยับเรื่องนี้เลย แม้ว่าจะมีข่าวครึกโครมตลอดช่วงปีที่ผ่านมาก็ตาม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: