‘แก้-ไม่แก้’รัฐธรรมนูญ‘ดี-ไม่ดี’ หนทางสร้างกติกาในสังคมไทย ผ่านมุมมองของ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 17 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1944 ครั้ง

 

ประเด็นร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสายตาของนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ ศูนย์ข่าว TCIJ หากสำรวจทัศนคติที่ผ่านมาของเขา คงเดาได้ไม่ยากว่าเขาคิดอย่างไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการช่วยคนไกลกลับบ้าน ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ที่พร้อมจุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ได้เสมอ มันจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

แต่ดูเหมือนนิธิจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องหยุมหยิมนี้สักเท่าไร เอาเข้าจริง ๆ แล้ว เรื่องของคนไกลบ้านเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของโครงสร้างการจัดสรรอำนาจทางการเมืองไทย ผ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ยังไม่ลงตัว และไม่สอดรับกับการเกิดขึ้นของกลุ่มพลังใหม่ในสังคม ซึ่งก็คือชนชั้นกลางระดับล่าง ที่พึ่งพอใจกับนักการเมืองที่สามารถกระจายทรัพยากรของรัฐ ให้ตกถึงมือได้ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าการมาถึงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

ที่ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ทุกวันนี้ มองแบบผิวเผินอาจสรุปว่าเป็นเรื่องของความคิดต่างทางการเมือง แต่นิธิชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่องของการพยายามแสวงหากติกาการอยู่ร่วมกันที่ทุกฝ่ายพอใจ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่เกิดขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเลี่ยงได้ คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะแก้อย่างไรและแก้ในส่วนไหน

 

สำรวจโครงสร้างความขัดแย้งของสังคมไทย และหนทางการสร้างกติกาผ่านมุมมองของนิธิ เอียวศรีวงศ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สังคมไทยต้องการกติกาในการอยู่ร่วมกัน

 

 

นิธิกล่าวกล่าวในเบื้องต้นว่า การจะเข้าใจรัฐธรรมนูญปี 2550 และกระแสการสนับสนุน-คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนี้ ไม่ควรมองในแง่หลักการประชาธิปไตยหรือในแง่กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมองลงไปถึงโครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทย

 

นิธิฉายภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้เห็นว่า อดีต รัฐธรรมนูญหาได้มีความหมายมากมายเช่นปัจจุบัน ฉีกทิ้ง-ร่างใหม่ หมุนวนไปตามวัฏจักรของการรัฐประหาร ยิ่งในช่วงการครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องถึงยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประพาส จารุเสถียร ประเทศไทยปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญยาวนานถึง 12 ปี จวบจนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมาสภาวะเช่นนี้จึงแปรเปลี่ยน สังคมไทยต้องการกติกาบางอย่างในการอยู่ร่วมกัน แม้ว่าผู้ร่างจะร่างตามใจชอบเพียงใด จะบิดเบี้ยวหรือเที่ยงตรง แต่อย่างน้อยก็จำเป็นต้องมีกติกา

 

 

                “ระบอบการปกครองที่จอมพลสฤษดิ์จัดเอาไว้ ที่จะมีผู้ถืออำนาจโดยไม่ต้องมีกติกาเลย เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว หลังจากที่ชนชั้นกลางและนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ประสบความสำเร็จในการเข้ามาขอส่วนแบ่งพื้นที่ทางการเมืองเพิ่มขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไล่พวกเขาออกไปอีก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการกลับไปสู่ระบอบการปกครองที่มีกองทัพเป็นผู้กำกับดูแลไปหมดทุกเรื่อง ฉะนั้น ความฝันที่จะกลับไปสู่ระบอบแบบนั้น สำหรับทหารที่ไม่ไร้เดียงสาทางการเมืองเกินไปนักจะไม่มีใครคิดอีกแล้ว”

 

 

ดังนั้นสิ่งที่สังคมกำลังทะเลาะถกเถียงกันอยู่เวลานี้จึงไม่ใช่การทะเลาะเกี่ยวกับตัวเอกสารรัฐธรรมนูญ แต่กำลังทะเลาะกันเกี่ยวกับข้อตกลงบางประการที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยจะยอมรับและอยู่ร่วมกันได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘ทักษิณ’ นายกฯอุดมคติของชนชั้นกลาง

 

 

รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็คือปฏิกิริยาจากสิ่งที่นิธิกล่าวข้างต้น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากความคิดที่ไม่ต้องการให้ประเทศกลับไปอยู่ภายใต้ระบอบทหารเป็นใหญ่อีกต่อไป ผู้ที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงมีตั้งแต่นักธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมือง คนชั้นกลางคอปกขาว คนที่อยู่ในชนบทไม่ว่าจะในภาคเกษตรหรือภาคแรงงาน ถึงกระนั้น คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ไว้ใจนักการเมือง

 

 

                 “ถามว่านักการเมืองเหล่านี้มาจากไหน มองให้ดี ๆ จะพบว่าการเลือกตั้ง ตั้งแต่ประมาณปี 2520 กว่า ๆ เป็นต้นมา คนที่เข้ามาเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีคือกลุ่มคนที่เป็นเจ้าพ่อ เป็นนักธุรกิจต่างจังหวัดหรือเครือข่าย คนกลุ่มนี้แหละที่นักธุรกิจอุตสาหกรรม ขุนนาง ตุลาการ ทหาร และกลุ่มอื่น ๆ ที่เหลือไม่ค่อยไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงออกมาอย่างน่าสนใจ คือด้านหนึ่งพยายามสร้างกลไกกำกับไม่ให้นักการเมืองมีอำนาจมากนัก มีองค์กรอิสระเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีการบังคับให้ต้องทำประชาพิจารณ์ มีการประกาศสิทธิชุมชนท้องถิ่น ทั้งหมดนี้คือกลไกในการคานอำนาจนักการเมือง ซึ่งที่จริงก็คือนักธุรกิจชนบทที่มาจากต่างจังหวัดนั่นเอง”

 

รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้กลุ่มบุคคลที่สนับสนุนคาดหวังว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่ยอมรับได้ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็คือบุคคลคนนั้น นิธิกล่าวว่า ในช่วงแรก พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการสนับสนุนสูงมากจากกลุ่มคนข้างต้น เนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีที่ตรงตามอุดมคติ คือเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรม ที่อยู่ในเมือง ถึงกระนั้น ฐานคะแนนที่แท้จริงของพรรคไทยรักไทยกลับเป็นกลุ่มธุรกิจต่างจังหวัด เป็นเหตุให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องให้การสนับสนุนทั้งสองฝ่ายคือทั้งนักธุรกิจอุตสาหกรรมในเมืองและกลุ่มธุรกิจต่างจังหวัด

 

 

                     “อย่าลืมนะครับว่าคุณทักษิณยอมเสียเงินในการกอบกู้ธุรกิจที่อยู่ในเมือง หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มากกว่าที่คุณทักษิณเอาไปลงทุนกับ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และอื่น ๆ อีก ซึ่งไม่ค่อยมีคนพูดถึงว่า เราเสียเงินให้แก่อุตสาหกรรมในเมืองมากกว่าที่คุณทักษิณเอาไปโปรยลงไปในต่างจังหวัดด้วยซ้ำไป”

 

 

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณก็ได้ทำให้กลุ่มคนที่เรียกว่าคนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มคนหน้าใหม่ในสังคมไทยและมีจำนวนมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย รู้สึกพออกพอใจพ.ต.ท.ทักษิณ

 

 

 

ทักษิณสร้างศัตรู-จึงเลือกไว้ใจชนชั้นนำ

 

 

ผลพวงจากนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนต่างจังหวัดและสมาชิกพรรค ที่เป็นเครือข่ายของธุรกิจในต่างจังหวัด ความแข็งแกร่งทางการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้อำนาจในการต่อรองของกลุ่มคนที่เคยสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 ลดลง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจ และแปรเปลี่ยนเป็นคนกลุ่มนี้เป็นศัตรูทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ

 

การแทรกแซงสื่อก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งของคนงานคอปกขาวยอมรับรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ยาก เพราะเปิดช่องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ คุกคามเสรีภาพของสื่อซึ่งถือเป็นอาวุธของคนกลุ่มนี้ นิธิกล่าวว่าคนงานคอปกขาวสามารถต่อรองทางการเมืองได้ ก็โดยอาศัยสื่อ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ แทรกแซงสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อสถานีวิทยุโทรทัศน์ไอทีวี จึงเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนทางการเมืองต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างมาก ซึ่งในทัศนะของนิธิถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองต่อกลุ่มชนชั้นกลางคอปกขาว เมื่อผสมโรงกับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตจำนวนมาก รัฐประหารปี 2549 จึงเกิดขึ้น

 

 

              “มีคนจำนวนไม่น้อยในกลุ่มอื่น ๆ ของสังคมไทยที่มองว่า ระหว่างชนชั้นนำที่กินหัวประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี กับนักการเมืองต่างจังหวัดที่กินแบบไม่อาย จะไว้ใจใครดี คำตอบคือไว้ใจชนชั้นนำมากกว่า”

 

 

รัฐธรรมนูญปี 50 จัดสรรอำนาจไม่ลงตัวคือที่มาของความขัดแย้ง

 

 

รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงวางอยู่บนความไม่ไว้วางใจนักการเมือง ต้องการลดอำนาจของนักการเมืองลง และกันนักการเมืองออกไป แต่ถึงตอนนี้นักการเมืองต่างจังหวัด กลับได้ชนชั้นกลางระดับล่างในต่างจังหวัดเป็นฐานเสียงเสียแล้ว โอกาสที่จะแพ้การเลือกตั้ง จึงเป็นไปได้ยาก รวมถึงโอกาสที่จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งในสังคมไทยก็ยากมากด้วยเช่นกัน ไม่ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญกับสภาพทางการเมืองของไทย จะไม่สอดคล้องกันเพียงใด ในความคิดของคนจำนวนหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจในเมือง ข้าราชการ ทหาร คนงานคอปกขาว และกลุ่มแรงงาน กลับรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 สามารถจัดดุลอำนาจได้เหมาะสมที่สุด คือไม่ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ติดอาวุธนานาชนิดในการกำกับนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งดูเป็นการแบ่งอำนาจที่ลงตัวพอดี

 

 

                “แต่ถามว่าลงตัวจริงหรือไม่ เมื่อจำนวนคนที่สนับสนุนนักการเมืองต่างจังหวัด คือพวกคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งมีเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าเขาจะเลือกใครก็ได้นะครับ แต่ต้องเป็นนักการเมืองต่างจังหวัดที่จะกระจายทรัพย์สินของรัฐลงไปยังต่างจังหวัดด้วย คนกลุ่มนี้มีจำนวนเยอะมาก ผมจึงคิดว่ายังไม่ลงตัว มันจึงทะเลาะกัน แต่ที่มันลงตัวจะเป็นการกลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่หรือไม่ ผมไม่ทราบ”

 

 

นิธิขมวดให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเวลานี้ ก็คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่คิดว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 คือจุดที่ลงตัวที่สุด สำหรับการจัดสรรอำนาจ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าอำนาจไม่ได้ถูกจัดสรรอย่างสมดุลและอยากจะแก้ให้เกิดสมดุล

 

 

 

 

 

ฟันธงต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 50 เพราะสงวนอำนาจให้ชนชั้นนำ

 

 

           “ปัญหาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่คนส่วนใหญ่มองเห็นคือการสงวนอำนาจไว้กับกลุ่ม ที่อาจเรียกได้ว่าชนชั้นนำ ที่ประกอบไปด้วยขุนนาง กองทัพส่วนหนึ่ง และข้าราชการฝ่ายตุลาการไว้ค่อนข้างสูงมาก”

 

 

การสงวนอำนาจดังกล่าว สะท้อนผ่านการให้ฝ่ายตุลาการเป็นผู้กำหนด และคัดเลือกคณะกรรมการองค์การอิสระและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับประชาชนแต่อย่างใด

 

เมื่อถามตรง ๆ ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นิธิออกตัวก่อนว่า

 

 

              “ประการแรกคือผมมีอคติ ผมเข้าข้างฝ่ายชนชั้นกลางระดับล่าง เหตุดังนี้ผมจึงเห็นว่าควรแก้และต้องแก้ ประเด็นที่ 2 คือ แล้วจะแก้อย่างไร”

 

 

ต้องสร้างกลไกทางสังคมตรวจสอบรัฐบาล อย่าหวังพึ่งแต่องค์กรอิสระ

 

 

นิธิวิเคราะห์รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการสร้างฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลที่เข้มแข็ง เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ข้อผิดพลาดประการสำคัญ ในเชิงหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2540 คือการไว้วางใจให้การกำกับควบคุมฝ่ายบริหารอยู่ในมือองค์กรอิสระมากเกินไป แม้ว่าองค์กรอิสระจำเป็นต้องมี แต่ผู้ที่จะควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ดีที่สุดคือสังคม นิธิคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ให้อำนาจสังคมไว้น้อยเกินไป เมื่อองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ ล่มสลายลงในยุครัฐบาลทักษิณ จึงไม่เหลือกลไกใด ๆ ไว้ตรวจสอบ กำกับ ควบคุมรัฐบาลอีกเลย

 

 

               “รัฐบาลที่รัฐธรรมนูญปี 2540 อยากเห็นคือรัฐบาลที่มีอำนาจมากพอจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ทำนโยบายได้โดยไม่ต้องต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กต่างๆ ปรากฏว่าพอได้รัฐบาลที่เข้มแข็งจริงอย่างที่ต้องการ กลับเลยเถิดจนองค์กรอิสระก็ควบคุมไม่ไหว”

 

 

 

 

   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทำอำนาจประชาชนให้มีความหมาย

 

 

ส่วนเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ควรถูกนำกลับมาในมุมมองของนิธิ คือเนื้อหาว่าด้วยการได้มาขององค์กรอิสระและวุฒิสภา ที่จะต้องเชื่อมโยงกับประชาชน

 

นิธิยังเห็นว่าควรมีการกำหนดระยะเวลา และบทลงโทษที่ชัดเจน ในการออกกฎหมายลูก ที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาทุกรัฐบาลละเลยสิ่งนี้ เช่น ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาลทันที เป็นต้น เหล่านี้ยังไม่นับเหลี่ยมคูต่าง ๆ ของนักการเมืองที่มักใช้ยื้อร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอ ซึ่งทำให้อำนาจที่ประชาชนได้รับมาไร้ความหมาย

 

 

               “ผมอยากให้คนที่จะร่างรัฐธรรมนูญ ศึกษาประสบการณ์ของคนไทยที่ผ่านมา กับรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ให้ดี เพราะอำนาจที่ให้ประชาชนเอาไว้ มันไม่มีความหมายเยอะมาก”

 

 

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์-ระบุอำนาจให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ

 

 

นอกจากการเพิ่มอำนาจตรวจสอบให้แก่สังคม และทำให้อำนาจของประชาชนมีความหมายอย่างแท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรต้องปฏิรูป 3 สถาบันหลักในสังคม หนึ่ง-ปฏิรูประบบตุลาการ สอง-ปฏิรูปกองทัพ และสาม-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นิธิขยายความว่า

 

 

                 “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือต้องกำหนดพระราชอำนาจที่ชัดเจนว่าคืออะไร อย่าทิ้งให้คลุมเครือเป็นอันขาด อำนาจตามกฎหมายจริง ๆ ของสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ส่วนจะใช้อำนาจทางวัฒนธรรมอย่างไร นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

 

 

นิธิยกตัวอย่างความคลุมเครือจากคำว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ซึ่งแต่เดิมใช้คำว่า ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย’ วรรคและตามด้วย ‘มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ เมื่อเชื่อมสองประโยคนี้เข้าด้วยกัน ความหมายจึงเปลี่ยนเป็นว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่เหมือนกับที่อื่น คำถามคือประโยคนี้แปลว่าอะไร

 

นิธิตั้งข้อสังเกตว่า ประโยคนี้ทำให้เกิดความหมายใหม่ขึ้นว่า มีระบอบการปกครองชนิดใหม่ขึ้นที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

 

 

 

 

            “เมื่อไม่กี่วันนี้อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร กล่าวว่า จริง ๆ แล้วระบบ Constitution Monarchy ถ้าดูจากยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ก็อาจจะเป็นระบอบการปกครองอีกชนิดหนึ่งเหมือนกันที่ไม่ได้สืบทอดมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แล้วก็เสื่อมลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถ้ามองในรูปนี้ คำถามที่ตามมาทันทีคือว่า แล้วระบอบการปกครองของไทยกับสแกนดิเนเวียเหมือนกันหรือไม่

 

 

                “ถ้าบอกว่าเป็นส่วนหนึ่ง ก็หมายความว่าระบอบการปกครองของไทยกับสแกนดิเนเวียเหมือนกัน แต่นี่ไม่เหมือน ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าที่ใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อทำให้เกิดอำนาจการนิยามใหม่ (เน้นเสียง) เหตุดังนี้จึงอาจจะขอพระราชทานอำนาจในมาตรา 7 เป็นครั้งเป็นคราว ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็ได้ นี่คืออำนาจในการนิยาม” นิธิกล่าว

 

 

เพราะกระบวนการยุติธรรม สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

 

 

ส่วนการปฏิรูปสถาบันตุลาการ นิธิขยายความโดยเอ่ยถึงภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบว่า การที่กระบวนการยุติธรรมไทยดำรงอยู่ได้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน หัวใจสำคัญอยู่ที่กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมสามารถจัดการกับกระบวนการยุติธรรมได้ตามอำนาจที่ตนเองมีอยู่

 

 

              “ถ้าคุณมีอำนาจน้อย คุณก็จัดการได้น้อย ลักษณะการกระจายอำนาจการใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมมันสะท้อนอำนาจความเป็นจริงของสังคมไทย คำพูดง่าย ๆ ที่ทุกคนรู้กันอยู่คือ รวยซะอย่าง ไม่ติดคุกหรอก จริงหรือไม่ จริง ซึ่งถ้าจริงก็แปลว่า เราให้ความรวยแก่คนที่มีอำนาจ แล้วเราก็ให้อำนาจแก่คนที่รวย”

 

 

สิ่งนี้สะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ทุกคนจึงพอใจที่จะกล่าวว่า ศาลคือที่พึ่งสุดท้าย เพราะสามารถหลบหนีกฎหมายได้ ตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ถ้ามีเงินและอำนาจ

 

คำถามก็คือ เมื่อสังคมไทยเปลี่ยน การจัดการกับกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบในแบบเดิมจะดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ นิธิคิดว่าไม่ได้ และนี่คือเหตุผลที่พบว่า เวลานี้ กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ตำรวจ ศาล ไปจนถึงเรือนจำ กำลังถูกตั้งคำถามตัวใหญ่ เพราะยังมีคนที่ไม่มีเงินและอำนาจที่ต้องการกระบวนการยุติธรรมอีกชนิดหนึ่งที่ไม่สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย

 

แม้จะดูเหมือนว่าการปฏิรูปสถาบันทั้ง 3 แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่หากไม่นับสถาบันกษัตริย์แล้ว นิธิเชื่อว่า การที่สถาบันตุลาการและทหารจะดำรงอยู่ได้ ต้องเกิดจากการยอมรับของสังคม เมื่อใดที่สังคมตั้งคำถามต่อสถาบันทั้งสองนี้มากขึ้น ๆ นิธิเชื่อว่าในที่สุด ทั้งสองสถาบันนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแม้จะไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม

 

 

รัฐบาลดันสสร. หวังผ่านประชามติ

 

 

เมื่อต้องแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่กระบวนการ ว่าจะเปิดให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมได้อย่างไร จุดนี้นิธิกล่าวว่า ประเทศไทยปัจจุบันนี้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อีกทั้งในทางการเมือง นิธิคิดว่าพรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องให้มี สสร. เพื่อให้ได้คะแนนเสียงมากพอในการลงประชามติ ถ้าผ่าน รัฐบาลก็จะใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญโดยกระบวนการ สสร. ไม่ใช่การแก้ไขทีละมาตรา เมื่อถึงจุดนั้นก็ไม่มีใครสามารถคัดค้านได้อีกต่อไป แม้แต่อำนาจนอกระบบ ซึ่งส่วนนี้นิธิมองว่าเป็นเรื่องของเกมการเมือง ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเดินเกม

 

อย่างไรก็ตาม ความวิตกของสังคมก็คือถึงที่สุดแล้ว สสร. อาจเป็นเพียงร่างทรงของนักการเมือง นิธิกล่าวว่า

 

 

 

             “ยังไง ๆ คุณก็ต้องมี สสร. เมื่อตอนปี 2540 มีความเชื่ออย่างหนึ่งในการเลือกตั้งวุฒิสภาว่า ถ้าจัดเขตเลือกตั้งให้เป็นจังหวัดก็ยาก ที่จะมีพรรคการเมืองหรือเจ้าพ่อคนใดคนหนึ่งคุมได้ทั้งจังหวัด ซึ่งปรากฎว่าไม่จริง ความคิดแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 อาจจะผิดพลาด เพราะประเมินกำลังเจ้าพ่อผิด ก็คิดใหม่สิครับ เช่น แทนที่จะเลือกทั้งจังหวัด คุณเสนอมา 100 รายชื่อ แล้วให้เลือกทั้งประเทศ เป็นต้น อุปสรรคมันมี แต่มันคิดวิธีแก้ได้”

 

 

นิธิเชื่อว่า ถ้าสสร.มีจำนวน 100 คน เต็มที่ที่คนของพรรคเพื่อไทยจะเข้ามาได้น่าจะไม่เกิน 25 คน จะเห็นได้ว่า สสร. น่าจะมีความหลากหลายค่อนข้างมาก และ สสร. เองก็จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องลงมติ ว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สสร. จึงไม่สามารถฝืนเขียนรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ยอมรับได้

 

 

                 “ส่วนวิธีที่สังคมจะกดดัน เพื่อสอดแทรกเนื้อหาที่ตนต้องการ ก็ทำอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เริ่มตั้งแต่บทความในหนังสือพิมพ์ ไล่ไปจนถึงการชุมนุม ทำไปเลย แทนที่จะประท้วงกับรัฐบาลก็ประท้วงกับ สสร. แทน ซึ่งผมคิดว่า สสร. อ่อนไหวกว่ารัฐบาล เพราะสุดท้ายต้องลงประชามติว่ารับหรือไม่รับ”

 

 

แก้บทเฉพาะกาลทำทักษิณพ้นผิด เป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้

 

 

ประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่สุด ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและอาจลุกลามเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่คือ หมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ และการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศโดยไม่มีความผิด แน่นอนว่ารัฐบาลจะไม่แตะต้องประเด็นแรก แม้จะเป็นประเด็นที่นิธิคิดว่าควรต้องปฏิรูป แต่ประเด็นที่สองรัฐบาลไม่เคยปฏิเสธ

 

นิธิมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เลี่ยงที่จะไม่ยุ่งกับการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ เพราะบทเฉพาะกาล มาตรา 309 ระบุให้การกระทำทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ายกเลิกมาตรานี้เมื่อใด ย่อมเท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณจะพ้นผิด ซึ่งนิธิคิดว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่แตะต้องบทเฉพาะกาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไร้ความหมาย

 

 

                “ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น แต่นักกฎหมายอาจจะบอกว่าไม่หลุดก็ได้ เพราะมีคำพิพากษาแล้ว แต่คำพิพากษาที่มาจากคำฟ้องซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังจะดำรงอยู่หรือเปล่า” นิธิตั้งคำถาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นิธิเชื่อมีเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์พาทักษิณกลับบ้าน

 

 

นิธิประเมินว่า จะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงดังที่คิด โดยให้เหตุผลว่า หากจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพ่วงด้วยการปลดบ่วงคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องเปิดการเจรจากับทุก ๆ กลุ่มผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ นักธุรกิจอุตสาหกรรม หรือกลุ่มข้าราชการ

 

 

               “ผลประโยชน์ของพวกคุณผมจะไม่แตะ แต่ครั้งนี้ขอเรื่องนี้เรื่องเดียว จะแลกกับอะไร นี่คือวิธีวิเคราะห์และแก้ปัญหาของนักการเมือง ที่ไม่ได้ยึดหลักการ แต่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันมากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปมองว่าจะไปไม่รอด มันจะไปไม่รอดถ้าไม่สามารถเจรจากันได้ ไม่มีวันที่คุณจะเจอรัฐบาลไทยที่ไม่คอยเอาใจกลุ่มขุนนาง ทหาร ตุลาการ ไม่มีหรอก อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องไม่เหยียบแข้งเหยียบขากัน แม้แต่คุณทักษิณเอง” นิธิวิเคราะห์

 

 

อย่างไรก็ตาม นิธิเชื่อว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถสร้างดุลแห่งอำนาจที่ทุกคนยอมรับได้ และถูกทดลองใช้ไปสักระยะหนึ่ง ความขัดแย้งในสังคมน่าจะทุเลาลง แต่ก็อาจต้องแลกด้วยความไม่ชัดเจนในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญดังเช่นที่ผ่าน ๆ มา เป็นเพราะ...

 

                 “รัฐธรรมนูญที่จะผ่านได้จากคนทุก ๆ กลุ่มในสังคมต้องคลุมเครือ” คือข้อสรุปของนิธิ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: