วอนรัฐแก้กฎหมาย-สิทธิ คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ

17 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2705 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากล ประกอบด้วย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM เครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อยฯ รังสิตฯ สระบุรี และภาคตะวันออกกว่า 200 คน ร่วมกันจัดงานเดินรณรงค์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมทั้งแถลงข้อเรียกร้อง เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

 

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ ผู้ประสานงานคณะทำงานจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากล อ่านข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า การจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากลในครั้งนี้ คณะทำงานมีข้อเสนอหลัก ๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไขดังนี้ 1.รัฐบาลไทยต้องแก้กฎหมายประกันสังคม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว มีสิทธิเข้าถึงประกันสังคมอย่างเป็นธรรม 2.รัฐบาลทบทวนนโยบายส่งกลับแรงงานข้ามชาติ หลังวันที่ 14 ธันวาคม 2555 เนื่องจากจะมีแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องถูกผลักดันส่งกลับประเทศ เพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติได้ทันตามกำหนด 3.ขอให้รัฐบาลไทยแก้ไขคุ้มครองแรงงาน ให้เพิ่มการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทยที่มีอาชีพทำงานตามบ้าน และงานประมง เนื่องจากแรงงานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องทำงานหนัก มีชั่วโมงการทำงานยาวนานและเป็นงานสกปรก

 

จากนั้นกลุ่มเครือข่ายแรงงานข้ามชาติทั้งหมด เดินขบวนรณรงค์จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องทั้งหมดถึง รมว.แรงงาน ผ่านทางนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรมต.แรงงาน ต่อมามีเสวนาวิชาการหัวข้อ “วิสัชนาการเข้าถึงประกันสังคมที่เป็นธรรมของแรงงานข้ามชาติในอาเซียน” ซึ่งมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นักวิชาการ และประชาชนร่วมฟังจำนวนมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการแรงงาน กล่าวว่า กฎหมายก็เหมือนกับเสื้อผ้า พอตัดออกมาแล้ว โตขึ้นก็ใส่ไม่ได้ กฎหมายประกันสังคมก็เช่นกัน เป็นการออกมาเพื่อตอบโจทย์ เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว และใช้บังคับกับโรงงาน ไม่ใช่บังคับกับแรงงานทุกคน แต่ปัจจุบันนำมาบังคับใช้กับทุกคนที่เป็นนายจ้าง ซึ่งเราไม่ได้คิดถึงกรณีลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือไม่ได้คิดถึงลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมขึ้น

 

 

            “วันนี้ปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นปัญหาของนายจ้างและรัฐไทย ซึ่งหากเรายังหาทางแก้ไขไม่ได้ ก็จะเกิดผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะในสถานการณ์ความต้องการแรงงานที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน ดังนั้นหากยังจัดการ จัดระบบไม่ได้ เศรษฐกิจประเทศจะพัง แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อนำแรงงานข้ามชาติมาทำงาน เราก็ต้องมีความยุติธรรมให้เขาด้วย ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรื่องสวัสดิการสังคมเท่านั้น แต่จะต้องครอบคลุมในทุกเรื่อง นอกจากนี้จะต้องปรับทัศนคติของข้าราชการ ที่ปัจจุบันไม่เห็นความสำคัญของแรงงานข้ามชาติ คิดเพียงแต่จะเข้ามาแย่งงาน รวมทั้งจะต้องหาวิธีที่ทำให้เขาอยู่กับเราได้ และหากเขาจะไปก็ต้องรู้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ”

 

 

ด้านนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติว่า ยังคงปรากฎอยู่  ดังที่ผู้นำระดับโลก อองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่มาประเทศไทยว่า ยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่มาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกแรงงาน และเศรษฐกิจในระดับโลก ดังนั้นเพื่อการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ หากองค์กรใดมีรายละเอียดในเชิงลึกที่เห็นว่าผู้ใช้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม และไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ ขอให้ส่งรายละเอียดมาที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ ของตน จากนั้นตนจะรวบรวมเพื่อตั้งกระทู้ถามต่อนายกรัฐมนตรี และรมว.แรงงาน เพื่อให้รัฐบาลตระหนักและเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานทั้งหมดมากขึ้น เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ กองทุนเงินสมทบประกันสังคมซึ่งในระยะยาวจะมีจำนวนลดลง เนื่องจากต้องนำไปใช้เป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ เป็นการบ้านที่รัฐจะต้องหาทางแก้ไขต่อไป

 

นายกรชัย แก้วมหาวงศ์  ผู้อำนวยการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนของแรงงานที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมตรวจสอบยาก ต้องอาศัยราชการตรวจสอบ ซึ่งในฐานะนายจ้างเราส่งเสริมเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ส่งเสริมเรื่องสิทธิคุ้มครองแรงงานอย่างเต็มที่ และที่สำคัญเราไม่ส่งเสริมนายจ้างที่ทำผิดกฎหมาย ปัจจุบันเราทำงานร่วมกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มานานทำให้เราทราบปัญหาว่าค่าใช้จ่ายในการทำใบอนุญาตทำงาน (work permit) ในหลายประเทศสูงมากต่างจากประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหาเพียงในเรื่องค่าใช้จ่าย และกระบวนการที่ยุ่งยาก ทำให้เกิดปัญหาการหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งเมื่อการทำงานไม่ถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อการเข้าสู่ระบบประกันสังคม

 

นายนันท์ ออประเสริฐ  รองประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เราแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่ตรงจุด จึงทำให้ปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศของเรายังคงอยู่ และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น กระทั่งส่งผลให้การจัดลำดับบัญชีการค้ามนุษย์ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในประเทศของเราจะเลวร้ายกว่าครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเราอีกด้วย ซึ่งสาเหตุที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยหน่วยงานที่มีปัญหาคือส่วนราชการที่ไม่มีตัวแทนทางอ้อม ซึ่งตัวแทนทางอ้อมของหน่วยงานราชการกลับถูกแทนที่ด้วยระบบนายหน้าที่ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ระบบนายหน้าเป็นตัวบิดเบือนกลไกที่ทำให้แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ซึ่งเวลาติดต่อหน่วยงานราชการเราต้องยอมรับความจริงว่านายจ้างส่วนมากจะต้องติดต่อผ่านระบบนายหน้า ซึ่งระบบนายหน้าก็จะเป็นระบบที่หาผลประโยชน์กับทั้งแรงงานและนายจ้างจึงทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นหากจะแก้ให้ตรงจุดต้องแก้ที่ระบบนายหน้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า เครือข่ายนายหน้าทำให้ราคาในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งนายหน้าไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ และต้องมีเครือข่ายของระบบที่ต้องทำงานข้ามไปมาระหว่างสองประเทศ ดังนั้นเราต้องมีการจัดระบบของนายหน้า โดยมีนายจ้างหลายคนพยายามในการดำเนินการเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการพิสูจน์สัญชาติ ทั้งนี้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศต้นทาง และต้องเดินทางมาประเทศปลายทางอย่างประเทศไทย เพื่อเข้ามาทำงานนั้นเขายังได้รับข้อมูลที่บกพร่องอย่างมาก ถ้าเราไม่สามารถทำตรงนี้ได้ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้กระบวนการนายหน้าเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานจำเป็นที่จะต้องนำเรื่องนี้ขึ้นมาบนโต๊ะ เพราะปัจจุบันยกเป็นเรื่องที่คลุมเครือ ซ่อนเร้น และเป็นเรื่องของอำนาจและอิทธิพล

 

นายเสถียร ทันพรหม ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM)กล่าวว่า ปัญหาของการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทดแทนตามกฏหมายประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติมี 7 กรณีดังนี้ 1.กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ผู้ประกันตนไม่ว่าสัญชาติใดควรเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยทันที ต้องไม่มีเงื่อนไขเวลากำกับว่าต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน 2.กรณีคลอดบุตร แรงงานข้ามชาติที่มีทะเบียนสมรสจากประเทศต้นทาง และแรงงานที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา ย่อมเข้าถึงสิทธินี้ได้ 3.กรณีทุพพลภาพหากทำการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แรงงานที่เข้าไม่ถึงบริการเงินฝากหรือธนาคารจะมีวิธีในการจัดงานเงินตรงส่วนนี้ได้อย่างไรเพราะบางคนก็มาจากพื้นที่ห่างไกล 4.กรณีตาย ทายาทของแรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงเงินสงเคราะห์ได้ในรูปแบบไหนอย่างไรบ้าง เพราะหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ก็ไม่ชัด

 

ประธานเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) กล่าวว่า เพิ่มเติมถึงอุปสรรคในข้อที่ 5.ในกรณีสงเคราะห์บุตรว่า แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยได้แค่ 4 ปี แต่บุตรมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จนถึง 6 ปี เมื่อต้องสิ้นสุดการประกันตน แรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรต่อเนื่องได้หรือไม่ ถ้าต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง 6.กรณีชราภาพ เงื่อนไขที่แรงงานจะไดบำนาญชราภาพต้องเข้า 3 องค์ประกอบคือ ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี อายุขั้นต่ำ 55 ปี และออกจากกงาน แต่ปัญหาของแรงงานข้ามชาติคือแรงงานทำงานได้แค่ 4 ปี ก็ต้องออกจากงานแล้วเขาจะได้รับเงินสมทบในเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

และข้อที่ 7.กรณีว่างงาน แรงงานข้ามชาติที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้างต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7-15 วัน ถ้านายจ้างเลิกจ้างเพราะไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง แรงงานจะเข้าถึงบริการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือเงินทดแทนการขาดรายได้ได้อย่างไร ถ้าต้องรีบหานายจ้างใหม่โดยเร็วหรือต้องถูกส่งกลับ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องพบเจอ และไม่มีความชัดเจนให้แก่เขาเลย สิ่งที่สำคัญคือ ประกันสังคมต้องทบทวนสิทธิต่าง ๆ เหลานี้ให้สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติด้วย

 

ขณะที่นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การออกแบบระบบประกันสังคมเป็นการออกแบบเพื่อคนไทย แรงงานไทย ดังนั้นสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จึงเกื้อหนุนแรงงานไทยเป็นหลัก และมีระบบครบถ้วนทั้ง 7 สิทธิประโยชน์ ทั้งกรณีภาคบังคับ และสมัครใจ แต่ในความจริงแรงงานทุกคนเป็นมนุษย์จำเป็นต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกันหมด วันนี้ปัญหาสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่ทำให้ติดปัญหาการเข้าถึงระบบคือ แรงงานส่วนใหญ่ มีแต่ชื่อที่ไม่มีนามสกุล การให้เลขในการแสดงตน และประเทศไทยยังคำนึงถึงเรื่องของความมั่นคง และเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งเป็นทัศนคติที่คนไทยส่วนใหญ่ยังมองมุมนี้อยู่

 

นอกจากนี้เรื่องของการนำเข้าแรงงานต่างด้าว แรงงานข้ามชาติ จะพูดเรื่องของการหางานก่อน แล้วค่อยพูดถึงเรื่องประกันสังคมก่อน ซึ่งความเป็นจริงนายจ้างที่ต้องการแรงงานจะต้องมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมก่อน จ่ายเงินมัดจำ จากนั้นจึงไปขึ้นทะเบียนเพื่อขอแรงงาน

 

 

“การแก้ปัญหาดังกล่าวทางหนึ่ง คือควรจัดตั้งกองทุนประกันสังคมแรงงานอาเซียน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันเพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ มีกลไกและระบบการดำเนินการให้กับแรงงานข้ามชาติ ที่จะสามารถรับเงินและติดต่อตามกระบวนการได้ โดยกองทุนดังกล่าวจะต้องเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นในหลาย ๆ ประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ควรมีการรวมตัวของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับรองให้การทำงานของแรงงานถูกกฎหมาย มีระบบที่สามารถกำกับดูแลตนเองได้ แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาคือไม่สามารถรวมตัวกันได้ ดังนั้นจึงต้องเป็นการบ้านในการหาทางออกต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับการแก้ปัญหาในเบื้องต้น กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้กฎหมายเรื่องแรงงานข้ามชาติแล้วว่า สามารถรับเงินคืนได้เมื่อกลับประเทศ แต่ทั้งนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และจากนี้เราจะเชิญในหลากหลายภาคส่วนเข้ามาหารือ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป” นายอารักษ์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: