นักวิทย์ไทยเจ๋งผลิตเครื่องจับ'คลื่นสึนามิ' เฝ้าระวังภัยใต้ทะเลก่อนเกิดโศกนาฏกรรม ปรับจากกล้องตรวจปะการังใต้'อันดามัน'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 17 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2605 ครั้ง

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ ตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อก และดับเบิ้ลช็อกอีกหลายระลอก ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อบ่ายวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา สร้างความตระหนกตกใจให้กับประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน และระบบเตือนภัยที่ยังดูล่าช้า จะเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างติดต่อกันหลายวันแล้ว  สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นข่าวเชิงบวกที่เกิดขึ้นในระหว่างเหตุการณ์ร้ายนี้ คงต้องยกให้เรื่องของระบบเครือข่ายเซนเซอร์เฝ้าติดตาม และส่งข้อมูลลักษณะทางกายภาพของระบบนิเวศวิทยาปะการัง โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ที่สามารถจับภาพคลื่นยักษ์สึนามิขนาด 10 เซนติเมตร บริเวณเกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต ได้อย่างทันท่วงที จนกลายเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือชนิดนี้ ซึ่งปัจจุบันมีใช้เพียง 4 แห่งในโลกเท่านั้น

 

ประยุกต์เครื่องตรวจปะการังจับตาภัยพิบัติทางทะเล

 

รศ.ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ เกี่ยวกับรายละเอียดของระบบเครือข่ายเซนเซอร์เฝ้าติดตามและส่งข้อมูลลักษณะทางกายภาพของระบบ นิเวศวิทยาปะการัง ชนิดนี้ว่า  การติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์ชุดดังกล่าว มีจุดประสงค์หลักเพื่อการติดตามความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศของปะการังฟอกขาว ซึ่งมีผลมาจากสภาวะโลกร้อน ที่มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือ ระดับน้ำทะเล รวมไปถึงระบบนิเวศอื่นๆ  ซึ่งการติดระบบเครือข่ายเซนเซอร์ รวมถึงกล้องถ่ายภาพทั้งหมด คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการมาก่อนหน้าที่แล้ว โดยร่วมกับเนคเทค และภาคเอกชน คือ บ้านรายา รีสอร์ทแอนด์สปา เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของปะการังในทะเล โดยระบบดังกล่าวทำให้นักวิจัยติดตามดูความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของระบบนิเวศทางทะเลที่ตั้งกล้องจับภาพไว้ได้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นระบบเรียลไทม์ ออนไลน์สามารถส่งภาพออนไลน์เข้ามายังจอภาพได้ ซึ่งนอกจากการใช้ติดตามตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของปะการังแล้ว เครื่องมือชนิดนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบภัยพิบัติทางทะเลอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การเกิดลมพายุ หรือลักษณะคลื่นทางทะเลอื่นๆ และเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ จะทำให้สามารถตรวจสอบความสูงของคลื่นได้ด้วยเช่นกัน แม้จะเป็นภัยพิบัติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักก็ตาม

 

ไทยใช้ประเทศแรกในอาเซียน-ประเทศที่ 4 ของโลก

 

สำหรับประสิทธิภาพของระบบดังกล่าว รศ.ดร.กฤษณะเดชกล่าวว่า ระบบทั้งหมดเป็นทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์เซ็นเซอร์อัจฉริยะ (Conductivity Temperatureand Depth Pressure Sensor : CTD) จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งได้รับมาจากประเทศออสเตรเลีย จากความร่วมมือของเนคเทคและเครือข่ายสังเกตการณ์แนวปะการัง โดยให้นำมาติดตั้งเสริมอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตัวเดิม ทำให้ทีมวิจัยสามารถเฝ้าดูข้อมูลผ่านระบบไอที สามารถปรับเปลี่ยนระบบการเก็บข้อมูลและการวัดสามารถตั้งค่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ เช่น ตั้งค่าอุณหภูมิวิกฤติ หรือให้ตรวจสอบปรากฏการณ์ เป็นต้น

และยังสามารถควบคุมหรือสั่งการได้จากศูนย์ควบคุมบนบกเป็นระบบเครือข่ายเซนเซอร์ที่ส่งข้อมูลลักษณะทางกายภาพแบบ realtime online เป็นวิธีแบบใหม่ที่จะนิยมใช้กันทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 4 ของโลก ที่มีระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ศึกษาลักษณะทางกายภาพทางทะเลของแนว ปะการังที่ทันสมัยถัดจากประเทศออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาะมูกิ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

ราคาถูกกว่าทุ่นสึนามิแต่มีประโยชน์เท่ากัน

 

“ประโยชน์ของเครื่องชนิดนี้ คือสามารถที่จะรายงานข้อมูลเรียลไทม์ได้ทันท่วงที หากมีระบบออนไลน์ เช่นกรณีของสึนามิ หากเกิดขึ้นก็จะสามารถเห็นลักษณะและความสูงของคลื่นได้ในช่วงเวลาขณะนั้นเลย ถ้าเปรียบเทียบกับทุ่นสึนามิกลางทะเล ที่ล่าสุดพบว่าระบบการส่งข้อมูลขาดหายไป ในขณะเดียวกันระบบเซ็นเซอร์ชนิดนี้ยังมีราคาถูกกว่าทุ่นสึนามิ โดยราคาของระบบเซ็นเซอร์จะอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 500,000 บาท ไม่รวมกล้องที่มีราคาอยู่ในหลักหมื่นต้นๆ เท่านั้น แต่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าและยังให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมด้วย เพราะสามารถนำไปติดตั้งไว้ที่จุดต่างๆ ของชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามดูได้ ซึ่งในกรณีนี้เราติดตั้งไวที่บ้านรายารีสอร์ท แอนด์สปา ที่จะปรากฏภาพของท้องทะเล นักท่องเที่ยวหรือประชาชนทั่วไปสามารถติดตามชมได้ หรือหากมีเหตุอุบัติภัยก็สามารถติดตามได้เช่นกัน”

 

รศ.ดร.กฤษณะเดชกล่าวต่อว่า นอกจากการติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ชุดนี้ไว้ที่เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ตแล้ว ขณะนี้คณะทีมวิจัย ยังได้รับการติดต่อจากภาคเอกชน ให้สามารถนำเครื่องมือชุดนี้ไปติดตั้งไว้ในพื้นที่ด้วย ได้แก่ รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่เกาะสมุย และฟาร์มหอย ที่หาดบ้านทอน จ.สุราษฎร์ธานี เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ทั้งในเรื่องของการตรวจสอบสภาพท้องทะเลในขณะนั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวทางทะเล ในขณะที่ฟาร์มหอย ใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบเรื่องลมพายุ หรือคลื่นทะเล เนื่องจากก่อนหน้านั้นฟาร์มหอยดังกล่าวเคยได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางทะเลมาแล้ว

ชี้รัฐบาลเน้นทำงานแนวดิ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วม

 

เมื่อถามว่าหลังจากสังคมได้เห็นประโยชน์จากการติดตั้งเครื่องเซ็นเซอร์ชุดนี้แล้ว ได้รับการติดต่อจากส่วนราชการ ให้นำเครื่องชุดนี้ไปติดตั้งตามที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่ ดร.กฤษณะเดชกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีหน่วยงานราชการใดติดต่อเข้ามา ซึ่งตนและคณะก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องมีหน่วยงานใดติดต่อมา เพราะที่ผ่านมาในการทำงานของคณะนักวิจัยทั้งหมด จะเน้นการทำงานจากด้านล่างขึ้นไปมากกว่า โดยเป็นการทำงานร่วมกับชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า เนื่องจากชาวบ้านมีส่วนร่วมที่จะดูแลติดตามเฝ้าดูการทำงานของคณะทำงาน

อย่างไรก็ตามหากมีการนำเครื่องเซ็นเซอร์นี้ไปติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ที่เป็นจุดสำคัญๆ เพื่อใช้ในการตรวจสอบสภาพนิเวศทางทะเลได้ ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะปัจจุบันถือว่าเครื่องมือชนิดนี้น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยล่าสุด และสามารถส่งข้อมูลเรียลไทม์ได้ทันที ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ซึ่งดีกว่าทุ่นสึนามิ ซึ่งนอกจากจะเป็นทุ่นที่นำไปทิ้งไว้กลางทะเลอย่างเดียว ไม่มีส่วนร่วมอะไรแล้ว ราคายังแพงกว่าอีกด้วย ทั้งนี้มองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะทำงานแบบ Top to down ในขณะที่คณะวิจัยฯของตนต้องการที่จะทำจากข้างล่างขึ้นไปมากกว่า คือเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมซึ่งจะเป็นการให้ความรู้กับประชาชนไปด้วยและจะทำให้เกิดความรู้สึกในการเป็นเจ้าของมากกว่า

 

“หากมีการขยายการติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ระบบนี้ออกไปมากๆ ก็จะยิ่งมีประโยชน์ ซึ่งตอนนี้คณะนักวิจัยและเนคเทคได้ร่วมกันที่จะพัฒนาเครื่องเซ็นเซอร์แบบนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลง และเราก็คิดว่าหากสถานบันการศึกษาใดที่ต้องการจะศึกษาทำเพิ่มเติมขึ้นมาก็จะเป็นการดี เพราะประเทศจะได้ประโยชน์ ในขณะที่ประชาชนเองก็จะมีส่วนร่วมด้วย” รศ.ดร.กฤษณะเดชกล่าว

 

เอกชนชี้สนับสนุนได้ประโยชน์แบบวิน-วิน

 

ด้าน นายปิยะวัฒน์ เสงี่ยมกุล ผู้จัดการโรงแรมบ้านรายา รีสอร์ท แอนด์สปา เกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต กล่าวถึงการเข้ามีส่วนร่วมในการวิจัยดังกล่าวว่า ตนเป็นคนรักธรรมชาติและชื่นชอบการดำน้ำ เมื่อมีโอกาสเข้ามาบริหารงานรีสอร์ท หลังเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งทุกวันตนจะดำน้ำลงไปเก็บขยะในอ่าวขอนแค แต่ด้วยความที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการอนุรักษ์มากนัก จึงรู้สึกยินดีต้อนรับนักวิทยาศาสตร์และทุกหน่วยงานที่จะเข้ามาดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ไว้

นอกจากนี้รีสอร์ทของตนยังมีความพร้อมด้านการสื่อสาร ทั้งเครือข่ายระบบ 3 จี ไว-ไฟและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง จึงคิดว่าเหมาะเป็นสถานที่สำหรับการทำวิจัยด้วยการสนับสนุนอาคารศูนย์วิจัยในรีสอร์ท เป็นเหมือนการทำธุรกิจแบบวิน-วิน ตนได้มีส่วนอนุรักษ์ธรรมชาติ ทางรีสอร์ทสามารถใช้ข้อมูลเป็นสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ให้ลูกค้าได้ทราบด้วย

 

“กล้องที่ติดตั้งไว้ใต้ทะเลเพื่อติดตามดูปะการัง ก็สามารถถ่ายทอดมายังล็อบบี้ ของโรงแรมได้นับเป็นจุดขายที่โดดเด่นของรีสอร์ท นอกจากนี้ประเทศชาติก็ยังได้ประโยชน์ด้วยทุกคนได้ประโยชน์หมด”นายปิยะวัฒน์กล่าว

เริ่มโครงการจากเฝ้าดูปะการัง

 

สำหรับความเป็นมาของระบบเครือข่ายเซนเซอร์เฝ้าติดตาม และส่งข้อมูลลักษณะทางกายภาพของระบบนิเวศวิทยาปะการังนั้น เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค กับศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และผู้ประกอบการรีสอร์ท ร่วมกันพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการแก้ปัญหาชายฝั่ง โดยมุ่งศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดการฟอกขาวของปะการัง ระบบสารสนเทศนี้จะช่วยให้นักวิจัยมีข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะทำความเข้าใจ กระบวนการต่างๆที่มีผลต่อชายฝั่ง นำไปสู่การแก้ปัญหาชายฝั่ง ทั้งทางกายภาพและชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแนวปะการังที่สวยงามหลายจุด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ผลผลิตและความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมากของแนวปะการัง ปัญหาการตายของแนวปะการังซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จะมีผลกระทบเป็นอย่างมาก ทำให้จำเป็นที่ต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ

ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่า สถาบันการศึกษาต่างๆให้ความสนใจที่จะศึกษา เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมของแนวปะการังแต่เนื่องด้วยงบประมาณและเวลาที่จำกัดทำให้ไม่สามารถทำการศึกษาแนวปะการังได้ทุกๆ แห่งทั่วประเทศไทย การศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่แล้วเป็นการวางเซนเซอร์ และไปเก็บตัวอย่างทุกๆ 2-3 เดือน ทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่เป็นแบบ real-time เมื่อเกิดปะการังฟอกขาวขึ้นในช่วงที่ยังไม่ได้ออกไปเก็บข้อมูล การศึกษาปัจจัยทางกายภาพที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวได้ไม่ทันท่วงที ทำให้ไม่สามารถเข้าใจถึงปัจจัยทางกายภาพ ที่มีผลทำให้เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวได้

ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิน้ำทะเลและแสง ตามจุดต่างๆแบบ offline and online และสถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ เป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ด้านไอทีเข้าไปศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของสภาพแวดล้อมแนวปะการัง จากระยะไกลดังกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: