คนไทย80%หนี้ท่วม-ผู้หญิงแบกรับอ่วม ผงะพนง.เฟื่องเกินตัวพกบัตรเครดิต47ใบ ชมรมลูกหนี้จี้แก้สัญญาทาสเลี่ยงกฎหมาย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 17 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5550 ครั้ง

คงจะปฏิเสธไม่ได้อีกแล้วกับค่าครองชีพคนไทยในปัจจุบัน ที่กำลังพุ่งสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของคนไทยจึงไม่สอดคล้องกับราคาสินค้า ที่พากันเดินขบวนขึ้นราคาแบบรับไม่ทัน เมื่อหมุนเงินไม่ทัน ปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทย และยังถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของสาเหตุความเครียดของคนไทยขณะนี้ จึงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้สิน ที่โพลล์ทุกสำนักชี้ให้เห็นไม่แตกต่างกันคือ มีอัตราสูงขึ้นตามลำดับเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

สำรวจคนไทยพบเป็นหนี้เกือบ 80 เปอร์เซนต์

 

จากข้อมูลผลสำรวจสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือน ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจไว้ล่าสุดช่วงปลายเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ระบุให้เห็นชัดเจนว่า การเป็นหนี้ของภาคครัวเรือนในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ตามค่าครองชีพและค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล ที่ปรับเพิ่มขึ้นอีก 300 บาท โดยเมื่อสำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 1,237 ราย  พบว่า จำนวนเฉลี่ยของครัวเรือนและการผ่อนชำระในปี 2555 มูลค่าหนี้เฉลี่ย ตกอยู่ที่ 168,517.16 บาทต่อคน ในขณะที่ในปี 2554 มูลค่าหนี้เฉลี่ยของคนไทยตกอยู่ราว 159,432.23 บาท บวกลบคูณหารกันแล้ว พบว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ  5.7

ข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังระบุด้วยว่า จากตัวเลขของคนไทยที่เป็นหนี้ทั้งหมดนั้น หากเปรียบเทียบ 2 ปี คือปี 2554 กับช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีผู้เป็นหนี้ในระบบอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน หรือประมาณร้อยละ 545 ในขณะที่หนี้นอกระบบอยู่ที่ประมาณร้อยละ 46  และหากลงลึกในรายละเอียด เกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการหนี้ของคนไทยปัจจุบัน จะพบปัญหาที่น่าตกใจว่า คนไทยที่เป็นหนี้ถึงร้อยละ 79.8 ระบุว่า ต้องประสบปัญหาการชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 20.2 เท่านั้นที่ตอบว่า สามารถแบกรับภาระการเป็นนี้ได้แบบไม่เดือดร้อน โดยจากข้อมูลของการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีรายได้ในหลัก 5,000 บาทต่อเดือน หรือผู้มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาทต่อเดือน เฉลี่ยร้อยละ 80  ต่างก็ให้คำตอบว่า เคยประสบปัญหาการชำระหนี้ทั้งสิ้น

 

เป็นหนี้เพราะนำเงินใช้จ่ายทั่วไปร้อยละ 31

 

 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้คนไทยต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.1 ระบุว่า สาเหตุมาจากการนำเงินไปใช้จ่ายทั่วไป ร้อยละ 27.4 นำไปใช้ลงทุนประกอบธุรกิจ/เพื่อการประกอบอาชีพ ร้อยละ 22.4 ใช้ซื้อทรัพย์สิน ร้อยละ 10.7 เป็นหนี้จากการซื้อบ้าน ร้อยละ 7.2 ระบุว่า เป็นหนี้จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 1.2 ที่เหลือให้เหตุผลการเป็นหนี้ว่าเป็นสาเหตุอื่นๆ

ดร.ธนวรรธ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เจ้าของโครงการสำรวจข้อมูลการเป็นหนี้ของคนไทยดังกล่าว ระบุว่า การที่คนไทยเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากการนำเงินไปใช้จ่ายในการดำรงชีพทั่วไป ในสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากความเสียหายที่เกิดจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีที่แล้ว ทำให้การออมในภาคครัวเรือนลดลง และมีแนวโน้มหันไปก่อหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน

 

 

เร่งหารายได้เพิ่มส่งผลให้ครอบครัวขาดอบอุ่น

 

 

นอกจากนี้ข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สอดคล้องกับข้อมูล พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ที่ออกมานำเสนอข้อมูลดังกล่าวในอีก 1 เดือนต่อมาว่า จากงานวิจัยที่สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ศึกษาสถานการณ์สุขภาวะของครอบครัวไทย ในปี 2554 พบว่า ครอบครัวไทยมีหนี้สินถึงร้อยละ 70 และในจำนวนนี้ร้อยละ 8 เป็นครอบครัวที่มีหนี้เสีย ไม่สามารถชดใช้ได้  ซึ่งหากประเทศไทยมี 15 ล้านครอบครัว จะมีครอบครัวกว่า 10.5 ล้านครัวเรือน ที่มีหนี้สิน และมี 1.2 ล้านครัวเรือนไม่สามารถชดใช้หนี้สินเหล่านั้นได้ ด้วยสาเหตุนี้เอง ที่นำไปสู่การบังคับแบบจำยอมให้คนไทยหันมาทำงานหนัก เพื่อการหารายได้เพิ่ม ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น เพราะพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างเพียงพอ ทิ้งภาระการดูแลเด็กให้กับผู้อื่นแทน เช่น ผู้สูงอายุ โรงเรียน ชุมชน และสื่อต่างๆ ซึ่งจาก 2 ข้อมูลทางวิชาการของทั้งสองสำนัก จึงชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “ปัญหาหนี้สิน” ภาคครัวเรือน กำลังเป็นปัญหาที่กำลังคุกคามคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างน่าเป็นห่วง

 

 

หนี้สินในบ้านทำเงินหายเดือนละ 30-50 %

 

 

ด้านนางทัศนีย์ ใจการุณ ประธานชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ โดยระบุถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้มากขึ้นว่า จากการที่ชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ได้ทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบ และบางส่วนมาจากการกู้หนี้จากเจ้าหนี้นอกระบบจำนวนมากพบว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเป็นหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความต้องการที่จะสร้างฐานชีวิตที่ดีให้กับครอบครัวและตัวเอง เช่น การซื้อทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถยนต์ ในขณะที่ลูกหนี้มีรายได้เป็นเงินเดือนเฉลี่ยตกอยู่ในราวไม่เกิน 20,000 ต่อเดือน ทำให้หลังจากตัดสินใจที่จะซื้อทรัพย์สินในราคาสูงแล้ว รายได้ที่จะต้องใช้ในแต่ละเดือน มักจะหายไปร้อยละ 30-50 กับสถานภาพที่จะต้องตกเป็นหนี้ถาวรในระยะ 25-30 ปี เมื่อบวกกับการขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการเรื่องการเงินที่ดี จึงทำให้ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายให้เพียงพอในแต่ละเดือนได้ จนต้องพึ่งพาเงินกู้ยืมจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกจนกลายเป็นหนี้สะสมพอกพูนขึ้น

 

เคยเจอพนักงานคนเดียวมีบัตรเครดิต 47 ใบ

 

 

                       “เมื่อได้บ้านแล้ว สถาบันการเงินมักจะเสนอบัตรเครดิตให้กับเจ้าของบ้านด้วย จากข้อมูลที่เราเคยทำงานเพื่อให้การช่วยเหลือพบว่า พนักงานบริษัทชื่อดังระดับประเทศแห่งหนึ่ง มีบัตรเครดิตที่มีวงเงินใบละ 50,000 บาท สูงสุดถึง 47 ใบ แต่มีเงินเดือนอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 30,000 บาท เมื่อมีสิ่งล่อใจ ก็ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการการเงินได้ เป็นหนี้สินมากมายจนต้องขอรับความช่วยเหลือจากชมรมฯ ซึ่งจะมีกระบวนการที่ใช้ร่วมกับหน่วยงานองค์กรต้นสังกัด เพื่อช่วยปลดหนี้ให้ ในขณะที่ตัวลูกหนี้เองก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองใหม่ด้วย” นางทัศนีย์กล่าว พร้อมระบุว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินพยายามชักจูงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการด้านการเงินนี้  เกิดมีคำถามขึ้นว่า ความผิดตกเป็นของใครเพราะในขณะที่ธนาคารพยายามที่จะให้เกิดการใช้จ่าย โดยไม่คำนึงถึงภาระที่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้ ถือเป็นการขาดความรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งสถาบันการเงินจะตอบโต้ว่า เป็นเพราะลูกหนี้ไม่มีวินัยทางการเงิน ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะต้องกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายผิดทั้งคู่ ที่จะต้องรับไปคนละครึ่ง

 

 

ผู้หญิงต้องรับภาระหนี้แทนผู้ชาย

 

 

นางทัศนีย์กล่าวต่อว่า ในการทำงานของชมรมฯ พบข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้ถึงร้อยละ 95 และ ในจำนวนนั้นร้อยละ 80 ผู้ที่ต้องแบกรับภาระหนี้เป็นผู้หญิง ทั้งที่เกิดจากการก่อหนี้ร่วมกันระหว่างสามี-ภรรยา และการก่อหนี้เฉพาะของสามีเพียงอย่างเดียว แต่ภรรยาจะต้องรับภาระทั้งหมด เพราะด้วยการที่ผู้หญิงมักจะมีความรับผิดชอบดูแลครอบครัวมากกว่าผู้ชาย ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นการก่อหนี้ในครอบครัว แต่ผู้ชายมักจะให้ผู้หญิงเป็นคนจัดการ มีหลายกรณีที่ชมรมฯให้ความช่วยเหลือ ล้วนเป็นผู้หญิงที่ถูกสามีทิ้งไปปล่อยให้เผชิญปัญหาอยู่เพียงลำพัง

 

                               “มีอยู่กรณีหนึ่ง เป็นครอบครัวที่มีภาระที่จะต้องผ่อนชำระค่าบ้านกับธนาคาร ต่อมาลูกถูกรถชนจนขาขาด 2 ข้าง การดูแลลูกพิการจึงทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ค่าบ้านก็ต้องผ่อนชำระทุกเรื่อง เมื่อภาระมากขึ้นเงินในแต่ละเดือนจึงไม่พอใช้ เป็นสาเหตุให้สามีขอเลิกราและทิ้งครอบครัวไป ในที่สุดบ้านของครอบครัวนี้ก็ถูกยึด และถูกนำไปขายทอดตลาด ทำให้ลูกหนี้หญิงคนนี้เครียดมาก จนวันหนึ่งเขาได้เห็นโครงการช่วยเหลือเรื่องหนี้ของชมรมฯ จึงติดต่อขอรับความช่วยเหลือมา จากนั้นชมรมฯ ได้มีการติดตามเข้าไปช่วยเหลือ โดยมีการเจรจากันเจ้าหนี้ และดำเนินการกับกรมบังคับคดี จนกระทั่งสามารถขอรีไฟน์แนนซ์บ้านไปอยู่ที่ธนาคารออมสินได้ ปัจจุบันก็ได้บ้านกลับคืนมา แต่สามีไม่ได้กลับคืนเพราะเขาไปมีครอบครัวใหม่แล้ว” นางทัศนีย์กล่าว

 

จี้แก้สัญญาเงินกู้เอาเปรียบลูกหนี้

 

 

อย่างไรก็ตามนอกจากความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของการเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว นางทัศนีย์กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนไทยปัจจุบันคือ ปัญหาเรื่องการขาดความรู้เรื่องระบบการเงิน และเงื่อนไขข้อกฎหมายในการกู้ยืม ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องประสบปัญหาการเป็นหนี้ และถูกเอาเปรียบจากสัญญาเงื่อนไขต่างๆ มากมาย เพราะเพียงหลังจากการลงนามในสัญญากู้เงิน โดยขาดความเข้าใจก็จะทำให้ตกเป็นหนี้ที่ไม่เป็นธรรมไปยาวนาน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องข้อยกเว้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ที่มักจะถูกเขียนไว้ในสัญญากู้ยืมต่างๆ ที่ลูกหนี้ไม่เข้าใจ และถือว่าเป็นข้อเสียเปรียบกับลูกหนี้มาก เป็นเหตุให้เกิดปัญหากับลูกหนี้ตลอดมา ซึ่งหากอธิบายให้เข้าใจอย่างง่ายๆ คือ ตามปกติแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 มีข้อกฎหมายระบุไว้ว่า

 

“ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุด และราคาทรัพย์สินนั้น มีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น"

 

ซึ่งนั่นหมายถึงว่า หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ได้ จนกระทั่งถูกยึดทรัพย์สินเพื่อไปขายทอดตลาดแล้ว แต่ปรากฎว่ามีการขายทรัพย์สิน ได้เงินน้อยกว่าจำนวนที่ติดค้างอยู่กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบในส่วนต่างของของหนี้ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า ในการกู้เงินจากธนาคารจะมีข้อตกลงในสัญญาเงินกู้ เขียนไว้ว่า “หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบในหนี้จนครบ” ซึ่งถือว่าเป็นการยกเว้นการใช้ข้อบังคับมาตรา 733 ดังกล่าว และลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในระเบียบที่ว่านี้ ทำให้ตัดสินใจลงนามยอมรับเงื่อนไขนี้ และหากเกิดกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ตามสัญญาจนทรัพย์ถูกขายทอดตลาด แต่เงินไม่พอกับมูลค่าหนี้ เจ้าหนี้ก็จะตามไปยึดทรัพย์อื่นๆ ของลูกหนี้จนกว่าจะครบตามมูลค่าซึ่งถือว่าลูกหนี้เสียเปรียบเป็นอย่างมาก เพราะได้ลงนามยอมรับในข้อตกลงที่ยกเว้นข้อบังคับมาตรา 733 ไว้แล้ว

 

 

เกือบเสียบ้านจากหนี้ที่ไม่ได้ก่อ

 

 

                       “ในประเด็นนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย เช่น กรณีหนึ่ง พี่สาวต้องการซื้อบ้าน แต่เนื่องจากไม่มีอาชีพที่มีเงินเดือนเป็นหลักประกัน เพราะประกอบอาชีพค้าขาย จึงขอให้น้องชายซึ่งก่อนหน้านั้นทำงานรับเงินเดือนมาเป็นผู้ยื่นกู้ร่วม และได้ลงนามตามข้อตกลงสัญญาเงินกู้ของธนาคารที่มีการเขียนข้อตกลงยกเว้นมาตรา 733 ไว้ ต่อมาน้องชายได้ไปผ่อนซื้อรถยนต์โดยที่พี่สาวไม่ได้รับรู้อะไร จนกระทั่งน้องชายไม่สามารถที่จะชำระหนี้ค่ารถได้ และปล่อยทิ้งไว้ให้บริษัทฯ นำรถไปขายทอดตลาด แต่ปรากฏว่าได้เงินไม่พอชำระหนี้ วันดีคืนดีก็มีจดหมายจากธนาคารมาที่บ้านของพี่สาวว่า จะต้องยึดบ้านที่น้องชายมีเป็นผู้กู้ร่วมไว้ ทั้งที่พี่สาวเป็นคนผ่อนบ้านคนเดียว แต่มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมบ้าน ดังนั้นจึงถือว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของน้องชายด้วย จึงกลายเป็นปัญหาเกิดขึ้นมา และยังมีกรณีอื่นๆ อีกมาก รวมถึงการไปลงนามค้ำประกันเงินกู้ต่างๆ ที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับตัวผู้ค้ำประกันได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนระมัดระวัง” นางทัศนีย์กล่าว

 

 

ชมรมฯผลักดัน 3 ประเด็นบรรเทาหนี้

 

 

ประธานชมรมปฏิรูปสิทธิลูกหนี้กล่าวต่อว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้จำนวนมาก ทำให้ขณะนี้ทางชมรมฯ และเครือข่ายลูกหนี้ ซึ่งได้ดำเนินการเคลื่อนไหวช่วยแก้ปัญหาให้กับบรรดาลูกหนี้ จนสามารถปลดภาระนี้ได้ จึงรวมตัวกันและพยายามที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหา ที่เกี่ยวกับสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรม โดยทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้ โดยมีข้อเรียกร้องใน 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

1.ขอให้มีการบังคับใช้มาตรา 733 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเขียนข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้เพื่อยกเว้นได้

2.ขอให้มีการดำเนินการตั้งศูนย์แก้ปัญหาหนี้สินจังหวัดขึ้นมาเพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้ โดยอาจจะให้ใช้ศูนย์ยุติธรรมจังหวัดเป็นศูนย์ดำเนินการ

3.และขอให้มีการตั้งกองทุนพัฒนาและฟื้นฟูลูกหนี้ภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้เป็นหนี้ในปัจจุบันที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

 

รับลูก-เร่งแก้ปัญหาการยกเว้นมาตรา 733

 

 

นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญและคิดว่าควรจะรีบดำเนินการ คือประเด็นที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ซึ่งสถาบันการเงินเขียนข้อตกลงยกเว้นไว้ในสัญญากู้ ซึ่งจะต้องเร่งหาแนวทางเพื่อให้มีการบังคับใช้มาตรา 733 นี้ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบของเจ้าหนี้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่า มีพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายว่าด้วยสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งถูกบัญญัติขึ้น เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินหรือผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า เอาเปรียบผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจน้อยกว่า ซึ่งไม่แน่ใจว่าในการนำคดีหนี้สินขึ้นสู่ศาล ได้นำพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ขึ้นต่อสู้หรือไม่ เพราะหากนำประเด็น พ.ร.บ.นี้ขึ้นต่อสู้ ก็เชื่อว่าน่าจะชนะได้ ทั้งนี้ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาวซึ่งคณะทำงานกรรมาธิการกำลังดำเนินการอยู่นั้น คือการผลักดันให้สภาฯ พิจารณาเรื่องการขอเพิ่มเติมเนื้อหาใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ดังกล่าว โดยขอให้เพิ่มข้อความต่อท้ายระบุว่า

“ข้อความหรือ สัญญาข้อใดที่ขัดแย้งต่อมาตรา 733 ดังกล่าว ให้ถือเป็นโมฆะ”  หมายถึงว่า จะไม่สามารถยกเว้นการบังคับใช้มาตรานี้ไม่ได้ แม้ว่าการเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 733 อาจจะทำให้การจำนองทรัพย์สินกับธนาคารยากขึ้น เนื่องจากธนาคารเองก็จะปล่อยกู้ยากขึ้น แต่เชื่อว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ลูกหนี้มักถูกสถาบันการเงินเอาเปรียบตลอดมาได้ในระดับหนึ่ง

 

                      “แม้ว่าการเพิ่มข้อความต่อท้ายในมาตรา 733 นี้ จะทำให้การดำเนินการในกระบวนการทางการเงินของสถาบันการเงินยุ่งยากขึ้น แต่จุดประสงค์คือไม่ต้องการให้เกิดการเอาเปรียบกับลูกหนี้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ผู้กู้ไปโกงการใช้หนี้ เพราะเป็นหนี้ก็ต้องใช้หนี้ตามกฎหมาย ที่แม้มีกฎหมายระบุไว้แล้ว เกี่ยวกับความเป็นธรรม แต่กลับมีการเขียนข้อตกลงในสัญญาไปยกเว้นไว้ จึงทำให้เกิดปัญหากับลูกหนี้มากมายตามมา” นายอนุรักษ์กล่าว

 

 

เสนอสคบ.รับสัญญาเงินกู้เป็นสัญญาควบคุม

 

 

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการ นายอนุรักษ์กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ซึ่งประเด็นที่จะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมีอยู่ 2 ประเด็นหลักด้วยกันประเด็นแรกก็คือการพิจารณาเพื่อขอให้มีการเพิ่มเติมข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังกล่าว และประเด็นที่ 2 ขณะนี้คณะทำงานได้เสนอไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อขอให้นำสัญญาเงินกู้ระหว่างสถาบันการเงินกับประชาชน เข้าเป็นสัญญาควบคุม ที่จะต้องมีการควบคุมดูแล เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ ขณะนี้ได้ยื่นเรื่องไปแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งหากเป็นไปตามข้อเสนอ ก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง

 

รุกต่อแก้ปัญหาฟ้องล้มละลายผู้ค้ำประกัน

 

 

                           “จากการลงพื้นที่เพื่อทำงานเรื่องนี้ในหลายจังหวัด พบข้อมูลที่คล้ายกันว่า สาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นเพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ที่พบมากเป็นคือเรื่องของการเช่าซื้อรถยนต์ เช่นตกลงซื้อรถยนต์กันในการผ่อนชำระ 60 งวด ผ่อนไปแล้ว 40 งวด เหลืออีก 20 งวดปรากฏว่าประสบปัญหาไม่ส่งต่อ ก็มีการมายึดรถไปขายทอดตลาด แต่ขายได้เท่าไหร่ไม่มีการแจ้งให้ทราบ แล้วก็ปล่อยเงียบแต่สุดท้าย ก็มาฟ้องร้องกับผู้ซื้อ ซึ่งมีจำนวนมากกลายเป็นคดีในศาลเต็มไปหมด” นายอนุรักษ์กล่าว

 

นายอนุรักษ์ระบุว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของผู้ค้ำประกัน มีคดีในศาลมากมาย ที่มีการฟ้องร้องล้มละลาย ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ มองว่าผู้ค้ำประกันไม่น่าจะถูกฟ้องล้มละลาย เพราะไม่ได้เป็นผู้กู้และไม่มีเจตนาทุจริต และเมื่อเกิดปัญหากลับต้องถูกฟ้อง จึงจะต้องมองปัญหาเรื่องนี้ด้วย และจะได้มีการแก้ไขหรือดำเนินการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหานี้ต่อไป

ขณะเดียวกันจะเสนอให้มีการก่อตั้งสำนักงานแก้ไขหนี้สินจังหวัด ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่เป็นช่องทางในการหาทางออกเรื่องหนี้ให้กับประชาชน และเป็นด่านแรกที่จะช่วยให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกฎหมายได้ ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีหน่วยงาน เช่น อัยการจังหวัด ที่สามารถให้คำปรึกษาได้ แต่ประชาชนมักจะไม่ทราบ และอาจจะไม่ตรงกับหน้าที่การทำงานนัก ทำให้หลายคนหาทางออกไม่ได้ แต่หากมีการจัดตั้งสำนักงานแก้ไขหนี้สินจังหวัด ก็จะทำให้ประชาชนมีช่องทางเข้าไปพูดคุยได้

 

                        “ขณะนี้เราพยายามที่จะเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องปัญหาหนี้สินประชาชนอยู่ เพราะตอนนี้กลายเป็นปัญหาหลักๆ ของคนไทยไปแล้ว แต่การทำงานในเรื่องของกฎหมายค่อนข้างต้องใช้เวลา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำได้ทันใจ แต่คณะทำงานจะพยายามเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้คนได้ต้องเสียเปรียบจากการเป็นหนี้สินที่เพิ่มขึ้น” นายอนุรักษ์กล่าว 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: