จับตาสุริยุปราคาวงแหวน21พ.ค. ประเทศไทยเห็นเพียงบางส่วน

17 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1329 ครั้ง

 

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  เปิดเผยว่า ในเช้าวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555 ตามเวลาในประเทศไทย จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” ชุดซารอสที่ 128  ปรากฏการณ์สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เงาของดวงจันทร์จะทอดลงบนพื้นโลกและสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลกคือการที่แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง รูปร่างของดวงอาทิตย์จะเกิดเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ที่เปลี่ยนรูปร่างในแต่ละค่ำคืนหรือถูกบังจนหมดทั้งดวงขึ้นอยู่กับรูปแบบการบัง โดยปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เป็นแบบ “สุริยุปราคาวงแหวน” เนื่องจากดวงจันทร์มีวงโคจรรอบโลกค่อนข้างรี ดังนั้นดวงจันทร์จึงมีโอกาสอยู่ใกล้หรือไกลจากโลกได้ ในขณะเกิดสุริยุปราคาครั้งนี้ดวงจันทร์อยู่ในช่วงที่ไกลโลกที่ระยะทางประมาณ 404,000 กิโลเมตร ทำให้ขนาดปรากฏบนท้องฟ้าของดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์ และเมื่อวัตถุทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเส้นตรง ดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์ไม่หมดเกิดเป็นสุริยุปราคาวงแหวน

 

ผู้อำนวยการ สดร. กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยไม่อยู่ในบริเวณที่จะสามารถสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนในครั้งนี้ได้” เนื่องจากแนวคราสวงแหวนเริ่มต้นจากตอนใต้ของประเทศจีน และเคลื่อนที่ไปทางตะวันออกผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงทวีปอเมริกา โดยในประเทศไทยจะสามารถชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ในรูปแบบสุริยุปราคาบางส่วน เป็นระยะเวลาสั้นๆ ราว 16 นาที ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05:50 น. จนสิ้นสุดการบังเวลา 06:06 น. คนไทยส่วนใหญ่สามารถสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น ยกเว้นภาคใต้ โดยภาคกลางจะเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งเล็กน้อย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุดและเห็นได้นานกว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของวันที่เกิดปรากฏการณ์ เนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้าอาจมีเมฆบังทำให้มองไม่เห็นดวงอาทิตย์ขณะเกิดปรากฏการณ์

 

ทั้งนี้สำหรับแนวคราสของสุริยุปราคาวงแหวนในครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อเงามัวแตะผิวโลกในเวลา 03:56 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นเวลา 05:06 น. เงาคราสวงแหวนเริ่มสัมผัสผิวโลกบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ความกว้างของเงาขนาด 324 กิโลเมตร โดยเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ ทางใต้ของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตอนเหนือของประเทศไต้หวัน พาดผ่านแนวกลางของประเทศญี่ปุ่น มหาสมุทรแปซิฟิค ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา และสิ้นสุดเมื่อเงามัวหลุดออกจากผิวโลก ณ บริเวณรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา

 

ด้าน ดร. ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนในครั้งนี้ว่า “เนื่องจากแนวคราสวงแหวนส่วนใหญ่ลากผ่านพื้นที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก เงาคราสวงแหวนจะผ่านพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นสถานที่ที่ดีในการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ ทางสถาบันฯ จึงได้จัดทีมนักวิชาการเดินทางไปศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเข้มของแสง และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนดังกล่าว ณ เมืองโตเกียว ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้เส้นกลางคราส และจะสามารถสังเกตปรากฏการณ์สุริยปราคาวงแหวนครั้งนี้ได้นานกว่า 5 นาที โดยจะเก็บภาพสุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรอชมผ่านช่องทางต่างๆ ของสถาบันฯ ทางเวปไซด์ ที่ www.narit.or.th และจะรายงานเกาะติดการเกิดสุริยุปราคาวงแหวนผ่านทาง Facebook สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ  twitter @N_Earth”

 

ดร. ศรัณย์ ยังกล่าวย้ำถึงวิธีการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาอย่างถูกวิธี ว่า “การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์นอกจากจะให้ความร้อนกับเราแล้วยังให้แสงสว่างที่มีความเข้มสูงมาก แม้แต่ขณะที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนหรือสุริยุปราคาวงแหวน ความเข้มแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ยังคงเดิม ไม่ลดลงแม้แต่น้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำอันตรายต่อสายตาเราได้ หากเราสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์แบบผิดวิธี และขอให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตัล หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสง การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง อาจทำให้ตาบอดได้ โดย แสงของดวงอาทิตย์สามารถทำอันตรายต่อสายตาได้ แม้ว่าจะมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าในเวลาไม่นาน หรือแม้กระทั่งการสังเกตการณ์แผ่นพลาสติกทึบ ฟิล์มเอกซ์เรย์ กระดาษห่อลูกอม แผ่นซีดี แว่นตากันแดด หรือกระจกรมควัน เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะสามารถกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ก็ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์และกล้องสองตาโดยไม่มีฟิลเตอร์กรองแสง สามารถสร้างความอันตรายต่อสายตาได้มากกว่าการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าหลายเท่า เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวจะรวมแสงและความร้อนซึ่งถือว่าอันตรายต่อสายตามาก อย่างไรก็ตามการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์โดยขาดความเข้าใจพื้นฐานและข้อปฏิบัติ จะมีโอกาสที่เกิดอันตรายต่อสายตาผู้สังเกตได้มากขึ้น ดังนั้นผู้สังเกตการณ์ควรทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด

 

วิธีการสังเกตการณ์สุริยุปราคาอย่างถูกวิธี

 

1. สังเกตการด้วยตาเปล่าโดยใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ ( Solar Filter) แผ่นกรองแสงจะกรองพลังงานของแสงอาทิตย์ออกไปมากกว่า 99% แสงที่เหลือจึงไม่สามารถทำอันตรายแก่ดวงตาได้ แผ่นกรองแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ควรเป็นแผ่นกรองแสงที่มีคุณภาพและถูกสร้างขึ้นเพื่อกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ได้แก่ แผ่นไมลาร์  กระจกเคลือบโลหะ เป็นต้น

 

2. สังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงอาทิตย์ (Solar Filter) การดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของพื้นผิวบนดวงอาทิตย์ เช่น จุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspots) หรือ พวยแก๊ส (Prominence) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ฟิลเตอร์ที่ใช้จะต้องมีคุณภาพสูง ฟิลเตอร์ที่ติดตั้งบนกล้องโทรทรรศน์มีหลายชนิด ได้แก่ ฟิลเตอร์ไฮโดรเจนแอลฟา จะช่วยให้เห็นพวยแก๊สบนดวงอาทิตย์ ฟิลเตอร์ชนิดไมลาร์เป็นแผ่นโลหะบาง ๆ ทำให้ห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาวหรือสีฟ้า ฟิลเตอร์ชนิดกระจกเคลือบโลหะ ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้มหรือสีเหลือง เป็นต้น

 

3. การใช้ฉากรับภาพและหลักการกล้องรูเข็ม การใช้ฉากรับภาพทำได้โดยใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์ แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา วิธีนี้ช่วยให้สามารถดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ทีละหลาย ๆ คน ส่วนหลักการกล้องรูเข็ม เพียงแค่เจาะรูเล็ก ๆ บนวัสดุที่ต้องการ โดยรูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลทำให้เกิดความคมชัดและความสว่างของภาพ โดยรูขนาดเล็กจะให้ภาพคมชัด แต่สว่างน้อย และ รูขนาดใหญ่ จะให้ภาพคมชัดน้อยลง แต่จะสว่างมาก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: