จี้สอบกองทุนสตรีเอื้อพวกพ้อง ทำผู้หญิงไทย23ล้านเสียสิทธิ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 17 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2446 ครั้ง

หลังจากรัฐบาลดำเนินการตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อน กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน การพัฒนาอาชีพ การสร้างโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ การพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเพิ่มบทบาทและสร้างภาวะผู้นำสตรี การรณรงค์ ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ การเฝ้าระวังดูแลปัญหา และการช่วยเหลือเยียวยาสตรี การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ ตลอดจนการส่งเสริมและการพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการ ให้แก่สตรี โดยผ่านองค์กรสตรีในทุกจังหวัดของประเทศไทย

 

เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทยได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ในฐานะเครือข่ายที่นำเสนอนโยบายนี้ต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นว่า กองทุนดังกล่าวไม่ดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายคือสนับสนุนบทบาทสตรี แต่กับลิดรอนสิทธิของผู้หญิง  23 ล้านคนทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย จึงยื่นหนังสือต่อองค์กรอิสระ 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริง ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่เป็นการลิดรอนสิทธิประชากรหญิงกว่า 23 ล้านคน ที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และการดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่มิได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนของนายกรัฐมนตรี

 

ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการติดตามการดำเนินงานของรัฐบาล ในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีพบว่า การดำเนินงานของกองทุนฯ เป็นการลิดรอนสิทธิของผู้หญิงกว่า 23 ล้านคน ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกองทุน หรือนับเป็นอัตราร้อยละ 70 ของผู้หญิงทั้งประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน ที่เป็นประชาชนชาวไทยที่มีสิทธิที่จะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ

 

ทั้งนี้จากการติดตามของเครือข่ายผู้หญิงพบว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีปัญหา 4 ข้อ หลักๆด้วยกัน เริ่มตั้งแต่การรับสมัครสมาชิก กองทุนนี้เป็นกองทุนปิด ต้องมีการสมัครเข้าเป็นสมาชิก จึงจะสามารถขอใช้สิทธิในกองทุน จึงเป็นการจำกัดสิทธิพลเมือง ที่จะได้รับประโยชน์เกื้อกูลจากการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐตามบทบัญญัติใน มาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งยังมีผู้หญิงไทยที่อยู่ทั้งในและต่างประเทศ และที่อยู่ในเขตทุรกันดาร ประมาณ 12 ล้านคน ที่จะเข้าไม่ถึงกองทุนนี้ ยังไม่นับแรงงานหญิงข้ามชาติ ที่ไม่มีสัญชาติไทย และในวันที่ 31 เดือนมีนาคม 2555 มีประชากรหญิงและผู้หญิงมากถึง 22 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้สิทธิต่างๆ ในกองทุนนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ควรจะได้มีการทบทวนเป็นอย่างยิ่ง

 

ส่วนในข้อที่ 2 คือ กระบวนการรับสมัครขาดหลักธรรมาภิบาล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลิกโฉมประเทศไทย กล่าวว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การประกาศรับสมาชิกกองทุนบทบาทสตรี มีการดำเนินการก่อนจะมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำเนินการโดยกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานชมรมเสียงสตรี ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองในคดียุบพรรคการเมือง

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะปฏิเสธว่า กระบวนการขับเคลื่อนและรับสมัครสมาชิกดังกล่าว ไม่ถือเป็นการรับสมาชิกของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีของรัฐบาลก็ตาม แต่การเตรียมความพร้อม การทำความเข้าใจรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ล้วนกระทำก่อนล่วงหน้า ถือเป็นการกระทำในลักษณะเป็นการภายใน ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน อันเป็นสภาพการณ์ที่สะท้อนถึงกระบวนการที่ขาดหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเน้นประโยชน์ส่วนรวม และรักษาสิทธิของคนส่วนใหญ่อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกันอย่างชัดเจน

 

นอกจากนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ยังมองว่า เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และเครือข่ายสตรี  ซึ่งดร.สุธาดาระบุว่า นโยบายการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทย ในการมีส่วนร่วม และนโยบายความมั่นคงของชีวิต ซึ่งหนึ่งในมาตรการดำเนินการคือ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไทย แต่ในการดำเนินนโยบายในเรื่องนี้ของรัฐบาล กลับไม่มีกระบวนการที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน  โดยเฉพาะจากองค์กรสตรี และเครือข่ายสตรี ที่มีการดำเนินกิจกรรมในรูปของมูลนิธิและสมาคมสาธารณประโยชน์ที่จดทะเบียนตามกฎหมาย และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  ไม่ได้รับเชิญให้เข้าไปร่วมแสดงความเห็นหรือมีการเปิดเวทีรับฟัง

 

“เรามีเครือข่ายองค์กรสตรีที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องมีมากถึง 153 องค์กร แต่ไม่เคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงความเห็น เพื่อรัฐบาลจะนำความคิดเห็นที่ได้ไปพัฒนาร่างระเบียบ แต่ไม่เคยมีการดำเนินงานจากรัฐบาล”

 

และประเด็นสุดท้ายคือ ที่มาและการสรรหา คัดเลือกกันเองของคณะกรรมการกองทุนระดับตำบล จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เป็นการคัดเลือกสรรหากันเองในหมู่สมาชิก ตามข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้ง 3 ชุด มีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ ตามที่บัญญัติไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และมีลักษณะกำกับซึ่งกันและกัน การกำหนดไว้เช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาการได้มาซึ่งกรรมการที่จะเป็นผู้แทน เพราะจะเป็นเพียงผู้แทนของสมาชิกจำนวนน้อยชุดแรกที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนภายในวันที่ 31 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครที่มีปัญหาความเร่งรีบ การได้รับข้อมูลไม่ทั่วถึงเพียงพอในการสมัครเป็นสมาชิก และกระบวนการรับสมัครที่มีปัญหาธรรมาภิบาล

 

นอกจากนั้นในคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกสรรหา เป็นกรรมการระดับต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ ยังขาดการกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญ ในเรื่องของการห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น กรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง ตามที่ได้กำหนดไว้ในกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ซึ่งสมควรอย่างยิ่งที่จะได้มีการกำหนดให้บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามที่จะเป็นกรรมการกองทุนด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดการ ครอบงำแทรกแซง และอาจมีผลประโยชน์ทางการเมืองทับซ้อนได้

 

นอกจากนั้นหากพิจารณาเปรียบเทียบกับการได้มา ซึ่งคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดวิธีการได้มาที่รัดกุมกว่าโดยใช้เกณฑ์องค์ประชุม 3 ใน 4 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดของหมู่บ้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านก่อน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: