ผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง นับเป็นปัญหาสำคัญที่ยังหาทางออกไม่ได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามของหลายฝ่าย ทั้งส่วนของประชาสังคม ประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในการเรียกร้องขอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบ แต่กลับยังไม่มีอะไรคืบหน้า ขณะที่ผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งในด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และข่าวผลกระทบต่าง ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ท่ามกลางข้อถกเถียงระหว่างหน่วยงานรัฐและชาวบ้านในพื้นที่ เกี่ยวกับมาตรฐานด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคุณภาพอากาศในพื้นที่ว่า แท้จริงแล้วมีคุณภาพอยู่ในมาตรฐานจริงตามที่ถูกกล่าวอ้างหรือไม่
ใช้ ‘ไลเคน’ ชี้วัดคุณภาพอากาศมาบตาพุด
ล่าสุดมูลนิธิโลกสีเขียว องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเห็นว่า อุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งไม่สามารถคลี่คลายไปได้ เนื่องจากประชาชนยังขาดข้อมูลพื้นฐาน ที่จะบ่งชี้ถึงสถานภาพของสิ่งแวดล้อมท้องที่ ที่ทุกฝ่ายสามารถติดตามตรวจสอบได้ โดยเฉพาะข้อมูลทางชีวภาพ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นองค์ประกอบในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน มูลนิธิฯ จึงริเริ่มโครงการ “นักสืบสายลม มาบตาพุด” ซึ่งเป็นการเปิดอบรมให้กับเยาวชนและประชาชน ออกสำรวจข้อมูลด้านชีวภาพ โดยเฉพาะไลเคน ที่จะสามารถบอกคุณภาพของอากาศในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 จนถึงเดือน มีนาคม 2555 รวม 8 เดือน ล่าสุดได้ผลสำรวจพร้อมผลวิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว
นิคมฯมาบตาพุด-ไออาร์พีซีแย่ที่สุด
ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว เปิดเผยว่า การสำรวจดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยเครือข่ายประชาสังคม ชุมชน ครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษาใน จ.ระยอง ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านไลเคน ออกสำรวจไลเคนในพื้นที่ต่าง ๆ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยระดมเครือข่ายประชาสังคม ชุมชน ครูนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในจ.ระยอง ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพอากาศ จากการสำรวจไลเคนในพื้นที่ต่าง ๆ ผลการสำรวจและแปรผลออกมาเป็นคุณภาพอากาศ พบผลสรุปที่น่าสนใจ โดยพื้นที่ที่พบว่ามีสภาพอากาศอยู่ในระดับแย่ถึงแย่มาก ได้แก่ “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” และ “นิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี” โดยเฉพาะกลางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จากการสำรวจปรากฎว่า ไม่พบไลเคนเลยแม้แต่ชนิดเดียว ผลดังกล่าวมีผลสัมพันธ์กับภาวะวิกฤตทางมลพิษ ทำให้ไลเคนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นั่นเอง
ลมอาจจะกระจายฝุ่นควันได้ดีแต่ร่างกายคนรับไปเต็มๆ
นอกจากนี้จากการสำรวจของเครือข่ายของมูลนิธิโลกสีเขียว ยังพบว่า เมื่อมีการสำรวจไลเคนห่างไกลพ้นออกจากนิคมฯ ออกมา มีการพบไลเคนในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หมายถึงคุณภาพอากาศโดยเฉลี่ยดีขึ้นเป็นลำดับ งยกเว้นบริเวณเมืองบางเขต ที่มีการจราจรค่อนข้างมาก และผลสำรวจแสดงถึงคุณภาพอากาศที่ไม่ดี โดยมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างคุณภาพอากาศในเขตนิคมฯ และนอกนิคมฯ ผลดังกล่าวบ่งบอกถึงความสามารถในการระบายอากาศของกระแสลมในพื้นที่ ซึ่งเปิดรับลมชายฝั่งและลมมรสุมตามฤดูกาลอย่างสม่ำเสมอ และแสดงถึงศักยภาพของดงไม้ และแหล่งน้ำในการดูซับมลพิษในท้องถิ่น โดยจะสังเกตเห็นว่า พื้นที่ที่มีดงไม้ทึบหรือแหล่งน้ำเป็นแนวกันชน จะมีไลเคนขึ้นดีกว่าพื้นที่ที่มีแนวต้นไม้กั้นบางเบากว่า
“อย่างไรก็ตามแม้ว่าการสำรวจไลเคนจนได้ข้อสรุปดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในท้องที่ ซึ่งมีประชาชนเกิดอาการป่วยเฉียบพลังจากมลพิษในอากาศเป็นครั้งคราว จนต้องส่งโรงพยาบาลตามที่มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชน อาจแสดงถึงข้อจำกัดของผลสำรวจไลเคนในพื้นที่ ที่ต้องการการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากไลเคนบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศโดยเฉลี่ย การปล่อยมลพิษเฉียบพลันในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศดี อาจหมายความว่า มลพิษที่ปล่อยออกมาถูกระบายไปก่อนที่จะสะสมเข้าไปในไลเคนในขณะที่คนพื้นที่ได้รับผลทางสุขภาพทันที” ดร.สรณรัชฎ์กล่าว
หวังให้ชาวบ้านใช้ตรวจคุณภาพอากาศด้วยตัวเอง
สำหรับการสำรวจไลเคนดังกล่าว เป็นโครงการที่มูลนิธิโลกสีเขียวทำขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนของจ.ระยอง สามารถใช้เครื่องมือทางชีวภาพ ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไลเคน เป็นตัวบ่งชี้ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากเป็นการใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ ราคาถูก สามารถดำเนินการได้เอง ซึ่งสามารถนำมาประเมินคุณภาพอากาศในพื้นที่ได้ และหากนำมาประมวลกับข้อมูลด้านสุขภาพที่มีการสำรวจไว้แล้ว จะทำให้ข้อมูลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และยังนำไปใช้ประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนกับภาคส่วนอื่น ๆ ในการร่วมกันหามาตรการ ในการดูแลเฝ้าระวังเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อไป และยังเป็นการแก้อุปสรรคด้านการขาดข้อมูลพื้นฐาน ในการบ่งชี้สถานภาพสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น เพราะไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้มาก่อนอีกด้วย
“ข้อมูลการสำรวจไลเคน โดยเครือข่ายนักสืบสายลม ระยอง ถูกนำมาจัดทำเป็นแผนที่การกระจายและความหลากหลายของไลเคนในพื้นที่ เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยประเมินจากการพบไลเคน ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เดียวกัน โดยผลที่เราคาดว่าจะได้รับคือ การพัฒนาศักยภาพ และทักษะในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเป็นแกนนำหลักในการขยายผลสู่ภาคประชาคมทุกฝ่าย และยังทำให้ได้ข้อมูลแสดงการกระจายความหลากหลายของสังคมไลเคน, แผนที่คุณภาพอากาศในพื้นที่มาบตาพุด และเขตอำเภออื่นๆ ใน จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ รวมทั้งยังจะเป็นแนวทางในการใช้เครื่องมือตรวจวัดทางชีวภาพ ที่ประชาชนสามารถนำไปทำได้ด้วยตนเองอีกด้วย” ดร.สรณรัชฎ์กล่าว
‘มลพิษ’ สะกัดการเติบโตของ ‘ไลเคน’
“ไลเคน” นับเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้ในการชี้วัดคุณภาพอากาศได้ เป็นสิ่งมีชีวิตสองกลุ่มคือ รา กับสาหร่าย อาศัยอยู่ด้วยกัน ขึ้นกระจายอยู่เกือบทุกพื้นที่ในโลก ตั้งแต่หนาวจัดใกล้ขั้วโลกในเขตทุ่งหญ้าทุนดรา ถึงร้อนชื้นอย่างโซนป่าเขตร้อน และร้อนแห้งแล้งแบบทะเลทรายหรือจากชายฝั่งทะเลถึงยอดเขาสูง ปัจจัยที่ทำจำกัดการเจริญเติบโตของไลเคน คือ “มลพิษ”
การวิจัยในต่างประเทศและในไทยพบว่า ไลเคนมีความอ่อนไหวต่อปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งพบจากการเผาผลาญน้ำมันและถ่านหิน จึงสัมพันธ์กับลักษณะของมลภาวะอากาศ ที่มักเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่และเขตอุตสาหกรรม และบางชนิดสัมพันธ์กับปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ การสำรวจความหลากหลายของไลเคนตามเมืองในยุโรป ในช่วงศตวรรษต่าง ๆ เช่น กรุงลอนดอน ในปี 2004 และกรุงโรม ในปี 2007 พบว่า จำนวนชนิดพันธุ์ไลเคนมีมากขึ้น ในขณะที่มลพิษในอากาศลดลง ทั้งในส่วนของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และมลพิษอื่นๆ เช่น สารระเหยอินทรีย์ (VOC)
วิจัยระบุมีไลเคนมากพบผู้ป่วยโรคมะเร็งน้อย
นอกจากนี้ในหลายประเทศยุโรปยังพบว่า ความหลากหลายของไลเคน มีการกระจายสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดและโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยเขตที่มีคุณภาพอากาศดี มีไลเคนหลากหลายชนิดมาก ผู้ป่วยมีจำนวนน้อย และในทางกลับกันพื้นที่มลภาวะอากาศสูง มีไลเคนน้อยชนิดหรือไม่มีเลย จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นตามสัดส่วน
ในประเทศไทยมีการศึกษาไลเคนกับมลภาวะอากาศอยู่หลายชิ้น ได้แก่ ที่เมืองเชียงใหม่, ลำพูน และกรุงเทพฯ จนสามารถคัดสรรชนิดไลเคน ตัวชี้วัดคุณภาพอากาศเมืองไทยในเบื้องต้นได้ อาทิ ชนิดที่มีความทนทานและมลภาวะสูง ชนิดที่ทนทาน และชนิดที่ไม่ทนทานมากนัก และมักพบนอกตัวเมือง ส่วนชนิดที่ไม่ทนมลภาวะเลย และบ่งบอกถึงอากาศบริสุทธิ์นั้น เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า มักพบในพื้นที่ป่าเช่น ตามเขตอนุรักษ์ต่าง ๆ ทั้งนี้มักมีความเข้าใจกันว่า จะไม่สามารถพบไลเคนขึ้นริมถนนตามเมืองใหญ่ ๆ ได้ แต่จริง ๆ แล้วเมืองที่ใช้รถจักรยานมาก ใช้ระบบรางขนส่งมวลชน และใช้น้ำมันคุณภาพดี และเครื่องยนต์เผาไหม้ประสิทธิภาพสูง อาจพบไลเคนขึ้นได้หลายชนิดตามต้นไม้บริเวณริมถนน เช่น เมืองโอลิมเปีย ในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา แม้ว่าบางชนิดจะเป็นพวกที่ชอบไนโตรเจนออกไซด์ก็ตาม แต่ในเมืองที่มีการจราจรค่อนข้างหนาแน่นจะไม่พบไลเคนขึ้นริมถนนเลย
“อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลการสำรวจจะพบว่า คุณภาพอากาศในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง จะไม่พบไลเคนเลย ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ แต่ในภาพรวมจากการสำรวจพบว่า มีไลเคนกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของ จ.ระยอง อยู่มาก นั่นหมายถึงว่า สภาพอากาศโดยทั่วไปของ จ.ระยอง ยังนับว่ามีคุณภาพที่ดีอยู่ แต่หากเข้าไปในพื้นที่ของนิคมฯ คุณภาพอากาศที่ไม่ดี ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยรอบๆ ได้” ดร.สรณรัชฎ์กล่าว
ในต่างประเทศใช้ ‘ไลเคน’ เป็นตัวชี้วัดมาเป็นร้อยปีแล้ว
ด้าน รศ.ดร.กันฑรีย์ บุญประกอบ นักวิชาการหน่วยวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการวิเคราะห์แผนที่ที่ได้จากผลการสำรวจไลเคนใน จ.ระยอง ระบุว่า การใช้ไลเคนวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย อาจเป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆ แล้วในต่างประเทศ มีการใช้ไลเคนวัดคุณภาพอากาศมานานเป็นร้อยปีแล้ว สำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีการใช้ไลเคนมาวัดคุณภาพของอากาศเช่นกัน ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจไลเคนในพื้นที่มาบตาพุด ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์ที่ไม่พบไลเคนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของอากาศที่ย่ำแย่ สอดคล้องกับสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และไลเคนนับเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพอากาศแบบง่ายๆ ที่ประชาชนสามารถดำเนินการเองได้ เพราะเห็นได้ง่ายกว่าและสามารถบ่งบอกคุณภาพอากาศได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามอาจมีมลพิษอื่น ๆ ที่ไม่ได้ตรวจวัด ไม่มีข้อมูล แต่เป็นอันตรายมาก เช่น สารอินทรีย์ระเหย (VOC) โลหะหนัก (Heavy metal) เป็นต้น ที่จำเป็นต้องศึกษาวิจัยในเชิงลึกต่อไป
ค.พ.อ้างค่ามลพิษมาบตาพุดต่ำกว่ามาตรฐาน
ดร.กัณฑรีย์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสำหรับสารอันตรายอื่น ๆ นั้น หน่วยวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยลงรายละเอียด เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลด้านสภาพอากาศของต่างประเทศพบสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง และกลายเป็นคำถามเกิดขึ้นกับกระบวนการตรวจวัดสภาพอากาศของไทย โดยเฉพาะเครื่องมือตรวจวัด ที่เชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ นั่นคือ จากการลงรายละเอียดเปรียบเทียบข้อมูลสารต่าง ๆ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้เผยแพร่ โดยระบุว่า ได้จากการตรวจวัดจากเครื่องตรวจวัดมลพิษของกรมควบคุมมลพิษ ประกอบด้วย ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ,ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx), อนุภาคฝุ่น (PM10, PM2.5), คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ตะกั่ว (Lead, Pb),โอโซน (O3), สารอินทรีย์ระเหย (VOCs) (ไฮโดรคาร์บอน, แอลกอออล์, อาลดิฮาย, อีเทอร์, ฟอร์มาลดิฮาย ฯลฯ ถูกปล่อยออกจากการกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม และยานยนต์ ทำให้เกิดโอโซน ) พบว่า ปริมาณสารต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแต่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงปริมาณความเข้มข้นของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (PM10) ซึ่งอาจจะดูเหมือนค้านกับสายตาและความรู้สึกของสังคมโดยทั่วไป ที่ไม่น่าเชื่อว่าข้อมูลจะออกมาแบบนี้
งงฝุ่นเล็กในมาบตาพุดเหมือนสิงคโปร์
นอกจากนี้เมื่อพบว่า ปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก (PM10) ในพื้นที่มาบตาพุดเกินค่ามาตรฐาน คณะวิจัยจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์ตรวจสอบเพิ่มเติม โดยนำตัวเลขที่ได้จากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ทันสมัยของกรมควบคุมมลพิษ มาพิจารณาต่อ โดยนำมาสร้างเป็นกราฟเปรียบเทียบกับข้อมูลปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก (PM10) ของเมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว พบว่า ปริมาณความเข้มข้นของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (PM10) กลับมีปริมาณที่ต่ำกว่าฝุ่นในกรุงเทพ ฯ โดยพบว่า ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นในพื้นที่มาบตาพุดมีความเข้มข้นของฝุ่นขนาดเล็ก (PM10) เกือบจะเท่ากับคุณภาพอากาศที่มีฝุ่น ของประเทศสิงคโปร์เลยทีเดียว
“เมื่อเรานำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบ พลอตกราฟทั้งหมดแล้ว นอกจากปริมาณสารต่าง ๆ ที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศในพื้นที่มาบตาพุด ของกรมควบคุมมลพิษ จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานทั้งสิ้นแล้ว ยังพบว่าตัวเลขความเข้มข้นของฝุ่น PM 10 ซึ่งมีผลต่อสุขภาพนั้น ข้อมูลกลับบ่งบอกว่า ปริมาณฝุ่นในพื้นที่มีปริมาณความเข้มข้นต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือ ปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นในมาบตาพุด กลับมีปริมาณความเข้มข้นเทียบเท่ากับอากาศในประเทศสิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับเครื่องมือตรวจวัดสภาพอากาศของไทย ที่บอกว่าเป็นเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ หรือจะมีข้อผิดพลาดอะไรหรือไม่ เพราะจากข้อเท็จจริงสังคมรับรู้ว่าในพื้นที่เป็นอย่างไร” ดร.กันฑรีย์กล่าว
พร้อมกับระบุว่า หลังจากได้ข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมา จึงทำให้เกิดข้อสงสัยหลายอย่างว่า ข้อมูลตัวเลขที่ได้จากเครื่องวัดคุณภาพอากาศของ กรมควบคุมมลพิษ ทำไมจึงออกมาค้านกับความเป็นจริงอย่างมาก เพราะจากข้อมูลในพื้นที่ซึ่งเป็นที่เผยแพร่ออกไปส่วนใหญ่พบว่า สภาพอากาศในมาบตาพุด ไม่ได้มีคุณภาพที่ดีเหมือนกับที่ตัวเลขรายงานระบุ เพราะพบว่า มีประชาชนในพื้นที่เจ็บป่วย และได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศซึ่งเกิดจากผลกระทบของโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
“มันเป็นเรื่องน่าสงสัย เพราะการที่ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาล้วนค้านกับความเป็นจริง จึงน่าสงสัยว่าเครื่องมือตรวจวัดที่ทันสมัยของเราเป็นอะไร เพราะจริง ๆ แล้วข้อมูลต่าง ๆ ได้จากการตรวจวัดแล้ว ก็น่าจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง หรือ ความรู้สึกที่เรารู้สึกได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เราก็คงจะต้องทำวิจัยในเชิงลึกต่อไป” ดร.กันฑรีย์กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ