เบื้องหลังชีวิต‘ลุงไกร ชมน้อย’   ผู้สร้างตำนาน‘ผักปลอดสารพิษ’

18 ส.ค. 2555


 

เรื่องของเกษตรอินทรีย์ หรือผักปลอดสารพิษ เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้อะไรก็ตามที่แปะยี่ห้อว่าปลอดสารพิษราคาจะพุ่งสูงลิ่ว อย่างไม่รู้สาเหตุว่าแพงเพราะอะไร  ในขณะที่กระแสความนิยมกับผลิตภัณฑ์พืชผักปลอดสารพิษ ค่อนข้างสวนทางกัน ไม่สามารถตอบสนองกับตลาดได้มากเท่าที่คิด นำมาสู่ปัญหาการปลอมผัก คือถุงใส่ผักระบุว่าผักปลอดสารพิษ แต่ผักข้างในยังอุดมไปด้วยสารเคมี ซึ่งแบบนี้ก็มีเกิดขึ้นอยู่

 

การทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ คือการกลับไปสู่เกษตรแบบดั้งเดิม ที่พึ่งพาลมฟ้าอากาศตามฤดูกาลที่ผักนั้นจะออกผล และแน่นอนว่า ไม่สามารถตามใจตลาดได้ ตลาดเองต้องเป็นคนเดินตามเกษตรกร  นี่จึงเป็นคำตอบนึงว่าทำไมผักลอดสารถึงมีราคาแพง และมีจำนวนไม่มาก

 

ศูนย์ข่าว TCIJ มีโอกาสคุยกับ ลุงไกร หรือ ไกร ชมน้อย แห่งสวนลุงไกร อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในฐานะเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารพิษ และพื้นที่หนึ่งที่เป็นที่นิยมในการดูงาน และซื้อผักของผู้ที่สนใจ

ลุงไกรปลูกผักปลอดสารพิษมาแล้ว 22 ปี และส่งขายห้างใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ จนเลิกขายไปแล้ว เมื่อคิดแล้วไม่คุ้มเมื่อต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ในการขนส่งและจัดการในเรื่องต่าง ๆ วันนี้ลุงไกรขายผักที่สวนของตัวเองเท่านั้น ลุงไกรบอกว่าเมื่อไหร่ไปถึงสวนลุงไกรได้กินผักแน่นอน

 

ประสบการณ์กว่า 20 ปี ในการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ ลุงไกรจึงมีคำแนะนำให้กับประเทศไทย ที่ต้องการผักปลอดสารพิษกินว่า ควรจะเดินไปทางไหน และปัญหาของการทำเกษตรแบบนี้คืออะไร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถาม : แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมพืชผักปลอดสารพิษ ขณะเดียวกันกลับมีการตรวจพบผักที่มีสารเคมีเกินมาตรฐานมาก ลุงไกรมองปัญหานี้อย่างไร

 

 

ลุงไกร : ในค่าของสิ่งเหล่านี้ เราต้องพูดถึงคนกลางก่อน คือคนที่ซื้อมาขายไป ถ้าเรามองถึงความต้องการของผู้บริโภค ถ้ามาซื้อของผม ผมบอกว่าของผมชัวร์ เพราะเราขายเอง แต่ถ้าเป็นที่ตลาดกลางเราไม่รู้ที่มาที่ไป ว่ามาจากไหน อย่างไร จากตรงนี้เอง เราต้องมองว่าถ้าเราจะทำอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง ทุกอย่างอยู่ที่ใจ ผมเป็นเกษตรกรถามว่าผมจะฆ่าตัวเองไหม ปลูกผักแบบ 7 วัน ฉีดยา 7 วัน คงไม่ได้มานั่งคุยกันในวันนี้ ฉะนั้นเองเรามีจิตสำนึกลึกๆว่า เราทำไม่ได้ ในภาคการเกษตรจริง ๆ ผมทำ สมัยพ่อกับแม่อยู่ ต้องช่วยถอนหญ้า ฉะนั้นถ้ามีอะไรปนเปื้อนก็หมายถึง เราต้องกินของที่เราผลิต ที่ปนเปื้อน ที่เรารู้ที่มาที่ไป ถ้าฉีดเข้าไปแล้ว กล้ากินไหม เราก็ไม่กล้า

 

สารเคมีที่เก็บสะสมไปเรื่อย ๆ ในการบริโภค ถามว่าปัญหาหนักที่สุด ตกอยู่กับใคร 1.ผู้บริโภค 2.กระทรวงสาธารณสุข ในการที่ประชาชนเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น 3.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องเอาจริงเอาจัง ในเรื่องการส่งเสริมการผลิต ในวิถี หรืออาจจะต้องเอาแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือมองศักยภาพ เกิดการรวมกลุ่ม และสุดท้ายคือรัฐเองต้องสนับสนุน เพี่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดให้ได้ เพื่อจะไปคานอำนาจการเกิดขึ้นของสารเคมี ไม่ใช่ให้เขาทำแล้วตัวใครตัวมันไม่ได้ เมื่อเขาผลิตแล้วตลาดที่ขายอยู่ตรงไหน ต้องช่วยสนับสนุน

 

แต่ถ้ามองที่เกษตรกร ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ที่จริงเรื่องของกองทุนเรื่องของอะไรก็แล้วแต่ ณ วันนี้ผมเห็นว่าคนที่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ได้รับการพักชำระหนี้ 3 ปี ซึ่งเป็นการบอกว่าการเกษตรกรเรายังไม่เข้มแข็ง เพราะมีการพักชำระหนี้มาประมาณ 5-6 ครั้งแล้ว เราคงต้องเตรียมตัวและมองตรงนี้ เพราะ AEC กำลังจะเข้ามา กำลังซื้อของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่สามารถหยุดบางส่วนได้ ด้วยการรณรงค์จริงจัง ถ้าสารเคมียังมากแบบนี้ อะไรจะเกิดขึ้น คนเจ็บป่วยก็มากขึ้น ซึ่งท้ายสุดภาระจะไปตกอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ในการที่ต้องเป็นหน่วยงานรักษาฟรีหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค

 

แต่ถ้ารัฐมองถึงส่วนแบ่งทางการตลาด ดุลการค้าระหว่างประเทศ เราก็ไม่ว่ากัน แต่ควรจะมีการจัดโซนนิ่ง มีวิธีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง ผมว่ามันเป็นไปได้ส่วนหนึ่ง อย่างรูปแบบที่ผมทำมา แม้ว่าเราจะเป็นถึงวิสาหกิจชุมชน ทำเองขายเอง แต่เราต้องทำตามศักยภาพของเรา ที่เรามีอยู่

 

ผมใช้วิธีการแบบนี้ว่า ถ้าผักขาดก็ต้องขาด เพราะผมรู้ว่าชีวิตการเป็นเกษตรกร จริง ๆ แล้ว ผมคิดอยู่  2 เรื่อง คือลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เราต้องคิด แต่การเกษตรมีอยู่ 2 อย่าง ไม่ขาดก็เกิน ความพอดีไม่มีในโลก สิ่งเหล่านี้ต้องมาสังเคราะห์และวิเคราะห์เอง จากตัวเราแล้วเรียนรู้ รอบรู้ รอบคอบ ในเมื่อกระทรวงเกษตรฯเอง พูดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรให้เกษตรกรลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ แต่ถ้าหากจะพูดถึงผักปลอดสารพิษและเกษตรอินทรีย์ จริงๆ แล้วทำมากไม่ได้ เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีที่มากมายมหาศาล รถไถคันหนึ่ง 3-4 แสนบาท มูลค่าการลงทุนเท่าไหร่

 

ดังนั้นการพัฒนาต้องเกิดขึ้น มันเริ่มจากน้อยไปหามากได้ แต่ถ้าอยากได้มากก็ต้องมีการรวมกลุ่มให้ได้มาก อย่างผมรวมกลุ่มให้ได้ 50 คน สามารถบริหารจัดการได้ มีการลดรายจ่ายแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้จะจริงจังมากน้อย ขนาดไหน เพราะมูลค่าการเกษตรที่จริงแล้ว 21 ปีที่ผมทำมา มีมูลค่าเป็นล้าน แต่เรามองเห็นภาพว่า กว่าที่เราจะเรียนรู้มันไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เราจะทำอย่างไรให้เขาลด แต่ถ้าเขาเลิกเมื่อไหร่ เขาจะไม่มีกิน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อคิด ไม่ว่าเราจะทำอะไร ควรจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถาม : แนวคิดของการปลูกผักปลอดสารพิษของลุงไกรควรเป็นอย่างไร

 

ลุงไกร : วิธีคิดคือ ผมจะลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ได้อย่างไร ขี้วัวผมสั่งมาครั้งละ 200 กระสอบ ถ้าเรารวมกลุ่มไม่ได้ ก็ต้องต่างคนต่างไปซื้อ 5 กระสอบ ถ้าซื้อปลีกกระสอบละ 60 บาท แต่ถ้าผมซื้อครั้งละมากๆ จะเหลือกระสอบละ 22 บาท ส่วนต่างเหล่านี้เกษตรกรต้องเอามาคิด ดังนั้นการรวมกลุ่มจึงมีผล มีอำนาจต่อรองในการซื้อ สิ่งเหล่านี้ควรเกิดขึ้น แต่เมื่อเราดูชาวบ้าน ชาวบ้านมีทุนเท่าไหร่ เงินก้อนที่จะมาหล่อเลี้ยงเขา เรื่องนี้สำคัญ แต่ตอนนี้เราก็เริ่มพักชำระหนี้ แต่ต้องเริ่มที่ท้องถิ่นก่อน ต้องเริ่มจากบ้านแล้วลงไปที่ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. จนถึงระดับอำเภอ ถึงจังหวัดและกระจายผลออกทั้งประเทศ เพราะใครก็อยากกินของดี ผมเชื่อว่าทุกคนอยากกินผักปลอดสารพิษ อยากกินของดี แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะว่าเรื่องของความแตกต่าง อุณหภูมิที่เหมาะสม ระบบต่างๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำการผลิต

 

 

ถาม : วันนี้สวนลุงไกรส่งผักที่ไหนบ้าง

 

 

ลุงไกร : ผมขายในพื้นที่เป็นหลัก เพราะเราส่งมามากแล้ว ล้อยางรถยนต์เวลาเปลี่ยนครั้งหนึ่ง 4 เส้น 20,000 กว่าบาทแล้ว ส่วนเรื่องของเครดิต 50 วันบ้าง 30 วันบ้าง ทุนรอนสายป่านที่ต้องมีไว้อีก อันนี้คือความเจ็บปวด ผมถามว่าวันนี้มีใครกล้าซื้อผักทุกอย่าง ผมบอกว่าถ้าคุณกล้าซื้อผักผมทุกชนิด คบกันได้ คำพูดที่บอกว่าไม่ขาดก็เกิน นี่คือระบบของการขายเหมือนกัน ฉะนั้นคำว่าตลาด จะต้องเข้าใจคำว่าผู้ผลิต คือคนละครึ่งทาง ไม่ใช่มากดราคา วันนี้ทำให้มีกิน เหลือก็ขาย เราก็ยังตั้งเฉพาะตรงนี้ เรามีการสะสมทุนผลการผลิต มีทั้งเรื่องการแปรรูป วันนี้มีเครือข่ายประมาณ  100 กว่าคน ที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่ ร่วมกันทำกิจกรรม

 

 

ถาม : ไม่ได้ส่งขายห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ แล้ว

 

ลุงไกร : จากการวิเคราะห์ของผม ใน  3 อรหันต์คือ เรียนรู้ รอบรู้ รอบคอบ เราหยุดตัวเองเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ผมจะยกตัวอย่างว่า ผมส่งผักให้ร้านสเต็กซิสเลอร์  คือเราจะรู้จำนวนผักที่จะส่งคือวันพุธ และเราต้องเก็บไม่ให้ขาดในการจะส่งตลาด เพราะความรับผิดชอบเรามีด้วยหน้าที่ แต่ถ้ามีคนขับรถมา 8 กิโลเมตร เพื่อมาซื้อผักผม 1  กิโลกรัม ถ้าไม่ให้อะไรจะเกิดขึ้น เป็นเหตุผลที่ผมโดนกระแทกตลอดว่า คำว่ามาหาลุงไกรคือต้องมาซื้อผัก และต้องมีผักให้เขากลับไป มีรถมา 10 คัน ซื้อคันละ 1 กิโลกรัม  ก็คือ 10 กิโลกรัม บางครั้งผมไม่ให้ ผมก็จะโดนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจในเรื่องของการซื้อ เราก็มอง จนเราต้องหยุดตัวเองว่า เหมือนกับผมต้องใช้คำว่า ถ้าเราทำ เรากล้าปลูก คุณต้องกล้าซื้อนะ เพื่อเราจะได้สร้างความเข้มแข็ง ผมทำส่งตลาดใหญ่มาเกือบ 10 ปี ถามว่าได้อะไร ก็ได้แค่กิน นี่คือเรื่องจริง
 

ฉะนั้นการขายในพื้นที่ ทำให้เราเซฟคอร์สในเรื่องของการขนส่ง คนขับรถต้องมีโทรศัพท์เครื่องนึง  ต้องมีฝ่ายบัญชีไว้ตามเก็บเงิน มันไม่คุ้ม เราต้องวิ่งไปถึงกรุงเทพฯ จนตัดมาเหลือที่ภาคอีสาน มันก็ยังผลุบๆโผล่ ๆ ในช่วงไฮซีซั่นของการผลิตคือหน้าหนาว ที่ผมผลิต ถามว่าตลาดตามผมไหม ไปๆมาๆ ผมต้องตามตลาดตลอด ใช่ไหม ในขณะที่ช่วงไฮซีซั่น โลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยวมันมีอยู่ ซึ่งผมก็มีไฮซีซั่นของการผลิต โลว์ซีซั่นของการผลิต อันนี้สำคัญ

 

ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญว่า ถ้าเราสามารถจัดโซนนิ่งได้ ในเรื่องความเหมาะสมทั้งประเทศ  อันนี้เหมาะสำหรับทำนาว่ากันไป อันนี้เหมาะสำหรับพืชผักเมืองหนาว อันนี้เป็นเรื่องยาง อันนี้กาแฟ ถ้าเรามาจัดกันเช่น อันนี้ควรจะเป็นออแกนิคเต็ม 100 เปอร์เซนต์ ตรงนี้เป็นเกษตรอินทรีย์ อันนี้เป็นแบบนี้เพราะไม้ผลบางอย่างเรามีแล้ว พบกันครึ่งทางในการลดละ ใช้ชีวภาพเข้าไปอาจจะเป็นสวนยาง เจอกันครึ่งทาง ผมว่ามันลดรายจ่ายได้เยอะ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มีแต่นำเข้าอย่างเดียว เงินจะออกนอกประเทศเยอะ บ้านเราเองปัจจัยการผลิต มันมีหนาว ร้อน ฝน แมลง ปัญหาของการเกษตรที่มองแล้วว่าเรื่องของออแกนิค เรื่องของเกษตรอินทรีย์ไม่เกิด ปัญหาคือแมลง 4 ตัว หมัด หนอน เต่าแดง เพลี้ยไฟ มี 4 เรื่องที่เราไม่ชนะ

ผมเชื่อว่าด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน แมลงอายุสั้น ๆ และสภาพภูมิอากาศแบบ หนาว ร้อน ฝน ต้องปรับภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้เยอะ เพราะแต่ละพื้นที่เกิดความแตกต่าง เรื่องของการถ่ายเท อุณหภูมิที่เหมาะสม ถ้าจะบอกว่าตำราเล่มหนึ่งเขียนมาเป็นกลางๆ แล้วใช้ได้กับทุกพื้นที่ ผมบอกว่าไม่ใช่ เหมือนกับผมไม่ได้อยู่วังน้ำเขียวและต้องไปทำอีกที่หนึ่ง อาจจะต้องมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถาม : คำแนะนำเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบสารเคมี


ลุงไกร : ต้องพูดเรื่องของการส่งเสริม ถ้าเราแยกแยะได้ ถามว่าถ้านำเข้ามาแล้วใครได้ เป็นโจทย์ข้อที่ 1 แล้วใครเป็นคนเสีย มีผลได้ ต้องมีผลเสีย บวกหรือลบลองคิดกันดู  แต่ถ้าผมมองจากชีวิตการเป็นเกษตรกร เขาวิ่งๆอยู่บอกให้เขาหยุด เขาตายเลยนะครับ ฉะนั้นทำอย่างไรแบบผ่อนปรน ลดละ แต่มันต้องสร้างความต่อเนื่อง ไม่ใช่เฮกันวันนี้ แล้วหายไป 5  ปีมาสร้างกันใหม่ มันก็ไม่ต่อเนื่อง ก็ต้องเริ่มใหม่กันอีก มันก็นับ 1 ใหม่อยู่แบบนั้น  ซึ่งผม 21 ปี เหมือนคำว่าลุงไกร ผมก็ต่อยอดตัวผมเอง งานของเจ้าหน้าที่ผมเข้าใจว่าเขาไม่ได้ทอดทิ้ง แต่บุคลากรมันน้อย เรื่องของงบประมาณก็อีกส่วนหนึ่ง

 

คำว่าปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ ไร้สารพิษ เห็นมาเยอะแล้ว คืนเดียวไม่ได้สักหัว แต่เรามีวิธีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ผมใช้วิธีการโยนผัก กระจายผักออก เมื่อก่อนปลูกเป็นแนวเพื่อส่งตลาด คืนเดียวหมด ออแกนิคก็หน้าหงิกได้เหมือนกัน แสดงว่าต้องใช้วิธีการใหม่ ผมเป็นคนช่างสังเกต ผมจึงปรับวิธีแบ่งโซนนิ่งอ สมมติว่าอาทิตย์หนึ่งทำผัก 30 แปลง อยู่ตรงโน้น 6 แปลง ตรงนั้น 3 แปลง กินของผมได้ไม่หมด แต่ถ้า 30 แปลงหมด มันแพร่เร็วมาก แต่ถ้าเราโยนผักออก เพราะผมเข้าใจว่าแมลงเกิดตามฤดูกาลตรงนี้ข้อหนึ่ง อย่างน้อยแมลงก็มีขุนพลเหมือนเข้าตี ถ้าเราเข้าใจก็สูญเสียไม่มาก ดังนั้นผมจะจัดโซนนิ่ง การวางผักต้องสร้างความแตกต่าง ถ้าคนบอกว่ายังเลือกกิน แมลงก็เลือกกินเหมือนกัน ฉะนั้นความหลากหลายของวิธีการปลูกต้องมีในระบบ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: