หลังจากพื้นที่ทะเลในภาคใต้ที่มีชุมชนชาวเลพื้นเมืองอาศัยอยู่ ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นั้น ชาวเลประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ การไร้กรรมสิทธิ์ครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินชุมชน การถูกไล่ที่จากภาคเอกชน รวมถึงการไม่สามารถออกเรือจับสัตว์น้ำในบริเวณอุทยานแห่งชาติฯ ได้ ทำให้ชาวเลหลายพื้นที่ต้องออกเรือที่ไกลและลงน้ำลึกกว่าเดิม ซึ่งนอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเรือแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกด้วย โดยที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคน้ำหนีบ
นายสนิท แซ่ซั่ว ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเล เปิดเผยว่า จากการที่ชุมชนชาวเลถูกคุกคามด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวนั้น ทำให้ชาวเลที่มีอาชีพออกเรือประมง ไม่สามารถออกเรือในพื้นที่น้ำตื้นที่ประกาศเป็นเขตอุทยานรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำได้ จึงจำเป็นต้องออกเรือไปไกลจากพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อดำน้ำลึกขึ้น ทำให้เกิดการป่วยน้ำหนีบ คือ อาการชาและปวดบริเวณกล้ามเนื้อแขน ขา ไขสันหลัง โดยบางรายขึ้นจากน้ำได้ 10 นาที ก็เสียชีวิต ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านหลายราย พยายามจะต้องเรียนรู้หลักการในการดูแลตัวเองและป้องกันตนจากโรคดังกล่าวมากขึ้น โดยมีคณะแพทย์และพยาบาลในพื้นที่ มาร่วมให้ความรู้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หลังจากชาวประมงในพื้นที่ภูเก็ต ป่วยถึงขั้นพิการแล้วประมาณ 6 ราย
น.ส.หทัยรัตน์ ตันติพิศาลพงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานเวชศาสตร์ใต้น้ำ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า แม้ปัจจุบันปัญหาน้ำหนีบจะไม่มากมายเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง โดยสถิติการของผู้ป่วยโรคน้ำหนีบที่มาพบแพทย์ในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2556 มีทั้งหมด 28 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่มาจากหลายที่ทั้ง สตูล พังงา กระบี่ ภูเก็ต ขณะที่ปี 2555 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายที่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล โดยเสียชีวิตหลังจากที่ขึ้นจากทะเลได้เพียง 10 นาที และแพทย์ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทัน
น.ส.หทัยรัตน์กล่าวว่า สำหรับอาการของโรคน้ำหนีบนั้น มี 2 แบบ คือแบบทั่วไปและแบบรุนแรง แบบทั่วไปมีอาการปวดหลัง ตัวชา เดินไม่ได้ บางรายอาเจียน และหน้ามืด ส่วนอาการรุนแรงก็คือ ปัสสาวะไม่ออก ปวดกระดูกรุนแรง ทั้งตัว และอาจพิการท่อนล่าง คือ ตั้งแต่เอวจนถึงเท้า โดยจากการซักประวัติของผู้ป่วย คือ มักจะดำน้ำลึกระหว่าง 30-50 เมตรด้วยตัวเปล่า และมีการดำน้ำต่อเนื่อง รวมทั้งขึ้นจากน้ำเร็วกว่าปกติ เพื่อหาสัตว์น้ำ ซึ่งการดำน้ำลักษณะนี้ จะมีความลึกต่างจากการดำน้ำเพื่อสันทนาการ ที่ดำลึกเพียง 10-20 เมตร และมีอุปกรณ์ช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเกิดโรคน้ำหนีบ คือ การดำลึกกว่า 18 เมตร
“ในการรักษาอาการของผู้ป่วยน้ำหนีบคือ ต้องให้ออกซิเจนประมาณ 2-3 ครั้ง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทั่วไป แต่กรณีที่รุนแรงก็อาจให้มากถึง 5 ครั้ง โดยผู้ป่วยต้องพักฟื้นและงดกิจกรรมดำน้ำนานถึง 1 เดือน ซึ่งชาวประมงที่ประสบปัญหามักจะปฏิบัติไม่ค่อยได้ เพราะพวกเขากังวลเรื่องปากท้อง ทำให้มีอาการป่วยซ้ำ ดังนั้นทีมแพทย์ใน โรงพยาบาลจึงต้องประสานงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวจากโรคน้ำหนีบ โดยหลักการง่าย ๆ คือ เน้นการพักครึ่งน้ำและขึ้นจากน้ำช้า ๆ เพื่อดันฟองอากาศ ที่เป็นก๊าซไนโตรเจนออก เช่น ดำน้ำลึก 50 เมตร ต้องพักในระหว่าง 25 เมตร และพักอีกครั้ง 12.5 เมตร อีกครั้งหนึ่ง จึงค่อยๆ ขึ้นมาจากน้ำ” น.ส.หทัยรัตน์กล่าว
ด้านนายหมัด ประมงกิจ ผู้นำชาวเลชุมชนแหลมตง เกาะพีพี กระบี่ กล่าวว่า เหตุผลหนึ่งที่ชาวเลต้องออกไปหาปลาในน้ำลึก เพราะไม่กล้าเสี่ยงตั้งไซ รอก ในบริเวณที่มีนักท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมักแอบตัด หรือทำลายเครื่องมือหาปลาเพื่อปล่อยลงทะเล ทำให้ชาวเลต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง หรือซื้อเครื่องมือใหม่ ซึ่งหลายคนฐานะยากจน ไม่สามารถซื้อได้บ่อย ประกอบกับการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในบริเวณท่องเที่ยวด้วยแล้ว ชาวประมงจึงต้องระวังตัวมากขึ้น
อ่านข้อมูลประกอบได้ที่ จับตา http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=1534
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ