เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายวิโรจน์ ทองเกษม คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า วันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทนายความ สภาทนายความลงพื้นที่อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อพูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์ และจัดเตรียมเอกสารเพิ่มเติม หลังจากเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้รับฟ้องคดีที่เครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ฟ้องกรมชลประทาน ให้ยกเลิกโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง
โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ชาวบ้านประมาณ 200 คน เข้าพบนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ให้ตรวจสอบโครงการฯ ภายหลังการพูดคุย นายเชิดศักดิ์ได้นัดพบกับชาวบ้านอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม โดยเชิญเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนรัชชประภา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกษตร มาพูดคุยด้วย
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่กรมชลประทานนำเสนอว่า น้ำในเขื่อนรัชชประภาเพียงพอในการทำชลประทาน ขณะที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกษตรชี้แจงว่า ไม่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านเลย จากนั้นชาวบ้านพูดถึงผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม หากมีการขุดคูคลองยกระดับน้ำ เพื่อให้น้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ ซึ่งผู้ว่าฯ ถามข้อมูลต่างๆ จากชลประทาน แต่เจ้าหน้าที่ชลประทานตอบไม่ได้ เมื่อผู้ว่าฯ ถามถึงผลกระทบต่อชุมชน วัฒนธรรมประเพณี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับคำตอบว่า จะไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่มีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปบางส่วนแล้ว ทั้งที่การรังวัดยังไม่เสร็จเรียบร้อย ทำไมต้องรีบจ่ายเงินเวนคืน เจ้าหน้าที่ชลประทานบอกจำเป็นต้องทำ เพราะออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า ผู้ว่าฯ บอกกรมชลประทานว่า ขณะนี้ศาลปกครองได้รับฟ้องแล้ว หากศาลตัดสินว่าให้ยกเลิกโครงการฯ งบประมาณที่กรมชลประทานจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไปแล้ว ถ้ารัฐเรียกคืนจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่กรมชลประทานบอกว่า ไม่ทราบ ผู้ว่าฯ จึงขอให้กรมชลประทานหยุดการดำเนินการก่อน จนกว่าศาลปกครองจะตัดสิน
“เมื่อผู้ว่าฯ พูดแบบนั้นเราคิดว่าชลประทานจะปฏิบัติตาม แต่เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ชลประทานก็ยังลงพื้นที่ต.ท่าเคย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ชาวบ้านจึงตามไปดูว่าชลประทานทำอะไร เจ้าหน้าที่ชลประทานจึงแก้ตัวว่า ไม่ได้ทำโครงการพัฒนาตาปี-พุมดวง แค่ทำโครงการขุดลอกคลอง ซึ่ง สุดท้ายชลประทานก็ยอมรับว่าเป็นโครงการเดียวกัน” นายวิโรจน์กล่าว
สำหรับรายงานโครงการศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2551) โดยได้ศึกษาที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และท่าเรืออุตสาหกรรม ซึ่งการศึกษาได้เสนอทางเลือก 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณ ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
รายงานดังกล่าวระบุความต้องการพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ สำหรับโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ซีเมนต์และยิบซั่ม น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าแปรรูปเกษตรอื่นๆ และโรงไฟฟ้า รวมทั้งเสนอให้วางท่อส่งน้ำดิบ ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำดิบ30 ล้าน ลูกบาศก์เมตรต่อปี (70,000 ลบ.ม.ต่อวัน) จากคลองพุมดวง ด้านท้ายน้ำของเขื่อนรัชประภามายังนิคมอุตสาหกรรม
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
1.ความเป็นมา
1.1 ตั้งแต่ปี 2510 กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ประกอบด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และเขื่อนแก่งกรุง (เขื่อนคลองยัน) กรมชลประทานได้โอนงานก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนแก่งกรุงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ ก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาแล้วเสร็จในปี 2530
1.2 ในปี 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รับไปดำเนินการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบชลประทานที่ล่าสุด โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานที่จะได้จากการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง และกรมชลประทานได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2537 ปรากฏว่าโครงการมีความเหมาะสมต่ำ เนื่องจากจำเป็นต้องอพยพราษฎรและต้องลงทุนค่าชดเชยทรัพย์สินสูง ทำให้ได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับเขื่อนแก่งกรุงมีกระแสต่อต้าน และได้ระงับการดำเนินงานเอาไว้ก่อน
1.3 กรมชลประทานจึงได้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากน้ำที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนรัชชประภามาใช้ประโยชน์ จึงได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสม โดยพิจารณาการพัฒนาชลประทานสูบน้ำจากแม่น้ำพุมดวง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 73,980 ไร่ มีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการน้ำหลังจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนรัชชประภา มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
2.ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโครงการ
เขื่อนรัชชประภาได้ปล่อยน้ำจากท้ายเขื่อนเนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีปริมาณน้ำจากคลองสาขาไหลมารวมในแม่น้ำพุมดวงอีกประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำพุมดวงประมาณ 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่มีการนำน้ำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
3.วัตถุประสงค์โครงการ
1.เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่
2.เพื่อการอุปโภค–บริโภค
3.เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
4.รายละเอียดของโครงการ
4.1 ที่ตั้งโครงการ ต.บางงอน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี
4.2 ลักษณะทางวิศวกรรมของโครงการ
(1) สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวมทั้ง 33.16 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบด้วย
- เครื่องสูบน้ำขนาด 1.93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง
- เครื่องสูบน้ำขนาด 2.12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 12 เครื่อง
(2) ระบบส่งน้ำ ความยาวรวมประมาณ 139 ก.ม.
(3) ระบบระบายน้ำความยาวรวมประมาณ 83 ก.ม.
5.ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (พ.ศ. 2552–2559)
6.งบประมาณ
วงเงินโครงการทั้งสิ้น 3,330.00 ล้านบาท
- งบบุคลากร 77.00 ล้านบาท
- งบดำเนินงาน 41.00 ล้านบาท
- งบลงทุน 3,107.24 ล้านบาท
- เผื่อเหลือเผื่อขาด 104.76 ล้านบาท
มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. จำนวนเงิน (ล้านบาท)
2552 262.81
2553 296.69
2554 525.99
2555 637.77
2556 732.57
2557 346.32
2558 251.99
2559 175.86
รวม 3,330.00
7.การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์
ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2552
ที่อัตราคิดลดร้อยละ 8 10 12
อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (B/C) 1.70 1.50 1.19
มูลค่าผลประโยชน์ปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,842 1,262 440 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์(EIRR) 13.60 13.60 13.60 %
8.ประโยชน์ของโครงการ
1.เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 73,980 ไร่ โดยสามารถส่งน้ำในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่
2.มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค
3.เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
9.ผลกระทบจากการอนุมัติโครงการ
เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จ.สุราษฏร์ธานีแล้ว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการแล้ว
10.สถานภาพโครงการ
- ด้านแบบก่อสร้าง แบบ และรายละเอียดด้านวิศวกรรมแล้วเสร็จ 100 % (เสร็จปี 2544)
- ด้านการจัดหาที่ดิน การสำรวจปักหลักเขตแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขอคำขอรังวัดจากเจ้าของที่ดิน (ประมาณ 2,000 ราย)
- รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปี 2535
- การมีส่วนรวมของประชาชน กรมชลประทานได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รวมทั้งระดับหมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 40 ครั้ง
- ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ต.ท่าเคย ต.หนองไทร อ.ท่าฉาง ต.ลีเล็ด ต.ศรีวิชัย ต.มะลวน ต.หัวเตย ต.ท่าข้าม ต.พุนพิน ต.น้ำรอบ ต.หนองไทร ต.บางงอน อ.พุนพิน และต.ท่ากระดาน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี พ.ศ.2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จ.สุราษฎร์ธานี
- ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนในท้องที่ต.ท่าเคย ต.หนองไทร อ.ท่าฉาง ต.ลีเล็ด ต.ศรีวิชัย ต.มะลวน ต.หัวเตย ต.ท่าข้าม ต.พุนพิน ต.น้ำรอบ ต.หนองไทร ต.บางงอน อ.พุนพิน และต.ท่ากระดาน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จ.สุราษฎร์ธานี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ