‘เชียงใหม่’ลุย3ด.-รณรงค์‘จัดการตนเอง’ หวังร่างครั้งที่5ผ่านสภาเป็นต้นแบบทั่วปท. ระบุอำนาจไม่รวมศูนย์-โปร่งใส-ปฏิวัติยาก

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 4422 ครั้ง

ถึงพ.ศ.นี้ การพูดถึงแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” นับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เนื่องเพราะมีการริเริ่มแนวคิดมาในระยะเวลาเกือบ 30 ปีก็ว่าได้ และขยับขยายเพิ่มมากขึ้นในหลายจังหวัด ทั้งระยอง น่าน ปทุมธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต อำนาจเจริญ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช ฯลฯ ที่มีความพยายามสร้างรูปแบบการจัดการตนเอง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานท้องถิ่น การแก้ปัญหา การจัดการทรัพยากร รวมถึงการลดความขัดแย้ง ฯลฯ หลังจากพบว่า ที่ผ่านมาการปกครองเป็นรวมศูนย์สร้างผลกระทบมากมาย และพอกพูนปัญหาในแทบทุกด้านให้เกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งในหลายจังหวัดในการขยับเพื่อปรับรูปแบบให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเฉพาะเชียงใหม่ที่เป็นจังหวัดใหญ่ ที่ค่อนข้างมีความพร้อมสูง ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณท้องถิ่น รวมถึงนักวิชาการและผู้รู้ที่เข้ามาขับเคลื่อนในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดผลได้จริงในเร็ววัน

 

สำหรับรูปแบบ “จังหวัดจัดการตนเอง” คือ การที่ประชาชนในจังหวัดมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนา การบริหารจัดการจังหวัดของตนเองในทุกด้าน ทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ สังคมปัญญา ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน เมื่อเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสังคม ก็สามารถจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในท้องถิ่นได้ด้วยตนเองและเท่าทันกับสถานการณ์ปัญหา

 

แนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเองไม่ใช่ของใหม่ แต่เริ่มมา 30 ปีแล้ว

 

 

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงความคืบหน้าในแนวคิด “เชียงใหม่จัดการตนเอง” ว่า มีการพูดถึงมาตั้งแต่สมัย นายไกรสร ตันติวงศ์ ยังเป็นส.ส.เชียงใหม่ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ต่อมาปี 2533 ศ.ดร.ธเนศว์ เจริญเมือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้รณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระทั่งช่วงปี 2551-2552 มีการพูดเรื่องการพึ่งตนเอง ผู้ว่าฯ CEO ในหลายส่วน แต่พูดแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม จนกระทั่งปี 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในตอนนั้น จะเดินทางมาเชียงใหม่ร่วมประชุมหอการค้าที่จ.เชียงใหม่ แต่กลุ่มเสื้อแดงบอกว่า “มาสิก็ได้เห็นดีกัน” จึงมีการระดมกำลังตำรวจจำนวนมาก เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นายกรัฐมนตรี

 

ข่าวที่ออกมาเหมือนเชียงใหม่อยู่ในแดนมิคสัญญี ทำให้นักท่องเที่ยวเลื่อนการเดินทาง นักลงทุนก็ชะลอการลงทุน คนที่เดือดร้อนก็คือคนเชียงใหม่ จึงมีการพูดคุยระหว่างคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ที่คุยกันได้ ไม่ใช่สายฮาร์ดคอ และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อหาทางแก้ไขข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ จากนั้นดำเนินการหาคนที่พอรับได้ เสื้อเหลือง เสื้อแดงที่ต่างพอใจ แล้วตั้งกลุ่มว่า “บ้านชุ่มเมืองเย็น” (Peaceful Homeland Network) พูดคุยเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ต่อมานายอภิสิทธิ์ก็เปลี่ยนใจไม่มา

 

 

ปรับ 5 ครั้งกว่าจะได้ ‘พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร’

 

 

               “จากที่คุยกันแล้วพบว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้แก้ไขในพื้นที่ ต้องไปแก้ที่กรุงเทพฯ ปัญหาใหญ่คือ การรวมศูนย์อำนาจ เมื่อคุยกันจนเห็นพ้อง ผมจึงอาสายกร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เพื่อกำหนดทางเดินว่า เราจะเดินไปทางไหน เดือนมกราคม ปี 2554 ร่างแรกจึงเกิดขึ้น มีการประชาพิจารณ์ 25 อำเภอ ปรับกัน 5 ครั้งจนมาถึงร่างปัจจุบัน” นายชำนาญกล่าว

 

 

ก่อนจะยกร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ได้นำตัวอย่างการปกครองท้องถิ่นจากหลายประเทศมาเปรียบเทียบ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ที่เราลอกแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินมาได้แก่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่ฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) ส่วนภูมิภาคกับจังหวัด เป็นส่วนท้องถิ่นแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดเดิม กลายเป็นผู้ตรวจการสาธารณรัฐ

 

 

ใช้ญี่ปุ่นเป็นโมเดล เพราะรูปแบบคล้ายกันที่สุด

 

 

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นเป็นโมเดลใหญ่ ในการร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ถึงร้อยละ 70 ญี่ปุ่น เพราะมีความเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนไทย มีพระมหากษัตริย์คือ สมเด็จพระจักรพรรดิ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐสภา ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค การบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ส่วน คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยปล่อยให้ท้องถิ่นมีอิสระในการดูแลจัดการในพื้นที่ตัวเอง ส่วนอำนาจหน้าที่ของจังหวัดคือ ดูแลกิจการตำรวจ การบริหารจัดการโรงเรียนมัธยม จัดเก็บภาษี ควบคุมดูแลบัญชีการเงิน อนุมัติสัญญา จัดตั้งบริหารกิจการสาธารณะและยุบเลิกกิจการสาธารณะ แต่งตั้งและปลดรองผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งและบริหารเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น อำนาจในการยุบสภาจังหวัด

 

กรณีเกาหลีใต้เป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกัน และเคยเป็นเผด็จการยิ่งกว่าประเทศไทย เมื่อ 20 ปีก่อนคนตายจากการชุมนุมประท้วง 2,000 คน เขาก็มีปัญหา แต่เขาก็ปรับตัวทัน เมื่อปี ค.ศ.1997 (2540) มีปฏิรูปโดยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นเร็วมากขึ้น มีรูปแบบคล้ายญี่ปุ่น คือ มี 2 ระดับ ส่วนจังหวัดกับส่วนท้องถิ่น

 

ส่วนของประเทศอังกฤษที่ถูกมองว่า เป็นต้นแบบของประชาธิปไตยในบ้านเรา แต่ก็ไม่เคยมีราชการส่วนภูมิภาคเลย เป็นรัฐเดี่ยว มีกษัตริย์เป็นสมเด็จพระราชินี มีราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเท่านั้น สำหรับที่สหรัฐอเมริกา มีหลักการพื้นฐานในการปกครอง 3 ส่วน ส่วนกลาง มลรัฐ และท้องถิ่น การบริหารส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หลายอย่างเช่น เคาน์ตี้ จะเป็นการบริหารหลาย ๆ เมืองเข้าด้วยกัน มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผู้พิพากษา รวมถึงจัดการศึกษา ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

‘เชียงใหม่มหานคร’เหลือการปกครองแค่ 2 ระดับ

 

 

นายชำนาญกล่าวต่อว่า ย้อนกลับมาดูพ.ร.บ. เชียงใหม่มหานครฉบับล่าสุด (ร่างครั้งที่ 5) ซึ่งอยู่ในระหว่างการรณรงค์เพื่อเสนอกฎหมาย 120 วัน ว่ามีสาระสำคัญคือ 1.ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ โดยแบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมเต็มพื้นที่ โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารที่อิสระต่อกัน เป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน

 

                    “เชียงใหม่มหานครจะทำทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาล ส่วนตำรวจพื้นที่จะขึ้นอยู่กับผู้ว่าเชียงใหม่มหานคร”

 

มี 3 ส่วนเท่าเทียมกัน-ถ่วงดุลกัน

 

2.ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมจริยธรรม ทำให้ระบบการตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างดุลยภาพ คือ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานครและสภาพลเมือง ซึ่งอำนาจหน้าที่ของทั้ง 3 สภาจะเท่าเทียมกัน เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยที่ปรึกษาหารือกันไม่ใช่ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน สำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายการเมืองระบบตัวแทน สภาพลเมืองจะมาคานอำนาจ เพราะมาจากตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์

 

3.ปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลาง ร้อยละ 30 และคงไว้ที่จังหวัดร้อยละ 70

 

 

ตอบคำถามคาใจ ไม่ใช่แยกดินแดน ยังคงเป็นรัฐเดี่ยวตามรัฐธรรมนูญ

 

 

นอกจากรูปแบบที่กำหนดไว้ตามข้อกฎหมายในพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครแล้ว นายชำนาญยังเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีการเผยแพร่ร่างพ.ร.บ.ออกไปแล้ว มีหลายส่วนที่เป็นข้อกังขา กังวลใจ และข้อสงสัย ว่ารูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เช่น 1.เป็นการแบ่งแยกรัฐหรือไม่ ขอบอกว่า ยังเป็นรัฐเดี่ยวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2.กระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ ตอบว่า ยกตัวอย่างกรณีเกาหลีใต้ ที่ยังอยู่ในสภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือ ก็ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค แต่ก็ไม่เห็นมีปัญหาด้านความมั่นคง แถมยังมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมเพราะไม่ต้องผ่านส่วนกลาง แต่ต่อท้องถิ่นโดยตรง 3.รายได้ท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ ขอตอบว่า หากให้เก็บเพียงภาษีป้าย ก็คงไม่เพียงพอ แต่ถ้าเก็บภาษีจากพื้นที่ทั้งหมดคิดว่าพอ ตัวเลขจีดีพีของจังหวัดเชียงใหม่ ปี2553 คือ 150,000 ล้านบาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท) 4.อบจ. อบต.มีอยู่หรือไม่ ตอบว่า อบจ.ไม่มี แต่จะมีเชียงใหม่มหานครมาแทนที่ รูปแบบแตกต่างไปจากเดิม เพราะจะมีสภาพลเมือง อบต.ก็เปลี่ยนเป็น เทศบาล ทั้งหมด

 

5.จะเอาข้าราชการสวนภูมิภาคไปไว้ไหน และนายอำเภอยังมีอยู่หรือไม่ ตอบคือ กลับไปสังกัดกระทรวง ทบวงกรมเดิม หรือเป็นข้าราชการประจำ จะได้รับเงินเดือนจากเชียงใหม่มหานคร ส่วนนายอำเภอจะไม่มี

6.เขตพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้านจะหายไป ขอบอกว่า เขตเป็นเหมือนเดิม แต่จะเปลี่ยนชื่อเรียกไม่ให้สับสน ส่วนตำบล หมู่บ้านมีอยู่เหมือนเดิม 7.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะมีอยู่หรือไม่ หากยังคงมีอยู่จะมีบทบาทอะไร ตอบว่า ยังคงมีอยู่ แต่จะเพิ่มความสำคัญไปเป็นฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ลูกน้องตำรวจ ตอนนี้มีการปล่อยข่าวว่า จะมีการยุบทำให้เกิดกระแสต่อต้าน

 

 

ยันอิทธิพลนักเลงครองเมืองไม่ได้ เพราะปลดได้

 

 

8.ถ้าทำแบบนี้นักเลงจะครองเมือง ขอบอกว่าคำถามนี้โดนบ่อยมาก แม้จะได้นักเลงครองเมือง เราก็ยังปลดได้ เพราะเลือกเองกับมือ ถ้าปลดไม่ได้ 4 ปี ก็เปลี่ยนใหม่ แต่ถ้าเป็นระบบสอบบรรจุเป็นข้าราชการแบบในปัจจุบัน เราไม่มีทางปลดได้ หรือตรวจสอบได้ 9.จะมีการซื้อเสียงขายเสียง ตอบว่า อาจจะไม่หายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต่อไปจะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะคนที่เราเลือกมาอยู่ใกล้ชิดกับเรา รู้ว่าเป็นใคร การเลือกตั้งเชียงใหม่มหานครจะซื้อทั้งจังหวัดก็ไม่ไหว สภาพลเมืองก็ช่วยได้ 10.การทุจริตคอรัปชั่น เปลี่ยนอำนาจจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็ก ขอบอกว่า อาจจะไม่หายไป แต่มีกลไกตรวจสอบได้ 11.การทำเช่นนี้ผิดกฎหมาย ตอบว่า ไม่ผิดแน่นอน เพราะ รัฐธรรมนูญ มาตรา 281-291 ให้การรับรองเรื่องการปกครองตนเอง

ข้อสุดท้าย เขาไม่ยอมหรอก ตอบว่า ต้องถามว่าเขานั้นใคร อย่าลืมว่าประชาธิปไตย คืออำนาจเป็นของประชาชน ถ้าประชาชนเอาด้วย เขาก็ต้องยอม

 

 

ระบุหากพ.ร.บ.ผ่านคาดใช้เวลา 1 ปี น่าจะปรับรูปแบบได้

 

 

เมื่อถึงตรงนี้จึงมีคำถามว่า หากพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ผ่านการพิจารณาของสภาและมีการประกาศใช้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่านานแค่ไหน นายชำนาญกล่าวว่า โดยหลักแล้วถ้าเป็นกฎหมายอื่น ออกแล้ว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนใหญ่จะมีผลบังคับใช้โดยทันที 60 วัน 90 วัน หรือโดยมากก็ปีหนึ่ง แต่ว่ากฎหมายนี้มีผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมาก ซึ่งเราใช้เวลายกร่างไว้ 2 ปี ในการถ่ายโอนเปลี่ยนถ่าย เพราะต้องเซ็ทระบบ ทั้งของเก่าของใหม่ เพื่อจะได้ราบรื่น ไม่เกิดปัญหาอุปสรรค อยู่ดี ๆ จะเปลี่ยนทีเดียวเลยคงไม่ได้

 

ส่วนหน่วยงานราชการที่อยู่ในปัจจุบันจะมีการปรับอย่างไร นายปรีชากล่าวว่า ให้นึกภาพเป็นการปกครองแบบกรุงเทพมหานครก่อน  เช่น พัฒนาชุมชน เกษตร สาธารณสุข ก็สังกัด เป็นส่วนราชการเหมือนเดิม แต่จะมาสังกัดเชียงใหม่มหานคร ขึ้นกับผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง ตัวบุคคล หรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ถ้าไม่อยากอยู่เชียงใหม่มหานคร ก็กลับกระทรวงทบวงกรมส่วนกลาง แต่ถ้าเป็นคนในพื้นที่ หรือท้องถิ่น ที่อยากอยู่ ก็เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น รับเงินเดือนของเชียงใหม่มหานคร การบังคับบัญชาขึ้นกับผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร

 

 

                      “ตอนนี้แล้วมีจังหวัดอื่นที่กำลังขับเคลื่อนเหมือนเชียงใหม่มีเยอะครับ ที่เราเห็นชัด ๆ เลยก็คือ ประมาณ 45 จังหวัด ที่เข้มแข็งจริง ๆ มีอำนาจเจริญ ขอนแก่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก แต่โดยหลักแล้ว เชียงใหม่มหานครเสนอเสร็จแล้ว ตอนนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเชิญผมไป 2 ครั้งแล้ว เขาพยายามออกกฎหมายกลางออกมา เพื่อเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ถ้าเชียงใหม่ทำสำเร็จใช้เป็นกฎหมายกลาง จังหวัดอื่นก็ไม่ต้องมาออกเคลื่อนไหวที่จังหวัด เหมือนเดี๋ยวนี้กระทรวง ทบวง กรมไม่ต้องออกพระราชบัญญัติ ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาก็ใช้ได้แล้ว” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าว

 

 

3 จังหวัดชายแดนใต้ทำได้ แต่ควรทำทีละจังหวัด

 

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เคยถูกกล่าวถึง กรณีที่มีการเสนอให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกันเพื่อจัดตั้งเป็น “นครปัตตานี” เป็นพื้นที่บริหารพิเศษ จะมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกับกรณีของเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆที่ต้องการจัดการตนเองหรือไม่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แสดงความเห็นว่า ประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาซับซ้อน อันนี้ไม่ได้มาขัดแย้งหรืออะไร แต่อยากแสดงความเห็นว่า ถ้าการขับเคลื่อนทีละ 3 จังหวัด ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยากตรงที่ว่า ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายทหาร เขาก็ระแวงสงสัย แต่ถ้าโดยพื้นฐานเป็นจังหวัดเดียวกัน เหมือนเชียงใหม่ทำ

 

 

                      “สมมุติว่าเป็นปัตตานีมหานคร ทำไมคนนราธิวาสจะต้องมาที่ปัตตานีมันตอบยาก ใช่มั้ย แต่หลักการผมเห็นด้วยใช้จังหวัดเป็นฐานะ จะเป็นนราธิวาสมหานคร หรืออะไรก็แล้วแต่ จริงๆ คำว่ามหานครหรืออะไร ผมไม่ได้ติดใจเลยนะ เพียงแต่นำชื่อมายกเป็นตัวอย่าง เป็นประเด็นขึ้นมาให้ดึงดูดใจเท่านั้นเอง เพราะกรุงเทพฯ 200 กว่าปี ยังเป็นมหานครได้ เชียงใหม่อายุ 716 ปี ทำไมจะเป็นมหานครไม่ได้ ลำพูน 1,300 กว่าปี จริงๆ ถ้าร่างกฎหมายออกมาจริง ๆ แล้ว ไม่มีคำว่ามหานครก็ไม่เป็นไร พระราชบัญญัติเชียงใหม่เฉย ๆ ก็ได้ ไม่เป็นไร พระราชบัญญัตินครพิงค์ก็ได้ แล้วแต่ว่ากันไป เพียงแต่ว่าตั้งชื่อให้มันเร้าใจขึ้นมาเท่านั้นเอง”

 

 

ลดขัดแย้งในพื้นที่-ปฏิวัติยาก เพราะฐานอำนาจกระจาย

 

 

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นสำคัญที่จะเกิดผลกระทบในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น หากมีการจัดการตนเอง นั่นคือการลดความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ เช่น การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ที่ดิน ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ชาวบ้านมักรวมตัวกันไปชุมนุมในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางการปกครอง เพื่อให้แก้ปัญหา ซึ่งในอนาคตนายชำนาญมองว่า ปัญหาจะหมดไปหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ เพราะคนอยู่ด้วยกันย่อมมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง แต่ทุกอย่างจะดีกว่าเดิม เนื่องจากปัญหาจะได้รับการจัดการในพื้นที่ ในท้องถิ่น คนคุยกัน คนมีอำนาจตัดสินใจอยู่นี่ ไม่ใช่อยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วก็ไม่มีอำนาจเด็ดขาด อันนี้มันจบอยู่ที่ผู้ว่าเชียงใหม่มหานครเลย จบในจังหวัดจะดีกว่าเดิม ไม่ต้องไปขับเคลื่อนเดินขบวน อพยพขนคนกันไปที่ทำเนียบรัฐบาล ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็จะลดลง การปฏิวัติรัฐประหารก็จะยากขึ้น เพราะฐานอำนาจมันแผ่ไปหมดแล้ว

 

 

ผู้ว่าฯเชียงใหม่แย้งยังไม่พร้อม ต้องพึ่งงบฯจากส่วนกลาง

 

 

ขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นตัวแทนการปกครองจากส่วนกลาง กลับมองอีกมุม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ความพร้อมของเชียงใหม่คือการเลี้ยงดูตนเอง ที่มีตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัด และมองว่าที่ผ่านมาการเก็บภาษีหรือรายได้ น้อยมากหากเทียบกับจังหวัดอื่น แต่หากเป็นการปกครองจากส่วนกลาง รัฐบาลก็ยังสามารถเกื้อหนุนได้ เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้เนื่องเพราะเชียงใหม่ไม่ใช่ 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ชนบท เป็นดอย เป็นภูเขา เป็นชนกลุ่มน้อย ต่าง ๆ มากมาย การจัดเก็บภาษีที่นี่ไปรวมในประเทศ เรียกว่าเป็นส่วนกลาง น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับชลบุรี เทียบกับระยอง สมุทรสาคร ซึ่งเราต้องมีความพร้อมในส่วนนี้ ซึ่งเงินที่กลับมาช่วยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเรื่องของความเป็นชาติเดียวกัน รัฐบาลจัดให้ทุกจังหวัด โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ฉะนั้นหากจะบริหารจัดการตนเอง ขณะที่จังหวัดอื่นร่วมกันทุ่มเทเงินไปช่วยจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ รัฐบาลย่อมที่จะมีสิทธิมีส่วนที่จะบริหารทุกจังหวัด รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่รัฐบาลของจังหวัดหนึ่งจังหวัดใด เป็นรัฐบาลของทุกจังหวัด

 

 

                      “เราต้องการเห็นการปกครองแบบเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลต่าง ๆ บริหารจัดการให้ดี ให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการบริหารงบประมาณ มีความโปร่งใส เป็นมาตรฐานต่าง ๆ และในเมื่อการกระจายอำนาจในส่วนนี้เกิดขึ้น มีความพร้อมแล้วมีอะไรแล้ว ในส่วนของงานสาธารณสุข การศึกษา ฯลฯ นั่นจึงเรียกว่าจัดการตนเอง เพราะทุกวันนี้เชียงใหม่ก็ยังขาดความพร้อมในส่วนนี้ เราอยู่ได้เพราะเราได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เงินทองเป็นของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ เราอยู่ในประเทศเดียวกัน ชาติเดียวกัน คือประเทศไทย เราต้องเดินไปด้วยกัน” ผู้ว่าฯเชียงใหม่กล่าว

 

 

ชี้คนต้องตื่นตัวมากกว่านี้ ปัจจุบันส่วนกลางไม่ได้ก้าวก่ายท้องถิ่น

 

 

 

ม.ล.ปนัดดายังกล่าวต่อถึงความพร้อมในการจัดการตนเองของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ความสำคัญอย่างยิ่งคือความตื่นตัว ความรอบรู้ ของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งในสังคมไทยทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้ความช่วยเหลือทุกจังหวัดโดยเท่าเทียมกัน อยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจในส่วนนี้ อย่าไปคิดอะไรที่เราเป็นคนอื่น เป็นองค์กรอื่นออกไป เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าเรามองว่าจังหวัดหนึ่งจังหวัดใดมีการบริหารจัดการตนเองขึ้น แล้วรัฐบาลจะบริหารประเทศได้อย่างไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันนี้ หน่วยงานภูมิภาคแทบจะไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยเลย ท่านมีอำนาจของท่านอยู่แล้ว ช่วยกันทำงานให้เกิดภาพที่ชัดเจน

 

 

“ผมไม่ได้บอกว่ารูปแบบการปกครองแบบนี้ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไขไปตามกาลเวลา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และความรับผิดชอบชั่วดี ที่ทุก ๆ จังหวัดพึงมี ไม่ได้ใช้คำว่าดีอยู่แล้ว แต่ใช้คำว่า เราจะพัฒนาไปด้วยกัน แต่จงอย่าผลีผลาม เพราะการได้จะไม่คุ้มเสีย เพราะผลได้คือ ความช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ทุกจังหวัด ส่วนที่ไปเกิดเป็นกระแสขึ้นที่ขอนแก่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ อยากให้มีความเข้าใจในส่วนนี้ ทุกกระทรวงช่วยกันอยู่ ท้องถิ่นก็ทำงานของท่านพร้อมไปด้วยดี ก็จะเกิดความสำเร็จในท้ายที่สุด” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

 

 

นักกิจกรรมห่วง ‘เตะหมูเข้าปากหมา’

 

 

ทางด้าน น.ส.ทัทยา อนุสสรราชกิจ นักกิจกรรมเพื่อสังคม ในจ.เชียงใหม่ มองในเชิงวิเคราะห์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า เราไม่ได้มองเฉพาะเชียงใหม่อย่างเดียว แต่เรามองถึงทุกท้องถิ่นว่า ท้ายที่สุดการกระจายอำนาจ เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่เป็นจริง ๆ แล้ว ทุกท้องถิ่นเจอกัญหาเดียวกันว่า มาเฟียเดิมก็จะขึ้นมาเป็นฐานอำนาจใหม่ แต่ในการเคลื่อนของการกระจายอำนาจนี่มันก็เหมือนกับว่า เป็นทางเลือกเดียวในตอนนี้ ที่เชื่อว่ามันจะแก้ปัญหาของท้องถิ่น และแก้ปัญหาของส่วนกลางได้ คือมีข้อสงสัยว่า การเคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจ จะเป็นการให้อำนาจของท้องถิ่นเดิมหรือเปล่า ดังนั้นหนทางเดียวที่เราจะตรวจสอบได้ก็คือ โครงสร้างใหม่มีการตรวจสอบที่เข้มแข็งกว่าโครงสร้างเดิม ในการที่จะเกิดสภาพลเมืองขึ้น แต่สภาพลเมืองยังไม่เคยเกิดขึ้น

 

 

                       “เรามองถึงข้อดีของการกระจายอำนาจอยู่แล้ว เพราะเราทำเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง แต่ในข้อดีนั้นเสียงอีกเสียงหนึ่งที่ติงมาคือข้อเสีย ของการเตะหมูเข้าปากหมา อันนั้นเรารับฟัง ในฐานะที่เราเป็นคนทำงานเราก็กลัว ถ้าเราไม่มีอีกขาหนึ่ง คือการที่จะเข้ามาตรวจสอบพวกเขา แล้วยิ่งพวกเขามีเงินเยอะ เขาก็จะมีอำนาจเต็มขนาดนี้ การสืบทอดอำนาจก็จะมีมากขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่า หนทางเดียวที่จะทำให้โครงสร้างนี้ดีจริง นั่นคือการตรวจสอบต้องเข้มแข็ง ก่อนที่จะเกิดการกระจายอำนาจจริง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนะสภาพลเมืองต้องตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง

 

 

น.ส.ทัทยากล่าวว่า เราต้องทำให้เห็นว่า เราต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งโครงสร้างของการตรวจสอบนี้คือสภาพลเมือง ซึ่งสภาพลเมืองนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง ยังไม่เคยมี แต่โดยสิ่งที่พวกเราคิดกันขึ้นมาคือ การชูประเด็นเรื่องการตรวจสอบโครงสร้างขึ้นมา ของการทำงานตรงนั้น ดังนั้นเราว่าการสร้างสภาพลเมืองให้เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะมาจากตัวแทนของคนที่ทำงานในเครือข่ายต่าง ๆ อยู่แล้ว หรือว่าในภาคของประชาชน ในภาคของสื่อมวลชน ที่จะออกมาเป็นสภาพลเมืองตรงนี้ชัดเจนแล้วว่าจะไปสู่การตรวจสอบอย่างไร

 

 

“สิ่งที่เราจะทำตอนนี้ ก่อนที่จะมีสภาพลเมืองคือ ฟอร์มว่าถ้าจะมีจริงเราจะมีการไปตรวจสอบอบจ.เก่า ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นเชียงใหม่จัดการตนเอง อำนาจจะมาเยอะ เงินจะมาเยอะ แต่ตอนนี้แม้แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เองก็ยังเป็นแดนสนธยาอยู่ ไม่มีใครสามารถตรวจสอบเขาได้ เราจะเริ่มตรงนี้ จะเริ่มเข้าไปตรวจสอบอบจ. เป็นแนวทางว่า ถ้ามีอำนาจเข้ามาใหม่ มีงบประมาณมาเยอะ เราก็สามารถที่จะสร้างสภาพลเมืองเข้าไปตรวจสอบได้” น.ส.ทัทยากล่าว

 

 

ไม่สนใจใครจะเข้ามาบริหาร ถ้าโปร่งใสก็จบ

 

 

เมื่อถามถึงปัญหาอื่นที่มองไม่เห็นหรือมองไปไม่ถึงมีหรือไม่ น.ส.ทัทยากล่าวว่า กรุงเทพฯก็ไม่เคยมีตรงนี้ กรุงเทพฯ มีปัญญาชนระดับหนึ่ง แต่บริบทของความเป็นเชียงใหม่เราต้องยอมรับว่า คนทั้งหมดไม่ได้เป็นแบบนั้น ฐานการเมืองเดิม เป็นฐานการเมืองที่มีอิทธิพลอยู่ เขาสามารถที่จะเข้ามาสู่อบจ. โดยไม่ต้องใช้นโยบายเลย ถามว่าในอนาคตถ้าเขาจะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ เขาจะต้องใช้นโยบายหรือเปล่า บอกได้เลยไม่ต้อง โดยฐานเดิมเขาเข้ามาได้แน่ แต่ที่เราควบคุมการเข้ามาไม่ได้ เราก็จะควบคุมเพื่อดูว่า เขาทำงานได้หรือไม่ เพราะถ้าเขาทำงานดีเราไม่ว่าอยู่แล้ว จะเป็นตระกูลบูรณุปกรณ์เดิมก็ตามแต่ จะมาเป็นสายทักษิณ สายไหนก็ได้เราไม่สน แต่ถ้าเราสามารถควบคุมการทำงานของเขาให้มีความโปร่งใสได้ อันนั้นเราจบ

 

 

ชุมชนมีโอกาสสะท้อนปัญหา งบประมาณถึงชาวบ้าน

 

 

สำหรับความต้องการที่คนส่วนใหญ่อยากได้หรืออยากเห็น จากการจัดการตนเองของเชียงใหม่ น.ส.ทัทยาระบุว่า เรามองเชียงใหม่จัดการตนเองออกเป็น 2 ระนาบ อย่างไรก็ตามการเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนยังต้องมีอยู่ แต่จังหวัดจัดการตนเองจริง ๆ แล้ว คือการทำประชาธิปไตยตัวแทน ที่ประชาชนทำได้เอง ด้วยตัวเอง จากความร่วมมือของท้องถิ่น เราต้องการให้ทุกเครือข่ายสะท้อนปัญหาออกมาว่า โครงสร้างเดิมไปกระทบกับเขาอย่างไร โครงสร้างเดิมไปสกัดการทำงานของเขาอย่างไร และเขาต้องการการสนับสนุนงบประมาณมากกว่านั้น เพราะการจัดสรรเงินมาจากส่วนกลางอย่างไรก็ไม่ถึงพวกเขา มาจากสายการเมืองยิ่งไม่ถึง แต่ถ้าอำนาจมาอยู่ในมือจากตัวแทน ซึ่งเป็นของพวกเขาจริง ๆ เงินก็จะเป็นของพวกเขา มันจะเห็นจริง ๆ สมมุติเรามองเรื่องการท่องเที่ยวชัดเจนที่สุด อย่างเรื่องที่เราสร้างสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี พืชสวนโลก ไม่ได้นำเงินเข้ามาสู่ชุมชนเลย ทั้งที่ชุมชนเคลื่อนไหวเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน แต่เขากลับไม่ได้รับเงินเลย ชาวบ้านรวมตัวกันก็จริง แต่เขาไม่ได้รับเงินสนับสนุนเลย หรือไม่ได้ถูกโอนมาเป็นการท่องเที่ยวระดับจังหวัด

 

ส่วนที่ถามว่าอยากได้หรืออยากให้แก้ปัญหาอะไรก่อนยังไม่ใช่ เพราะเรากำลังทำงาน 120 วัน เป็นงานรณรงค์ จากวันที่ 30 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2556 ตรงนี้เราจะจับทุกประเด็นของเชียงใหม่ ตั้งแต่เรื่องการศึกษา สาธารณสุข ซึ่งมีทั้งหมด 18 ประเด็น เป็นทุกเรื่องของเชียงใหม่ที่เราจะดูทั้งหมด เราจะเอาทุกคนที่ทำงานด้านนี้มาบอกว่า เมื่อมันเปลี่ยนเป็นเชียงใหม่จัดการตนเองแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำมันควรจะเป็นอย่างไร โดยให้ขึ้นมาจากข้างล่างเลย ให้คนที่ทำงานด้านนี้จริงๆ เข้ามาบอกว่า ถ้ามีการอำนาจมา เงินมา งบประมาณมา เขาจะทำอย่างไร ทำอะไร เขาจะพัฒนาจังหวัดของเขาอย่างไร

 

 

 

 

นับจากวันที่ 30 กันยายน ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป จนถึงมกราคม 2556 ชาวเชียงใหม่จะได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง และมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของตัวเองว่า ในอนาคตรูปแบบการปกครองของจ.เชียงใหม่จะเป็นอย่างไร และชาวเชียงใหม่จะมีส่วนร่วมได้อย่างไร ทั้งข้อดีข้อเสีย เพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่มุ่งหวังว่า รูปแบบการปกครองตนเอง จะสามารถลดความขัดแย้ง แก้ปัญหา นำพาวิถีชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งต้องเฝ้าจับตาดูต่อไป

 

ขอบคุณภาพจาก www.P-Power.org, www.Google.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: