คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการสนับสนุนการนำมติสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 63 WHO Global Code of Practice on International Recruitment of Health Personnel ไปสู่การปฏิบัติและภาคีระบบสุขภาพ ได้แก่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIR-Net) จัดการประชุมวิชาการ “สุขภาพแรงงานข้ามชาติ : ทางออกที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมพีเคพาเลซ เพื่อระดมสมองหาทางออกที่เหมาะสม ให้กับระบบสุขภาพของไทย ในสถานการณ์ที่มีแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น ในระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
เน้นให้แรงงานข้ามชาติเข้าระบบสาธารณสุขไทย
น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ว่า ปัญหาการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติในระบบบริการสาธารณสุขของไทย เป็นสิ่งที่เราต้องเร่งทำความเข้าใจกับสถานการณ์ รับทราบสภาพปัญหา และความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการภาครัฐ และเอกชน ในการให้บริการสุขภาพกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมข้อเสนอในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรค ทั้งในส่วนการให้บริการแก่คนไทย แรงงานข้ามชาติ และผู้ย้ายถิ่น การประชุมในครั้งนี้ น่าจะได้ข้อเสนอเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของระบบสุขภาพ และทางออกที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของแรงงานและผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติ ทั้งในสภาพปัจจุบันและอนาคตด้วย
คาดทั้ง ‘ลาว-พม่า-กัมพูชา’ มีมากถึง 4 ล้านคน
ทั้งนี้ตัวเลขจากการสำมะโนประชากรและการเคหะในปี 2553 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย ประมาณ 2.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่า กัมพูชา และลาว แต่ตัวเลขจากนักวิจัยด้านประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่า แรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย น่าจะมีอยู่ในประเทศไทยถึงกว่า 4 ล้านคน การคงอยู่ในสังคมไทยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ ทำให้เกิดความต้องการบริการสุขภาพตามมาด้วย ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงว่า จำเป็นหรือไม่ที่รัฐไทยต้องจัดบริการสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ เพราะสถานพยาบาลหลายแห่ง ต้องประสบกับภาวะวิกฤติทางการเงิน เมื่อต้องจัดบริการให้กับแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบสุขภาพของไทย
ชี้วางแผนระบบสาธารณสุขต้องคิดถึงต่างด้าวด้วย
น.พ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายสุขภาพ ไม่ให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่ต้องการบริการสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ทำให้ภาระในการดูแลสุขภาพของประชาชนกลุ่มนี้ ต้องตกอยู่กับสถานพยาบาล และได้เสนอทางออก เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของไทยในยุคที่ประเทศต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติว่า
“กระทรวงสาธารณสุขต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ การวางนโยบาย การวางแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และการผลิตบุคลากรต้องคำนวณ โดยเอาตัวเลขของแรงงานต่างชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการรับบริการสุขภาพด้วย”
น.พ.ภูษิตกล่าวว่า นโยบายด้านสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการวางแผนการผลิตบุคลากร การจัดสรรงบประมาณ และการกระจายสถานพยาบาล ล้วนคำนวณจากฐานของประชาชนไทยเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการในระบบสุขภาพของประเทศไทยจริง ๆ
“เราต้องยอมรับความจริงว่านโยบายสุขภาพของเราไม่ใช่เพื่อคน 65 ล้านคนเท่านั้น แต่ต้องเพื่อ 65 ล้าน บวก 5 หรือ บวก 7 ล้านคน ในอนาคต ซึ่งคือต้องคำนึงถึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย การวางแผนการผลิตบุคลากรต้องคำถึงตัวเลขตรงนี้ด้วย” น.พ.ภูษิตกล่าว
ต่างด้าวที่เข้ามาถูกต้อง มีสิทธิซื้อประกันสุขภาพ
แม้กระทรวงสาธารณสุขจะจัดสวัสดิการดูแลสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติ ในรูปของกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ ปี 2543 โดยแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ในราคาปีละ 1,900 บาท เพื่อรับสิทธิในการเข้ารับบริการตรวจ และรักษาสุขภาพ แต่พบว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับแรงงานข้ามชาติทั้งหมด ที่มีในประเทศไทย เข้าเป็นสมาชิกของกองทุนนี้ โดยในปี 2555 นี้พบว่า มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 520,000 คนเท่านั้น ที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุน
“ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ให้สิทธิเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายเท่านั้น ที่สามารถมีสิทธิในการประกันสุขภาพ ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่ง เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทั้งที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า การพยายามนำเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพให้ได้ โดยแยกเป็นคนละเรื่องกับปัญหาสัญชาติ” น.พ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยจาก IHPP ผู้ศึกษาเรื่องการให้บริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ กล่าว
หลายฝ่ายเห็นแย้ง-เพิ่มรายได้ให้ไทย แต่ไม่ได้สมทบระบบสุขภาพ
น.พ.ระพีพงศ์อ้างถึงการศึกษาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ในปี 2550 ว่า แรงงานต่างด้าวส่งผลเพิ่มรายได้ของประเทศประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท โดยส่งผลต่อมูลค่าในภาคอุตสาหกรรม ประมาณร้อยละ 7-10 และในภาคเกษตรกรรม ประมาณร้อยละ 4-5 การเข้ารับบริการด้านสุขภาพที่มากขึ้น ของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มคนไร้สิทธิและสถานะทางสัญชาติ ในโรงพยาบาลของรัฐ จนเกิดเป็นภาระทางการเงินของโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันว่า ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับระบบสุขภาพไทย เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีส่วนในการจ่ายภาษีหรือร่วมจ่ายเงินสมทบเข้าระบบสุขภาพ
“ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้สร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย และทุกคนก็มีส่วนในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกสินค้า และบริการที่พวกเขาซื้ออยู่แล้ว” น.พ.ระพีพงศ์กล่าว
แนะรัฐเพิ่มรายได้-บุคคลากรให้ร.พ.ที่รักษาต่างด้าว
นางณหทัย จุลกะรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวถึงการแบกรับภาระการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพ ของแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้ จึงก่อให้เกิดปัญหากับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล
“เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ต้องเร่งรัดให้มีการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพให้ได้มากที่สุด ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่รับผิดชอบแรงงานต่างด้าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่ระดับประเทศ และระดับจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขต้องวางนโยบายที่ชัดเจน และจัดหางบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ ควรมีทีมสุขภาพของประเทศต้นทาง ร่วมงานด้วยหรือเป็นที่ปรึกษา รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มาตรการภาษีกับผู้ประกอบการที่ดี นอกจากนี้ต้องอนุญาตให้โรงพยาบาลสามารถจัดจ้างบุคลากรด้านสุขภาพจากประเทศต้นทาง เช่น ล่าม แพทย์ พยาบาลด้วย” นางณหทัยกล่าว
ร.พ.อุ้มผางโอด แบกหนี้ปีละ 28 ล้าน-หวั่นโรคระบาดเพิ่ม
ด้านน.พ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ขณะนี้ ร.พ.อุ้มผางดูแลประชากรกว่า 84,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ไร้หลักประกันมากถึง 62 เปอร์เซนต์ คือ ชาวเขาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ผู้อพยพในศูนย์พักพิง ประชาชนจากประเทศพม่า และประชาชนในหมู่บ้านชายขอบ ส่วนประชาชนที่มีหลักประกันมีเพียง 38 เปอร์เซนต์ เท่านั้น ซึ่งแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ ที่จะให้บริการ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังคงประสบภาวะขาดทุนประมาณปีละ 27-28 ล้านบาททุกปีอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สถานการณ์ปัญหาการดูแลสุขภาพของคนต่างด้าวจะเพิ่มมากขึ้น เพราะ. ศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 ศูนย์ของจ.ตากจะถูกยุบ ทำให้ประชากรที่เคยอาศัยในศูนย์ประมาณกว่าแสนคน ต้องเข้ามารับบริการในโรงพยาบาลอุ้มผาง และโรงพยาบาลอื่น ๆ ตามแนวชายแดน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลบริการสุขภาพระดับต้น จะถอนตัวไปทำให้โรงพยาบาล ต้องรับผู้ป่วยที่ทะลักเข้ามาอย่างแน่นอน รวมทั้งโรคระบาดจะเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น” น.พ.วรวิทย์กล่าว
ทั้งนี้น.พ.วรวิทย์ได้เสนอให้เพิ่มอัตรากำลังคน แต่ต้องสัมพันธ์กับงบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ ควรให้ความสำคัญกับการให้บริการสุขภาพระดับต้น โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะในเขตประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งควรผลักดันให้รัฐบาลในประชาคมอาเซียนทุกประเทศ สร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน และมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพร่วมกันในประชาคมสุขภาพ จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงได้
ชี้แม้จะเป็นต่างด้าวก็ควรได้สิทธิรักษาพยาบาล
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสัญชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวถึงประเด็นการหารือของคณะอนุกรรมการสนับสนุนในการประชุมมติสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 63 ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมให้กับระบบสุขภาพของไทย ในสถานการณ์ที่มีแรงงานข้ามชาติ เพิ่มขึ้นในระบบอย่างต่อเนื่อง ว่า โดยหลักการแล้วการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบบสาธารณสุขไทยมีระบบที่ดีอยู่แล้ว ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องจ่ายเงินสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้เลย ซึ่งมีเฉพาะกับคนไทยเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว หรือเกิดในประเทศไทยแต่ตกหล่นไม่ได้สัญชาติ จะไม่มีสิทธิใช้ระบบหลักประกันสุขภาพได้
ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 ระบุว่า ผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ จะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งรายชื่อในทะเบียนบ้านยังมีกรณีที่แบ่งออกมาเป็น ทร.14 คือผู้มีสิทธิอาศัยถาวร เช่น คนจีนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว แต่ไม่ได้สัญชาติไทย และ ทร.13 ผู้มีสิทธิอาศัยชั่วคราว ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ไม่มีสัญชาติไทย จะไม่ได้สิทธิในการรักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งยังมีคนจำนวนมากในประเทศไทย ที่ควรจะได้สิทธิในการรักษาพยาบาล แต่ไม่ได้ เพราะไม่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เช่น ชาวเขาที่ไม่มีสัญชาติไทย เข้าระบบไม่ได้ ที่ยังมีเมีย ลูกอีก
นอกจากนี้ยังมีแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมซึ่งมีทั้งที่ค่าจ่ายประกันสังคมเอง และเข้าระบบบริษัทนายจ้างจ่ายด้วย ซึ่งตามกฎหมายใน 3 เดือนแรก ประกันสังคมจะไม่รับผิดชอบ หากต้องเข้ารับการรักษา ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขเสนอว่า ให้ซื้อประกันเพิ่มในช่วง 3 เดือนแรกเอง ซึ่งนายจ้างคงไม่จ่ายเงินเพิ่ม ส่วนของแรงงานคงไม่มีเงินที่จะซื้อเพิ่มเองด้วย รวมไปถึงการซื้อระบบประกันสุขภาพเองจากโรงพยาบาล ที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ราคาการขายระบบประกันสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาลจะต่างกัน เช่น บางโรงพยาบาลขาย 1,000 บาท ในขณะที่อีกโรงพยาบาลขาย 1,300 บาท
หวั่นไม่รับประกันต่างด้าว อาจนำโรคใหม่เข้ามาในไทย
ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสัญชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เสนอว่า รัฐบาลควรจะปรับให้ระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ส่วนให้ชัดเจน และประชาชนทุกคนต้องได้สิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นพื้นฐาน ส่วนใครจะจ่ายเงินเพิ่มในระบบประกันสังคม หรือจะใช้สิทธิในส่วนของราชการ รวมถึงจะเลือกซื้อหลักประกันสุขภาพ สามารถที่จะเลือกใช้ได้
ส่วนแรงงานข้ามชาตินั้น กระทรวงสาธารณสุขควรจะวางกรอบในเรื่องหลักประกันสุขภาพ ให้กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ โดยสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลในจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เพราะในด้านมนุษยธรรมแล้วโรงพยาบาล ไม่สามารถปฏิเสธที่จะรักษาคนไข้ได้ ดังนั้นโรงพยาบาลเหล่านี้จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และยังมีปัญหาที่สำคัญคือ แรงงานข้ามชาติที่เพิ่งเดินทางมาประเทศไทย อาจจะนำโรคใหม่ ๆ เข้ามา และถ้าไม่มีการดูแลเรื่องสุขภาพ โรคต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นเชื้อที่แพร่อยู่ในประเทศไทย จะเป็นปัญหาในระยะยาวด้วย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงควรจะวางนโยบายและแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยนำตัวเลขของแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องรับบริการสุขภาพด้วย
“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสุขภาพ ไม่ให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ทำให้ภาระในการดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้ ตกอยู่กับสถานพยาบาล ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขต้องวางนโยบายและแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยคำนวณตัวเลขของแรงงานข้ามชาติเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องรับบริการด้านสาธารณสุข” นายสุรพงษ์กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ