เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 เม.ย. เว็บไซต์ www.thaigov.go.th รายงานภารกิจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า เวลา 9.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะ ออกเดินทางจากเรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ ไปยังโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “พัฒนาการความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือยุทธศาสตร์ไทย-จีน” โดยมีผู้บริหารระดับสูงต้อนรับ
จากนั้นลงนามในสมุดเยี่ยม ก่อนการกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “พัฒนาการความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือยุทธศาสตร์ไทย – จีน” มีเนื้อหาสรุปว่า ปัจจุบันจีนเติบโตในทุกมิติ และมีเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลกในไม่นานนี้ ซึ่งการเติบโตของจีน ก็เป็นสิ่งท้าทายว่าการเติบใหญ่เป็นไปอย่างสันติไม่ได้เป็นภัยต่อประเทศอื่น ซึ่งประเทศไทยเข้าใจในเรื่องนี้ และพร้อมให้ความร่วมมือในการส่งเสริมบทบาทของจีนในภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียน+ 1 อาเซียน + 3 การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก (APEC)
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า จีนได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวไทย ในการฟื้นฟูประเทศจากมหาอุทกภัยเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และไทยได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาประเทศ โดยได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท
สิ่งที่ประสงค์จะเห็นในอนาคตอันใกล้คือ การมีเครือข่ายมิตรของไทย หรือ Friends of Thailand ซึ่งหวังว่า จะเห็นหลายท่านที่อยู่ในที่นี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูง และเป็นมิตรของไทยในอนาคตต่อไป ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน ในขณะที่จีน เป็นประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่ และมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน ดังนั้นไทยและจีนควรใช้กรอบ ความร่วมมืออาเซียนในการจัดการกับความท้าทายร่วมกันของภูมิภาค ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการผลิตและการลงทุนร่วมกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า ในโอกาสที่มาเยือนโรงเรียนพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันนี้ ขอชื่นชมในความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางและแนวนโยบายแก่รัฐบาลจีนในการบริหารและพัฒนาประเทศ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้จีนเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวไกล มีการพัฒนาประเทศและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สร้างประโยชน์สุขให้กับชาวจีน และส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแสดงความหวังว่า จะร่วมมือกันในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีนในยุคใหม่ที่เราจะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านเพื่อประเทศชาติและประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจน เพื่อเสถียรภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและประชาคมโลกโดยรวมสืบไป
ต่อมาเวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม China World Summit Wing กรุงปักกิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พบและหารือข้อราชการกับ นายหวัง ฉีซาน รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนการสัมมนาระหว่างอาหารกลางวัน Business Luncheon โดยมีการหารือ สรุปดังนี้ รัฐบาลจีนยินดีส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นในทุกสาขา ส่วนรัฐบาลไทยก็มีความยินดีต้อนรับนักลงทุนจีน และพร้อมจะดูแลและอำนวยความสะดวกในทุกด้าน เพื่อให้การค้าและการลงทุนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมาย คือให้มูลค่าการค้าบรรลุ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในปี 2016 นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการสัมมนากับภาคเอกชนจีน เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ โรงแรม China World Summit Wing กรุงปักกิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์พบหารือกับประธานกรรมการบริหารของบริษัทชั้นนำของจีนเป็นรายบุคคล เพื่อให้ความมั่นใจและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย ดังนี้ การจัดกิจกรรมสัมมนา และการประชุมธุรกิจ ไทย-จีน ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 18 เม.ย.2555 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน นับว่าประสบความสำเร็จด้วยดี มีผู้ประกอบการไทย และจีน ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 800 คน โดยหน่วยงานภาครัฐของไทย ได้ร่วมให้ข้อมูลที่น่าสนใจแก่ผู้ประกอบการจีน เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษ ถึง นโยบายของรัฐ ในการให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและจีนที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ในโอกาสนี้ รัฐบาลชี้แจงถึงการให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศของไทย โดย รัฐบาลเน้นย้ำถึงนโยบายการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบด้วยงบประมาณสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันเขตเศรษฐกิจสำคัญของไทย นอกจากนี้ ได้ยืนยันความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้มาลงทุน ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้อธิบายถึงแนวทางการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ
ทั้งนี้ การพบปะหารือ กับภาคเอกชนรายใหญ่ของจีน ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้ผลสรุปดังนี้
1.กลุ่มบริษัทที่แสดงความสนใจและพร้อมที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เช่น บริษัท Advance Technology and Materials (กิจการผลิตเครื่องจักร) บริษัท Great Wall Motor (กิจการผลิตรถยนต์) บริษัท Shanghai Automotive Industry Corporation (กิจการผลิตรถยนต์) และบริษัท Greenland Holding Group (ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) ได้ยืนยันถึงความเชื่อมั่นประเทศไทย และพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆ โดยคาดว่ามูลค่าการลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท
2.กลุ่มบริษัทที่มีความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการลงทุนของไทย และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคตอันใกล้ เช่น บริษัท Scope Scientific Development (กิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า) บริษัท China Railway Group และบริษัท China Tree Gorges (เป็นรัฐวิสาหกิจด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน) บริษัท Poly Group (เป็นรัฐวิสาหกิจด้านการผลิตพลังงานทดแทน) รวมถึงบริษัท China Investment Corporation และ EXIM Bank China ที่พร้อมเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินให้กับโครงการที่จะไปลงทุนในประเทศไทย
3.กลุ่มบริษัทท่องเที่ยว 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท China International Travel Service, บริษัท China CYTS Outbound Travel Services บริษัท Beijing Ctrip International Travel Service บริษัท Beijing Jiedajiaqi (เจียต้าเจียชี่) International Travel Service และบริษัท China of Beijing China Travel Service South Asian View ได้หารือความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และแนวทางการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้เกิดความสะดวก เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ด้านการเจรจาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของ 2 ประเทศ พบว่าประสบความสำเร็จด้วยดี เช่นเดียวกัน โดย มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทย กับผู้ประกอบการจีน เพื่อร่วมลงทุน และความร่วมมือในด้านต่างๆ ร่วมกันอีก 8 ฉบับ เช่น บริษัทสามมิตรกรีนพาวเวอร์ จำกัด กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี กลุ่มมิตรผล และทีซีไอ ทีวี ภายใต้การสนับสนุนของ สมาคมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศของจีน และสมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจ ไทย จีน ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกันจากการเซ็น MOU ครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 67,000 ล้านบาท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ