แรงงานโอดค่าแรง300ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น เซ็งคนใหม่ได้เงินเท่าคนอายุงานนับสิบปี จวกรัฐเอาใจภาคอุตฯเมินลูกจ้างธุรกิจอื่น

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 18 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2768 ครั้ง

มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดเสวนาเรื่อง “นโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรม : แนวคิดและประสบการณ์ของยุโรปและไทย” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างนักวิชาการจากประเทศเยอรมันกับนักวิชาการไทย และตัวแทนแรงงานกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทย โดย Mr. Marc Saxer ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในประเทศไทยมีการปรับขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจการลงทุนของนายจ้างบางส่วน และภายในอีก 2 ปี ที่จะมีการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนที่รวมกันกว่า 10 ประเทศ การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานของประเทศไทย อาจทำให้การแข่งขันแรงงานราคาถูกและสินค้าที่ผลิตสูงขึ้น และแรงงานไทยควรมีต่อสู้ด้านประสิทธิภาพสินค้า เช่น กรณีประเทศไต้หวันหันไปใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาและแข่งขัน ฉะนั้นประเทศไทยต้องมีการเตรียมตัวในการที่จะแข่งขันด้านผลิตภาพแรงงานเป็นสิ่งสำคัญด้วย

 

ยุโรปมีค่าจ้างหลายระดับขึ้นอยู่กับรูปแบบการต่อรอง-อาชีพ

 

 

Dr. Thorsten Shulten นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และสังคม ประเทศเยอรมัน กล่าวว่า ในประเทศแถบยุโรปการกำหนดค่าจ้าง มีทั้งที่กำหนดโดยกฎหมาย การทำข้อตกลงร่วมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และการกำหนดค่าจ้างตามรูปแบบไตรภาคี คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ กล่าวคือมีค่าจ้างขั้นต่ำระดับชาติอัตราเดียว ในฐานะที่เป็นค่าจ้างพื้นฐานระดับสากล แต่อัตราค่าจ้างของแต่ละประเทศจะมีการกำหนดที่แตกต่างกันตามอุตสาหกรรม และอาชีพ และมีกำหนดค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง การเจรจาต่อรองร่วมของนั้นมีทั้ง ระดับชาติ ระดับอุตสาหกรรม และสถานประกอบการ

ส่วนระบบการเจรจาต่อรองร่วมมีความเข้มแข็ง อยู่ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมาก สหภาพแรงงานมีการดูแลและเจรจาต่อรองร่วมเรื่องค่าจ้างในระดับชาติ และสามารถดูแลคนทุกกลุ่ม ที่มีการเจรจาต่อรองกันมากในระดับอุตสาหกรรมด้วย การที่สหภาพแรงงานจะมีพลัง มีการรวมตัวสามารถต่อรองกันกับนายจ้าง เพื่อสร้างฐานค่าจ้างนั้น ต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ระบบการเจรจาต่อรองคืออำนาจของสหภาพแรงงาน หากเจรจาต่อรองได้น้อยลง ก็เพราะสหภาพแรงงานมีสมาชิกน้อยลง มีการจ้างงานคนใหม่ๆเข้ามา หากอัตราการว่างงานสูง ทำให้โครงสร้างของสมาชิกมีการเปลี่ยนแปลงไป แรงงานในระบบอุตสาหกรรมกลายเป็นแรงงานนอกระบบ มีการจ้างงานนอกระบบมากขึ้น

 

สำหรับค่าจ้างแรงงานใน 20 ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศพบว่ามีแนวโน้มค่าจ้างของแรงงานในโลกมีความล้าหลัง ค่าจ้างลดลง เพราะมีการจ้างงานแรงงานนอกระบบมากขึ้น การแข่งขันกันเองของแรงงาน ในการหางานทำ แรงงานมีรายได้ลดลง หากเปรียบเทียบกับรายได้สหประชาชาติ และรายได้ต่างกันก็ส่งผลถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมของแรงงาน มีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานยากจนมีเพิ่มมากขึ้น และแรงงานที่มีค่าจ้างสูงก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

เยอรมันกดค่าจ้างหวังปรับตลาดในประเทศให้โต

 

ด้าน Dr.Reinhard Bispinck นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และสังคม ประเทศเยอรมัน ระบุว่า การกระจายรายได้ที่ไม่ดี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้อำนาจการซื้อการใช้จ่ายลดลง ดังที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจในประเทศยุโรปและประเทศไทย การที่ในประเทศเยอรมันมีการส่งเสริมค่าจ้างแรงงาน เพื่อการแข่งขันกับตลาดภายนอก ทำให้เกิดความอ่อนแอในเชิงโครงสร้างของตลาดภายใน หากเปรียบเทียบประเทศเยอรมันการส่งออกยังคงขาดดุลการค้า ต่างกับประเทศจีนและประเทศไทย ที่ยังมีกำลังการส่งออกสินค้าไปแข่งขันในตลาดภายนอกได้และไม่ขาดดุล ต่อมาประเทศเยอรมันแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมตลาดภายในให้เติบโต ด้วยการไม่เพิ่มค่าจ้างแรงงาน มีการเพิ่มค่าจ้างน้อยมาก ทำให้เกิดช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มีความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้มากขึ้น อำนาจการต่อรองขององค์กรแรงงานลดลงต่อเนื่อง และไม่มีการกำหนดค่าจ้างพื้นฐานบางภาคส่วนของเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว

นอกจากนี้นโยบายของยุโรปในช่วงภาวะวิกฤติเงินสกุลยูโร ทำให้ค่าจ้างในปัจจุบัน กลายเป็นตัวแปรกลางของการแข่งขัน และความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจในยุโรปโซนจึงมียูโรพลัส ซึ่งเกิดจากการแทรกแซงโดยตรงของบางองค์กรต่อกลไกการกำหนดค่าจ้าง ส่งผลให้มีการแช่แข็งค่าจ้าง การตัดค่าจ้างในหลายประเทศ

ในด้านกลับกันของแนวโน้มค่าจ้างที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกัน นโยบายค่าจ้างของยุโรปสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันค่าจ้าง ทำให้มีการกำหนดค่าจ้างระดับชาติ สนับสนุนการคุ้มครองแรงงานการจ้างงานระยะสั้น การสนับสนุนทางการเมืองต่อสถาบันค่าจ้าง สร้างความเข้มแข็งเชิงอำนาจ ซึ่งเชื่อว่าการมีองค์กรสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง เพื่อการกระจายรายได้ที่เท่าเทียม จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น

 

แรงงานไทยชี้ค่าแรงปรับขึ้นแต่ยังไม่ทันค่าครองชีพ

 

 

ทางด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยที่มีการปรับขึ้นนั้น เป็นการปรับใช้กับแรงงานเข้มข้น แต่กลับถูกนำมาใช้กับแรงงานทุกคน ซึ่งประเทศไทยก็มีนโยบายการส่งเสริมการใช้ค่าแรงที่ต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นประเทศที่รับจ้างการผลิต เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ ไม่ได้เน้นกำลังซื้อภายใน การเปลี่ยนแปลงการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ อาจส่งผลต่อทุนขนาดเล็กที่ไม่ได้เตรียมตัวบ้าง แต่คิดว่าการที่ประเทศไทยแช่แข็งค่าจ้างมาเป็นเวลานาน ค่าจ้างที่ปรับขึ้นจึงยังตามราคาสินค้า ค่าครองชีพยังไม่ทัน ซึ่งทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเคยมีการสำรวจกับแรงงานในเรื่องรายได้ ที่จะสามารถทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักอนุสัญญา ILO คือแรงงาน 1 คนได้รับค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงคนได้อีก 2 คน แรงงานต้องมีค่าจ้างอยู่ที่ 561 บาท และค่าจ้างที่จะเลี้ยงคน 1 คนได้ ต้องมีค่าจ้างที่ 384 บาท ซึ่งคิดว่าค่าจ้างที่ปรับขึ้น 300 บาท และจะถูกแช่แข็งไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้แม้แต่คนเดียว แรงงานยังคงต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมง การที่จะทำงานในระบบ 3 แปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง คงยังเป็นไปไม่ได้ และการที่จะให้แรงงานพัฒนาศักยภาพ เพื่อการเข้าสู่ตลาดฝีมือระดับอาเซียนคิดว่ายังเป็นเรื่องยาก

 

 

คนงานถูกละเมิดสิทธิเพราะไทยไม่ยอมรับอนุสัญญา ILO

 

 

การทำงานของรัฐบาลต่อการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานนั้นน้อยมาก การที่รัฐบาลเยอรมันมีการส่งเสริมบทบาทการรวมตัวและมีการสร้างอำนาจต่อรอง ทำให้สหภาพแรงงานในประเทศยุโรปมีความเข้มแข็ง นักลงทุนในประเทศยุโรป มีการยอมรับอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน และการส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีการรวมตัวได้ง่าย ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทย ยังไม่มีการยอมรับสิทธิในการรวมตัวของแรงงานไทย ยังมีการละเมิดสิทธิการเลิกจ้าง และรัฐยังไม่มีการส่งเสริมในการรวมตัว ทำให้อำนาจการต่อรองของแรงงานยังไม่มีพลังในการต่อรองค่าจ้างกันเองได้ทั้งในระบบอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการอย่างเป็นธรรม การที่ประเทศไทยไม่ยอมรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม ทำให้การจัดตั้งสหภาพแรงงานยังเกิดขึ้นน้อยมาก

 

รายได้ในเมืองดึงคนจากชนบท-เพิ่มเป็น 300 ไม่ลดเหลื่อมล้ำ

 

รศ.ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การที่ต้องมีการเปรียบเทียบระบบค่าจ้างขั้นต่ำในเมืองกับชนบท และสังคมประเทศไทยเทียบกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ปลายทศวรรษที่ 19 นั้น ชนบทประเทศไทยมีรายได้ที่สูงกว่าประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันเป็นสังคมที่มีรายได้สูง เพราะประชากรมีน้อย แม้ว่าผลิตภาพออกมาน้อย แต่ผลผลิตต่อหัวแพง ช่วงที่ค่าจ้างเปลี่ยนไป เพราะการที่มีการจ้างงานในเมืองมากขึ้น ค่าจ้างในเมืองสูงกว่าชนบท ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายจากชนบทเข้าสู่เมืองทำให้ค่าจ้างชนบทต่ำ สูงในการที่จะนำคนเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ภาคเกษตรถูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็นการผลิตเพื่อขายมากขึ้น แต่รายได้คนต่อหัวลดลง หากเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีตอนนี้คือประเทศไทยค่าจ้างต่ำกว่าทั้งที่เดิมเรามีค่าจ้าง และรายได้ที่สูงกว่า

รัฐบาลควรมีนโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจแบบจริงจัง การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เพียง 7 จังหวัด แต่ไม่ได้หมายความว่าต่างจังหวัดจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า และการที่เพิ่มรายได้ให้กับแรงงานเพียงส่วนหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะลดความเหลื่อมล้ำได้ เมื่อเศรษฐกิจชุมชนเกษตรกรรม ยังมีความเดือดร้อน และแรงงานชุมชนย้ายเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมเมืองที่มีค่าจ้างสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้เกื้อกูลให้ภาคเกษตรมีความเติบโตมีรายได้ที่เพียงพอได้

ส่วนเรื่องคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา เดิมมองว่ามหาวิทยาลัยมีน้อยและกระจุกตัว ต้องมีการสร้างเพิ่ม เพื่อให้คนได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น แต่การศึกษาอย่างไรจึงจะตอบสนองตลาดแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาประเทศ  รับจึงควรมีนโยบายในการพัฒนาระดับพื้นที่อย่างจริงจังมากขึ้น โครงการรับจำนำข้าว หากไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ต้องคิดว่าจะมีนโยบายอะไรที่ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเสมอภาคทางรายได้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจริงด้วย

 

 

ไทยยังเน้นค่าจ้างภาคอุตฯทั้งที่มีแรงงานหลายแบบ

 

 

ทางด้าน รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศในแถบยุโรปในเชิงประวัติศาสตร์คือ มีการต่อสู้ทางการเมืองมาก่อน ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพ เกิดความเข้มแข็ง แต่ประเทศไทยนั้นมีการต่อสู้แบบก้าวกระโดด สังคมไทยแรงงานต่อสู้กับทุนโดยตรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการต่อสู้ของยุโรปเป็นการต่อสู้จากชนชั้นกลางกับรัฐ ต้องเข้าใจว่าการต่อสู้ที่มีความแตกต่างกัน ส่วนประเทศที่มีผลิตและมีตลาดที่ยิ่งใหญ่คือประเทศจีน ที่สามารถส่งสินค้าไปตีตลาดโลกได้มากกว่าประเทศไทยและประเทศอื่นๆ

แรงงานในระบบสังคมไทย แนวโน้มการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่คือ การจ้างงานระบบอุตสาหกรรม แต่กำลังแรงงานคนส่วนใหญ่ ยังไม่ได้เข้าสู่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ยังมีการจ้างหลายรูปแบบ ทั้งรับเหมาช่วง แรงงานนอกระบบ แรงงานเหมาค่าแรง แรงงานในภาคเกษตร เกษตรพันธสัญญา ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน จะเรียกร้องในกรอบแนวคิดของการเจรจาต่อรอง

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำภายใต้กฎหมาย แต่ไม่ได้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งนโยบายปัจจุบันเป็นเพียงนโยบายประชานิยมที่ให้เพียงบางจุด แต่ยังไม่ถึงกับว่าจะสร้างให้เกิดความครอบคลุมทั้งครอบครัว เช่นการใช้หลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค รัฐควรทำให้เกิดสวัสดิการที่ทุกคนได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน หมายความว่า บริการที่ดีเท่ากัน แต่ด้วยเหตุใดรัฐจึงไม่มองไปให้ถึงนโยบายรัฐ ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดรัฐสวัสดิการเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านสวัสดิการอย่างแท้จริง

 

ปรับค่าแรงก้าวกระโดดทำให้แรงงานหลุดจากระบบมากขึ้น

 

ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แสดงความเห็นว่า การที่ค่าจ้างแรงงานไทยถูกแช่แข็งไม่ถูกปรับขึ้นมานาน เมื่อมีการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด อาจส่งผลกระทบที่ทำให้แรงงานที่อาจต้องหลุดออกไปจากระบบ กลายเป็นแรงงานนอกระบบจำนวนมากขึ้น ผลของการปรับขึ้นค่าจ้าง อาจสร้างความเหลื่อมล้ำทางค่าจ้างแรงงานมากขึ้น อาจส่งผลต่อภาพรวมการจ้างงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิต จากแรงงานที่เป็นทางการคือแรงงานในระบบ สู่แรงงานที่ไม่เป็นทางการ คือแรงงานนอกระบบ

ภาพรวมตลาดแรงงาน มีกลุ่มแรงงานนอกระบบ ในส่วนของกลุ่มแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้าน แนวโน้มแรงงานกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของการจ้างงาน คือ แรงงานที่อยู่ในภาคผลิตที่ไม่เป็นทางการ กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.ทำงานในกิจการเอกชนขนาดไม่ถึง 10 คน

2.ทำงานในกิจการเอกชนขนาดตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

3.ทำงานภาครัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ

อาจตั้งสมมุติฐานได้ว่า กิจการเอกชนขนาดไม่ถึง 10 คน ส่วนมากจะอยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ เพื่อหาหลักฐานในการสนับสนุนสมมุติฐานดังกล่าว ได้ประมาณการแจกแจงของการเข้าสู่ระบบการจ้าง และการออกจากระบบการจ้างงาน ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำในระดับจังหวัดพบว่า แรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ มีสัดส่วนลดลงในปี 2553

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้แรงงานได้มาก ผลกระทบต่อกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างในระดับสูงขึ้นไปจะมีลดหลั่นลงไป การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการจ้างงาน โดยรวมสำหรับแรงงานทักษะต่ำ เมื่อพิจารณาการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคผลิต พบว่า สัดส่วนการจ้างงานในภารกิจเอกชนที่มีคนงาน 10-99 คน ซึ่งเป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม ลดลงอย่างมาก และมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่แรงงานจะหลุดออกไปอยู่นอกภาคการผลิตที่เป็นทางการ แรงงานนอกระบบ ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ภาคเกษตรกรซึ่งไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการจ้างงานได้ มองว่าเป็นการว่างงานแฝง

กลุ่มแรงงานที่เป็นกลุ่มเคลื่อนย้ายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานวัยหนุ่มสาว กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในการปรับตัวขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคือ กลุ่มของธุรกิจขนาดเล็ก SME และกิจการขนาดใหญ่ ที่อาจมีการปรับส่วนต่างค่าจ้างที่ขึ้นต่างกัน เกิดการย้ายแรงงานระหว่างภาคผลิต การกระจ่ายค่าจ้างของแต่ละจังหวัดก็เป็นตัวแปรสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน ฉะนั้นนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ช่วยให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ เมื่อฐานการจ้างงานยังไม่ได้กระจายอย่างเท่าเทียมกัน

 

ค่าจ้าง 300 บาทส่งผลต่อการปรับโครงสร้างค่าจ้าง

 

นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ เลขาธิการสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทำให้คนทำงาน 1 ปี กับคนอายุงาน 10 ปี ค่าจ้างไม่ต่างกัน กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้จัดสัมมนาร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร่วมกัน โดยสรุปร่วมกันว่า จะมีการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องการปรับฐานส่วนต่างค่าจ้าง ที่นอกเหนือหลังการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท เพื่อให้เกิดฐานค่าจ้างในกลุ่มกิจการยานยนต์ฐานเดียว เรียกว่าปฏิญญาบางปะกง ซึ่งสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีกว่า 50 บริษัท มีสมาชิกกว่า 30,000 คน ให้สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องตั้งแต่ปลายปี แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างยังไม่มีการปรับตามประกาศ แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ข้อตกลงของแรงงานในประเภทกิจการยานยนต์ ยังไม่สามารถปรับผลต่างกลุ่มแรก มีการปรับส่วนต่างสูงถึง 2,100-2,300 บาท กลุ่มที่สองปรับ 461-2,200 บาท และกลุ่มที่สาม 427-2,550 บาท กลุ่มที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างส่วนต่างเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ คนงานบริษัท มิตซูบิชิ คือสามารถปรับฐานส่วนต่างค่าจ้างได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนสหภาพแรงงานที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องของแต่ละสหภาพแรงงาน หรือแต่ละบริษัทยังมีวันเวลาไม่ตรงกัน การไม่กำหนดเป้าหมายร่วมกัน ขาดการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันและประเมินผลกระทบอย่างแท้จริง ปัจจุบันกลุ่มคนงานบริษัทผลิตรถยนต์ยังมีการปรับขึ้นค่าจ้างด้วยการเอาค่าจ้างคูณ 26 วัน ไม่ได้เอาค่าจ้างคูณ 30 วัน ทำให้คนงานยังไม่ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท หรือเดือนละ 9,000 บาท และยังมีการนำค่าครองชีพมาบวกรวม ทำให้ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างตามที่รัฐบาลประกาศไว้

 

 

คนงานใหม่ได้ค่าจ้างเกือบเท่าคนที่ทำมาเป็นสิบปี

 

 

นายพรนาราย ทุยยะค่าย เลขาธิการสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรมีสหภาพแรงงานที่เป็นสมาชิก 18 องค์กร จากการสอบถามสมาชิกพบว่า แต่ละบริษัทมีการจัดทำหลักสูตรการปรับขึ้นส่วนต่างค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท 7 จังหวัด และเกือบ 40 เปอร์เซนต์ อีก 70 จังหวัด เช่นการปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นตามอายุงาน ซึ่งมีบางพื้นที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างน้อย ทำให้คนที่เข้ามาทำงานใหม่ได้รับค่าจ้างเกือบเท่ากับคนงานที่ทำงานมานานนับสิบปี ซึ่งเป็นปัญหามาก ทำให้คนที่ทำงานมานานหมดกำลังใจ ที่จะทำงานตามฝีมือ เนื่องจากทำมานานย่อมมีฝีมือมากกว่า

และในส่วนของสหภาพแรงงานบางแห่ง มีการทำข้อตกลงเรื่องกรณีปรับขึ้นค่าจ้างส่วนต่าง ที่พ่วงติดกับการปรับขึ้นค่าจ้างของรัฐ เช่น หากรัฐมีการประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง นายจ้างจะต้องปรับขึ้นค่าจ้างส่วนต่างร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มเกิดปัญหาว่า เมื่อมีการปรับบางพื้นที่ 40 % บางพื้นที่ปรับ 300 บาท นายจ้างต้องปรับค่าจ้างขึ้นอีกเท่าตัว ทำให้เกิดปัญหาของยื่นข้อเรียกร้องในการลดสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าในปี 2556 อาจเกิดการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อลดสวัสดิการหรือการเลิกจ้าง เพื่อเลิกสวัสดิการเก่า พร้อมล้มสหภาพแรงงานซึ่งตอนนี้ก็มีเกิดขึ้นบ้างแล้วในบางพื้นที่ ส่วนที่มีการปรับขึ้นแบบขั้นบันไดตามอายุงานมี 11 แห่ง ที่ไม่มีข้อตกลงการปรับขึ้นค่าจ้างส่วนต่างก็มี ขณะนี้มีบริษัทที่ปรับขึ้นค่าจ้างส่วนต่างให้ลูกจ้างสูงสุดถึง 1,000 บาท

โรงแรมขนาดเล็กภูเก็ตยังเอาเปรียบพนักงาน

 

นายวิจิตร ดาสันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้มีสหภาพแรงงาน 20 แห่ง บนเกาะภูเก็ต แต่มีการทำกิจกรรมร่วมกัน 17 แห่ง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโรงแรมขนาดใหญ่ยังไม่มีปัญหา เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง การปรับเพิ่มส่วนต่าง การจัดสรรค่าเซอร์วิชชาร์ท ที่มีปัญหาคือโรงแรมที่มีการปรับเอาค่าเซอร์วิชชาร์ทมารวมเป็นค่าจ้าง ซึ่งเป็นค่าเซอร์วิชชาร์ทที่ไม่ประจำ และมีปัญหาของกิจการนวดสปาที่จ่ายค่าจ้างเป็นระบบเปอร์เซ็นต์แบ่งกัน ระหว่างเจ้าของร้านกับลูกจ้าง ซึ่งตรงนี้มีปัญหาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างอย่างไร

กรณีเซอร์วิชชาร์ตของโรงแรมขนาดใหญ่ มีการนำมาแสดงให้ลูกจ้างดู เพื่อแบ่งให้กับแรงงานทุกคน แต่โรงแรมขนาดเล็กจะไม่มีการแสดงรายได้ให้กับลูกจ้างดู การตัดสินใจการแบ่งปันนายจ้างจะเป็นคนจัดการให้ และเดิมค่าเซอร์วิชชาร์ตไม่เป็นรายได้ประจำ แต่วันนี้โรงแรมขนาดเล็กมีการนำเซอร์วิชชาร์ตมารวมให้ครบ โดยจ่ายเป็นรายเดือน นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อกิจการโรงแรมและประกาศปิด โดยอ้างว่าจะปรับปรุง และให้พนักงานที่ทำงานมานานออกไป แล้วจ้างพนักงานใหม่ เพื่อต้องการลดค่าแรง และไม่ต้องการให้มีสหภาพแรงงาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: