ลุ่มน้ำโขงถกแก้ปัญหา-พัฒนาบทบาทสตรี ทั้งเรื่อง'การศึกษา-สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม' หนุนผู้หญิงเข้าวงการเมือง-เป็นนักบริหาร

 

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3025 ครั้ง

 

 “การประชุมนานาชาติประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ว่าด้วยเรื่องนโยบายต่อสตรี” จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีผู้นำสตรีจากประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม เข้าร่วม นับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึงนโยบายสตรี ในประเด็นหลักใหญ่คือ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และการเมือง จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12-13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

 

สหรัฐฯเตรียมชูผู้หญิงเข้าสู่การพัฒนาทุกประเทศ

 

 

ดร.อิง คันธา พาวี  รัฐมนตรีกระทรวงการสตรี ประเทศกัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดงานประชุม กล่าวในพิธีเปิดว่า การดำเนินนโยบายสาธารณะทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรากฎหมาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมใดๆ ต่างมีผลกระทบต่อผู้หญิงแทบทั้งสิ้น  ผู้หญิงและเด็กหญิงจำนวนมากกว่าครึ่งของประชากรในทุก ๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรคิดว่าผู้หญิงคือ ชนกลุ่มน้อย หากแต่คือผู้กระทำการหลัก ทั้งในด้านที่เป็นผู้ให้หรือผู้มีคุณูปการ และผู้ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของประเทศด้วย

 

การประชุมนานาชาติในครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์ต่อสตรีในด้านการเสริมสร้างพลังอำนาจ การมีส่วนร่วมทางการเมือง การต่อสู้กับความรุนแรงต่อผู้หญิงอันเนื่องมาจากเพศสภาพและบทบาทหญิงชาย การเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องในภาคเอกชน ในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านสุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องอื่นๆ ที่มีอีกมากมายในภูมิภาคนี้

 

เมลาเน เวอร์เวียร์   เอกอัครราชทูตใหญ่ ด้านสตรีระดับสากลคนแรก ของสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งนี้เป็นคนแรกในสมัยรัฐบาลนายบารัค โอบามา เมื่อปี 2009 กล่าวว่า  ตนจะทำงานประสานงานกับรัฐบาล เครือข่ายภาคประชาชน และภาคธุรกิจเอกชนประเทศต่าง ๆ เพื่อผลักดันประเด็นของผู้หญิงให้เป็นประเด็นสำคัญ และเป็นประเด็นในกระแสหลักของการพัฒนาประเทศและสังคมของทุก ๆ ประเทศในโลก และรูปธรรมของการจัดการประชุมนานาชาติ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง นับเป็นการประชุมนานาชาติครั้งแรก ที่รวม 3  ภาคส่วนนี้เข้าด้วยกัน อย่างเสมอภาคและทั่วถึง โดยไม่มีใครเหนือกว่าใคร หรือตกหล่นออกจากขบวนการรณรงค์ เพื่อนำพามนุษยชาติบนโลกใบนี้ ก้าวไปสู่สังคมแห่งความเสมอภาคถ้วนหน้า ไม่ว่าชายหรือหญิงหรือหลากหลายทางเพศ

 

 

 

กัมพูชาเผยตัวเลขผู้หญิงยากจนในประเทศลดลง

 

 

ขณะที่ นายเมน สัม อัน  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสมัชชาแห่งชาติ วุฒิสภาสัมพันธ์และการตรวจสอบแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวสนับสนุนการเสริมสร้างพลังอำนาจของสตรี การคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน นโยบายต่อสตรีของประเทศกัมพูชาที่เน้นในเรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ซึ่งรัฐบาลกัมพูชากำหนดเป็นแนวนโยบายที่เด่นชัด ในด้านของการเพิ่มการจ้างงาน ความเสมอภาค และผลิตภาพของประเทศกัมพูชา และยังได้กล่าวถึงการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้หญิงจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์และการค้าประเวณีซึ่งเป็นกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง

 

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้แสดงตัวเลขกลุ่มประชากรหญิงที่ยากจนของกัมพูชาในชนบทที่ลดลงจาก 47 % ในปี 1994 หรือ พ.ศ.2547  มาอยู่ที่ 25 % ในปัจจุบัน นอกจากนั้นในสมัชชาแห่งชาติและวุฒิสภาในปัจจุบันมีผู้หญิงถึง 3 คน และมี ส.ส. หญิง 27 คนใน 123 คน คิดเป็น 22 % ส่วนในฝ่ายบริหาร มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับสูงถึง 15 % และระดับกลางถึง 20 %

 

 

แนะผู้หญิงต้องเข้าสู่เวทีการเมือง

 

 

การเสริมสร้างภาวะผู้นำและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง หนึ่งในหัวข้อประเด็นการเสวนาในที่ประชุม  โดยพูดคุยใน 3 เรื่องสำคัญคือ 1.การมีส่วนร่วมทางการเมือง ในฐานะพลเมืองของผู้หญิงในท้องถิ่น 2.ผู้หญิงในฐานะผู้กำหนดนโยบาย และผู้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ และ 3.ผู้หญิง สันติภาพ และ ความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ มีวิทยากรรับเชิญจาก 3 ประเทศ ประกอบด้วย สุวรรณเฟือง บัวภานุวงศ์ ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา สมัชชาประชาชนแห่งชาติ จากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขิม จำเรือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และ ประธานสหพันธ์กิจการสตรี จากประเทศพม่า ดร. เธต เธต ซิน และ คาร์ลา คอบเพล ผู้ประสานงานอาวุโสด้านความเสมอภาคทางเพศ และการเสริมสร้างพลังอำนาจสตรีจาก USAID

 

ทั้งนี้การนำเสนอของวิทยากรบนเวที เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ การให้ความเห็นและข้อมูลจากระดับประเทศว่า สถานการณ์และสถานภาพ ที่มีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง และการแสดงบทบาทผู้นำทางการเมืองของผู้หญิง ในประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร และรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมอย่างไร

 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศไทยไม่ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรนำเสนอในประเด็นดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเพิ่งมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และน่าจะเป็นประเทศเดียวใน 5 ประเทศ ที่มีผู้นำสูงสุดเป็นผู้หญิง

 

 

‘รวันดา’มีส.ส.หญิงเกินครึ่งสภาฯลด-ขจัดรุนแรงในประเทศ

 

 

นอกจากนี้ วิทยากรจากทั้ง 3 ประเทศ ได้เน้นที่การส่งเสริมให้ผู้หญิง เข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ  เช่น ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งระดับสูงในคณะรัฐบาล รวมทั้งในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งวัดกันที่จำนวนหรือเปอร์เซ็นต์ ตามสัดส่วนเมื่อเทียบกับผู้ชาย ซึ่งวิทยากรมิได้นำเสนอมากนักในประเด็นความก้าวหน้า ในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ทำให้เกิดการขจัดการเลือกปฏิบัติ และการสร้างข้อจำกัดหรือกรอบในการแสดงบทบาทสำคัญ ๆ ในกระบวนการพัฒนาทางการเมืองและสังคม

 

ทางด้าน คาร์ลา คอบเพล  วิทยากรจาก USAID ได้ยกตัวอย่างว่า การที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ของประเทศรวันดา โดยมีผู้หญิงในสภาผู้แทนราษฎร จำนวนเกินกว่า 50 % และผู้หญิงเหล่านั้นมีบทบาททางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ ในการร่วมความปรองดองแห่งชาติ และทำให้ประเทศรวันดา มีการลดและขจัดความรุนแรงทางการเมืองของประเทศลง

 

ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล  ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ในฐานะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทย เสนอความเห็นว่า การส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองและแสดงบทบาทของภาวะผู้นำทางการเมือง ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงการเมืองแบบทางการ คือ สภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล และผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ

 

แต่ควรมุ่งเน้นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง เปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึง มีส่วนร่วมในทุกระดับและทุก ๆ ด้าน เพราะผู้หญิงและประเด็นผู้หญิงไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ในเฉพาะกลไกรัฐสภาหรือกลไกภาครัฐ การเป็นรัฐบาลหรือนักการเมืองเท่านั้น หากแต่ต้องคู่ขนานไปกับพลังของประชาชน และพลังทางการเมือง ตามแนวทางประชาธิปไตย ที่มีความหมายถึงการเมืองและประชาธิปไตยภาคประชาสังคม

 

 

ขบวนการค้ามนุษย์ทำให้จีดีพีของประเทศเสียหาย

 

 

จากนั้นเวทีเสวนาได้พูดคุยกันในประเด็น “การระบุปัญหาความรุนแรงอันมีพื้นฐานมาจากบทบาทหญิงชาย/เพศภาวะ”  ซึ่งพูดคุยกัน 3 ในเรื่อง  ประกอบด้วย นิติรัฐและการอบรมการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม  กฎหมายและการปกป้องการให้บริการสาธารณะ การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของบุรุษ และ เด็กชายในการสร้างการปกป้อง สิทธิสตรีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีคณะวิทยากรที่มาแสดงความเห็น จากองค์กรระหว่างประเทศระดับสากลและระดับภูมิภาค ประกอบด้วย หลุยส์ ดีบาคา เอกอัครราชทูตใหญ่ ที่กำกับดูแลการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ระดับสากลของสหรัฐอเมริกา แอน กัลลาเฮอร์ ผู้อำนวยการด้านเทคนิค ในโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชีย ชามิกา ศิริมณี  เลขาธิการ UNESCAP และ  กานดา วัชราภัย  ประธานคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทั้งโลกต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ประเด็นของการนำเสนอมาตรการระดับประเทศ กลายเป็นประเด็นท้าทาย เพราะไม่อาจจะเป็นมาตรการที่เข้มแข็งพอที่จะปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิง ให้รอดพ้นจากความรุนแรง อันเนื่องมาจากเพศสภาพและเพศภาวะได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อกล่าวถึงขบวนการค้ามนุษย์ ยังมีการอ้างถึงผลกระทบในทางเศรษฐกิจ ที่เปรียบเทียบออกมาเป็นสัดส่วนของ GDP ซึ่งผู้แทนจาก UNESCAP และ สหรัฐอเมริกา เสนอตัวเลขความเสียหายไปในทางเดียวกันว่า สัดส่วนของความสูญเสียทางเศรษฐกิจในประเทศหนึ่ง ๆ ในขบวนการค้ามนุษย์และความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ของประเทศต่าง ๆ และนำไปสู่การสูญเสียต้นทุนแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนโอกาสโดยรวมของประเทศนั้น ๆ

 

 

ยังไม่มีชาติไหนเสนอทางแก้ปัญหาความรุนแรงในผู้หญิง-เด็ก

 

 

ทังนี้ ผลเสียทางเศรษฐกิจเหล่านี้ยังไม่มีประเทศใดนำเสนอแนวทางแก้ไข หรือขจัดปัญหาที่ผู้หญิงและเด็กหญิงตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรงในครอบครัว และการค้ามนุษย์ อย่างชัดเจนเลย นอกจากนั้นเมื่อพูดถึงในด้านที่เป็นอาชญากรรมสากล หรืออาชญากรรมระหว่างประเทศยิ่งกลายเป็นเรื่องที่ขาดมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

 

เอกอัครราชทูตใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เมลาเน เวอร์เวียร์ วิเคราะห์ปัญหานี้ว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและการค้ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ การขูดรีดแรงงานและการเคลื่อนย้ายแรงงานด้วย ในขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุม นำเสนอว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิง มาจากการโครงสร้างอำนาจในสังคมด้วย และหากไม่แก้ไขโครงสร้างอำนาจทางสังคม ก็ไม่อาจจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง

 

 

 

 

เปิดแผนต้นแบบร่วม 3 ฝ่ายพัฒนาสตรี

 

 

การประชุมนโยบายสตรีในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงครั้งแรกนี้ เวทีเสวนามีการพูดถึงตัวอย่างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กลไกความร่วมมือ องค์กรผู้ให้การสนับสนุนกับองค์กรประสานงานหลัก ที่รณรงค์ในโครงการรณรงค์ เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ  และการเสริมสร้างพลังอำนาจสตรี โดยมีวิทยากรรับเชิญเสนอความเห็นในหัวข้อนี้ ประกอบด้วย มานูเอล อาร์โรโย ประธานหน่วยธุรกิจแห่งอาเซียน บริษัท โคคาโคลา จำกัด สัม คิม รองประธานฝ่ายพัฒนาตลาดอาเซียนและเอเซีย บริษัท พีแอนด์จี จำกัด และ อีริน วอช์ส หัวหน้าแผนกความร่วมมือระหว่างองค์กรประจำเอเชีย บริษัท โกลแมน แซคส์ จำกัด

 

ประเด็นสำคัญของหัวข้อนี้คือ การนำเสนอต้นแบบของความร่วมมือกันระหว่าง 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน ทำงานร่วมกันในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ  ซึ่งรูปธรรมของโคคาโคลาคือ การร่วมกับภาครัฐและองค์กรสตรี ในการทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความเสมอภาค และการส่งเสริมบทบาทสตรีในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาท ด้านการรณรงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อน ในหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา มีรูปธรรมของโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ระดับชุมชนมากมาย ซึ่งมีการนำเสนอผลสำเร็จของโครงการจากตัวชี้วัด ที่แสดงเป็นตัวเลขจำนวนโครงการ จำนวนผู้หญิงที่เข้าร่วม จำนวนอัตราการจ้างงานผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น การคำนวณผลสำเร็จเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ตัวแทนจากโคคาโคลาเน้นย้ำว่า โครงการเหล่านี้ไม่ใช่โครงการการกุศล แต่เป็นความร่วมมือทางการเสริมสร้างสังคมและเศรษฐกิจระดับชาติ จุดเด่นคือการร่วมกันของ 3 ภาคส่วน มีการทำโครงการระหว่างประเทศด้วย

 

สำหรับ โกลแมน แซคส์ ได้ทำโครงการสรรหาผู้หญิง 10,000 คนทั่วโลก เพื่อเป็นต้นแบบผู้หญิงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดี โครงการนี้ทำให้เกิดการสร้างสารคดี เพื่อนำเสนอชีวิตและงานของผู้หญิงที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกนี้อยู่ในมุมต่างๆ ของโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้กับสังคมถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง

 

 

ชี้การศึกษาสร้างพลังอำนาจให้ผู้หญิง

 

 

อย่างไรก็ตามในการประชุมมีการแบ่งกลุ่มย่อย โดยหนึ่งในประเด็นของการพูดคุย คือเรื่องการศึกษา ซึ่งคณะวิทยากร ประกอบด้วย  คาลล์ คานน์ ผู้อำนวยการโครงการห้องอ่านหนังสือ ประเทศกัมพูชา โสภาลักษณ์ สุขสวัสดิ์ Country Manager บริษัท Digital Divide Data ประเทศลาว และ ดร.นงเยาว์ นวรัตน์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

คาลล์ คานน์  ผู้อำนวยการโครงการห้องอ่านหนังสือ  ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า การอ่านหนังสือ ช่วยทำให้ผู้หญิง และเด็กหญิงมีข้อมูล เพื่อที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างพลังอำนาจได้ และจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง และนอกระบบการศึกษา จะช่วยสร้างคุณภาพประชากรด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างคุณภาพใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากการป้อนการศึกษาตามระบบ ซึ่งยังมีข้อสงสัยว่า ระบบการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียน จดจำคำสอน" มากกว่าที่จะ วิเคราะห์-วิจัย หรือ คิด

 

ด้าน โสภาลักษณ์ สุขสวัสดิ์ Country Manager บริษัท Digital Divide Data ประเทศลาว กล่าวว่า โครงการที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงและเด็กหญิง ได้เข้าสู่การฝึกฝนเรียนรู้วิทยาการเพื่อการงานและอาชีพ เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่เหมาะสมกับชีวิตและการดำรงชีวิต ซึ่งผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ ควรจะเพื่อการดำรงชีวิตมากกว่า

 

ขณะที่ดร.นงเยาว์ นวรัตน์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอแนวนโยบายของรัฐและการจัดทำหลักสูตรนโยบายด้านการศึกษา จะต้องเริ่มต้นจากการจัดทำเนื้อหาหลักสูตร และการคัดเลือกสรรหาผู้สอน ที่เป็นไปเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงจริง ๆ หากไม่มีหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสม การจัดการศึกษาก็ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างพลังอำนาจ และโอกาสต่อเด็กหญิงและผู้หญิงทั้งมวลได้

 

ทั้งนี้ที่ประชุมกลุ่มย่อย มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นด้านการศึกษา 4 หัวข้อใหญ่คือ 1.แนวนโยบายการจัดการศึกษาเพื่อผู้หญิงและเด็กหญิง 2.การปฏิรูปเนื้อหาและคุณภาพการศึกษา เพื่อผู้หญิงและเด็กหญิง   3.การสร้างผลิตภาพและประสิทธิภาพของการศึกษาเพื่อผู้หญิงและเด็กหญิง และ 4.การเข้าถึงการศึกษาของผู้หญิงและเด็กหญิง

 

 

ประกาศเจตนารมณ์ 6 ข้อเพื่อผู้หญิง-เด็กหญิง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการประชุม ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ในด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ความหลากหลายทางเพศ และการเสริมสร้างพลังอำนาจสตรี ดังนี้ 1.ตระหนักในความสำคัญของความก้าวหน้า ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในความเสมอภาคระหว่างเพศ และสถานของผู้หญิงโดยรวม 2.ตระหนักว่า ผู้หญิงคือกลุ่มประชากรที่จะเป็นพลังสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และต้องธำรงไว้ซึ่งสิทธิของสตรีในการเข้าร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงผู้หญิงในชุมชนของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคและผู้มีความห่วงใยและมุ่งหมายที่จะเข้าสู่สินทรัพย์ ตลาด การฝึกอบรมและการสนับสนุนการพัฒนาในวิถีชีวิตและธุรกิจ

 

3.ตระหนักว่า ภาครัฐจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเสียงและปัญญา ของประชากรจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของสังคมได้รับการปลดปล่อยจากปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ 4.ตระหนักว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงคืออาชญากรรม 5.ตระหนักว่าครอบครัวและชุมชน จะเป็นมีความเข้มแข็งได้ ก็ต่อเมื่อผู้หญิงและเด็กหญิงมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ปราศจากการถูกกระทำความรุนแรง 6.ทำให้เกิดหลักประกันว่า ผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นทั้งผู้ที่ทำการเปลี่ยนแปลง และได้รับประโยชน์จากการดำเนินนโยบายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

และสุดท้าย เรียกร้องให้เกิด คณะทำงานของ 5 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ทำงานในด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมสร้างพลังอำนาจสตรีในเรื่อง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษาและด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: