เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง อ.เมือง จ.ตรัง น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะอนุกรรมการฯ จัดประชุมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอาทิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลในอ.กันตัง นายอำเภอกันตัง ปลัดจังหวัดตรัง พลังงานจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ของ กฟผ. ตัวแทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทรัพยากรและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง โดยมีชาวบ้านอำเภอกันตัง และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดตรัง องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ร่วมรับฟังประมาณ 200 คน
นายชวการ โชคดำลีลา วิศวกร 9 กฟผ.หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า โครงการไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ถ่านหินซับบิทูมินัส ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและความเป็นไปได้ของพื้นที่ และให้ข้อมูลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้น หลังจากนี้จะเปิดให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน จากนั้นให้ประชาชนเสนอพื้นที่พร้อมกับร่วมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ใช้ระยะเวลา 12 เดือน
การดำเนินการเสนอพื้นที่เพื่อจัดซื้อที่ดิน ไปพร้อมๆ กับศึกษา EHIA ใช้ระยะเวลา 6-12 เดือน จากนั้นดำเนินขั้นตอนขออนุมัติโครงการ 1 ปี และดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี โดยได้คัดเลือก 3 พื้นที่ ในอำเภอกันตัง คือต.บางสัก ต.นาเกลือ และต.วังวน เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดทะเลในการขนถ่านถ่านหินจากอินโดนีเซีย
นายมนภัทร วังศานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง ชี้แจงว่า จังหวัดตรังมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) คือ พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง - ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง มีพื้นที่ประมาณ 515,745 ไร่ มีพะยูนฝูงใหญ่ 150 ตัว ปลาโลมา เต่า หญ้าทะเล และยังเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าสู่จังหวัด
นางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชี้แจงว่า หากพื้นที่มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 3 แห่ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) คงจะเข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องพิจารณาในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่แรมซาร์ไซต์
ด้านนายสมชาติ ศรีปรัชญากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการก่อสร้างโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า หากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ กฟผ.จะไม่ดำเนินการสร้าง ตอนนี้ยังไม่ได้เลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง กฟผ.จะจัดซื้อที่ดินสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อรัฐบาลอนุมัติเท่านั้น
นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดวังวน ตำบลกันตัง กล่าวว่า แม้กฟผ.ยังไม่ซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่มีนายหน้ากำลังวิ่งเต้นเจรจา ขอซื้อต่อรอราคาที่ดินกันอย่างกว้างขวางในพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ
“กฟผ.เข้ามาเคลื่อนตั้งแต่ปลายปี 2553 จนเรามารู้เมื่อกลางปี 2554 โดยมุ่งเป้าหมายเข้าหาผู้นำ มีการล่ารายชื่อ บอกว่าถ้าสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว จะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี ชาวบ้านก็นึกว่าเป็นแค่สถานีพักไฟ เพิ่งมาทราบเอาตอนหลังว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นายวุฒิชัยกล่าว
น.ส.ศยามล ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวว่า บทบาทของ กฟผ.กับหลักการธรรมาภิบาล ไม่ให้มีส่วนร่วมและการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน กฟผ.ไม่ได้นำเสนอข้อมูลอย่างที่เราต้องการโดยพูดแต่ข้อดี ไม่พูดเรื่องผลกระทบ ขณะที่มองเอ็นจีโอว่าเอาแต่ค้าน ความจริงเรามีหน้าที่หาข้อมูลให้ชาวบ้านเรียนรู้ในภาพรวม ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง แต่ให้ข้อมูลกับชาวบ้านถึงแผนพัฒนาภาคใต้ในภาพรวมด้วย
ด้านน.พ.นิรันดร์สรุปว่า กฟผ.มีปัญหาในการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่ให้ข้อมูลแต่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ แต่ไม่ให้ข้อมูลชาวบ้าน แสดงว่าบริหารจัดการไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่สะท้อนออกมาต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อมีปัญหาแล้วจะแก้ไขยังไง
“การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นไม่ใช่นำคนที่เห็นด้วยร่วมเวที โครงการของหน่วยงานอื่นบางพื้นที่ให้คนเซ็นต์ชื่อแล้วอ้างว่าเห็นด้วย นายอำเภอ นายก อบต.ก็สามารถมีส่วนร่วมได้โดยจัดเวทีเป็นกลางเพื่อให้ความรู้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าขืนเดินหน้าทำ EHIA ทั้งที่ยังมีความขัดแย้ง จะเป็นระเบิดลูกใหญ่ของชุมชน” น.พ.นิรันดร์กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ