ท่ามกลางกระแสการคัดค้าน “โรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง” ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่วางแผนก่อสร้างใน 3 พื้นที่ ของอ.กันตัง จ.ตรัง โดยกฟผ.พยายามให้ข้อมูลกับชาวบ้านว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้พลังงานจากถ่านหินสะอาด
ผู้สื่อข่าวจึงขอสัมภาษณ์ “ชวการ โชคดำลีลา” หัวหน้าศูนย์พลังงานไฟฟ้าจังหวัดตรัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถึงความเป็นมาของโครงการก่อสร้าง 9 โรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่ อ.กันตัง ซึ่งกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาทรัพยากรชายฝั่ง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น รวมทั้งตอบคำถามคาใจที่ว่า “ถ่านหินสะอาดมีจริงหรือ”
ถาม : มองแผน PDP 2010 อย่างไร
ชวการ : ตามแผน PDP 2010 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 4–5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ปัจจุบันจะหมดอายุการใช้งาน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประมาณ 16,000 เมกะวัตต์ ต้องปลดออกจากระบบไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมาทดแทนโรงไฟฟ้าที่หมดอายุ และในส่วนที่มีความต้องการเพิ่ม 4–5 เปอร์เซ็นต์ ให้ได้ตามแผน
แผน PDP 2010 ฉบับนี้ เป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ตามแผนนี้ถึงอย่างไรก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือในส่วนของโรงไฟฟ้าเอกชน ทั้งสองส่วนนี้จะต้องร่วมกันสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
วันที่ 26 เมษายน 2555 เราใช้ไฟฟ้าถึง 26,126 เมกะวัตต์ จะเห็นได้ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่หยุด การประหยัดพลังงานเราทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยมีการบริหารด้าน Demand Side Management ในภาคการประหยัดพลังงาน เช่น การส่งเสริมประหยัดพลังงานเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลง ท้ายที่สุดสรุปแล้ว เรายังต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม
ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้าในวันนี้ไม่ได้ใช้ได้เลย การก่อสร้างใช้เวลานาน เช่น โรงไฟฟ้าแก๊สใช้เวลาสร้างประมาณ 27 เดือน หรือ 3 ปี โรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 5 ปี ก่อนจะสร้างโรงไฟฟ้า จะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ประมาณ 2 ปีแล้ว รวมแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เวลาประมาณ 7 ปี ถ้าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ 10 ปี เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีแผนการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าเป็นขั้นตอน ดูว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าปลดจากระบบแล้ว ปริมาณไฟฟ้าจะต้องเข้าระบบเท่าไหร่ ไม่เช่นนั้นบริหารจัดการไม่ได้ ไฟฟ้าจะไม่พอใช้ ความมั่นคงก็ไม่มี
สำหรับการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า หนึ่ง ต้องมีความมั่นคงด้านพลังงาน สอง ราคาต้องเหมาะสม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าต้องควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย เราต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดเวลาที่กฟผ.ผลิตไฟฟ้ามา 40 ปี ไม่เคยปรากฏว่าไฟฟ้าของประเทศไม่พอใช้ เรามีไฟฟ้าใช้เพียงพอมาตลอด
ในส่วนของกำลังสำรองที่มั่นคงตามมาตรฐานระดับโลก จะต้องมีไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ สมมติว่ามีต้องการอยู่ 10,000 เมกะวัตต์ ต้องมีแผนผลิตให้เกินไว้ 15 เปอร์เซ็นต์ คืออีก 1,500 เมกะวัตต์ ก็เป็น 11,500 เมกะวัตต์ ไม่น้อยกว่านี้ เพราะหากโรงไฟฟ้าโรงใดโรงหนึ่งปิดไป จะเอาไฟฟ้าจากไหนมาใช้ สมมุติโรงไฟฟ้าหายไป 1 โรง 800 เมกะวัตต์ จะเอามาจากไหนมาทดแทน ถ้าผลิตเพียง 10,000 เมกะวัตต์พอดี ก็ไม่มีไฟฟ้าสำรองอาจต้องดับไฟในบางพื้นที่
ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้คนไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 4–5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมาตลอด เช่น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ใช้ไฟฟ้า 2,300 กว่าเมกะวัตต์ ขณะที่กำลังเรามีอยู่ 2,100 เมกะวัตต์ เราต้องไปซื้อไฟฟ้ามาจากมาเลเซีย และดึงไฟฟ้ามาจากภาคกลาง ประมาณ 600 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เดินเครื่องเฉพาะเพื่อการเกษตรเป็นหลัก ส่วนโรงไฟฟ้าน้ำมันดีเซล จ.สุราษฎร์ธานี ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว หากเราขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย แล้วมาเลเซียไม่ขายให้เรา มีปัญหาแน่ เพราะเราซื้อแบบไม่ยืนยัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าของเขาอาจสูงสุดพร้อมกับเราพอดี หรือถ้าเราต้องการใช้ไฟฟ้าฉุกเฉิน สุราษฎร์ธานีให้ได้ 240 เมกะวัตต์ก็จริง แต่ต้องใช้น้ำมันดีเซลเดินเครื่อง น้ำมันดีเซลแพงใช้ครั้งหนึ่งตกยูนิตละ 20 กว่าบาท ขณะที่รัฐขายไฟฟ้าให้ประชาชนแค่ยูนิตละ 3.20 บาท รัฐต้องเอาเงินมาชดเชย เอาภาษีเรามาชดเชย นี่คือสภาพของไฟฟ้าภาคใต้ เราจึงจะมาพัฒนาพลังงานเพื่อให้เพียงพอ
ตอนนี้เราเอาก๊าซธรรมชาติมาจากประเทศพม่ามาผลิตไฟฟ้า ได้มาจากแหล่งเยตากุน ยานาดา และเอ็ม 9 ที่เพิ่งลงนามในสัญญาจากแหล่งเยตากุน ยานาดา เอามาผลิตไฟฟ้าได้ 5,600 เมกะวัตต์ รับก๊าซจากพม่ามาประมาณ 1,100 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดินท่อมาผลิตไฟฟ้า 5,600 เมกะวัตต์ ส่วนแหล่งเอ็ม 9 จะรับได้ในปี ค.ศ.2014 ปริมาณ 1,200 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งหมดรวม 7,000 เมกะวัตต์ เหมือนกับเราไปยืมจมูกของพม่ามาหายใจ เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอีก 18 ปีก็หมด ตอนนี้ปริมาณเริ่มลดลงเรื่อยๆ เราจะทำอย่างไร ให้พลังงานไฟฟ้าของประเทศเรามั่นคง
ตอนนี้ต่างประเทศเริ่มมีปัญหา พม่าไฟฟ้าไม่พอใช้ ประชาชนเดินขบวนประท้วง อินเดียก็มีปัญหา เพราะใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเยอะ อินโดนีเซียก็เหมือนกัน เริ่มมองแล้วว่า อนาคตข้างหน้าน้ำมันจะหมด ก๊าซธรรมชาติจะหมด เขาจะทำอย่างไร ในเมื่อเขามีถ่านหินเป็นหลัก เขาอาจสงวนถ่านหินเอาไว้ใช้ภายในประเทศก็ได้ ต่อไปเขาอาจไม่ขายเรา ตอนนี้บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ไปทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย 5 เหมือง
ตอนนี้สัดส่วนการใช้ถ่านหินในประเทศไทยเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เราใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 65 เปอร์เซ็นต์ อันที่หนึ่งกลัวว่าก๊าซจะหมด อันที่สองไฟฟ้าจากก๊าซก๊าซ 65 เปอร์เซ็นต์ เราเอามาจากพม่า 42 เปอร์เซ็นต์ เป็นก๊าซของเราเอง 58 เปอร์เซ็นต์ เป็นก๊าซจากอ่าวไทย และแหล่งเจดีเอที่ใช้ร่วมกันระหว่างไทยกับมาเลย์ 50:50 ไม่นานก็หมดใช่ไหมครับ กลายเป็นว่าตอนนี้เราเอาจมูกพม่ามาหายใจอยู่ 5,600 เมกะวัตต์
ถาม : ถ่านหินเราก็ยืมจมูกของอินโดนีเซียหายใจ
ชวการ : เราเซ็นสัญญานานถึง 30 ปี
ถาม : พม่าเราก็เซ็นสัญญานานหลายสิบปี
ชวการ : พม่ามีความเสี่ยงมากกว่า ถ้าท่อแตก ถ้าโดนกะเหรี่ยงระเบิดท่อ เหมือนที่ผ่านมาตอนเดือนเมษายน 2555 เขาหยุดบำรุงรักษา 10 กว่าวัน เขาหยุดซ่อมฐานแก๊ส การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องเอาน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า
พม่ามีฐานแก๊ส 3 ฐาน เราซื้อมา 2 คือเยตากุน ยานาดา 1,100 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกฐานคือเอ็ม 9 อันนี้เพิ่งเซ็นสัญญา ทั้ง 3 ท่อวิ่งมาจากพม่า มารวมกันเป็นท่อเดียว ผ่านภูเขา ผ่านกะเหรี่ยง ถ้าโดนกะเหรี่ยงระเบิดทำไงละ หรือต่อไปในอนาคตพม่าแอบเดินท่อเข้าประเทศพม่า แล้วบอกว่าแก๊สใกล้จะหมด แบบนี้จบเลย เหมือนของเราอ่าวไทยที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ
ถาม : จะสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้กี่แห่ง
ชวการ : คนเขาถามว่าทำไมจึงเป็นที่ภาคใต้ เพราะเราต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ไม่ได้ใช้ใช่ถ่านหินในประเทศ ถ่านหินที่ใช้จะต้องมาทางเรือ พอมาทางเรือก็ต้องมาขึ้นตามบริเวณชายฝั่ง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โรงไฟฟ้าก็ต้องตั้งบริเวณชายฝั่ง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสำรวจมาหมดแล้ว ตั้งแต่จ.ตราด จนถึงนราธิวาส ปัตตานี ฝั่งอันดามันก็ระนอง พังงา เดิมจ.พังงา ก็มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้า ศึกษาแล้วแต่ไม่เหมาะสม เนื่องจากอยู่ใกล้แนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว เราจะต้องหลบแนวรอยเลื่อนลงมา สตูลก็มีแผน แต่ที่ดินสตูลมีไม่พอ
การสร้างโรงไฟฟ้าต้องดูหลายอย่าง ต้องไม่มีการย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องรบกวนชุมชนน้อยที่สุด
ถาม : โรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้ง 9 โรง ขนาด 800 เมกะวัตต์หมดเลยใช่ไหม
ชวการ : ใช่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ 9 โรง ผลิตไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ตอนนี้ภาคใต้ใช้ไฟฟ้าอยู่ 2,300 เมกะวัตต์ กำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 2,100 เมกะวัตต์ ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีกประมาณปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ กำลังการผลิตที่จะได้จาก 9 โรงในอนาคต 7,200 เมกะวัตต์ จะป้อนเข้าระบบ Power Grid นำไปใช้ทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมาภาคใต้ยืมไฟฟ้าภาคอื่นมาใช้นานแล้ว ยืมจากโรงไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครมาใช้นานแล้ว เราก็ต้องผลิตเผื่อแผ่ไปให้เขากลับไปบ้าง
ถาม : จังหวัดไหนบ้างที่ศึกษาแล้วมีศักยภาพตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินได้
ชวการ : ตั้งแต่จ”ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ก็สามารถสร้างได้ ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าจะนะอยู่คนละตำบล แต่เป็นพื้นที่เป้าหมายเหมือนกัน เรายังไม่ได้ศึกษา สตูล เราก็ไปสำรวจแต่ที่ดินไม่พอ
ถาม : ความเหมาะสมของจังหวัดตรัง
ชวการ : อ.กันตัง จ.ตรัง มีท่าเรือขนถ่ายถ่านหินเดิม ที่ขนถ่ายถ่านหินไปโรงงานปูนซิเมนต์ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชอยู่แล้ว ชาวบ้านน่าจะคุ้นกับถ่านหิน เหมือนชาวบ้านที่โรงไฟฟ้าลิกไนต์ จ.กระบี่ เราเลยมาศึกษาดูว่า พื้นที่มีเพียงพอไหม เราดู 3 พื้นที่ในอ.กันตัง ก็พบว่า พอจะมีพื้นที่ขนาด 800–900 ไร่อยู่ บางพื้นที่ก็มี 2,000 ไร่ บางพื้นที่ 1,200 ไร่
ถาม : 3 พื้นที่มีที่ไหนบ้าง
ชวการ : ต.บางสัก ต.วังวน และ ต.นาเกลือ บางพื้นที่มี 2 พันไร่ 3 พันไร่ แต่ต้องดูผังเมืองรวมประกอบด้วย พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าต้องมีโฉนด ต้องไม่มีการย้ายประชากรออกจากพื้นที่ เราต้องดูหลายอย่าง ต้องดูพื้นที่ทำท่าเรือให้เรือเข้ามาจอด ต้องใกล้แหล่งน้ำ ท้ายที่สุดเราต้องศึกษา EHIA ครบทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ สังคม ศึกษาทั้งระบบนิเวศน์
ถาม : ลงพื้นที่จังหวัดตรังมากี่ปี่แล้ว
ชวการ : ประมาณปีกว่า
ถาม : ทำอะไรไปบ้าง
ชวการ : เรามีกระบวนการอยู่ 7 ขั้นตอน ขั้นที่หนึ่ง เราศึกษาศักยภาพของพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือเปล่า ศึกษาไปแล้ว 3 พื้นที่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกอันไหน แต่ต้องเลือกเอาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
การศึกษาความเหมาะสม ต้องศึกษาหลายด้าน ต้องใกล้แม่น้ำเอาเรือขนถ่านหินเข้ามาได้ มีน้ำเพียงพอ และประชากรเบาบาง รบกวนชุมชนน้อย นี่ยังไม่สิ้นสุด ถ้าเราศึกษา EHIA ชุดใหญ่ ต้องศึกษาลงไปในรายละเอียดว่า ทิศทางลมเป็นยังไง ต้องศึกษาอีกเยอะ อันนี้ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาศึกษา ตอนนี้เราแค่ศึกษาว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าได้หรือไม่เท่านั้น
หลังจากนั้นเราจะให้ข้อมูลกับชุมชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ผมต้องอ้างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตลอด เพราะนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เขาอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็มีสิทธิ ที่จะลงไปชี้แจงข้อมูลกับชุมชน ตามมาตรา 57 จะบอกให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยกเลิกโครงการง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราทำตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตอนนี้เราไม่ได้มาบอกว่าต้องสร้าง ขั้นที่ 2 เป็นขั้นให้ความรู้กับประชาชน เราให้ข้อเท็จจริงทั้งหมด พร้อมกับพาคนในพื้นที่ไปดูงาน
ถาม : จากการลงพื้นที่ตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน ปฏิกิริยาชาวบ้านเป็นอย่างไรบ้าง
ชวการ : มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เป็นธรรมดาอยู่แล้ว คนเป็นกลางก็มี ส่วนคนเห็นด้วยมากหรือน้อย เรายังตอบยังไม่ได้ ตอนนี้เราขอให้ได้เข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านเท่านั้น
ถาม : เนื่องจากลงไปไปหลายพื้นที่แล้วไม่ได้การยอมรับ เช่น อ.ท่าศาลา อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช พอมาจังหวัดตรังมีความมั่นใจในการทำความเข้าใจกับชาวบ้านขนาดไหน
ชวการ : ไม่ว่าจ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช มิติต่างกัน ถ้าเราเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่มีปัญหาของเขาอยู่แล้ว เช่น การเมืองในพื้นที่มีปัญหา ชุมชนขัดแย้งกันอยู่ พอการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าไปเราจะตกเป็นเหยื่อ เพราะฝ่ายตรงข้ามจะจุดประเด็นนี้ไปโจมตี ไล่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกจากพื้นที่ ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรมากมายด้วยซ้ำ
ถ้าพื้นที่ไหนมีความขัดแย้งในพื้นที่น้อย จะไม่ค่อยเกิดปัญหา ยกตัวอย่างที่กระบี่ความขัดแย้งในพื้นที่น้อย และชุมชนเขารับรู้เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้งแต่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ มันเป็นพื้นที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์เก่า เขารับรู้เรื่องถ่านหินอยู่แล้ว ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาเกิดขึ้น นอกจากว่ามีนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอจากข้างนอกเข้าไปจุดประเด็นทีละเล็กทีละน้อย
เอ็นจีโอมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภาคใต้ ในจ.ตรัง มีทั้ง สมาคมหยาดฝน มูลนิธิอันดามัน เขาทำเรื่องอนุรักษ์กันหมด ผมไม่ได้ว่าเขาไม่ดี เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องดี แต่มิติการพัฒนาประเทศต้องให้ชาวบ้านรับรู้ด้วย ไม่ใช่มาปิดกั้นไล่คนของเราออกจากพื้นที่ มันไม่ถูก
ถาม : ที่ผ่านมาโดนปิดล้อมหรือยัง
ชวการ : มี คือมีเอ็นจีโอเข้าไปยุคนในพื้นที่ แต่ก่อนเราเข้าไปก็ธรรมดา ในพื้นที่ไม่มีอะไรเลย ช่วยเหลือดูแลกัน แต่พอเอ็นจีโอเริ่มเข้ามาเท่านั้นแหละ มีการนำเอาข้อมูลที่ชาวบ้านซึ่งยังไม่ได้ไปเห็นของจริงมาเล่า ส่วนจะมีอะไรอื่นอยู่ข้างหลังบ้างหรือไม่ เราไม่รู้
ถาม : พื้นที่ไหน ที่มีการปิดล้อม
ชวการ : ต.วังวน
ถาม : ที่บางสัก นาเกลือละ
ชวการ : บางสัก นาเกลือ เรายังไม่ถูกปิดล้อม ถูกปิดล้อมเฉพาะที่วังวน
ถาม : เริ่มศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เมื่อไหร่
ชวการ : ตามแผนเราจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในเดือนกรกฎาคม 2555 นี่แหละ ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 8 เดือน ต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษา จ้างนักวิชาการมาศึกษา โดยบริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้ประสานงานกับสถาบันการศึกษา ไปจ้างนักวิชาการ นักวิจัย 30–40 คนมาศึกษา โดยต้องมีชาวบ้านเข้าร่วมศึกษาด้วย
ถาม : ต้นเดือนกรกฎาคม 2555 น่าจะเริ่มไม่ทัน
ชวการ : อาจจะเป็นกลางหรือปลายเดือนกรกฎาคม 2555 เพราะเราต้องให้ชาวบ้านมาร่วมศึกษาด้วย เราต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ถาม : ทราบว่ามีบางมหาวิทยาลัยรับศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไปแล้ว
ชวการ : คนละงานกันครับ อันนั้นเข้าใจผิด มันเป็นงานวิจัยครับ ไม่ใช่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เป็นงานวิจัยการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งทั้งหมด
ถาม : ทำไมถึงต้องศึกษาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่ง
ชวการ : เราถอดบทเรียนจากอดีต อย่างที่โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา เราไม่มีฐานข้อมูลของกุ้ง หอย ปู ปลา ในอาณาบริเวณก่อสร้าง ฐานข้อมูลพวกนี้เราไม่มี เราก็เอามาเป็นบทเรียนว่าถ้าโรงไฟฟ้าที่อื่นจะต้องศึกษาให้หมดเลย ไม่ว่ากุ้ง หอย ปู ปลา ปลาโลมา พะยูน หญ้าทะเล ที่เขาพูดว่ามีพะยูน 200 ตัว มีจริงหรือเปล่า หญ้าทะเล 25,000 ไร่ มีจริงหรือเปล่า อย่างลุ่มน้ำปะเหลียนต้องศึกษาหมดเลย วันหนึ่งชาวบ้านจับปลาได้กี่กิโลกรัม มีปลาอะไรบ้าง ปูดำมีกี่ตัว ต้องศึกษาให้หมด
การวิจัยทรัพยากรชายฝั่งก็เพื่อต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน เราจะเอาผลการวิจัยแล้ว มาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ชุมชนจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งทั้งหมด ที่จ.กระบี่เราก็ศึกษาเรื่องทรัพยากรชายฝั่งด้วย เพราะเรากำลังจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นั่นเช่นกัน
ถาม : โครงการลักษณะไหนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องทำ EHIA
ชวการ : ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าจะนะแค่ทำ EIA เพราะขนาดไม่เกิน 3,000 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องทำทั้งหมด เราไม่เคยทำ EHIA มาก่อน แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเคยทำ EHIA มาแล้ว ที่ เก็คโค่ วัน บีแอลซีพี จ.ระยอง กว่าจะผ่านยากครับ ไม่หมู เอาแค่กระบวนการเริ่มต้นยังยากเลย เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญล็อกไว้ ไม่เหมือนสมัยก่อนผมไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ผมสร้างได้เลย ทุกวันนี้การทำโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ยากมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนมาก
เมื่อเราทำ EHIA เสร็จแล้ว ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีก คณะกรรมการฯ เยอะ ทุกคนแสดงความเห็นเยอะมาก เอาแค่โรงไฟฟ้าจะนะ 2 ผมเข้าไปฟังเขาให้ความเห็นก็ปวดหัวแล้ว โครงการขนาดใหญ่ภาคประชาชนก็อ้างสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ที่ระยอง ก็เจอสุทธิ อัชฌาศัย
ถาม : ท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน
ชวการ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินขึ้นใหม่ เป็นของโรงไฟฟ้าเอง ถ้าไปใช้ท่าเรือที่มีอยู่เดิมเราจะรบกวนเขาเยอะ ถ้าไปใช้ท่าเรือนาเกลือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เขาก็ขนถ่ายยิปซัม ปูนซิเมน ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ยางพาราอยู่ แค่ขนสินค้าที่มีอยู่ เขาก็รับไม่ไหวอยู่แล้ว
ถาม : โรงไฟฟ้าถ่านหินตรังมีต้นทุนต่อหน่วยเท่าไหร่
ชวการ : ประมาณ 2.60 บาท โรงไฟฟ้าที่ต้นทุนถูกที่สุดคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าที่ตรังมีมูลค่าหลายหมื่นล้าน แต่ยังระบุชัดเจนไม่ได้ว่าเท่าไหร่ อาจจะ 4–5 หมื่นล้านบาท ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ขึ้นอยู่กับบริษัทฯ เสนอราคา แต่เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ การเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดต้องลงทุนสูง
ถาม : โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด
ชวการ : ชื่อมันเป็นอย่างนี้ ภาษาอังกฤษเขาเรียกคลีนเทคโนโลยี (Clean Technology) คือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด ชื่อโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีสะอาดมันก็น่าจะโอเคแล้วละ แต่เป็นเพราะตัวถ่านหินมันไม่สะอาด ต่อไปต้องเปลี่ยนเพิ่มคำว่าเทคโนโลยีเข้าไปเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
ถาม : ป้องกันมลพิษอย่างไร
ชวการ : กระบวนการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อนออกจากเหมืองต้องเนี้ยบมาก่อนแล้ว ทั้งกายภาพ ชีวภาพ เคมี มีการทำความสะอาดถ่านหินมาอย่างดี ก่อนลงเรือขนส่งมาถึงโรงไฟฟ้า พอถึงโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าก็ดูดเข้าระบบปิด มีสายพานลำเลียงแบบโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีระยอง ซึ่งเป็นท่อปิด มองไม่เห็นสายพานลำเลียง เข้าไปในโรงไฟฟ้าก็มีโรงเก็บ
ที่เป็นกังวลคือมลพิษ 3 ตัวหลัก ๆ 1.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2.ไนโตรเจนออกไซด์ 3.ฝุ่น ทั้ง 3 ตัว เรามีระบบดักจับหมดเลย เขาจึงเรียกว่า เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด
การดักจับฝุ่นด้วยระบบไฟฟ้าสถิต มีประสิทธิภาพสูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราควบคุมให้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนด มันก็ไม่มีพิษมีภัยกับมนุษย์อยู่แล้ว ถ้ามีพิษมีภัยกับมนุษย์เราสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ กรมควบคุมมลพิษคงสั่งปิดโรงไฟฟ้า แล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยลงทุนไปตั้งมากมาย กลับเดินเครื่องโรงไฟฟ้าไม่ได้มันก็จบ
ถาม : เถ้าลอย เถ้าหนักของถ่านหินเอาไปไหน
ชวการ : ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 PPM จะถูกจับด้วยสนามไฟฟ้า ส่วนที่เกิดจากระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะมีเถ้าลอยกับเถ้าหนัก เถ้าลอยเราจะขายโรงปูนทุ่งสง เอาไปผสมกับปูนซิเมนต์ทำให้ปูนแข็งขึ้น ทุกวันนี้ที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ก็มีระบบกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพราะโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันเตา น้ำมันเตามีกำมะถันสูง ต้องใช้ระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ถาม : สารปนเปื้อนของถ่านหินไปอยู่ที่ไหน
ชวการ : สารปนเปื้อนที่ติดอยู่ในถ่าน ไม่ส่งผลกระทบอะไร เขาเลยไม่พูดถึง เขาวิเคราะห์มาแล้วว่า ถ่านหินบิทูมินัทก้อนหนึ่ง ปรอท แคดเมี่ยมที่พูดถึงมีปริมาณน้อยมาก ไม่ถึงขั้นก่ออันตรายต่อมนุษย์ ถึงจะมีหลงเหลืออยู่ในเถ้า แต่ปริมาณก็น้อยมาก ในส่วนของเถ้าจึงเอาไปขายโรงปูนหมดเลย ส่วนเถ้าหนักนี่ปัจจุบันนี้เขาเอาไปทำปุ๋ย
เหมือนโรงไฟฟ้ากระบี่ สนามกอล์ฟก็อยู่บนขี้เถ้าของเหมือง โรงไฟฟ้าแม่เมาะก็เหมือนกัน ในสนามกอล์ฟขี้เถ้าทั้งนั้น เอาขี้เถ้าไปถมหญ้าก็ขึ้นปกติ ทุกวันนี้ที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีระยอง เขาเอาไปทำปุ๋ย เอาไปถมดินปลูกต้นไม้ได้ตามปกติ ตอนนี้กำลังวิจัยอยู่ว่าใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่คนไม่ค่อยเชื่อ
ถาม : ระบบกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สามารถดักจับฝุ่นได้ขนาดไหน
ชวการ : ขนาดเล็กกว่า 10 PPM ที่จมูกมนุษย์ไม่สามารถดักจับได้ สามารถจับได้ด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ไม่งั้นแม่เมาะนี่พนักงานคงตายไปหมดแล้ว ผมก็อยู่แม่เมาะมา ไม่เห็นเป็นไรเลย แต่เอ็นจีโอไปถ่ายภาพการทำเหมือง ไม่รู้ไปเอามาจากไหน เอามาปะติดปะต่อแล้วให้คนดู ให้ทีวีอะไรไป นั่นแหละ มันไม่ใช่ของจริง ปัจจุบันนี้แม่เมาะนี่เหมืองเขาได้รับรางวัลระดับโลก
อากาศที่แม่เมาะดีกว่ากรุงเทพฯ ทุกวันนี้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็น้อย ฝุ่นก็น้อย ดีกว่ากรุงเทพฯ ระดับการปนเปื้อนสามารถดูได้ตลอดเวลาทางอินเตอร์เน็ต เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษจะเห็นหมดเลย ไปดูที่เว็บไซต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะก็ได้ ดูได้แบบเรียลไทม์เลย จะเห็นค่าแสดงออกมา โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่บางกรวย อยู่กลางกรุงเทพฯ เลย เขาก็มอนิเตอร์ให้คนที่ขับรถไปมาเห็นเลยว่า ค่าอากาศเท่าไหร่
ที่โรงไฟฟ้าบางกรวยใช้ก๊าซจากพม่า ภาคใต้ที่จะนะใช้ก๊าซจากแหล่งจีดีเอ 18 ถ้าเกิดท่อก๊าซแตก ไฟฟ้าภาคใต้ก็เรียบร้อย เราต้องระมัดระวัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ต้องเตรียมระบบผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลเสริมเข้ามา เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน ถ้าก๊าซมีปัญหาก็เอาน้ำมันดีเซลเข้ามา
ถาม : ตอนนี้ที่ไหนที่ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด
ชวการ : ตอนนี้ภาคกลาง โรงไฟฟ้าราชบุรี รองลงมาก็โรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ กับโรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีอายุ 30 กว่าปี ตอนนี้ผลิตอยู่ 2,400 กว่าเมกะวัตต์ สมัยที่ยังไม่มีโรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้ามากที่สุด โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าลิกไนต์ เป็นเหมืองของเราเอง
ถาม : มีข้อโต้แย้งว่าการพยากรณ์การใช้พลังงานของไทยสูงเกินจริง
ชวการ : ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เมื่อเดือนเมษายน 2555 เราเตรียมไว้ที่ 24,000 เมกะวัตต์ แต่ในช่วงที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด กลับสูงถึง 26,000 เมกะวัตต์ ห่างจากที่เตรียมการณ์ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ที่เรามีไฟฟ้าพอใช้ เพราะเรามีกำลังสำรองอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมต้องมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ผลิตเกินมา ทำให้เราพอใช้ในที่เราใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกินจากที่คาดการณ์ไว้
ถ้าไม่มีกำลังไฟฟ้าสำรอง ตอนเดือนเมษายนที่ผ่านมาเราจบเลย ที่เขาบอกว่าเราพยากรณ์เกินจริง ผมบอกได้เลยว่าเขาไม่รู้จริง คุณรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน บอกว่าพยากรณ์เกินจริงทั้งนั้นแหละ แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริง อย่าลืมว่าโรงไฟฟ้าก็ต้องมีการปิดบำรุงรักษาด้วย การบริหารจัดการพวกนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดูแลอยู่ มันจะพยากรณ์เกินจริงได้อย่างไร ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันคำนวณ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหลอกตัวเอง พยากรณ์มั่ว ๆ เราทำไม่ได้ คนที่มาทำตัวเลขพวกนี้มีแต่นักวิชาการทั้งนั้น เราจะพยากรณ์เกินจริงไปเพื่ออะไร
ถาม : อาจมีข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน
ชวการ : ไม่มีหรอกครับ อย่ามองภาพลบเลย ไม่ใช่หรอกครับ ถ้าสมมุติพยากรณ์เกินจริงมากๆ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงทุนมหาศาล กฟผ.ก็ต้องมาแบกรับภาระการลงทุน รัฐบาลต้องมาแบกรับเงินกู้ต่างประเทศ เพราะกฟผ.ก็เป็นของรัฐบาลเกิน 50 % ถ้าไปกู้เงินต่างประเทศ รัฐบาลก็ต้องค้ำประกัน ปล่อยให้พยากรณ์เกินจริงมาก ๆ ไม่มีใครได้ประโยชน์ มีแต่ประเทศชาติเสียประโยชน์
ถาม : ประเทศชาติอาจเสียประโยชน์ แต่ในเชิงธุรกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกลุ่มธุรกิจในวงการพลังงานอาจได้ประโยชน์
ชวการ : ไม่ได้ประโยชน์เลย ผมอยู่ในองค์กร ผมถือว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่โปร่งใสที่สุดในประเทศ ไม่มีผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ผมพูดตรงๆ เลยนะ ผมภูมิใจ ผมไปเวทีใหญ่ผมก็พูดแบบนี้ ไม่ว่า จะเป็นกับ ส.ว.หรือสออะไร ผมว่าประเทศไทยเดินหน้าไม่ได้ เพราะไม่เอาความจริงมาคุยกัน ถ้าไม่ใช่พวกตัวเอง เขาจะไม่มองด้านบวก มองแต่ด้านลบ
ผมเป็นคนในองค์กรของรัฐ เป็นคนของหน่วยงานที่โปร่งใสที่สุดแล้ว เราไม่มีผลประโยชน์กับใครทั้งนั้น เรามองจากความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้น
ถาม : ธุรกิจไฟฟ้าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ มีหลักประกันอะไรในการรองรับการขาดทุน
ชวการ : มีค่าเอฟทีที่มันขึ้นมันลง ที่เกิดจากต้นทุนทางพลังงาน สมมติใช้ต้นทุนดีเซลผลิตมาก ค่าเอฟทีก็สูง สมัยก่อนไม่มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ Regulator ตอนนี้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้มีความโปร่งใสคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ เป็นหน่วยงานที่เข้าควบคุมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำว่า คุณจะขึ้นค่าเอฟทีได้หรือไม่ มันไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น Regulator จะเข้ามาดูแลแทนประชาชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะขึ้นค่าไฟ จะขึ้นค่าอะไรทุกอย่าง ไม่ได้ขึ้นด้วยตัวเอง
ค่าเอฟทีมาจากอะไร ค่าเอฟทีมาจากต้นทุนทางพลังงานว่า เอาอะไรมาผลิตไฟฟ้า ถ้าเอาน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า ค่าเอฟทีสูงแน่ ถ้ายิ่งเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเท่าไหร่ ค่าเอฟทีก็ยิ่งสูง เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร มันใช้ได้ไม่กี่ชั่วโมง ฉะนั้นถ้าลงทุนไปสมมติโซลาร์เซล 1 เมกะวัตต์ ร้อยล้านบาท นี่ของจริงเลยนะ 25 ไร่ แต่นำมาผลิตไฟฟ้าได้แค่ 15 % รัฐให้แอ็ดเดอร์หรือค่าชดเชยเท่าไหร่รู้ไหม 6.50 บาท แล้วเอามาขายให้ประชาชน 3 บาท แอ็ดเดอร์ก็คือภาษีเรานี่แหละ รัฐเอาเงินภาษีของเรามาชดเชย สมมติผมไปลงทุนรัฐจะให้ 6.50 บาทต่อหน่วย ขายไฟฟ้าหนึ่งหน่วยออกไปรัฐให้ 6.50 บาท แล้วขายไฟฟ้า 3.20 บาท ก็ตกราวประมาณยูนิตละ 10 บาท ที่คนขายไฟจะได้ ทำไมเขาถึงขายได้ก็รัฐให้อีก 6.50 บาทไง 6 ปีก็คืนทุน
ถาม : ทำไมธุรกิจไฟฟ้ารัฐถึงต้องประกันไม่ให้ขาดทุน
ชวการ : ผมว่าเรื่องพลังงานหมุนเวียน ถ้าจะพูดจริง ๆ มันเป็นธุรกิจการเมืองมากกว่า ไม่ใช่การเมืองระดับประเทศ แต่เป็นการเมืองระดับโลก โซลาร์เซลล์เป็นเรื่องการเมืองระดับโลก เพราะมันมีกลุ่มทุนหลายกลุ่มทุนเข้ามาลงทุน รัฐบาลจึงต้องให้ค่าแอ็ดเดอร์อยู่ ทำไมต้องให้ค่าแอ็ดเดอร์ ผมไม่เข้าใจ ทำไมรัฐต้องให้การอุดหนุน
ถาม : ในเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีไปแล้ว แต่พอทำแผน PDP 2010 ถึงได้แผนอนุรักษ์พลังงานไปใช้เพียง 20 %
ชวการ : ต้องแยกออกสองส่วนครับ แผนอนุรักษ์พลังงานกับแผนพัฒนาไฟฟ้า (PDP 2010) มันคนละอันกันนะ คำว่าอนุรักษ์พลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็คือการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่คำว่าใช้พลังงานหมุนเวียน ถ้าเราไม่พูดต่อคนก็เข้าใจผิด
ปัจจุบันในแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำหนดไว้เลยว่า จะต้องผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 340 เมกะวัตต์ เราต้องถามต่อไปว่าทำได้จริงเท่าไหร่ จริงๆ แล้วทำได้ไม่กี่เมกะวัตต์เอง
ถาม : เรื่องการอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำอะไรไปบ้าง
ชวการ : เขาเน้นให้เราไป Demand Side Management คือบริหารจัดการการใช้พลังงาน หรือการประหยัดพลังงาน การประหยัดพลังงานคืออะไร หนึ่งการใช้ตู้เย็นเบอร์ 5 หลอดไฟเบอร์ 5 อันนั้นลดพลังงานได้แค่ส่วนหนึ่ง เพราะคนไทยไม่มีวัฒนธรรมการประหยัด ประหยัดได้ไม่มาก เรื่องการอนุรักษ์พลังเขามุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานหมุนเวียน
คำว่าส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนก็คือ หนึ่งสนับสนุนเงินทุนให้บริษัท ตอนนี้ World Bank เขาปล่อยเงินผ่านธนาคารกสิกรไทยให้บุคคลที่ต้องการสร้างโซลาร์เซลล์กู้ไปทำธุรกิจโซลาร์เซลล์ แต่พลังงานหมุนเวียนที่เป็นโซลาร์เซลล์ กระทรวงพลังงานเขารับได้ 500 เมกะวัตต์ ตอนนี้เขาปิดรับแล้ว เพราะทำสัญญาไปแล้วเอกชนทำไม่ได้ สมมติผมอยากทำ ผมไปเซ็นสัญญาไว้ 2 ปี แต่ผมทำไม่ได้ กระทรวงพลังงานยกเลิกสัญญาเลย
เรื่องนี้มันเกี่ยวกับระบบสายส่งด้วย ถ้าความจุของระบบสายส่ง หรือ Capacity ของสายส่งไม่พอก็ขยายระบบนั้นไม่ได้
อย่างภาคใต้ สมมติที่สิเกาผมอยากสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ผมต้องไปเช็คว่าสายส่งเขาพอไหม ถ้าไม่พอเขาก็ขยายให้ไม่ได้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ไม่รับ กระทรวงพลังงานก็ไม่อนุมัติ เพราะก่อนจะไปยื่นต้องคุยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่า สายส่งพอไหม สมมติผมต้องการ 3 เมกะวัตต์ ถ้าสายส่งรับไม่ได้ผมก็ทำไม่ได้
ถาม : ตรังใช้ไฟฟ้าแค่ 100 กว่าเมกะวัตต์ ทำไมถึงสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์
ชวการ : เพราะเราผลิตไฟฟ้าส่งไปใช้ทั่วประเทศ ไม่ใช่ว่าผลิตเอามาใช้ที่ตรังอย่างเดียว ที่ไหนต้องการใช้ก็ดึงไปใช้ได้หมด ตอนนี้อย่าลืมว่าภาคใต้ก็เอามาจากภาคกลางประมาณ 600 เมกะวัตต์ ทุกคนจะบอกว่า จ.ตรัง ใช้ไฟแค่ 120 เมกะวัตต์ ผลิตแค่ 200 เมกะวัตต์ก็เหลือเฟือ
การรองรับของสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในจังหวัดตรังรองรับได้ 240 เมกะวัตต์ ตอนนี้ใช้อยู่ 120 เมกะวัตต์ หรือใช้อยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เขาเผื่อไว้แล้วละว่า การใช้ไฟฟ้ามันจะเพิ่มขึ้นทุกปี เขาก็ออกแบบเผื่อไว้ 20 ปีข้างหน้า ถึงอย่างไรจังหวัดตรังก็ใช้ไฟฟ้าถึง 200 เมกะวัตต์อยู่แล้ว ทีนี้ตอนนี้ใช้อยู่ 120 เมกะวัตต์
แล้วทำไมไม่สร้างโรงไฟฟ้าขนาด 300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนาด 300 เมกะวัตต์ กับ 800 เมกะวัตต์การลงทุนต่อหน่วยไม่ต่างกัน ถ้าเราสร้าง 800 เมกะวัตต์ มันคุ้มกับการลงทุน แถมยังสามารถเผื่อแผ่ไฟฟ้าไปใช้ได้ทั่วประเทศด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ