‘ศศิน’ยันน้ำไม่ท่วมกรุงฯ-โอกาสจมมีน้อย ผลักไปสุพรรณฯ'ปทุมธานี-นนท์'รอดด้วย ชี้สุโขทัยอ่วมเพราะประมาท-พนังพังถล่ม

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 19 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2882 ครั้ง

 

ภาพสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สุโขทัย ที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน ปริมาณน้ำที่ไหลจากแม่น้ำสายต่างๆ ลงมาในแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำทุ่งในหลายอำเภอของ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบกับคำเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ถึงฝนที่ตกลงมาในแต่ละวัน ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมาก สร้างความวิตกกังวลให้กับคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมมาแล้วเมื่อปลายปี 2554 ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จนมีคำถามติดปากในช่วงนี้ว่า “ปีนี้น้ำจะท่วมไหม” หรือ “ยังจะเอาอยู่ไหม” ซึ่งไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ ทั้งจากนักการเมืองที่รัฐบาลมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องน้ำ หรือแม้แต่นักวิชาการเรื่องน้ำก็ตาม

 

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงสัมภาษณ์ ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นักวิชาการที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก ในการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เพื่อหาคำตอบให้ประชาชนทั่วไป ที่อยู่ท่ามกลางความวิตกกังวล

 

 

‘ศศิน’ชี้ปี 2554 น้ำท่วมเพราะจัดการห่วย ยันปีนี้ถือว่าปกติ

 

 

ศศินกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปี 2555 เป็นสถานการณ์น้ำปกติ หากเทียบกับเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ปริมาณน้ำสูงที่สุดในรอบ 200 ปี มีฝนมากกว่าเกณฑ์กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นน้ำจึงมาก นอกจากนี้ปีที่แล้ว ยังเป็นความผิดพลาดของการบริหารจัดการ ซึ่งในขณะที่มีน้ำปริมาณมากอยู่แล้ว ยังปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาสมทบอีก เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำเขื่อน ไม่ได้เตรียมพร่องน้ำไว้รอรับน้ำฝนที่จะมาเพิ่ม และไม่มีใครรู้ว่า น้ำจะมากขนาดนั้น ทั้งๆ ที่มีสัญญาณมาตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ทั้งนักวิชาการด้านน้ำ  และผู้เชี่ยวชาญไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสามารถที่จะออกมาเตือน ดังนั้นจึงวิกฤต

 

นอกจากนี้วิกฤตที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการขาดความร่วมมือในการการระบายน้ำ เมื่อน้ำที่ลงมาจากเขื่อนเจ้าพระยา จ.วัดชัยนาท ควรที่จะถูกแบ่งออกไปที่แม่น้ำท่าจีน แต่กลับไม่สามารถเข้าทุ่งที่ จ.สุพรรณบุรีได้ ดังนั้นเมื่อมวลน้ำลงมาถึงอยุธยาและมีแม่น้ำป่าสักมาเติม กรมชลประทานต้องพร่อน้ำจากแม่น้ำป่าสัก แต่ไม่สามารถผันน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าทุ่งหนองเสือได้ การบริหารจัดการน้ำจึงไม่เป็นไปอย่างภาวะปกติ น้ำที่ควรจะลงมาอย่างรวดเร็ว ผ่านคลองรังสิต มาที่มีนบุรี ฟลัดเวย์ ผ่านคลองสามวา น้ำไม่สามารถมาทางนั้นได้ และยังมีพนังกั้นน้ำอีก น้ำจึงเทไปฝั่งตะวันตก คือน้ำจะไหลไปตามคันดินของประตูน้ำแถบรังสิต น้ำจึงเปลี่ยนทางที่จะไหลจากเหนือลงใต้ทางฝั่งตะวันออก กลับไปไหลลงทางฝั่งตะวันตก ซึ่งไม่มีโครงสร้างใดๆ รองรับ จึงเกิดน้ำท่วมอย่างหนักอย่างที่เห็นกัน

 

 

          “ถ้าถามว่าปีที่แล้ว น้ำท่วมที่เกิดขึ้นมาจากไหน ส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งความเสียหายมาจากฝีมือการทำงานที่ไม่ประสานกัน และการที่ไม่รู้จักน้ำ ว่าจะมีมากขนาดนั้น จึงไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้เกิดความเสียหายมาก โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเสียหายหนักมากอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าหากเตือนให้เขาเตรียมตัวรับมือได้ทัน” ศศินกล่าว

 

 

ทั้งหมดคือสถานการณ์เมื่อปี 2554 แต่ในปี 2555 สถานการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะฟ้าฝนต่าง ๆ เป็นปกติ ค่อนข้างจะไปทางแล้งด้วยซ้ำ มันต่างกัน แต่ถามว่าปีที่ฟ้าฝนเป็นปกติน้ำท่วมไหม ก็มีน้ำท่วมแบบปกติ ไม่ใช่ท่วมแบบวินาศสันตะโร

 

 

ชี้‘สุโขทัย’ห่วย-ประมาท ไม่ดูแลพื้นที่คันกั้นน้ำ-ปล่อยให้พัง

 

 

ศศินกล่าวต่อว่า ที่ราบภาคกลางทั้งหมดของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน คือที่ราบที่น้ำท่วมถึง โดยกระบวนการไม่ว่าน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำก็จะต้องท่วม เพียงแต่สูงมากหรือน้อยเท่านั้นเอง แต่คนที่อยู่ในเทศบาลเมือง นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ควรจะถูกน้ำท่วม เพราะมีระบบป้องกันอยู่แล้ว เช่น ถนน ก่อนการก่อสร้างเขาจะดูอยู่แล้วว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 20 ปี สูงเท่าไหร่ ก็จะยกระดับถนนขึ้นมา เทศบาลเมืองก็จะต้องถมป้องกัน อันนี้คือมาตรฐานของเทศบาลส่วนใหญ่ ดังนั้นในภาวะที่น้ำท่วมปกติ มันก็จะต้องท่วมที่นาเสียหายบ้าง แล้วแต่การบริหารของกรมชลประทาน ได้ผลบ้าง เสียหายบ้าง แต่ว่าเมืองไม่ควรท่วม

 

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย ไม่ได้เกิดจากปริมาณน้ำมากเกินไปแต่อย่างใด แต่เกิดจากความประมาทของจังหวัด ไม่ซ่อมคันกั้นน้ำที่ต่ำอยู่แล้วให้เรียบร้อย เมื่อน้ำมาจึงเซาะตรงส่วนคันกั้นน้ำที่พัง ก่อนจะไหลเข้าท่วมในเขตเทศบาลอย่างที่เป็นข่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   “แต่น้ำที่ท่วมสุโขทัยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากความผิดพลาด อุบัติเหตุ การไม่ซ่อมคันกั้นน้ำที่พื้นที่มันต่ำอยู่แล้ว คุณประมาท นั่นคือสาเหตุที่น้ำท่วมสุโขทัย ส่วนที่อื่นถ้าไม่เกิดเหตุแบบสุโขทัยมันก็ไม่ควรจะท่วม” ศศินกล่าว

 

 

จวกสื่อทำ ‘ข่าวท่วม’ คนแตกตื่น ทั้งที่เคยน้ำท่วมปกติ

 

 

นอกจากนี้ศศินยังกล่าวถึงสภาพพื้นที่ของ จ.สุโขทัย ซึ่งจะมีน้ำท่วมทุกปีเป็นปกติ ว่า ในอดีตที่ผ่านมา คนไทยอยู่กับน้ำตลอดเวลา และเป็นเรื่องธรรมดา ทุก ๆ ปีน้ำจะเข้าไปในนา และบ้านที่อยู่ในนาข้าว ไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาลน้ำก็ต้องท่วมตามสภาพ  แต่ปีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือปรากฏการณ์ข่าวท่วม ซึ่งหลายหมู่บ้านที่อยู่กลางทุ่ง ไม่ได้อยู่ในเขตเทศบาล ไม่มีการป้องกันน้ำ มีน้ำท่วมอยู่แล้วเป็นวิถีชีวิตปกติ นักข่าวก็ไปทำข่าว ทำให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจผิด และสร้างความตื่นตระหนกว่าน้ำท่วมอีกแล้ว  ในขณะที่ชาวบ้านที่เคยรับน้ำท่วมได้ แต่เมื่อน้ำท่วมและเขาได้รับค่าชดเชยและเป็นข่าว เขาก็ยิ่งชอบ ทั้งปลูกข้าวเพื่อจะรับน้ำท่วมทั้งตัวบ้านที่ได้รับค่าชดเชย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทุกปีน้ำท่วมเป็นปกติอยู่แล้ว

 

 

             “สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ ปรากฏการณ์ข่าวท่วม หลายหมู่บ้านที่น้ำท่วมเป็นปกติ นักข่าวก็ไปทำข่าวรายงานข่าว สร้างความตื่นตระหนกให้คนทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ว่าปีนี้น้ำต้องมาแน่”

 

 

แผนกยอ.ผันออกรอบนอกป้องนิคมฯ-กทม.

 

 

ศศินกล่าวอีกว่า แต่เรื่องที่ไม่ปกติคือ มีแผนที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน กำหนดนโยบายว่า น้ำจะต้องไม่ท่วมภาคกลาง เพื่อจะดึงการลงทุนจากต่างประเทศกลับมา หลังจากสถานการณ์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกยอ.ได้วางแผนการระบายน้ำ โดยน้ำจากสิงห์บุรีจะลงมาที่ตอนเหนือของพระนครศรีอยุธยา และจะถูกเบี่ยง ดังนั้นอ่างทองจะเป็นที่รับน้ำใหญ่ที่สุด ต่อมาที่ อ.บางบาล บางปะหัน มาที่ทุ่งบางไทร เสนา ทุ่งเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา ตัดลงมาที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี  อ้อมมาลงที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม เส้นทางนี้เป็นเส้นการระบายน้ำที่กยอ.ออกแบบมา ไม่ให้น้ำท่วมอีก

 

ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ได้วางโครงสร้างตามที่กยอ.ออกแบบ และมีนโยบายออกมา ซึ่งแผนนี้จะเบี่ยงน้ำมวลใหญ่ออกไป ไม่ให้ท่วมนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา มาจนถึงนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ได้ และเบี่ยงน้ำออกไปทางฝั่งตะวันตก ลงแม่น้ำท่าจีน ลงฟลัดเวย์ทาง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม   

ในขณะที่ น้ำจากแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก จะออกทางคลองรพีพัฒน์แยกตะวันตก แล้ววนออกทางคลอง 14 เข้าคลองรพีพัฒน์ ออกคลองรังสิต และออกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ไปทาง จ.สมุทรปราการ  ดังนั้นรูปแบบการระบายน้ำตามแผนที่ของ กยอ. จะเป็นเหมือนตัวกอไก่ ที่อ้อมที่ราบภาคกลางจากอยุธยามาถึงกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ

 

ทั้งนี้จากแผนการผันน้ำดังกล่าว ไม่สามารถบอกได้ว่าดำเนินการไปตามแผนของกยอ.หรือไม่ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ เป็นไปตามแผนครึ่งหนึ่ง ส่วนฝั่งตะวันออก อ.บางบาล บางปะหัน เสนา พื้นที่ที่ประกาศเป็นภัยพิบัติแล้ว ซึ่งน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เป็นน้ำท่วมที่จงใจหรือไม่ ไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                  “นี่คือแผนของ กยอ.ที่ไม่รู้ว่าทำจริงหรือไม่จริง แต่วันนี้ อำเภอและพื้นที่ที่ประกาศภัยพิบัติในเริ่มต้น เป็นไปตามแผนที่นี้ครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะตะวันออก ส่วนตะวันตกทางฝั่งหนองแค หนองแซง สระบุรีลงมาจนถึงองครักษ์ น้ำยังน้อยอยู่เพราะน้ำทางฝั่งแม่น้ำป่าสักปีนี้ยังแล้ง แต่ว่าฝั่งตะวันออก พื้นที่ที่ประกาศภัยพิบัติคือพื้นที่ที่ขีดเส้นไว้แล้ว และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้ เป็นน้ำท่วมที่จงใจหรือไม่ ไม่มีใครสามารถรู้และบอกได้ เพราะส่วนหนึ่งที่เขาออกแบบไว้ เป็นที่ต่ำอยู่แล้วด้วย เพียงแต่เขาจะได้รับผลกระทบมากขึ้น น้ำก็จะไปหาเขาเร็วขึ้น แรงขึ้น มากขึ้น เพราะว่าน้ำจะไม่ถูกแบ่งมาที่ทุ่งรอบนิคมฯโรจนะเลย”

 

 

คาดน้ำเข้าไม่ถึงกรุงเทพฯแน่ เพราะมีแผนชัดเจน-น้ำไม่มาก

 

 

อย่างไรก็ตาม ศศินสรุปว่า ปีนี้น้ำไม่น่าจะเข้ากรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีแผนการผันน้ำที่ชัดเจน สองคือปริมาณน้ำไม่มาก ซึ่งปีที่น้ำปกติแบบนี้จะผันไปลงที่นครชัยศรีได้แน่นอน ปริมาณน้ำไม่มากสามารถดำเนินการตามแผนได้ ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ห่างอยุธยาประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งมวลน้ำกว่าจะเข้าถึงกรุงเทพฯ ต้องผ่านพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กันไว้ก่อน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               “โอกาสที่น้ำจะมากรุงเทพฯ น้อยมาก ปทุมธานีก็น่าจะปลอดภัยด้วย เพราะน้ำจะอ้อมไปออกนครปฐม ตามแผนของกยน. ตามนโยบายของกยอ.น้ำจะไปนครปฐมหมด อ้อมไปตั้งแต่อยุธยาตัดสุพรรณบุรี เข้านครปฐมทาง อ.บางเลน ออกอ.นครชัยศรี สามพราน คาดว่า รัฐบาลทำได้แน่ ถ้าจะทำ เพราะน้ำไม่มาก แต่ถ้าน้ำมากอาจจะทะลักเข้ามา”

 

 

อย่างไรก็ตามปัญหาตอนนี้ คือไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรบ้างกับแผนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งงบประมาณ 350,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติไว้นั้น เพิ่งใช้ไปเพียง 10,000 กว่าล้านบาท ยังไม่มีโครงการใด ๆ เกิดขึ้นกับงบประมาณในส่วน 350,000 ล้านบาท เนื่องจากเงินยังไม่มี เพราะเงินส่วนนี้คือเงินกู้ โดยรัฐจะต้องสร้างโครงการมี TOR ออกมาก่อน เช่น เขื่อนแม่วงก์ 13,000 ล้านบาท โดยใช้โครงการที่จะสร้างไปกู้เงินต่างประเทศมาให้ครบ 3.5 แสนล้าน จึงจะดำเนินการตามแผนนั้นได้

 

 

โอกาส 1 ใน 200 น้ำท่วม กทม.

 

 

            “ปีนี้ไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาดเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้น้ำน้อย และรัฐบาลน่าจะรู้อยู่แล้วว่าน้ำไม่ท่วม เพราะน้ำมันน้อยและมีแผนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้ามีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลาง อยุธยา กรุงเทพฯ แบบที่เกิดขึ้น และฝนตกอยู่ในขณะนี้หลายวัน อาจจะเกิดน้ำท่วมได้ เหมือนโมเดลเมื่อปี 2526 เรียกว่าฝนพันปี  คือไม่ต้องมีน้ำจากเขื่อน ไม่ต้องมีพายุ เพราะขณะนี้เพิ่งเดือนกันยายน ร่องความกดอากาศจะเกิดได้ถึงเดือนพฤศจิกายน ถ้าลมหนาวยังไม่มา ยังมีโอกาส ถ้าถามว่าน้ำจะท่วมแน่หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่จะร้ายแรงเหมือนปี 2554 หรือไม่ โอกาสน้อยมาก 1 ใน 200 แม้จะท่วมแต่ก็ใช้เวลาสั้น ๆ สามารถปิดล้อมระบายออกได้  ปีนี้ไม่มีน้ำ ปริมาณน้ำไม่พอจะทำให้ท่วมได้” ศศินกล่าว

 

 

 

 

รัฐต้องเปิดเผยข้อมูล-พูดให้เคลียร์

 

 

ทางด้าน หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว มาจากหลักใหญ่ ๆ โครงสร้างการก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ และสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์หนักขึ้นคือ การเมืองไปยุ่งกับการบริหารที่ข้าราชการทำมากเกินไป และสุดท้ายคือรัฐบาลไม่เคยฟังชาวบ้าน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เมื่อรัฐบาลพูดจะบอกว่า เชื่อชาวบ้านในท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กได้ แต่เวลาที่แก้ปัญหามีแต่โครงสร้างใหญ่มหาศาล ไม่เคยฟังชาวบ้าน

 

       “วันนี้ถ้าถามว่า น้ำจะท่วมแบบปีที่แล้วหรือไม่  โดยสถานการณ์ไม่น่าจะเหมือนปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้วน้ำทะลักมา แต่ปีนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังรับได้อยู่ ต้องดูปริมาณน้ำที่นครสวรรค์ ถ้าเกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที ก็น่าเป็นหวง ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,800-2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หาญณรงค์กล่าวต่อว่า การรายงานข่าวของสื่อเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมนั้น สื่อมองภาพไม่ออก ไม่รายงานตามพื้นที่ เช่น รายงานที่แม่น้ำยม จากนั้นมารายงานที่นครสวรรค์  แล้วมาต่อที่กรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนที่ติดตาม นึกภาพแผนที่ไม่ออกว่า ตกลงน้ำมันไหลอยู่ตรงไหน ซึ่งสื่อเองอาจจะมองภาพไม่ออกด้วย ถ้าจะให้ชัดเจน ควรจะใช้แผนที่ วันนี้ลองมานั่งหน้าจอทีวีตอนเช้า ตั้งแต่ 6 โมง ถึง 8 โมงเช้า เราจะยิ่งสับสน ดังนั้นวันนี้สังคมควรรู้ข้อมูลที่เป็นสถิติ  รู้จักแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ว่า น้ำไหลมากรุงเทพ ฯ ยังไง และรู้จักลำน้ำสาขา รู้ปริมาณน้ำไหล และควรจะรู้ไปถึงระบบนิเวศลำน้ำที่ต่างกันด้วย

 

 

              “หน่วยงานราชการควรจะให้ข้อมูลกับชาวบ้านเท่าที่ข้าราชการรับรู้ และควรจะอธิบายต่อสาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม อย่าหมกเม็ด ซึ่งถ้ามีการอธิบายเท่ากันหมด ประชาชนจะสบายใจกับการบริหารงานมากขึ้น ได้เห็นภาพรวมมากขึ้น” หาญณรงค์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: