จับตาครม.สัญจรสมุยไฟเขียว27โครงการ ภาคประชาชนใต้จี้สช.ปฏิรูป‘อี-เอชไอเอ’ ชี้เป็นพื้นที่เกษตรฯ-ยันไม่เอาอุตสาหกรรม

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 19 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1905 ครั้ง

ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมนำทีมคณะรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมครม.สัญจร ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 21-22 ตุลาคม โดยในการประชุมมีประเด็นหลัก ที่จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่ายว่า การประชุมครั้งนี้ รัฐบาลจะพิจารณาเกี่ยวกับโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ไปในทิศทางใด

 

 

เครือข่ายใต้แสดงความคิดเห็น 9 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

 

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 (ร่างแรก)  โดยจัดรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาชน ในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีการนำเสนอ 9 มติหลัก ที่จะเข้าสู่ประชุมใหญ่ในช่วงปลายปีนี้  และภายใน 9 มติดังกล่าว มีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังจะถูกนำเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) และการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมธรรมรินทร์ จึงได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม ภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เน้นประเด็นสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงแผนพัฒนาภาคใต้

 

 

ประเด็นมติ ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งประกอบไปด้วย แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ได้ถูกนำมาพิจารณา แสดงความคิดเห็น แก้ไขปรับปรุงกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ที่มีเป้าหมาย การขับเคลื่อนสู่ การปรับปรุงการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จนท้ายที่สุดจะนำไปสู่การปรับแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน มีการพิจารณากันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเห็นว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่กลับละเลยแนวทางการดูแลควบคุม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมไปถึง วิถีชีวิตของชาวภาคใต้อย่างจริงจัง

 

 

ภาคใต้ยันใช้เกษตรนำเศรษฐกิจดีกว่าเอาอุตสาหกรรมเข้าพื้นที่

 

 

นายไมตรี จงไกรจักร จากเครือข่ายชุมชน จ.พังงา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ ประเด็นเรื่องการพัฒนาใหม่ ๆ ที่กำลังแพร่ขยายลงมาในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น โดยจะพบว่า เกือบทุกพื้นที่ในเขตภาคใต้ กำลังมีจะมีการนำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก หรือโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดต่าง ๆ ในขณะที่ระบบของการตรวจสอบ หรือให้ความรู้กับประชาชนของไทย ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลและสังคมจะต้องให้ความสนใจก็คือ จะทำอย่างไรในการที่จะดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังการพัฒนาเหล่านั้น เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่างเกิดขึ้นในหลายนิคมอุตสาหกรรมมาแล้ว

 

          “ที่ผ่านมาเรื่องนี้รัฐไม่เคยให้ความรู้รอบด้าน เกี่ยวกับการนำอุตสาหกรรมเข้ามาพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มีเพียงการบอกว่า อุตสาหกรรมเป็นตัวสำคัญ ที่จะต้องนำเข้ามา เพื่อให้เกิดการพัฒนาทำให้เศรษฐกิจดี ดังนั้นชุมชน เครือข่ายภาคีที่ทำงานด้วยกัน จึงต้องพยายามที่จะหาข้อมูลมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า แท้จริงแล้วในพื้นที่ภาคใต้เศรษฐกิจจะดีนั้น ไม่จำเป็นต้องมีอุตสาหกรรม เพราะมีทรัพยากรอื่น ๆ อีกมาก ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่จะทำให้เราขับเคลื่อนไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร คือสิ่งที่ทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแผนพัฒนาภาคใต้ และกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ก็เป็นแนวทางหนึ่ง ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้” นายไมตรีกล่าว

 

 

จี้รัฐเคลื่อน มติปฏิรูป EIA/EHIA

 

 

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ แม้จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นในร่างแรก ก่อนที่จะนำไปสู่การแก้ไขในขั้นตอนต่อ ๆ ไปนั้น นายไมตรีกล่าวว่า ในปีนี้มติสมัชชาสุขภาพที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 ประเด็น คือ เรื่องของแนวทางการปฏิรูปโครงสร้าง และระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล และการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ล้วนแต่เป็นประเด็นปัญหา ที่เกี่ยวข้องกับภาคใต้เกือบทั้งหมด เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล การเกิดหมอกควันในหลายพื้นที่ภาคใต้ เช่น ตรัง สงขลา สตูล ซึ่งมีสาเหตุมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

 

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ภาคีเครือข่ายภาคใต้ พยายามผลักดันในหลายรูปแบบ หนึ่งในการขับเคลื่อนคือ การส่งความคิดเห็นไปในมติสมัชชาสุขภาพ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่บอกถึงความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ภาคใต้นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ให้ตั้งองค์กรกลางทำอีไอเอ ไม่ใช่เจ้าของโครงการทำเอง

 

 

                  “ในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนพยายามที่จะพิจารณาในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความชัดเจน ครอบคลุมการป้องกันในประเด็นต่าง ๆ มากที่สุด ซึ่งเท่าที่มีการพูดคุยกันในเครือข่าย ที่ทำงานในจังหวัดต่าง ๆ ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วง และจะเห็นว่าเรากังวลกันมากคือ ประเด็นเกี่ยวกับการจ้างบริษัทที่ปรึกษา ในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ที่ปัจจุบันเจ้าของโครงการเป็นผู้จัดหา และจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำเรื่องนี้เอง ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า จะต้องให้โครงการผ่านการพิจารณาและก่อสร้างได้ และเราไม่เชื่อถือในเรื่องนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วควรจะมีการจัดตั้งเป็นองค์กรกลาง ที่จะมาทำเรื่องนี้ ไม่ใช่เจ้าของโครงการ เป็นข้อถกเถียงที่พูดคุยกันมากในประเด็นนี้” นายไมตรีกล่าว

 

 

สิ่งที่เครือข่ายส่วนใหญ่เห็นตรงกันก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้สิ่งที่ภาคประชาชนนำเสนอ กระทั่งออกไปเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และจะนำไปขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมจริง ๆ เพราะหากมีการนำเสนอประเด็น การมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ออกไปแล้ว แต่มติเหล่านี้ยังคงนิ่งอยู่กับที่ ก็เหมือนว่าไม่ได้มีประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจริง  ทุกอย่างจะนิ่งไปหมด ดังนั้นจึงอยากให้เครื่องมือต่าง ๆ เมื่อมีการจัดทำด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว ระดับบริหารจะรับฟังและนำไปใช้ได้จริง และขับเคลื่อนต่อไป ไม่ใช่เป็นเพียงตัวหนังสือที่เขียนไว้เพียงในกระดาษเท่านั้น

 

 

                  “ตอนนี้ในพื้นที่ เครือข่ายเราพยายามที่จะสื่อสารกับสาธารณะออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้ภาคประชาชนมีโอกาสแสดงจุดยืน ความคิดเห็น เพื่อให้สิ่งที่เราคิดว่าควรจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ขับเคลื่อนไปได้ ไม่ใช่นิ่ง ๆ อยู่กับที่ เมื่อมีเครื่องมือใดที่นำมาใช้ อย่างสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เราก็เข้าร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และหวังว่าการที่เราได้มามีส่วนร่วมนี้ จะถูกนำไปใช้จริง มีการเคลื่อนไหวไปบ้าง ไม่ใช่ทำไปแล้วอยู่กับที่ เพราะมันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย” นายไมตรีกล่าว

 

 

หาเครื่องมือแก้ปัญหาแต่ยังไม่มี

 

 

ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ ประธานมูลนิธิหยาดฝน จ.ตรัง กล่าวว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นใหญ่ ที่จะส่งผลกระทบไปถึงเรื่องอื่น ๆ ทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม และปัจจุบันในมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมถึง 3 ประเด็น หากสามารถขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมได้จริง จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะโครงการด้านการพัฒนาต่าง ๆ ที่กำลังถูกนำเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ จนทำให้หลายพื้นที่เกิดความขัดแย้งรุนแรง จึงคิดว่าการที่มีกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ น่าจะเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยในการหาทางออก ลดความขัดแย้งรุนแรงได้

 

 

                      “อย่างในจ.ตรังที่กำลังจะมีการตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลใน อ.กันตัง ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกลุ่มต่อต้านกับกลุ่มสนับสนุน เรื่องนี้คิดว่า น่าจะใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างด้วยการวิธีการสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินี้มาใช้ คือการรับฟังความคิดเห็น พูดคุยร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ วิชาการ ภาคประชาชน ก็น่าจะทำให้ปัญหาอ่อนลง และมีแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันมากขึ้น เราก็หวังว่าจะเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้สิ่งที่เป็นอยู่คือ คนในพื้นที่ยังไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก และยังไม่มีเครื่องมือ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สช.หวังใช้เวทีใหญ่ระดมสมองเคลื่อนประเด็นเสนอรัฐ

 

 

ด้านน.พ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้งสมัชชาสุขภาพขึ้นมาตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายด้านสุขภาพ ที่จะนำเสนอไปยังระดับบริหารตามหลัก สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ใช้เป็นเครื่องมือทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม มีการดำเนินการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนสำคัญ ทั้งภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาสังคมในทุกภาค โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นด้านสุขภาพ ที่จะนำเข้าสู่การขอฉันทามติในระดับชาติ ที่จะมีการประชุมในทุก ๆ ปี ซึ่งปีนี้นับเป็นครั้งที่ 5 แล้ว

 

จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ที่การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ โดยในมติทั้ง 9 มติ จะเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของสุขภาพและสังคม ทั้งในแต่ละภาคจะมีประเด็นที่ให้ความสนใจแตกต่างกัน และร่วมกันในบางมติ โดยในพื้นที่ภาคใต้ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเพราะมีเป็นประเด็นร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ อย่างไรก็ตามการที่ได้มีการพูดคุย หารือ และร่วมแก้ไขในมติที่จะมีการนำไปพูดคุยในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงปลายปีนี้ จะทำให้ภาคีเครือข่ายฯ จะได้ร่วมพูดคุย ปรึกษาหารือ หรือมีข้อเสนอแนะต่อร่างเอกสารหลัก/ร่างมติ (ร่างแรก) ร่วมกันเช่นเดียวกับเวทีในภาคอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด

 

 

สุราษฎร์จ่อรอครม.สัญจรไฟเขียวงบพัฒนา 100 ล้าน

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายวงศ์ศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมเตีรยมความพร้อมรับครม.สัญจรว่า นับเป็นโอกาสดีที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงจังหวัดอื่นในกลุ่มจังหวัดฝั่งอ่าวไทย จะได้นำเสนอโครงการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาต่าง ๆ เข้าสู่การพิจารณาของครม. ทั้งนี้ทางจังหวัดมั่นใจว่า การจัดประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ปราศจากปัญหาอุปสรรค และเป็นที่ประทับใจของทุกฝ่าย ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีจะเสนอโครงการรองรับงบประมาณประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน วงเงิน 50 ล้านบาท โครงการจัดตั้งโรงเรียน ม.อ.วิทยานุสรณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี งบประมาณ 20 ล้านบาท โครงการศูนย์เรียนรู้ประชาคมอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี งบประมาณ 15 ล้านบาท โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.ตะปาน อ.พุนพิน งบประมาณ 7.5 ล้านบาท และโครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค อ.เกาะสมุย งบประมาณ 7.5 ล้านบาท

 

 

หอการค้าสุราษฎร์ฯ ขอซ่อมเพชรเกษมทั้งสาย

 

 

นายสุทัศน์ เลิศมโนรัตน์ ประธานหอการค้า จ.สุราษฎร์ธานี ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า การประชุม ครม.สัญจรที่เกาะสมุยนี้ ในส่วนของภาคเอกชนมีโครงการที่นำเสนอต่อครม.เป็นวาระเร่งด่วนคือ เรื่องปัจจัยพื้นฐานก่อนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะการเร่งซ่อมบำรุงถนนสายเพชรเกษม หรือสาย 41 เส้นทางลงภาคใต้ทั้งสาย ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แต่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง ขอให้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพราะเป็นโครงการที่ทำอยู่แล้ว เนื่องจากในปัจจุบันยังมีปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งระบบโลจิสติกส์มาโดยตลอด

 

ส่วนโครงการที่นำเสนอเพื่อให้ ครม.พิจารณารับเป็นวาระเพื่อการศึกษาและมีโอกาสที่จะสามารถดำเนินการได้ไม่ยาก คือโครงการถนนสายการท่องเที่ยวอันดามัน-อ่าวไทย ระยะทางประมาณ 1,000 กกิโลเมตร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน อีกทั้งโครงการดังกล่าวเคยนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจรมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยขอให้มีการศึกษาแผนแม่บทอ่าวไทย-อันดามันที่สามารถเกื้อหนุนกันได้

 

 

ขอรถไฟอ่าวไทย-อันดามัน และรอบเกาะสมุย

 

 

ขณะเดียวกันขอให้ทบทวนหรือศึกษาเส้นทางรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต โดยอาจจะใช้เส้นทางเชื่อมกับถนนสาย 44 หรือสายเซาเทิร์นซีบอร์ด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวอันดามัน-อ่าวไทย เชื่อมต่อกันได้สะดวกขึ้น

 

สำหรับเกาะสมุย ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อระดับโลก จะขอให้ศึกษารถไฟฟ้ารางเบารอบเกาะ ไม่ต้องเทียบเท่าในกรุงเทพ ฯ เพื่อลดการนำรถยนต์ลงไปที่เกาะ เป็นการป้องกันอุบัติเหตุ และลดมลภาวะ เพราะถนนรอบเกาะสมุยระยะทางไม่มากนัก ประมาณ 45 กิโลเมตรเท่านั้น

 

 

ให้รัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานคาดใช้งบ 3 หมื่นล้าน

 

 

นายสุทัศน์กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคการลงทุนจะนำเสนอ เรื่องของการส่งเสริมการลงทุน การแปรรูปยางและปาล์ม เพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิต ราคาพืชผลการเกษตรจะได้ไม่ผันผวน เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ ยางและปาล์มเป็นการลงทุนขั้นต้นเท่านั้น ทำให้ราคาไม่นิ่ง จึงเป็นปัญหากับเกษตรกรผู้ผลิตมาโดยตลอด หากมีลงทุนในรูปของแปรรูปขั้นสูง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำอย่างแน่นอน

 

 

อย่างไรก็ตามการประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ ภาคเอกชนคาดหวังขอให้ดำเนินการเร่งด่วนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานให้เร็วที่สุด ต่อเนื่องจากครม.สัญจรที่จ.ภูเก็ต ส่วนโครงการอื่น ๆ ขอให้พิจารณาหรือทำการศึกษาไว้ก่อนเชื่อมั่นว่าทำได้ไม่ยาก เพราะส่วนใหญ่มีโครงการอยู่แล้ว แต่หากให้ดำเนินการทั้งระบบทั้งให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และการส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตร รวมทั้งระบบสาธารณสุข, การศึกษา คาดว่าต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ครม.สัญจรสมุยเตรียมอนุมัติ 27 โครงการฝั่งอ่าวไทย

 

 

สำหรับโครงการที่ครม.จะลงพื้นที่ตรวจดูความคืบหน้าของการดำเนินการ ประกอบด้วย 27 โครงการ ได้แก่

 

1.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย มี 5 โครงการ ได้แก่ โครงการศึกษาความเป็นไปได้และการสำรวจออกแบบเบื้องต้นท่าอากาศยานนานาชาติดอนสัก, โครงการปรับปรุงทางหลวงย่านชุมชน, โครงการก่อสร้างทางคู่ขนาน ทางหลวงสายเอเชีย (สาย 41) เขตชุมชน, โครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตพื้นที่ (Core Zone) และเขตพื้นที่กันชน (Buffer Zone) เพื่อนำเสนอพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชสู่มรดกโลก และโครงการอาชีวศึกษาชุมพรเชิงบูรณาการสู่ประชาคมอาเซียน

 

2.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 9 โครงการ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ท่องเที่ยวหาดเฉวง อำเภอเกาะสมุย, โครงการขุดบ่อบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ อำเภอเกาะสมุย, โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเกาะเต่า, โครงการบริหารจัดการน้ำ (แก้มลิงทุ่งหัวสน), โครงการศูนย์บริหารจัดการสารสนเทศสำหรับนักท่องเที่ยว, โครงการจัดตั้งโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี, โครงการส่งเสริมชุมชนต้นแบบในพื้นที่จัดสรรที่ดินทำกิน, โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร และโครงการบริหารจัดการขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.จังหวัดชุมพร มี 5 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริชุมพร, การพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ (ศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่), โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่หนองใหญ่ตามแนวพระราชดำริฯ (ขุดลอกแก้มลิงหนองใหญ่), โครงการศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กว่า 4,100 โครงการ และโครงการยกระดับคุณภาพกำลังคนอาชีวศึกษาเชิงบูรณาการสู่ประชาคมอาเซียน

 

4.จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสมัชชาหมู่บ้าน/ชุมชนพลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด, โครงการวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราชเป็นมรดกโลก, ขุดลอกคลองท่าซักเพื่อป้องกันอุทกภัยจังหวัด (หมู่ 2—9 ต.ท่าซัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช), ก่อสร้างถนนสายชายทะเล-บ้านสี่กั้ก ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา และการก่อสร้างสะพานข้ามคลองชะอวด ต.ชะอวด ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

 

5.จังหวัดพัทลุง มี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการระบายน้ำ, โครงการขุดลอกคลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และโครงการปรับปรุงโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อการระบายน้ำและป้องกันการกัดเซาะ

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: