จับตาสองมหาอำนาจโลกมาเยือน หวังไทยเป็น‘สะพาน’หรือ ‘เหยื่อ’ บนผลประโยชน์การค้า-การลงทุน

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 19 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1979 ครั้ง

 

ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นสะพานเชื่อมอำนาจสำคัญระหว่างภูมิภาคอาเซียน กับ 2 มหาอำนาจของโลก เมื่อทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ถึงวาระเปลี่ยนผู้นำประเทศใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา ชนะเลือกตั้งสมัยที่สอง ยืนยันเดินทางเยือนประเทศไทยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2555 หลังชนะเลือกตั้งเพียง 12 วัน  (ชนะเลือกตั้งวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 เดินทางมาเยือนไทย วันที่ 18 พฤศจิกายน 2555)

 

เช่นเดียวกับ เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน ที่ยืนยันเดินทางเยือนประเทศไทย เช่นกัน หลังพรรคคอมมิวนิสต์ผลักดันให้ สี จิ้น ผิง ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค และเตรียมตัวเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของจีนได้สำเร็จเพียง 12 วัน (ได้รับเลือกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 เดินทางมาเยือนไทยวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2555)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฝ่ายสหรัฐอเมริกา ต้องการเดินทางมาย้ำเจตนารมย์ “ให้ความสำคัญกับเอเชีย” ด้วยการเยือนไทย เยี่ยมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ที่ประเทศกัมพูชา ก่อนจะเดินทางเข้าพม่า พร้อมทั้งยืนยันกับประเทศคู่เจรจาและมิตรประเทศ อย่าง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ด้วย

 

แม้เวิน เจียเป่า กำลังจะเกษียณอายุ แต่เขาก็ยังมีอำนาจมากพอ ที่จะทำให้นานาชาติเข้าใจได้ว่า ประเทศไทยจะเป็นตัวเชื่อมกับ 2 ชาติ และทั้ง 2 ชาติ จะดึงน้ำหนักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาอยู่ในซีกโลกตะวันออกได้

 

วาระทางการทูต ที่ประเทศหไทยและสหรัฐอเมริกา จะแสดงให้นานาชาติรับรู้คือ ไทยเป็นพันธมิตรสำคัญตามสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกา และเนื่องในวาระครบรอบ 180 ปี ความสัมพันธ์ไทย- สหรัฐอเมริกา 

 ผู้นำทั้ง 2 ชาติ จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย โดย บารัค โอบามา จะเดินทางเข้าเฝ้าฯ ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ส่วนนายเวิน เจียเป่า จะเข้าเฝ้าฯ ในวันที่  21 พฤศจิกายน ในการนี้นายเวิน เจียเป่า มีกำหนดการเข้าเฝ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ด้วย

 

การทูตแบบตะวันตก กับการทูตแบบตะวันออก นับว่ามีข้อน่าสังเกตไม่น้อย

 

 

การทูตการค้าโลกถึงใต้พรมแดงในทำเนียบ

 

 

ก่อนการเดือนทางมาเยือนไทยของผู้นำจีน 2 สัปดาห์ คณะรัฐมนตรีฝ่ายไทย ได้เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 โดยกำหนดปริมาณข้าวที่ขายให้กับรัฐบาลจีนในแต่ละปี ไม่เกิน 5 ล้านตัน จากเดิมที่เคยขายในปริมาณปีละไม่เกิน 3 แสนตัน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

 

เป็นการเห็นชอบตามข้อเสนอ “ลับ” ใน  “วาระจร” ของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ทันกับการเดินทางมาเยือนของผู้นำจีน ในวันที่ให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ นั่งเป็นประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเวลาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ติดภารกิจประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปที่สปป.ลาว

 

 

 

เป็นการเห็นชอบกรอบเอ็มโอยู ท่ามกลางปัญหาข้อกังขาการระบายข้าวออกจากมือของรัฐบาลไทย ไปต่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ ทั้งนี้ในการเยือนจีนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนเมษายน 2555 มีการเห็นพ้อง ที่จะกำหนดทิศทาง และตั้งเป้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพิ่มปริมาณการค้า 20 เปอร์เซนต์ เพิ่มการลงทุน 15 เปอร์เซนต์ ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ฝ่ายไทยขอให้จีนตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศจีนแบบครบวงจร และเชิญชวนนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์ยางพารา พลังงานลม ชิ้นส่วนยานยนต์ และชีวภาพ

 

กำหนดการทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทย จะเดินทางถึงไทยวันที่ 20 พฤศจิกายน และในวันที่ 21 พฤศจิกายน จะมีการหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.45 น. “จากนั้นจะมีการลงนามความร่วมมือ ของทั้ง 2 ประเทศ ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี” และจะมีนายกรัฐมนตรีของไทย จะเป็นเจ้าภาพ เลี้ยงอาหารกลางวัน

 

ทีมงานเจรจาการค้าเปิดเผยข้อหารือว่า  “การหารือ 2 ฝ่ายไทย-จีน จะเน้นการค้าการลงทุนระหว่างกัน ในปี 2555-2556 ไทยจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีน และช่วยแก้ปัญหาในทะเลจีนใต้  โดยไทยจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความสมานฉันท์ด้วย”

 

 

สัญญา-ภาระ-พันธะแห่งพันธมิตร ข้ามทศวรรษ-ข้ามทวีป

 

 

 

บารัค โอบามา มาเมืองไทย ต้องไม่กลับบ้านมือเปล่า ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดเตรียมร่าง “บันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคี เพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา” ไว้ให้ผู้นำสหรัฐฯ ติดมือกับประเทศ ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบไว้ล่วงหน้าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศขอเสนอเรื่องการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีระหว่างหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการพัฒนาของไทยกับสหรัฐอเมริกา (TICA-USAID Memorandum of Understanding on Trilateral Cooperation) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร. หรือ The Thailand International Development Cooperation Agency-TICA) กับ The United States Agency for International Development (JSAID) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

 

วาระนี้มีที่มาจากเรื่องเดิม เมื่อ 35 ปีก่อนหน้านี้ ที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-สหรัฐ ตั้งแต่พ.ศ.2520 ต่อมาได้เปิดสำนักงาน USAID/Regional Development  Mission for Asia (USAID/RDMA) ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2546 และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อแก้ไขความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 ให้รองรับบทบาทและหน้าที่ของสำนักงาน USAID/RDMA ที่จะให้ขยายครอบคลุมไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

 

การดำเนินงานความร่วมมือภายใต้ความตกลงทางเศรษฐกิจและวิชาการฯ และบันทึกความเข้าใจเพื่อแก้ไขความตกลงดังกล่าวมี มีสำนักงาน USAID ประจำประเทศไทย เป็นผู้ประสานงานหลักฝ่ายสหรัฐฯ โดยให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ภัยพิบัติธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาข้ามชาติ รวมถึงความช่วยเหลือในโครงการพหุภาคีทั้งในกรอบอาเซียนและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ฯลฯ

 

 

ใช้ USAID ขยายบทบาทไปทางเพื่อนบ้านของไทย

 

 

การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา (TICA-USAID Memorandum of Understanding on Trilateral Cooperation) เป็นความริเริ่มของสำนักงาน USAID/RDMA ประจำกรุงเทพฯ เพื่อเป็นกรอบ สำหรับการดำเนินงานความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาระหว่างไทย-สหรัฐ เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างกันไปยังประเทศที่สาม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบความมือร่วมไตรภาคี

 

คณะรัฐมนตรี ระบุว่า  “ร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีระหว่าง สพร.กับ USAID เข้าข่ายที่ควรเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (7) เรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีนัยสำคัญเชิงนโยบายต่อรัฐบาล”

 

ประกอบกับความเร่งด่วน ที่ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเยือนประเทศไทยในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน จึงเป็นโอกาสที่เหมาะสม ที่จะจัดให้มีการลงนามในบันทึกวามเข้าใจความร่วมมือไตรภาคีดังกล่าว ภายหลังการหารือทวิภาคีของผู้นำสนองฝ่าย กระทรวงการต่างประเทศ  เอกสาร-สาระสำคัญของเรื่องและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า สพร. และ USAID ได้เห็นชอบในหลักการที่จะขยายความร่วมมือออกไป ในลักษณะของหุ้นส่วน เพื่อการพัฒนาบนพื้นฐานของการร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย (cost-sharing) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค (ความร่วมมือไตรภาคี)

โดย USAID ได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจ ซึ่งจัดทำโดยอ้างอิงความตกลง ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-สหรัฐฯ เมื่อปี 2520 และบันทึกความเข้าใจแก้ไขความตกลงฯ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 (ทั้งสองฉบับรวมกันถือว่าเป็นความตกลงแม่บทฯ) และมีเนื้อหากว้าง ๆ เพื่อแสดงเจตจำนงของทั้งสองฝ่ายที่จะขยายความร่วมมือไทย-สหรัฐ ไปประเทศที่สามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

 

รายละเอียดที่ผู้นำไทย-สหรัฐฯ จะเห็นชอบใน ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อความตกลงอื่นใดที่มีอยู่ หรือที่จะมีในภายหลัง รวมทั้งไม่ถือเป็นความตกลงที่มีผลผูกพัน หรือก่อพันธกรณีใดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมาย ภายในของไทยหรือของสหรัฐฯ ข้อกตกลงดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดโครงการ และสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน และตรงกับความต้องการของประเทศที่สาม ( ประเทศผู้รับ) โดยมุ่งเน้นกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

การมีผลบังคับใช้ของร่างบันทึกความเข้าใจ จะสิ้นสุดลงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายทราบ และการแก้ไขใด ๆ จะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร ที่ลงนามโดยทั้งสองฝ่ายบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จัดเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานปฏิบัติ ภายใต้ความตกลงแม่บทฯ ที่มีอยู่ระหว่างกัน และไม่มีข้อบทอันจะก่อเป็นข้อผูกพันในระดับรัฐบาล จึงไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

 

 

เปิดเงื่อนไขกำแพงกีดดันการค้า 5 ข้อเพื่อข้อตกลง TPP

 

 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เตรียมให้ 2 ผู้นำไทย-สหรัฐฯ ลงนามในร่าง “การประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-pacific Partnership Agreement หรือ TPP” และการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรี ภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council -TIFA JC)

 

รายละเอียดในเอกสารการลงนาม  มีความเป็นมาว่า  ความตกลง TPP ประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก (แคนาดาและเม็กซิโกเป็นประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2555) ในจำนวนนี้ไทยได้ทำ FTA (Free Trade Area) แล้ว 8 ประเทศ ยกเว้น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทั้งนี้สหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีโอบามา ได้ผลักดันการเจรจา TPP อย่างจริงจัง และได้ประกาศในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ว่า “ความตกลง TPP จะเป็นต้นแบบสำหรับการเจรจาทำความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าในกลุ่มเอเปค (Free Trade Area of The Asia Pacific : FTAAP)”

 

โดยการเจรจา TPP ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 14) เมื่อวันที่ 6-15 กันยายน 2555 ณ เมือง Leesburg มลรัฐเจอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา และการประชุมครั้งต่อไป ครั้งที่ 15 กำหนดจะจัดในวันที่ 3-12 ธันวาคม 2555 ณ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์

 

กระทรวงพาณิชย์ระบุความเร่งด่วนของเรื่องว่า การเข้าเป็นสมาชิกความตกลง TPP ได้กำหนดให้ประเทศที่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก ต้องแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน ที่จะเข้าเป็นสมาชิก ต้องมีการหารือหรือโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกเดิม ยอมรับเข้าเป็นสมาชิก และต้องได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกเดิมทั้งหมด ทั้งนี้สหรัฐฯ มีบทบาทสูงสุด ในการพิจารณายอมรับการเข้าร่วมเจรจา TPP ในโอกาสที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 นับเป็นเวลาเหมาะสมที่ไทยจะประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมการเจรจา TPP

 

ความตกลงที่นักวิชาการวิพากษ์ วิจารณ์ ประกอบด้วย 1.ความตกลง TPP เป็นความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่มีมาตรฐานสูงที่สุดในขณะนี้ เมื่อเทียบกับความตกลง FTA ทั้งหมดทั่วโลก ครอบคลุมหัวข้อเจรจา 26 เรื่อง ทั้งในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตลอดจนการปฏิรูป และการสร้างความสอดคล้อง ในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก เช่น ด้านนโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

 

2.นอกจากนี้ การเจรจา TPP ยังกำหนดให้ทุกประเทศสมาชิก ไม่ว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนา มีข้อผูกพันที่เท่าเทียมกัน โดยไม่มีข้อลดหย่อนผ่อนปรนให้กับประเทศกำลังพัฒนาแต่อย่างใด 3.ประเทศที่สนใจเข้าร่วมการเจรจา ภายหลังจากที่ความตกลง TPP เจรจาเสร็จสิ้นแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความตกลงที่ประเทศสมาชิกเดิมเห็นชอบแล้ว

 

ทางการไทยโน้มน้าวคณะรัฐมนตรี ถึงข้อดีของการเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP สารพัดว่า ประการแรก ไทยทำการค้ากับสมาชิก TPP 11 ประเทศ เป็นสัดส่วนร้อยละ 24.51 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย การค้าระหว่างไทย-ประเทศสมาชิก TPP มีมูลค่ารวม 112,081 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2555 โดยไทยส่งออก 65,565 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.65 ของการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดโลก ทั้งนี้คู่ค้าสำคัญของไทยในกลุ่ม TPP ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม

 

 

 

ประการที่สอง สำหรับสหรัฐอเมริกา เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทย โดยไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 35,235.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในด้านการส่งออก สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 5 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 21,857.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ของไทย จะช่วยขยายตลาดการค้า โดยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และสมาชิก TPP ประเทศอื่นให้มากยิ่งขึ้น

 

ประการที่สาม การเข้าร่วม TPP จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยได้รับสิทธิพิเศษภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ เป็นการถาวรในตลาดสหรัฐฯ โดยไม่ต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐ ที่ให้สิทธิเป็นการชั่วคราว และไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้าต่าง ๆ อีกต่อไป ประการที่สี่ การรักษาและการดึงดูดการค้า การลงทุนจากประเทศสมาชิก TPP และหากไทยไม่เข้าร่วมการเจรจาฯ สินค้าของไทยจะเสียเปรียบการแข่งขันในตลาด TPP กับประเทศสมาชิก TPP ประการที่ห้า การเข้าร่วม TPP จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันและเร่งพัฒนากฎระเบียบต่าง ๆ ภายในประเทศ ให้มีมาตรฐานในระดับสากลมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการค้าโลกยุคใหม่ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ดีขึ้น

 

 

รื้อฟื้นปัญหากีดกันการค้าเก่าพิสูจน์ใครได้ทำเสีย

 

 

วาระในการเยือนของ บารัค โอบามา ยังมีการลงนามเพื่อการรื้อฟื้นการประชุมคณะมนตรี ภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐ (TIFA JC) ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ต่อเนื่องมาจากการเจรจาและปัญหาการค้าเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อไทยและสหรัฐอเมริกา ลงนามกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement : TIFA) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2545 ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ณ ประเทศเม็กซิโก เพื่อขยายความร่วมมือและประสานงานด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยได้จัดตั้งคณะมนตรี (Joint Council) เพื่อติดตามการดำเนินงานของความตกลง TIFA

 

รวมทั้งเพื่อพิจารณาแนวทางการขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน ในการประชุม Joint Council ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จะเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายสหรัฐอเมริกา และและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย โดยทั้งสองฝ่ายอาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโส เป็นหัวหน้าคณะในการประชุมได้

การประชุม TIFA JC ที่ผ่านมามี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (senior official) 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 และระดับรัฐมนตรี 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ต่อมาผู้นำทั้งสองประเทศเห็นชอบให้เริ่มการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 จึงเปลี่ยนจากการประชุมภายใต้ความตกลง TIFA เป็นการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐอเมริกา

 

 

 

อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐได้หยุดชะงักลงหลังการปฏิวัติในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งสหรัฐอเมริกา ประกาศไม่เจรจา FTA กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ หยุดชะงักลงจนถึงปัจจุบัน

 

กระทั่งปี 2555 ฝ่ายสหรัฐอเมริกาทั้งระดับรัฐมนตรีและผู้ช่วยผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ได้เสนอกับฝ่ายไทยให้รื้อฟื้นการประชุม TIFA JC ขึ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การประชุมดังกล่าวจะเป็นช่องทางในการหารือทวิภาคีเรื่องการขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนการหารือเพื่อแก้ไขอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ โดยสหรัฐฯ เสนอเป็นเจ้าภาพการประชุม TIFA JC ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในช่วงเดือนมกราคม 2546

 

การลงนามครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายจะได้แสดงถึงการยอมรับในระดับนโยบาย ของการรื้อฟื้นให้มีเวทีหารือทวิภาคี ประเด็นทางการค้าและการลงทุนอย่างเป็นทางการทั้งนี้  กรอบความตกลง TIFA มีเนื้อหาเกี่ยวกับความร่วมมือ และประสานงานด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยมีการกำหนด Work Program ให้มีการปรึกษาหารือกันในสาขาตาง ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการที่ส่งผลต่อนโยบายการค้าและการลงทุน การเสริมสร้างขีดความสามารถทางวิชาการและการค้า เป็นต้น

 

รวมทั้งประเด็นที่เป็นที่สนใจของทั้งสองฝ่าย โดยไม่ได้มีบทบาทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือมีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

 

โดยในปัจจุบันไทยและสหรัฐอเมริกา ไม่มีเวทีหารือประเด็นทางการค้าและการลงทุนที่เป็นทางการ และไม่มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง การประชุม TIFA JA จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

 

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เป็นยุคสมัยแห่งการการคบ 2 มหามิตรประเทศ เพื่อเป็นตัวกลาง และสะพานเชื่อมระหว่างมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจโลกตะวันออกสาธารณรัฐประชาชนจีน ในยุคน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ใครได้ ใครเสีย อาจจะเร็วไปในการประเมินทางการทูตที่สวยหรู บนพรมแดงในตึกไทยคู่ฟ้า  ทำเนียบรัฐบาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: