เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์ต่อต้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 เป็นต้นไป กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่ชัดเจนในการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่า ภาคการผลิตดังกล่าวมีการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองจนต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมามีความพยายามของกระทรวงพลังงาน ที่จะปรับราคาก๊าซแอลพีจีมานานหลายปี แต่ด้วยปัจจัยทางการเมืองทำให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังคงใช้นโยบายตรึงราคา โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุน แต่ในช่วง 5 ปีมานี้ ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาค อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จนต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นที่มาของการปรับเพิ่มราคาก๊าซแอลพีจีในปี 2556 แต่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับไม่มีการระบุในเรื่องการจ่ายราคาค่าก๊าซเพิ่มขึ้นในครั้งนี้แต่อย่างใด
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะองค์กรแรงงานที่มีจุดยืนสนับสนุนและผลักดันการเข้าถึงความเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองแรงงานทุกคนในประเทศไทยอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง ขอคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังต่อไปนี้
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในปี 2554 ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีทั้งประเทศรวมจำนวน 6.9 ล้านตัน ใน 4 กลุ่ม คือ ภาคครัวเรือน (ก๊าซหุงต้ม) เป็นภาคที่ใช้มากที่สุดคือ 2.6 ล้านตัน (39 เปอร์เซนต์) รองมาเป็นภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) 2.4 ล้านตัน (35 เปอร์เซนต์) ภาคยานยนต์ (เชื้อเพลิงรถยนต์) 0.9 ล้านตัน (13 เปอร์เซนต์) และภาคอุตสาหกรรม (เชื้อเพลิงอุตสาหกรรม) 0.7 ล้านตัน (10 เปอร์เซนต์) ทั้งนี้พบว่าราคาก๊าซแอลพีจีที่หน้าโรงกลั่น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 มีราคาเท่ากันคือ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม แต่กระทรวงพลังงานกลับมีการขายก๊าซให้กับกลุ่มผู้ใช้ในราคาที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคครัวเรือน 18.13 บาท ภาคยานยนต์ 21.38 บาท และภาคอุตสาหกรรม (ที่ไม่รวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) 30.13 บาท แต่กลับภาคปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนการใช้ค่อนข้างสูงเป็นลำดับ 2 กลับได้ใช้ก๊าซในราคาที่ถูกมาก คือ 16.20 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่ากลุ่มผู้ใช้กลุ่มอื่น ๆ ทั้งสิ้นคำถามที่สำคัญ คือ กระทรวงพลังงานใช้หลักการและเหตุผลใดในการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน ทั้งๆที่สัดส่วนการใช้มีความใกล้เคียงกัน รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นถึง 34 เปอร์เซนต์ ต่อปี ในขณะที่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นปีละ 9 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น จากข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์และภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ต้นเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจี เพราะต้นเหตุที่แท้จริงมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ประเทศไทยผลิตก๊าซแอลพีจีได้โดยตรงจำนวน 5.5 ล้านตัน และมีการนำเข้าอีก 1.4 ล้านตัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยใช้ก๊าซแอลพีจี ถึง 2.1 ล้านตัน/ปี จนเป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยมีโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 มาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่กลับไม่มีการขายก๊าซที่แหล่งผลิตแห่งนี้ให้กับภาคครัวเรือน/ยานยนต์/อุตสาหกรรม แต่เป็นการขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ภาคการผลิตอื่น ๆ ต้องซื้อก๊าซที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศแทน มีข้อมูลแสดงชัดเจนว่า ในช่วงปี 2551-2554 ผู้ใช้น้ำมันต้องแบกรับภาระของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีประมาณ 23,300 ล้านบาท ในขณะที่ประชาชนใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อความจำเป็นในการดำเนินชีวิต (หุงหาอาหารและขนส่ง) แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจการของตัวเอง
นโยบายนี้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน แต่กลับไปช่วยเหลือกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีแทน ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มแรงงาน คือ แม้ว่าวันที่ 1 มกราคม 2556 จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ แต่ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะไร้ความหมายทันที เพราะการขึ้นราคาก๊าซอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ (ปกติก๊าซถังละ 15 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ประมาณ 280-290 บาทต่อถัง ) เท่ากับขึ้นมาถังละ 7.50 บาทต่อเดือน โดยในปี 2556 ราคาจะเพิ่มขึ้นอีกถังละ 100 บาท และในปี 2557 ก็เพิ่มขึ้นอีกถังละ 200 บาท นั้นแปลว่า ก๊าซหุงต้มถังละ 15 กิโลกรัม จะมีราคาสูงถึงถังละ 400-500 บาท ในอนาคตอย่างแน่นอน นี้ยังไม่รวมค่าโดยสาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา หรือค่าครองชีพอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นติดตามมา จนทำให้ค่าแรง 300 บาทไร้มูลค่าตามจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น
เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน โดยรัฐบาลต้องยุติการปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจีในภาคครัวเรือนกับภาคยานยนต์ในปี 2556 และรวมทั้งจำเป็นต้องทบทวนการแบ่งสรรสัดส่วนการใช้ก๊าซแอลพีจี โดยเฉพาะในกลุ่มภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม ที่ควรต้องได้รับการจัดสรรจากแหล่งผลิตภายในประเทศไทยเป็นลำดับแรก ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอยู่แล้ว จึงควรเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้ก๊าซนำเข้าแทน เนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากแหล่งภายในประเทศถึง 55 เปอร์เซนต์ หรือประมาณ 3.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเพียงพออยู่แล้วต่อการใช้สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งที่ใช้ก๊าซ ปีละ 2.6 ล้านตัน และ 9 แสนตัน ตามลำดับ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ