ยธ.ดัน‘หนี้’เป็นวาระชาติ หวังเร่งแก้ให้เป็นรูปธรรม

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม 19 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3469 ครั้ง

 

ในสังคมยุคปัจจุบันแม้จะรู้กันว่า การไม่มีหนี้ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในความเป็นจริง ปัญหาสำคัญที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทย ที่จัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของสาเหตุความเครียดของคนไทยขณะนี้ กลับหนีไม่พ้นปัญหาหนี้สิน ด้วยเหตุที่ว่า การเป็นหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนบ้าน หนี้ผ่อนรถ หนี้นอกระบบ ล้วนเป็นหนี้ที่สนองความต้องการของคนหลายคนและหลายคนก็พร้อมที่จะเป็นหนี้ ประกอบกับการเป็นหนี้ทุกวันนี้ ก็เป็นเรื่องง่ายและสะดวกสบาย สินเชื่อทั้งในและนอกระบบ ต่างก็ผุดกันมาให้บริการกันเป็นจำนวนมาก แล้วทำไมลูกหนี้ส่วนใหญ่เลือกที่จะเป็นหนี้นอกระบบ ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ในอัตราที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมและไม่ตรงกับจำนวนเงินที่ได้รับจริง รวมทั้งต้องเสี่ยงกับพฤติกรรมการทวงหนี้ที่โหดร้าย

 

 

สถิติหนี้นอกระบบกว่าล้านราย ยอดหนี้ 122 ล้านบาท

 

 

ปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถูกหยิบยกมาหารือกันอย่างจริงจังอีกครั้งในการประชุมเสวนาเรื่อง “วิกฤติหนี้นอกระบบ-ทางออกของสังคมไทย?” ที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) พร้อมเปิดเผยสถานการณ์ปัญหาหนี้นอกระบบที่ถึงเวลาทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทำให้เป็นวาระแห่งชาติ จึงจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้เบ็ดเสร็จ ทั้งนี้เพราะ “หนี้นอกระบบ” เป็นปัญหาเรื้อรังและรุมเร้าปากท้องของคนยากจนทั้งในเมืองและชนบท ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน นับเป็นปัญหาใหญ่ของหนี้สินภาคประชาชน ที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขมาโดยตลอด จากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่าการลงทะเบียนหนี้นอกระบบเมื่อปี 2552-2553 มีประชาชนมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 1,181,133 ราย มูลหนี้กว่า 122,406,236 บาท ธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้ได้เพียง448,449 ราย วงเงินกู้รวม 42,549.40 ล้านบาท แล้วลูกหนี้ที่เหลือเกือบ 700,000 ราย และลูกหนี้รายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจะทำอย่างไร

 

 

 

สังคม-เศรษฐกิจโตเร็วเร่งเกิดหนี้นอกระบบ

 

 

สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยเร่งก่อให้เกิดปัญหา “หนี้นอกระบบ” ความรุนแรงของปัญหาประการแรกเกิดจากภาวะเศรษฐกิจหรือเหตุอันจำเป็นเร่งด่วนที่ลูกหนี้เองไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจนต้องเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบ ประการที่สองเกิดจากการที่เจ้าหนี้อาศัยฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงกว่าเอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีการต่าง ๆ ทำให้ลูกหนี้ต้องอยู่ในภาวะจำยอมและถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม โดยอาศัยช่องทางด้านกฎหมายเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ในการทำสัญญากู้ยืมเงิน ด้วยการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การทำนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน โดยมีการเรียกผลตอบแทนอย่างอื่นรวมทั้งดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ลูกหนี้ต้องจำยอมรับภาระชำระหนี้เกินกว่าความเป็นจริง หากเมื่อใดลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะใช้ช่องทางกฎหมายในการฟ้องร้องบังคับคดีกับลูกหนี้เหล่านั้น ความด้อยโอกาสทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรม จนต้องถูกยึดทรัพย์สินที่ดิน ทำกิน ที่อยู่อาศัย

 

 

แก๊งหมวกกันน็อค ความท้าทายของกฎหมาย

 

 

ความรุนแรงที่ร้ายกว่านั้น ในปัจจุบันพบว่าเจ้าหนี้มีวิธีการให้กู้ยืมทั้งโดยตรง และอำพรางในรูปแบบอื่น โดยมีการกระทำในลักษณะเป็นขบวนการ ในการปล่อยเงินกู้นอกระบบ เรียกว่า “แก็งหมวกกันน็อค”  แก๊งนี้จะเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ ให้กู้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นรายวันโดยคิดร้อยละ 3 ต่อวัน หรือ ร้อยละ 1,095 บาทต่อปี ซึ่งตามกฎหมายให้คิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี บางรายลูกหนี้ต้องส่งดอกเบี้ยเป็นรายวันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีเงินต้นมาชำระซึ่งเรียกกันว่า “ดอกลอย” เมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วอาจมากกว่าจำนวนเงินต้นที่กู้มาถึง 10 เท่า หากลูกหนี้ผิดนัดกลุ่มขบวนการนี้จะไม่ใช้ช่องทางกฎหมายในการฟ้องร้องคดี แต่มีพฤติการณ์ใช้อำนาจอิทธิพลข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ยึดเอาทรัพย์สิน บางรายถูกข่มขู่จนต้องหลบหนีออกนอกพื้นที่ บางรายต้องฆ่าตัวตาย รูปแบบนี้มีการขยายตัวไปเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นการท้าทายกระบวนการบังคับใช้กฎหมายว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร

 

ภาพรวมของปัญหายังคงเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนของแผ่นปลิวโฆษณาขนาดต่างๆ ที่ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือแม้แต่ในหนังสือพิมพ์รายวันที่สะท้อนถึงการแก้ไขที่ยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ รวมถึงภาพข่าวความรุนแรงจากการทวงหนี้นอกระบบ การข่มขู่ทำร้ายร่างกาย การฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากหนี้นอกระบบ สอดคล้องกับผลสำรวจประชาชน 1,237 ราย ระหว่างวันที่ 22-26 มีนาคม 2555  ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า  ภาระหนี้ครัวเรือนปี 2555  เทียบปี 2554 ใกล้เคียงกัน แต่มูลหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.7 เปอร์เซนต์ หรือ 168,517.16 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และสัดส่วนเป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจาก 45.8 เปอร์เซนต์ เป็น 46.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินโดยรวมของเกษตรกรไทยในปัจจุบัน พบว่าเกษตรกรมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ

 

ศนธ.ยธ.ให้โอกาสให้ความเป็นธรรม

 

 

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม โดยศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ปัญหาหนี้นอกระบบที่เกิดขึ้นมีรูปแบบหลากหลาย ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ประชาชน ขาดความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย การไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เช่น เมื่อถูกฟ้องแล้วไม่ไปศาล ไม่มีทนายความหรือที่ปรึกษาคดีเป็นเหตุให้ทำสัญญายอมความในลักษณะที่เสียเปรียบ เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบว่าทำไมประชาชนจึงยังไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ และการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน จึงควรมีวิธีการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ลืมตาอ้าปากอยู่ในสังคมไทยได้

 

การดำเนินการของกระทรวงยุติธรรม จึงมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะเพื่อเตือนภัย ป้องปราม และเฝ้าระวัง ให้ความช่วยเหลือด้วยการหาพยานหลักฐาน สืบสวนค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง มาสนับสนุนข้อมูลของลูกหนี้ในการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการประสานกองทุนยุติธรรม จัดหาที่ปรึกษากฎหมาย และติดอาวุธทางปัญญาด้วยการให้ความรู้ทางกฎหมาย เพื่อให้รู้เท่าทันและเกิดความยุติธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เช่น จัดเวทีเสวนาและรับฟังปัญหาจากภาคประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ การแจกหนังสือคู่มือ แผ่นพับข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย เช่น เรื่องหนี้นอกระบบ การกู้ยืมเงิน การขายฝาก การจำนอง การจำนำ เป็นต้น รวมถึงการถอดบทเรียนประสบการณ์ตรงจากผู้ถูกหลอก และลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้วางแผนทิศทางการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในระยะยาวและยั่งยืน

 

 

 

 

ดันเป็นวาระแห่งชาติแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม

 

 

ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาระดับประเทศที่นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ถึงเวลาแล้วที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  โดยต้องอาศัยการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ลดความเลื่อมล้ำ สร้างความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมให้กับสังคม ศึกษาแนวทางเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเป็นระบบ

 

การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจึงควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมกันทำให้เกิดขึ้นจริง เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยให้มีบังคับใช้กฎหมายกับขบวนการเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ให้ได้อย่างเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ การอำนวยความยุติธรรมทั้งทางแพ่ง ทางอาญาให้กับผู้ถูกละเมิดและได้รับผลกระทบจากการถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม การสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน การสร้างงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องไปพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: